Digital - AI โอกาสทางธุรกิจ และอาชีพเนื้อหอมเป็นที่ต้องการสูง เมื่อสังคมชนบทขยายตัวสู่เมืองใหม่ “Urbanization”

Mega Trends & Business Transformation
27/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 4459 คน
Digital - AI  โอกาสทางธุรกิจ และอาชีพเนื้อหอมเป็นที่ต้องการสูง เมื่อสังคมชนบทขยายตัวสู่เมืองใหม่ “Urbanization”
banner
ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน 
 
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB)  คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 4,000 ล้านคนในภูมิภาคนี้ จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง  โดยปัจจุบันเปอร์เซ็นต์การขยายตัวของเมืองในระดับภูมิภาคอยู่ที่ 54% และเพิ่มขึ้นเป็น 64% ภายในปี 2593 



ซึ่งในเมืองต่าง ๆ หลายแห่งจะรวมตัวกันเพื่อสร้างการตั้งถิ่นฐานในเมืองในระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน  ทั้งยังระบุว่า สิ่งที่ควรรู้ เกี่ยวกับ “เมืองและการขยายตัวของเมืองในเอเชีย” คือ การที่เอเชียก้าวเข้าสู่ยุคของการขยายตัวของเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ทั้งความเจริญรุ่งเรืองและปัญหาต่าง ๆ   ที่สร้างความท้าทายด้วยเช่นกัน  

โดยผลจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว มักจะทำให้เกิดปัญหาความขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และความเครียดด้านสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย นอกจากนี้ เขตเมืองของภูมิภาคยังต้องต่อสู้กับสังคมสูงวัย การพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม และการขนส่งสาธารณะที่ย่ำแย่อีกด้วย

แน่นอนว่าในวิกฤตการเติบโตเป็นเมือง ย่อมมีโอกาสแฝงอยู่ด้วย ผู้ที่สามารถแสวงหาโอกาสได้ก่อนจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเทรนด์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา 



โดยหนึ่งในนั้น คือ “เทรนด์การจ้างงาน” หรือการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในเข็มทิศหนึ่งที่จะมาบ่งชี้ว่าทิศทางของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของการขยายตัวของเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด 

สำหรับการจ้างงานในประเทศไทย จากข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2566 สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น โดยการจ้างงาน ผู้มีงานทำมี 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากจากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรม 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัว 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 6.0% และสาขาการผลิต 0.3 % การค้าส่งและค้าปลีก 0.5% และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 1.1%  มีเพียงภาคเกษตรจ้างงานหดตัวลง 0.2% จากปี 2565 ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสะท้อนภาพชัดเจนว่าธุรกิจที่จ้างงานลักษณะนี้จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น



หากมองในมุมภาคเอกชน “คุณนราพร อินทเชื้อ” ผู้อำนวยการฝ่าย Work & Rewards ประจำประเทศไทยและอินโดไชน่า WTW ประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชันด้านการบริหารคนและองค์กรที่มีฐานข้อมูลที่ครอบคลุมมากที่สุดและเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาค ระบุว่า ปัจจุบันตลาดแรงงาน ประสบภาวะขาดแคลนบุคลากรสาขาดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ความต้องการขององค์กรจำนวนมาก ที่ต่างกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) ในองค์กร ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทที่มากขึ้นของ การใช้ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่รุกเข้ามาในแทบทุกธุรกิจ

โดยผลสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของบุคลากรในสายงานด้าน AI และดิจิทัล (Artificial Intelligence and Digital Talent Compensation Survey) ของ WTW พบว่า บริษัทกว่า 97% กำลังประสบปัญหาในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้มาร่วมงาน และกว่า 96% ประสบปัญหาในการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ AI ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล 



ทั้งนี้ WTE คาดการณ์ภาพรวมการจ้างงานในปี 2566  ตำแหน่งงานหลักที่ต้องการ ได้แก่ งานด้านการขาย งานวิศวกรรม งาน IT และช่างเทคนิค โดยตำแหน่งงานในสาขา IT นั้นติดอันดับต้น ๆ มาแล้วถึง 3 ปีต่อเนื่อง ส่วนงานที่มาแรงและได้ค่าตอบแทนสูงสุดคืองานในสาย Data Science and Business Intelligence นอกจากนี้ อาชีพด้านเทคโนโลยี และ Digital Marketing จะเป็นอาชีพที่ติดอันดับดาวรุ่งในปี 2566 เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลอย่างมาก

ตัวเลขอัตรการจ้างงานและแนวโน้มอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดงานดังกล่าว สะท้อนว่าการเติบโตของเมืองในปัจจุบันนำมาสู่การขยายการลงทุนในด้าน “เทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ กิจกรรม” 

ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากสถานการณ์โควิด เป็นหนึ่งในตัวเร่งให้องค์กรต้องปรับตัวไปสู่รูปแบบ Digital อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานดิจิทัลให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยความสามารถในการดึงดูดและรักษาบุคลากรด้านดิจิทัล คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ความดิจิทัลได้อย่างราบรื่นมากที่สุด  

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนบุคลากรในตลาดงาน ยังเกี่ยวโยงไปถึงโอกาสการประกอบอาชีพของมนุษย์ที่เสี่ยงจะลดลง จากการรุกคืบของ AI โดยเฉพาะระบบแชตบอทอย่าง Chat GPT ที่จะเข้ามาทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างแทนมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น



ข้อมูลจาก รายงานผลสำรวจเงินเดือนทั่วโลกประจำปี 2566 ฉบับที่ 24 ของบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า สถานการณ์ที่ต้องจับตา คือ เทคโนโลยี  AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ในตลาดแรงงานหรือไม่  เพราะต้องยอมรับว่า AI สามารถเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่าง และอาจจะดีกว่าในบางอย่าง

ขณะที่อุปสรรคสำคัญของการจัดหาพนักงานของบริษัทมากกว่า 60% มาจากผู้สมัครงานมีความคาดหวังในเงินเดือนที่สูงเกินไป และอุปสรรคจากการขาดประสบการณ์ทำงาน ขาดความสามารถพิเศษ และคุณสมบัติทางเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อมองไปในอนาคต บริษัทต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ Digital Transformations มากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยส่งผลต่อตัวเลขว่างงาน
 
ขณะที่ บทความเกี่ยวกับ“เทคโนโลยี AI มีผลกระทบต่อการจ้างงานหรือไม่ และแรงงานต้องเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างไร” ที่จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุว่า การนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จะสามารถสร้างตำแหน่งงานให้เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต ซึ่งไม่ได้มองว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้



อีกด้านหนึ่งปรากฎตัวอย่างจากงานวิจัยของบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด (PwC) ที่รายงานว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2037 จะมีตำแหน่งงานมากกว่า 7 ล้านตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI แต่อย่างไรก็ตาม มันจะนําไปสู่การสร้างงานในรูปแบบใหม่ถึง 7.2 ล้านงานซึ่งเป็นการเพิ่มสุทธิ 200,000 งาน

สาเหตุของการคาดการณ์ว่าตำแหน่งงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะว่าบริษัทส่วนใหญ่ยังมีความต้องการจ้างงานแบบผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนกับการใช้เทคโนโลยี AI เพราะเทคโนโลยี AI มีจุดแข็งที่มนุษย์ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ความเร็ว ความแม่นยําในการคํานวณ ฯลฯ 

ในขณะที่มนุษย์เองก็มีจุดที่เหนือกว่า เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การตัดสิน การรับรู้ ฯลฯ ซึ่งถ้าบริษัทได้มีการรวมจุดแข็งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับมนุษย์แล้วนำมาเสริมกันได้ 



อีกด้านหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องมองข้ามช็อตไปยิ่งกว่านั้น เพราะการเข้าสู่ความเป็นเมือง Urbanization ไม่เพียงจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรในเชิงวัตถุเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการแย่งชิงบุคคลากรทักษะสูงด้วย เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในเมืองใหม่ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดแคลนบุคคลากรคุณภาพ 

นั่นจึงทำให้หน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องออกแรง ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เพื่อให้การดึงดูดผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการรับรองคุณสมบัติมากขึ้น

โดยได้กำหนดสาขาอาชีพเป้าหมายที่ต้องการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาอยู่ในไทย ในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน (Highly Skilled Professional) รวม 15 สาขา ดังต่อไปนี้ 
    1. อุตสาหกรรมยานยนต์ 
    2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 
    3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 
    4.อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ 
    5.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ 
    6.อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ 
    7.อุตสาหกรรมการบิน อากาศยาน และอวกาศ 
    8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 
    9.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 
    10.อุตสาหกรรมดิจิทัล
    11.อุตสาหกรรมการแพทย์ 
    12.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ 
    13.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 
    14.ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC)
    15. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น  เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดิจิทัล การเงิน สิ่งแวดล้อม และพลังงาน  เป็นต้น 



ทั้งนี้ หากประเทศใด หรือเมืองใหม่ใด มีบุคคลากรคุณภาพจำนวนมาก ย่อมนำพาการพัฒนามาสู่ประเทศนั้น  ดังนั้น จะละเลยการพัฒนาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องมุ่งส่งเสริมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ไปพร้อมกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ในยุคที่สังคมกำลังก้าวสู่ความเป็นเมืองใหม่ ‘เมืองแห่งเทคโนโลยี’


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
4213 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
4204 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1057 | 25/03/2024
Digital - AI  โอกาสทางธุรกิจ และอาชีพเนื้อหอมเป็นที่ต้องการสูง เมื่อสังคมชนบทขยายตัวสู่เมืองใหม่ “Urbanization”