ทวงคืนความเป็นแชมป์ให้วงการกล้วยไม้ไทย โดยธนาคารกรุงเทพ
แขกรับเชิญภายในงาน ประกอบด้วย1.คุณยานี ศรีมีชัย นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาธุรกิจการเกษตรและอาหาร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2. คุณกสานติ์ ชวนะพาณิชย์ บริษัท จีจีดี เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 3. คุณสมพงษ์ ทวีสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เค ออร์คิด จำกัด 4. คุณเอกภัฏฐ์ คูเจริญชัยมานที กรรมการผู้จัดการ บริษัท มานะออร์คิด จำกัด 5. คุณพยงค์ คงอุดมทรัพย์ อดีตประธานสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด
คุณยานีได้พูดถึงเรื่องแนวโน้มของตลาดและราคาในอนาคตว่า "มีการขยายตัวทางด้านปริมาณมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ในด้านมูลค่าการส่งออกกลับลดลง โดยตลาดที่เป็นคู่แข่งหลักของเราก็คือเวียดนาม อินเดีย และจีน ซึ่งตอนนี้เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังมาแรงในยุโรป ก็อยากให้สนใจในสิ่งนี้ด้วย อีกทั้งยังเรื่องงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ก็สามารถใช้เป็นช่องทางในการขยายการส่งออกได้ ซึ่งต้องศึกษาตลาดด้วยว่าแต่ละประเทศชอบสีไหน ประเภทไหน และช่วงนั้นเค้ากำลังต้องการอะไร และควรสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง พัฒนาพันธุ์ของตัวเองให้แตกต่างจากคนอื่น"
คุณกสานติ์กล่าวถึงเทคนิคการจัดการคุณภาพว่า "วิกฤตการส่งออกของกล้วยไม้เกิดจากคุณภาพ เราคุมคุณภาพของดอกไม้ได้จากการรับดอกไม้ให้เร็วขึ้น กำหนดจำนวนดอกไม้ที่ใส่ในลังตามขนาดของดอกไม้ คลุมผ้าทุกครั้ง ใช้รถที่มีหลังคา และกำหนดขนาดและการบานของดอกไม้ให้กับสวน"
คุณสมพงษ์เล่าถึงเทคโนโลยีส่งเสริมการผลิตเพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงพันธุ์ว่า "ปัญหาวิกฤตส่วนใหญ่เกิดที่แรงงานคน สวนต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ทั้งค่ายา ค่าปุ๋ย ค่ารักษาคนงาน ซึ่งสิ่งที่เข้ามาช่วยตรงนี้ได้ก็คือ การรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์และเทคโนโลยีแขนกล"
คุณเอกณัฏฐ์เสริมต่อว่า "สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ เราต้องทำให้กล้วยไม้ของเรามีคุณภาพและลูกค้าพอใจ และต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราจะทำไปขายใคร ที่ไหน ยังไง เพราะถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ต้นทุนก็จะสูงขึ้น เราต้องอิงกับแฟชั่น มันต้องมีความหลากหลายในการพัฒนาพันธุ์ ถ้าเราไม่มีความหลากหลายก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ใครมาซื้อเรา"
คุณพยงค์ พูดถึงเรื่องการจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่สำหรับกล้วยไม้ในอนาคตว่า "เราต้องดูว่าเราจะปรับฟาร์มใหม่อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับแขนกลในอนาคต ถ้าเราไม่ปรับเครื่องกลก็เข้ามาใช้ไม่ได้ ต้องดูว่าคันล้อมเตี้ยมั้ย บ่อเล็กไปรึเปล่า เจาะบาดาลลึกแค่ไหน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราต้องป้องกัน"
ซึ่งคุณพยงค์ได้สรุปเพิ่มเติมทิ้งท้ายการสัมมนาครั้งนี้ไว้ว่า “ทำไมประเทศไทยราคากล้วยไม้เราไม่เหมือนกันทั้ง 70 กว่าจังหวัด ทำไมสหกรณ์ประกาศราคาแล้วราคาแพงขึ้นมาได้ ถ้าผู้ส่งออกและชาวสวนจับมือกันเมื่อไหร่ ราคาจะคงที่ทันที ต่อมาต้องพัฒนาส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ให้มากขึ้น เวลาไปทำบุญต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ผมขอเรียกร้องให้ไม่ต้องเวียนใช้ ขอให้ใช้มากขึ้น เราจะส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วย เราจะเดินทางโดยที่สหกรณ์เป็นเจ้าภาพ รวบรวมไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ต้นทั้งหมด ไปหาลูกค้า ไปส่งเสริมการใช้ดอกไม้ ให้เค้ารู้ว่า จัดอย่างไร อย่าเก่งปลูกอย่างเดียว เราต้องเก่งขายและการตลาดด้วย ผมอยากให้เราร่วมกันส่งเสริมกันทำธุรกิจ เพื่ออาชีพเราจะได้คงอยู่”
ฟังเนื้อหาทั้งหมดได้ที่ http://www.bangkokbanksme.com/seminar/orchid