ส่อง ‘6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ’ แนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC

SME Update
28/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 7435 คน
ส่อง ‘6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ’ แนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC
banner

    ความมุ่งมั่นเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellness Hub) เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป็นเป้าหมายที่ 3 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งสหประชาชาติร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อเป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ความสำคัญคือ มีผลโดยตรงต่อปัจเจกบุคคล ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังชุมชน สังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ประเทศ และโลกในภาพรวม




    มูลค่าตลาดโดยรวมของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ 


    Global Wellness Institute ได้ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพไว้ราว 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วงปี 2022-2024 ประมาณว่ามูลค่าจะเพิ่มอีกราว 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ


    ขณะที่ PWC (Price water house Coopers) คาดการณ์ว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า แนวโน้มมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมด้านสุขภาพจะขยายตัวในอัตราที่สูงมาก โดย ตลาดใน Asia-Pacific จะเติบโตอีกราว 40% ในปี 2023 และมีมูลค่ามากกว่าตลาดในอเมริกาเหนือ โดยตลาดของ Digital Wellness คาดว่าจะเติบโตถึง 220.94 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 




    ทำไมอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ จึงน่าสนใจ


    เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจ Healthcare ที่จะเติบโตในระยะยาว จากการเปลี่ยนแปลงของประเทศส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 1.5 พันล้านคนภายในปี 2050 คิดเป็น 21% ของประชากรโลก 7,300 ล้านคน ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ 


    ซึ่งการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ คือโรคเรื้อรังที่ต้องมาพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น โรคความดัน หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือด ไต ฯลฯ นอกจากนี้ ไลฟ์สไตล์ชีวิตในเมืองใหญ่ก็เป็นสาเหตุของโรคอ้วน และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ อีกเหตุผลหนึ่งคือในหลายประเทศ รัฐบาลมีการจัดการระบบประกันสุขภาพดีขึ้น มีผู้เจ็บป่วยเดินทางไปพบแพทย์มากขึ้น การใช้ยาจึงมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ธุรกิจ Healthcare มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น 


    ประกอบกับการแพร่ระบาดของ Covid 19 เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพเฉพาะทาง มาใช้อย่างรวดเร็ว สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ วัคซีน และ Telehealth (เทคโนโลยีการดูแลสุขภาพทางไกล) ซึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากมองภาพรวมในระยะยาว เชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการแพทย์และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม Healthcare ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง




    6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC มีอะไรบ้าง?


    McKinsey Research ได้สำรวจในหัวข้อ อนาคตของความเป็นอยู่ที่ดี (future of wellness) พบว่าผู้บริโภคมีความสนใจมากในเรื่องต่อไปนี้ ได้แก่..


    -สุขภาพที่ดีขึ้น (better health)

    -สมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น (better fitness)

    -โภชนาการที่ดีขึ้น (better nutrition)

    -รูปลักษณ์ที่ดีขึ้น (better appearance)

    -การนอนหลับที่ดีขึ้น (better sleep)

    และการมีสติที่ดีขึ้น (better mindfulness)


    โดยเทรนด์ธุรกิจให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อเจาะตลาด AEC ประกอบด้วย 




    1. ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม ดาวเด่นที่เติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง ในทุกช่วงวัย ต่างดูแลตัวเองมากขึ้น ให้ความสนใจเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง ความงาม และผิวพรรณ  ต้องการให้ตัวเองดูดีขึ้น เป็นเหตุให้ธุรกิจด้านความงาม คลินิกดูแลรักษาผิวพรรณ เครื่องสำอางแบรนด์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี สำหรับตลาด AEC มีประเทศที่หันมาสนใจสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวม 177 ล้านคน โดย 60% เป็นประชากรวัยทำงานที่มีรายได้ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจไทยที่จะเข้าไปทำตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าว




    2. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับสภาพสังคมยุคปัจจุบันที่คนวัยทำงานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวน้อยลง บุตรหลานหันมาใช้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น




    3. ธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์ด้าน Health Care เช่น การให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการควบคุมโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ปัจจุบันมีกลุ่มคนจำนวนมากหันมาดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีการขยายการให้บริการดังกล่าว เช่นจัดทีมแพทย์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และมีความชำนาญในเรื่องดังกล่าว อาทิ นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์การกีฬา มารองรับกับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต




    4. ธุรกิจให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมีจำนวน 1-2 ล้านคนต่อปี  ซึ่งร้อยละ 80 เป็นนักท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์เข้ามารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ โดยตลาดหลักของไทย ได้แก่ พม่า ญี่ปุ่น ตะวันออกกลางและยุโรป สำหรับตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง ได้แก่ อาเซียนและจีน ซึ่งตลาด Medical Tourism เป็นตลาดที่เริ่มมีการแข่นขันรุนแรง ซึ่งคู่แข่งที่สำคัญของไทย คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เดินทางมาไทยจะนิยมใช้บริการตรวจสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม การรักษาโรคเฉพาะทาง เช่น กลุ่มโรคหัวใจและกระดูก




    5. ธุรกิจการวินิจฉัยโรคและการรักษาแบบดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีด้านบล็อกเชน (Blockchain technology) ซึ่งนิยมใช้เป็นระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเก็บข้อมูลทางการแพทย์ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในโรงพยาบาลในประเทศไทย จึงนับเป็นโอกาสของนักวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งผู้ป่วย




    6. ธุรกิจผลิตและให้บริการด้านอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เป็นที่คาดหมายกันว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ น่าจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งดวงใหม่ของประเทศไทยที่สร้างมูลค่าทางการตลาดอย่างมาก สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ในอาเซียน 


    เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ประกอบกับธุรกิจโรงพยาบาลรัฐและเอกชนกำลังเร่งปรับตัวเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ทำให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับบริการของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น  ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นลักษณะซื้อมาขายไป 


    แม้จะมีผู้ประกอบการไทยบางรายที่ได้พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยี คิดค้นนวัตกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดจึงนับเป็นโอกาสของนักวิจัยในการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมด้านนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง


    สุดท้ายนี้ อยากฝากถึงธุรกิจที่ต้องการบุกตลาด AEC ให้มีความยั่งยืน ควรต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการและรักษาคุณภาพมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เพื่อความสำเร็จในธุรกิจด้านสุขภาพในตลาด AEC ที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต



    อ้างอิง

    สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

    https://www.itd.or.th/itd-data-center/cosmetic-and-beautify-market/

    สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

    https://shorturl.asia/xagij

    https://www.mtec.or.th/post-knowledges/66565/


    Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
    สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


    Related Article

    Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

    Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

    กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
    pin
    8 | 17/04/2025
    สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

    สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

    แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
    pin
    8 | 16/04/2025
    ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

    ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

    Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
    pin
    10 | 11/04/2025
    ส่อง ‘6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ’ แนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC