Point Marketing บริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผักและผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง อาหารแช่แข็ง ธัญพืช อาหารทะเลแช่แข็งและกระป๋อง โดยมีสาขาในประเทศโรมาเนียและสโลวาเกีย อีกทั้งยังมีการส่งออกไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐเช็กอีกด้วย
สำหรับบริษัท Point Marketing ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1997 ทุนจดทะเบียน 174,000 เหรียญสหรัฐฯ มีสินค้าของบริษัทที่จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของผู้ผลิต เช่น Guthaus, Acorsa, Petti, Leimer, Graal, Iska และแบรนด์ของตนเอง ได้แก่ KOFA , DANDY, Blue Fish และ Silver Fish กลุ่มลูกค้าของบริษัทประกอบด้วย Hypermarket, Supermarket Chains ต่าง ฯ อาทิ Tesco, Auchan, Spar, Interspar, Kaisers, Metro, CBA เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า บริษัท Point Marketing มีสินค้าที่นำเข้าหลักจากไทยอย่าง สับปะรดและผลไม้ค็อกเทลแบบ OEM ในแบรนด์ Kofa โดยสินค้าได้รับการตอบรับในตลาดอย่างมากจากคุณภาพที่ดี แต่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาสับปะรดขาดตลาด แต่บริษัทยังได้รับสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตเพียงพอจัดจำหน่าย รวมถึงการนำเข้าจากประเทศในอาเซียนอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนมีข้อจำกัดด้านการรวบรวมผลผลิตให้เพียงพอสำหรับการส่งออกและการบริการที่ยังด้อยกว่าประเทศไทย
ด้าน Mr. Manhertz Zoltan Managing Director บริษัท Point Marketing ประเทศฮังการี เปิดเผยว่า ฮังการีเป็นประเทศเกษตรกรรมและเคยเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของยุโรป ชาวฮังการีทั่วไปรวมทั้งโรงแรมและร้านอาหารนิยมซื้อของสดมากกว่า อย่างไรก็ดี ตลาดสำหรับไก่แช่แข็งพอมีอยู่บ้าง แต่ปัจจัยสำคัญในการทำตลาดคือราคาต้องถูกกว่าไก่สด ซึ่งบริษัท Point Marketing เคยเป็นผู้นำเข้าไก่แช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยนำเข้าจากบราซิลปีละ 150 ตู้คอนเทนเนอร์ แต่ปัจจุบันนี้บริษัทผู้ส่งออกของบราซิลมาตั้ง สำนักงานในฮังการีเพื่อจัดจำหน่ายเอง สำหรับไก่แช่แข็ง ของไทยหากผลิตในประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษหรือมีความตกลงกับอียู เช่น ยูเครน ตุรกี ก็จะทำให้เสียภาษีต่ำลง
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังแนะอีกว่า ต้นทุนและราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจนำเข้าหรือเลือกซื้อสินค้าของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในฮังการี ดังปรากฏว่าผู้ประกอบการหลายรายรู้สึกถึงผลกระทบจากการที่ไทยไม่ได้รับ GSP จากอียู แต่ไม่สนใจเรื่องไทยได้รับใบเหลืองจากปัญหาประมง IUU มากนัก ทั้งนี้ การบริการที่มีประสิทธิภาพของไทยยังเป็นจุดเด่นที่สร้างความประทับใจแก่ผู้นำเข้าในฮังการี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังในการส่งออกสินค้าไปฮังการีในด้านคุณภาพสินค้า เริ่มมีผู้ประกอบการที่เห็นว่าสินค้าจากเวียดนามและฟิลิปปินส์มีคุณภาพทัดเทียมกับไทย นอกจากนี้ สำหรับสินค้าที่เป็นอาหารทะเล มีผู้ประกอบการฮังการีหลายรายที่มีประสบการณ์ไม่ดีจากความไม่พร้อมด้านเอกสารของผู้ส่งออกไทยทำให้ไม่สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ เช่น ไม่มี catch certificate ซึ่งการปฏิรูประบบการออกใบอนุญาตการทำประมงแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 น่าจะทำให้ปัญหาลดลงได้บ้าง
Bangkok Bank SME มีบริการสินเชื่อเพื่อการส่งออกในหลายผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองทั้งวงจร ท่านสามารถส่งสินค้าขายถึงปลายทางด้วยบริการแบบเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ สายด่วน 1333

