แนวโน้มเทรนด์ ‘อาหารแห่งอนาคต’ เมื่อธุรกิจ ชูแนวคิดดูแลโลกผ่านมื้ออาหาร “สุขภาพดีต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน”
อาหารอนาคต หรือ Future food ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปัจจัยจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพ การดูแลเรื่องอาหารการกินที่มีความปลอดภัย (Food safety) ประกอบกับปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน ทำให้ทุกคนมองถึงการพัฒนาอาหารจากพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระกระบวนการผลิตมากกว่าเนื้อสัตว์ และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต ซึ่งจัดว่าเป็นสินค้ามูลค่าสูง (High value product)
ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยของ IMARC Group (2023) พบว่า แนวโน้มตลาดอาหารอนาคต หรืออาหารจากพืชทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโต 12.11% ในช่วงปี 2566-2571 (2023-2028) ขณะที่ข้อมูลจาก Forbes นิตยสารธุรกิจการเงินชั้นนำในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่าตลาด Future Food ของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปี 2563 สำหรับมูลค่าการส่งออก Future Food ของไทย ปี 2564 มีมูลค่า 115,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกอาหารในภาพรวม และเติบโตต่อเนื่องทุกปี
พัฒนาการประเภทอาหารอนาคต
ปัจจุบันการผลิต “อาหารอนาคต” มีความก้าวล้ำไปมาก จากอดีต ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ (2561) ระบุว่า ประเภทอาหารอนาคต มี 4 ประเภท คือ
1. อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic foods) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี
2. อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional foods and drink) ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่ให้คุณค่าอาหารที่จำเป็นให้กับร่างกาย เช่น ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะไม่อยู่ในรูปแบบแคปซูล เม็ดยา แต่จะมีหน้าตาเหมือนอาหารทั่วไป
3. อาหารทางการแพทย์ (Medical foods) ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม เป็นอาหารที่ออกแบบมาเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น อาจอยู่ในรูปแบบรับประทาน ดื่มแทนอาหารหลัก เสริมบางมื้อ หรือเป็นอาหารทางสายยาง
4. อาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel foods) หมายถึงอาหารรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นนวัตกรรมสูงมาก เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน หรือเป็นอาหารที่ได้จากพืช หรือสัตว์ เช่น การใช้นาโนเทคโนโลยี หรือพวก Nano food รวมถึงแหล่งอาหารใหม่ คือ แมลง สาหร่าย และยีสต์
ซึ่งจะเห็นว่าอาหารอนาคต มีประโยชน์และความหลากหลาย ทั้งใช้บรรเทาโรค เสริมสร้างพลังงานในแต่ละช่วงวัยที่มีความต้องการสารอาหาร มีกระบวนการดูดซับสารอาหารที่แตกต่างกัน โจทย์สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมอาหารอนาคต คือต้องรับประทานง่ายและมีรสชาติดีด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและจัดกลุ่ม “อาหารอนาคต” แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ
1. อาหารโปรตีนทางเลือก กลุ่มแมลงซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้มากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว อาหารเพื่อสุขภาพ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร
2. เนื้อสัตว์จากพืช (Plant Based Meat) อาหารที่ตอบโจทย์การบริโภค ทั้งการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการพัฒนาต่อยอดพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง เห็ดแครง ไข่น้ำ ไปเป็นอาหาร เช่น แฮมเบอร์เกอร์ หอยจ้อ ขนมจีบ ซึ่งได้รับความนิยมสูง
3. 3D Printing Food นวัตกรรมวางแผนการผลิตอาหารในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์อาหาร 3 มิติ หรือ 3D food printing ตอบโจทย์การเตรียมหรือผลิตอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลก และเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า
4.เนื้อสัตว์จากห้องทดลอง (Lab Grown Meat, Cultured meat) อาหารสังเคราะห์แห่งโลกอนาคต ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเนื้อจากห้องแล็บ นำสเต็มเซลล์จากกล้ามเนื้อของสัตว์ต้นแบบมาเพาะเลี้ยงในถังหมัก คุมอุณหภูมิและใช้น้ำเลี้ยง (Culture Medium) เป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงให้สเต็มเซลล์เติบโต
5. สาหร่าย พืชน้ำที่มีศักยภาพสามารถนำไปใช้ในอุตสาหรรมอาหาร แปรรูปเป็นอาหารเสริม อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ซีรั่มชะลอวัย ที่ให้คุณค่าทางอาหารทั้งโปรตีนและวิตามินประเภทต่าง ๆ จึงได้รับความนิยมมากเช่นกัน และยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่สินค้าใหม่ ๆ อีกจำนวนมาก
ไทยส่งออก ปี 65 ทะลุ 1.29 แสนล้าน
ข้อมูลจากสมาคมอาหารอนาคตไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า สถานการณ์การส่งออกอาหารอนาคตปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 1.29 แสนล้านบาท เติบโต 23 % คิดเป็นสัดส่วน 10% ของอาหารทั้งหมด ไปยังตลาดอาเซียน สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป โดยไทยจัดแบ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่
1. อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional foods and drink) ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำหน้าที่ให้คุณค่าอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชะลอวัย คิดเป็นสัดส่วน 97% มี การเติบโตปี 2565 เทียบกับปี 2564 ที่ 22%
2.อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic foods) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี โดยมีการส่งออกที่สัดส่วน 1.6% และมีการเติบโต 2565 เทียบกับปี 2564 สูงสุดในกลุ่มอาหารอนาคตที่ 80 %
3.อาหารกลุ่มที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรม (Novel foods) อาหารรูปแบบใหม่ที่มีความเป็นนวัตกรรมสูงมาก เป็นอาหารที่ใช้ขั้นตอนการผลิตแบบใหม่ ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน การเติบโตปี 2565 เทียบกับปี 2564 ที่ 26%
4.อาหารทางการแพทย์ (Medical foods) ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริม มีการส่งออกที่สัดส่วน 0.2% การเติบโต ปี 2565 เทียบกับปี 2564 ที่ 40%
ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนส่งเสริม ‘ตลาดอาหารอนาคต’
การที่ตลาดอาหารอนาคตเติบโตมากขึ้น เป็นผลจากมีจำนวนผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และยังมีกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ ที่พร้อมจะเปิดรับ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกกว่ากลุ่มยืดหยุ่น หรือ Flexitarian คือ คนธรรมดาที่บางวันอยากรับประทานมังสวิรัติ จากเดิมที่ตลาดกลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็น กลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือ Vegetarian Vegan หรือที่เกี่ยวกับด้านศาสนา ซึ่งไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หันมารับประทานพืชแทน
อีกทั้งการสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพจากการบริโภคอาหารจากพืชเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช และวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ถั่ว อัลมอนด์ ธัญพืช เห็ด พืชน้ำต่าง ๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายในการปรุง รวมถึงยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตอาหารจากพืช เรียกว่าเป็นสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
นอกจากนี้ บทความโดยคุณพริ้มเพรา กิจพาณิชย์ (2023) ระบุว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.09 องศาเซลเซียส ระหว่างปี 2554-2563 มีส่วนทำให้กระแสการรับประทานอาหารจากพืชเพิ่มขึ้น ทั้งการรับประทานแบบวีแกน (มังสวิรัติ) การผลิตเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือการหาโปรตีนทางเลือก เช่น แมลง สาหร่าย และโปรตีนจากพืชตระกูลถั่ว จะเห็นว่าร้านอาหารแบรนด์ดังระดับโลก เช่น เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี แมคโดนัลด์ มีการออกผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากพืช หรือวีแกนเพิ่มขึ้น อย่างมาก
ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า ปี 2564-2569 มูลค่าตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภท Functional Drink ของโลกจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 180,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 206,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2569
ผู้เล่นรายใหญ่ลงสนามตลาดโลก
ความน่าสนใจของทิศทางตลาดและการเติบโตของอาหารอนาคต ทำให้ “ผู้เล่น” รายใหญ่จากทั่วโลกอดใจไม่ไหว ต้องกระโดดชิมลางในธุรกิจนี้ มีข้อมูลจาก www.Benzinga .com (2023 ) ได้ลิสต์รายชื่อสุดยอดผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตได้ในตลาดโลก ประกอบด้วย
1. Amy's Kitchen Inc
2. Atlantic Natural Foods LLC
3. Beyond Meat Inc. BYND
4. Danone SA DANOY
5. Garden Protein International Inc. CAG
6. Impossible Foods Inc.
7. Lightlife Foods Inc. (Maple Leaf Foods Inc.)
8. Nestle S.A. NSRGY
9. Tyson Foods Inc. TSN
10. Vbite Food Ltd.
ผู้เล่นในไทยก็ไม่น้อยหน้า
ไม่เพียงมีแต่บิ๊กแบรนด์ระดับโลกเท่านั้น ที่กระโดดลงสู้ศึกในสมรภูมิ “อาหารแห่งอนาคต” แต่บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ต่างก็ประกาศเปิดตัวแบรนด์อาหารอนาคตเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เจ้าตลาดทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลกอย่าง บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด หรือกลุ่ม TU ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารอนาคต แบรนด์ OMG โดยร่วมมือกับ บริษัทวี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปเมื่อปี 2564 และยังมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อจากเซลล์เพาะเลี้ยงด้วย
เช่นเดียวกับ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เจ้าตลาดธุรกิจอาหารครบวงจรก็ไม่น้อยหน้า มีการผลิตสินค้าแพลนท์เบส แบรนด์ Meat Zero และได้ร่วมลงนามข้อตกลงกับสตาร์ทอัพอิสราเอล เพื่อผลิตเนื้อจากเซลล์ เตรียมสร้างโรงงานอาหารแห่งใหม่ ที่ จ.สมุทรสาคร กำลังผลิต 12,000 ตัน จะแล้วเสร็จกลางปี 2566
บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทยได้ก็พัฒนาสินค้าโปรตีนจากพืชในแบรนด์ “Meatly” ลงสู่ตลาดเช่นกัน โดยมีการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งวัตถุดิบและอาหารพร้อมทาน เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับกลุ่มที่หันมารับประทานมังสวิรัติบางมื้อ หรือ Flexitarian
อีกหนึ่งธุรกิจ Ingredient แถวหน้าเมืองไทย ผู้อยู่เบื้องหลังรสชาติอร่อยถูกปากในผลิตภัณฑ์อาหารกว่า 400 ธุรกิจ อย่างบริษัทแอบบรา จำกัด และยังวิจัยและพัฒนาจนนำมาสู่การผลิตสินค้า Plant Based เป็นวัตถุดิบโปรตีนจากพืช 100% แบรนด์ Never Meat ที่ให้รสชาติและผิวสัมผัสใกล้เคียงเนื้อสัตว์บด มีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่คัดสรรวัตถุดิบอย่างดีเพื่อผู้บริโภค
อ่านความสำเร็จของบริษัทแอบบรา จำกัด เพิ่มเติม คลิก
https://www.bangkokbanksme.com/en/5focus-abbra-distributor
นอกจากนี้ ยังมีบิ๊กธุรกิจพลังงานอย่าง กลุ่ม ปตท. หันเรือธง ส่งบริษัทลูก คือ บริษัทอินโนบิก ร่วมกับ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิ้วส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด (NRPT) เพื่อพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพืชครบวงจร โดยมีร้าน alt. Eatery ที่สุขุมวิท 51 เป็นร้านนำร่อง และร้าน Texas Chicken ร่วมจำหน่ายด้วย
และยังได้ร่วมกับ บริษัท Wicked Kitchen ผู้ผลิตสินค้า Plant Based ชั้นนำในอังกฤษ มาเปิดตลาดในไทยก่อนที่โรงงานผลิต Plant Based ที่ NRPT ก่อสร้างที่ อ.วังน้อย จ.อยุธยา จะแล้วเสร็จในปี 2567 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตสูงถึง 3,000 ตัน ถือว่าเป็นขนาดใหญ่มากในอาเซียน
ทั้งหมดนี้ จึงนับได้ว่า แนวโน้มเมกะเทรนด์ “อาหารอนาคต” ยังมาแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจยุคใหม่ของไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” ที่ต้องมุ่งไปอย่างแท้จริง
ติดตาม บทความ ได้เวลา ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ Transformation ชูนวัตกรรม รองรับเทรนด์ “อาหารแห่งอนาคต” การปรับตัวของธุรกิจ SME ที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้โลดแล่นในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ได้อย่างตอบโจทย์ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง ในตอนหน้า