ล้วงลึกทุกมิติการลงทุน กับ ผจก. แบงก์กรุงเทพ สาขาอินโดนีเซีย

AEC Center
27/05/2016
รับชมแล้วทั้งหมด 1855 คน
ล้วงลึกทุกมิติการลงทุน กับ ผจก. แบงก์กรุงเทพ สาขาอินโดนีเซีย
banner
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย กว่าจะมาเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งเขตการค้าเสรีภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสำหรับธนาคารกรุงเทพเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอด กว่าจะมาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการที่ธนาคารกรุงเทพได้เข้าไปเปิดสาขาจาการ์ตา ในปี พ.ศ.2511 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อให้บริการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ ศึกษาภูมิหลัง กว่าจะมาเป็น “อินโดนีเซีย” อินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ความเจริญและการพัฒนาต่าง ๆ ไล่ตามประเทศไทยเข้ามาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหาร ที่จะกลายเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทย ถือเป็นปัจจัยด้านบวก ซึ่งเรื่องนี้      คุณชลิต เตชัสอนันต์ ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาในประเทศอินโดนีเซีย เล่าว่าเริ่มแรกก่อนที่จะเข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการต้องเข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมืองก่อนว่า กว่าจะมาเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันนั้นมีเรื่องราวอย่างไรบ้าง ก่อนจะเข้าไปลงทุนนั้น อยากให้ศึกษาเรียนรู้ว่า พื้นฐานเดิมของคนอินโดนีเซียเป็นคนที่คุยง่าย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีอุปนิสัยใกล้เคียงกับคนไทยอย่างมาก คนอินโดนีเซียมีลักษณะที่เป็นผู้รับฟังมากกว่าจะเสนอแนวคิด จากการที่เคยตกเป็นประเทศอาณานิคม ในอาณัติการปกครองของชาวดัตซ์ (Dutch) หรือประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherland) ในปัจจุบัน ยาวนานกว่า 300 ปี ก่อนจะตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ทำให้ชาวอินโดนีเซียเป็นผู้รับฟังมากกว่าผู้ให้ความคิดเห็น คุณชลิต กล่าวย้ำว่า ช่วงที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญคือ ช่วงที่ ซูการ์โน ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย (พ.ศ. 2488-2510) ผู้ปลุกกระแสรักชาติสร้าง Identity ขึ้นมา สร้างความเป็นเอกราชให้กับอินโดนีเซียหลังจากเป็นประเทศอาณานิคมมาหลายร้อยปี โดย ซูการ์โน ใช้เวลากับการสร้างจิตวิญญาณแห่งความเป็นชาติอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้สร้างความอิ่มท้องให้กับประชาชน และมีความใกล้ชิดกับประเทศจีนมากขึ้น จนสร้างความกลัวเรื่องแนวคิดคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียมากขึ้นด้วย จนก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมาโดยการนำของ ซูฮาร์โต ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 พ.ศ. 2510-2541(31 ปี) ประชาชนอยู่ภายใต้รัฐบาลซูฮาร์โต มา 31 ปี จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เข้ามาจัดการ  โดยยื่นข้อเสนอต่าง ๆ ในการให้กู้ยืมเงิน หนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ การที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ต้องลงจากเก้าอี้ จนมีการเปลี่ยนถ่ายเกิดขึ้นเพื่อเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และเกิดการเลือกตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2542 แต่ในยุคที่น่าสนใจที่สุดคือ  ในปี พ.ศ.2557 การขึ้นมาของ โจโก วิโดโด้ (Jokowi) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และคนที่ 7 ของอินโดนีเซีย “จากนี้ไปเสถียรภาพทางการเมืองของอินโดนีเซียจะนิ่งและมั่นคงมากขึ้น การคอร์รัปชันที่ผ่านมาก็จะมีความยากมากขึ้นเช่นกัน” คุณชลิต กล่าว สถานการณ์ปัจจุบันในอินโดนีเซีย คุณชลิต กล่าวต่อว่า ประชากรในอินโดนีเซีย 42% อยู่ในวัย 24-34 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังทำงาน มีรายได้ มองหาความต้องการที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตนเอง และจากการสำรวจของธนาคารชาติในอินโดนีเซีย พบว่า 60% ของประชากร จัดอยู่ใน  Middle Income Group มีรายได้ 2,200 เหรียญสหรัฐ/ปี ส่วน High Income Group ที่มีรายได้เกิน 7,000 เหรียญสหรัฐ/ปี อยู่ที่ 17% ถือว่าเป็นศักยภาพหนึ่งในปัจจัยที่น่าลงทุนในอินโดนีเซีย ที่ผู้ประกอบการชาวไทยน่านำไปพิจารณา ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ประจำประเทศอินโดนีเซีย ยังแนะเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ประกอบการชาวไทยควรที่จะเข้าไปคลุกคลีในอินโดนีเซียให้มากขึ้น โดยการลงพื้นที่จริง ใช้ชีวิตร่วมกับชาวอินโดนีเซีย นอกเหนือจากการวิเคราะห์ผ่านตัวเลข จำเป็นต้องใช้เวลาเข้าไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมในอินโดนีเซียให้มากขึ้น สำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น คุณชลิต แจงว่า คณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียที่เพิ่งเปลี่ยนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา เป็นคณะรัฐมนตรีรุ่นใหม่ที่มีความต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียโดยชาวต่างชาติ ซึ่งเน้นไปที่สินค้าบริโภคและพลังงานให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยมี 6 เกาะใหญ่ที่เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน GDP ประเทศ ประกอบด้วย Sumatra, Java, Bali, Kalimanta, Sulawesi และ Papua – Maluku Island นอกจากนี้ ปัญหาที่ผู้ประกอบการอาจเจอคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ระหว่างค่าเงินรูเปียและดอลลาร์มีความผันผวนตลอดเวลา ซึ่งผู้ประกอบการอาจใช้เปลี่ยนจากเงินบาทเป็นรูเปียแทน เพราะไม่มีความผันผวนเท่าดอลลาร์ อีกทั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมภาษี ให้กับบุคคลที่ไม่ได้ยื่นเรื่องแจ้งทรัพย์สินนอกประเทศ โดยมีการประมาณการว่า มีมูลค่ามากถึง 195,000 เหรียญสหรัฐที่มีอยู่นอกประเทศ รัฐบาลจึงผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้เศรษฐีสามารถนำเงินกลับเข้ามาในประเทศได้โดยเสียภาษีที่ 6% รวมถึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำการแจ้งข้อมูล ถ้ามีการยื่นเรื่องเร็วก็อาจเสียแค่ 3% แต่ถ้ายื่นปลายปีก็อาจเสีย 6% โดยทางรัฐบาลให้เวลา 12 เดือนในการทำเรื่องยื่นแจ้งทรัพย์สิน เมื่อสามารถรวบรวมได้ว่าทรัพย์สินที่กำลังจะเข้าประเทศอินโดนีเซียมีจำนวนถึง 195,000 เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจและเงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น อุตสาหกรรมเคมีและก๊าซธรรมชาติ มะพร้าวและอาหาร สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในอินโดนีเซียนั้น คุณชลิต ให้ข้อมูลว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ก๊าซ ยางพารา มะพร้าว และอาหาร มีความสำเร็จจนหลายกลุ่มต่างชาติและหลายกลุ่มธุรกิจ ใช้อินโดนีเซียเป็นแหล่งวัตถุดิบการผลิตที่สำคัญ โดยความสำเร็จทั้งหมด อยากให้ผู้ประกอบการได้ลงพื้นที่จริงเพื่อเข้าใจขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ “จัดซื้ออย่างไร ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดมีลักษณะอย่างไร ต้องทำการตลาดแบบไหน จัดจำหน่ายในรูปแบบใด โดยบริษัทจากประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จนั้นมีทีมที่เข้าใจภูมิหลัง วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม การเมือง เศรษฐกิจ ของชาวอินโดนีเซียและลงพื้นที่จริง เพื่อจะได้คลุกคลี คอยสอดดูยุทธวิธีทางการตลาดของคู่แข่งในอินโดนีเซีย และสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เป็นคีย์สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อม ที่จะเข้าไปคลุกคลีในประเทศอินโดนีเซีย”  คุณชลิต กล่าว ด้านการหา Business partner คุณชลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้รัฐบาลให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการต่างประเทศมากขึ้น  ในกรณีการครอบครองธุรกิจในส่วนของเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้น  เช่น จากเดิม 60% และต้องมีชาวอินโดนีเซียร่วมอีก 40% ก็อาจขยับได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งในบางธุรกิจ ชาวต่างชาติสามารถครอบครองเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% โดยไม่ต้องมีคู่ค้าเป็นชาวอินโดนีเซีย ในส่วนของการหาคู่ค้าที่เป็นชาวอินโดนีเซีย หรือผู้ประกอบการจะดำเนินการด้วยตัวเองนั้น หากผู้ประกอบการสามารถจัดการด้านต่าง ๆ ด้วยตนเอง 100% ตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียขยายขอบเขตให้ แต่อาจรับสมัครเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือในด้านของการตลาด และส่งเสริมการขายที่มีความเข้าใจธรรมชาติของชาวอินโดนีเซียอย่างแท้จริง ทั้งนี้  ตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีประชากรมากที่สุด เพราะฉะนั้นความต้องการทางการตลาดย่อมสูง โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล  จากการที่มีประชากรเป็นชาวมุสลิมซึ่งมีจำนวนมหาศาล ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุน จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างละเอียด และลงพื้นที่เข้าทำการสำรวจจริง หรือสามารถปรึกษาได้ที่ Call Center ของธนาคารกรุงเทพ โทร. 1333

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธนาคารกรุงเทพ หนุน SME ไทย เปิดห้องให้ความรู้การค้าการลงทุนในกัมพูชา

ธนาคารกรุงเทพ หนุน SME ไทย เปิดห้องให้ความรู้การค้าการลงทุนในกัมพูชา

ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดงาน AEC Investment Clinic : Cambodia ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องราวของประเทศเวียดนาม…
pin
1277 | 28/05/2016
ล้วงลึกทุกมิติการลงทุน กับ ผจก. แบงก์กรุงเทพ สาขาอินโดนีเซีย

ล้วงลึกทุกมิติการลงทุน กับ ผจก. แบงก์กรุงเทพ สาขาอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย กว่าจะมาเป็น 1 ในผู้ก่อตั้งเขตการค้าเสรีภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสำหรับธนาคารกรุงเทพเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นเรื่องราวเหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอด…
pin
1856 | 27/05/2016
สมญานาม ทรัมป์แห่งเอเชีย “ดูเตอร์เต” คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

สมญานาม ทรัมป์แห่งเอเชีย “ดูเตอร์เต” คว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

สำหรับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีชาวฟิลิปปินส์ราว 54 ล้านคน  ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภาท้องถิ่น…
pin
894 | 13/05/2016
ล้วงลึกทุกมิติการลงทุน กับ ผจก. แบงก์กรุงเทพ สาขาอินโดนีเซีย