ส่องนวัตกรรม ‘Future Food’ โอกาสผู้ประกอบการ SME ไทยเจาะตลาดโลก ต่อสู้ปัญหาวิกฤตอาหารโลก

SME Update
20/05/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2688 คน
ส่องนวัตกรรม ‘Future Food’ โอกาสผู้ประกอบการ SME ไทยเจาะตลาดโลก ต่อสู้ปัญหาวิกฤตอาหารโลก
banner
UNEP หรือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คาดว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านคน ภายในปี 2050 จะมีผลทำให้ผลิตอาหารไม่เพียงพอและเกิดภาวะอาหารขาดแคลน หลายประเทศจึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตเนื้อสัตว์ถึง 56% เพื่อให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น 

แต่ต่อให้เราจะอยากเพิ่มกำลังการผลิตมากแค่ไหน ก็ดูเหมือนว่าพื้นที่เกษตรกรรมสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิม ไม่สามารถรองรับสำหรับประชากรในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกแล้ว จึงมีการคาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรม กรรมวิธีการผลิต รวมถึงวิถีการบริโภคอาหารของผู้คนในยุคอนาคต จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย 



เมื่อโลกเผชิญวิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis)

ทราบหรือไม่ว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า ‘วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis)’ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์โลก โดยธนาคารโลก ระบุว่า วิกฤตอาหารโลกได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ปี 2565 นอกจากนี้ จากรายงานของ Global Report on Food Crises 2022 ยังระบุด้วยว่า ประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน 

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเกือบ 40 ล้านคน อันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาใช้ประกอบอาหารปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกถูกใช้ไปกับการทำปศุสัตว์และเพาะปลูกอาหารสัตว์มากถึง 75% 



ที่สำคัญ การทำปศุสัตว์ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศคิดเป็นจำนวนถึง 18 เปอร์เซ็นต์ แม้ในปัจจุบันจะมีความพยายามลงนามข้อตกลงระดับนานาชาติที่มุ่งช่วยกันลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาวิกฤติภาวะโลกร้อน แต่โลกของเรายังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากการทวีขึ้นของจำนวนประชากรอยู่ดี โดยมีการคาดการณ์กันว่าจากปัจจุบันที่โลกมีประชากรอยู่ที่ 7.3 พันล้านคน จะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 8.5 พันล้านคนภายในปี 2030 และจะยิ่งทวีมากถึง 10,000 ล้านคน ภายในปี 2050 



นวัตกรรม ‘อาหารแห่งอนาคต’ ทางออก ‘วิกฤตขาดแคลนอาหาร’

จากข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ Julian Cribb นักวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาเตือนว่า สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จะทำให้มนุษย์ขาดแคลนอาหาร จนกระทั่งอาหารหมดโลกภายในปี 2050 อีกทั้งสถาบันทรัพยากรแห่งโลก รายงานว่า ปี 2050 จะต้องมีการผลิตอาหารเพิ่มถึง 50% ของปัจจุบัน ถึงจะสามารถรองรับจำนวนประชากรได้ นอกจากนี้พวกเรายังประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากปัจจัยเร่งที่จะทำให้อาหารขาดแคลนเร็วขึ้น นั่นคือจำนวนประชากรทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีอีกด้วย

หากโจทย์ใหญ่ของโลก คือ การลดอุณหภูมิความร้อนของโลกไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มผลผลิตทางอาหารให้เพียงพอต่อประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นในอนาคต สิ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างแหล่งอาหารใหม่ ที่เพิ่มผลผลิตได้เร็วกว่า ใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงน้อยกว่าการทำปศุสัตว์แบบเก่า ลดทรัพยากรอาหารในการเลี้ยงดู ที่สำคัญยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อความยั่งยืน (Sustainability) ของโลก เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste) จากกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

ซึ่งปัจจุบันมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นและเรียกแหล่งอาหารใหม่ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างอาหารว่า อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food เพื่อเป็นทางออกของเราและสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และโลกของเราด้วย



เทรนด์ “อาหารแห่งอนาคต ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?

เมื่อแนวโน้มการขาดแคลนทรัพยากรอาหารยิ่งชัดเจนขึ้น และวิถีการผลิตอาหารเดิม ๆ ที่เคยมีส่วนสร้างปัญหาไม่ตอบโจทย์ เราจึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาการอาหารเพื่อเตรียมรับมือปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งนี่คือเมกะเทรนด์ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นไปได้ว่าอาหารของลูกหลานเราในอนาคตย่อมแตกต่างจากอาหารที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้ 

เริ่มจาก ‘โปรตีนจากพืชที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์’ ที่เรียกว่า ‘Plant-based’ กำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดชั้นนำเริ่มคิดค้นนวัตกรรมที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก ยกตัวอย่าง เช่น ‘แมคโดนัลด์’ ออกผลิตภัณฑ์ ‘McPlant’ เบอร์เกอร์ที่เสิร์ฟด้วยเนื้อจากพืช ส่วน ‘เบอร์เกอร์คิง’ เข้าสู่ตลาดเนื้อจากพืชอย่างจริงจังมีผลิตภัณฑ์ ‘Impossible Whopper’ เช่นกัน



แม้กระทั่ง ’เคเอฟซี’ เองก็พยายามเลียนแบบเนื้อไก่อยู่นานหลายปี จนในที่สุดก็เปิดตัว ‘Beyond Fried Chicken’ นักเก็ตไก่ทอดจากพืช โดยมีการใส่รายละเอียดต่าง ๆ เช่น รสชาติสมุนไพร และเครื่องเทศ 11 ชนิด ไปจนถึงการออกแบบโปรตีนที่เมื่อฉีกลงไปถึงชิ้นเนื้อจะเห็นเนื้อเยื่อของไก่เป็นเส้น ๆ เหมือนเนื้อไก่จริง ๆ จนแยกไม่ออก 



เมื่อหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านเราอย่าง สิงคโปร์ ก็มีสตาร์ทอัพผลิต ‘เนื้อปลาแซลมอนจากบุก’ ขึ้นมา เป็นเนื้อปลาจากพืชเช่นกัน



ขณะที่ สตาร์ทอัพชื่อ Redefine Meat ของอิสราเอล ได้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่พวกเขาผลิตขึ้นโดยเฉพาะให้สามารถพิมพ์อาหาร Plant-based ได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังมี บริษัท Novameat จากสเปน กำลังพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สำหรับสร้างอาหาร Plant-based โดยต้องการพิมพ์เนื้อหมูจากพืช ชนิดที่ออกมาเป็นตัวหมูทั้งตัว

จะเห็นว่าตอนนี้ตลาดโปรตีนจากพืชกำลังเติบโตอย่างมาก ยูโรมอนิเตอร์ บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลกคาดการณ์ว่าในปี 2566 ตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกจะแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8 หมื่นล้านบาท



เนื้อเพาะจากเซลล์ในห้องแล็บแทนการเลี้ยงสัตว์ ลดโลกร้อน

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่ยังอยากกินเนื้อสัตว์จริง ๆ แต่ไม่ทำให้ลดโลกร้อน และลดการทำปศุสัตว์ที่ใช้ที่ดินและน้ำจำนวนมากได้ เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์ (Cell-Based Meat) คือคำตอบ ซึ่งปัจจุบันการผลิตในปศุสัตว์คิดเป็นสัดส่วน 15 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต่อปี และด้วยไวรัสและโรคจากสัตว์ที่แพร่สู่คนที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น 

รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ แต่เลี้ยงสัตว์เองไม่ได้ อย่างสิงคโปร์ต้องนำเข้า 100% ทำให้เกิดแนวคิดการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ แต่เป็นการเพาะเนื้อสัตว์ในห้องแล็บที่เรียกว่า ‘Lab-grown meat’ กำลังถูกจับตาในฐานะ ‘อาหารแห่งอนาคต’ โดยหวังจะเลิกใช้โปรตีนจากสัตว์ลง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่น้อย สร้างความยั่งยืนทางอาหาร และมีมาตรฐานอาหารปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากการเพาะเนื้อเยื่อจากเซลล์ (Cell-Based Meat) หรือ Lab-grown meat คือเนื้อที่ถูกพัฒนาขึ้นจากเซลล์ของสัตว์จริงๆ ด้วยกระบวนการผลิตจากการเพาะเซลล์ให้โตขึ้นมาภายในห้องปฏิบัติการ โดยเป็นเนื้อที่ประกอบด้วยไขมัน กล้ามเนื้อ และเนื้อแดงของสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่นำมาปรุงอาหารรับประทานได้เหมือนเนื้อสัตว์จริง ๆ แต่ไม่ได้มาจากการเลี้ยงและฆ่าสัตว์



วิธีนี้อาจจะเป็นตัวเลือกสำคัญของคนที่ยังอยากกินเนื้อจริง ๆ ไม่ใช่เนื้อจากพืช เพียงแต่เป็นเนื้อจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ของสัตว์ในห้องปฏิบัติการแทนการทำฟาร์มปศุสัตว์นั่นเอง 

สำหรับวิธีการ Lab-grown meat คือ การเพาะเลี้ยงเซลล์โดยนำตัวอย่างเนื้อเยื่อขนาดเล็ก มาจากร่างกายสัตว์เป็น ๆ และสร้างโครงสร้างเซลล์ มีการให้อาหารเลี้ยงเซลล์เพื่อขยายขนาด สารอาหารที่หล่อเลี้ยงเซลล์นั้นมีทั้งโปรตีน วิตามิน น้ำตาล และฮอร์โมน กระทั่งเซลล์ขยายขนาดและแบ่งตัว โดยทั้งหมดดำเนินการอยู่บนเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ ใช้เวลา 9 สัปดาห์ จากกลุ่มเซลล์เล็ก ๆ จะกลายเป็นชิ้นเนื้อที่รับประทานได้ ซึ่งงานวิจัยมองว่าวิธีการนี้ใช้ที่ดินและน้ำไม่มาก จึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับตัวอย่างอาหารแห่งอนาคตนี้ ปัจจุบันมีบริษัทเนื้อที่เพาะจากเซลล์หลายแห่งในญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ แข่งกันเพื่อเป็นบริษัทแรกที่ผลิตเนื้อจากเซลล์ Lab-grown meat ออกสู่ตลาดให้ได้ 



อย่างเช่น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นใช้การพิมพ์ 3 มิติ ผลิตเนื้อวากิวลายหินอ่อนได้สำเร็จผ่านการใช้สเต็มเซลล์ 2 ชนิด จากเนื้อวากิวที่เรียกว่า โบไวน์ แซเทลไลต์ Bovine Satellite Cell และ อดิโพส-ดีไรฟ์ Adipose-derived Stem Cell เพื่อทำให้เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการสำหรับการผลิตเนื้อวากิวได้ 

อย่างไรก็ตาม การผลิตเนื้อสัตว์แบบเพาะเนื้อจากเซลล์ อาจจะดูเป็นเนื้อวิทยาศาสตร์ แต่นักวิจัยระบุว่าเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานทุกวันนี้ก็ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การผสมพันธุ์เทียม หรือการเลี้ยงที่มีการให้อาหารเสริม วิตามินและยาต่าง ๆ แก่สัตว์ ซึ่งก็ไม่ได้มีความเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์แบบเพาะเลี้ยงจากเซลล์ก็ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก 

เหนืออื่นใดหลักการเนื้อสัตว์ทดแทนคือ ต่อไปจะต้องหาซื้อได้ง่าย ราคาเอื้อมถึง รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ และอาจมีบทบาทในฐานะอาหารสุขภาพในอนาคตได้ ซึ่งขณะนี้ ยังเร็วเกินไปหากจะพูดถึงการผลิตระดับแมสและส่งขายไปทั่วโลก ซึ่งต่อไปจะต้องหาซื้อได้ง่าย ราคาเข้าถึงได้ รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริง ๆ และอาจมีบทบาทในฐานะอาหารสุขภาพในอนาคตได้



นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต คนไทยก็ทำได้

หันกลับมาดูแหล่งผลิตอาหารที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ครัวโลก’ อย่างประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารหลักของโลก มีบริษัทผลิตอาหารกว่า 10,000 บริษัท ในแต่ละปีส่งออกอาหาร มูลค่าราว 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ที่มีความตื่นตัวเรื่องนี้ไม่แพ้ประเทศอื่น 



ยกตัวอย่าง องค์กรชั้นนำ ด้านพลังงานของไทย อย่าง บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตที่โปรตีนจากพืชขนาด 3,000 ตันต่อปีในประเทศ ต้นแบบสำหรับธุรกิจ Plant-based ภายใต้ชื่อร้าน ‘alt.Eatery’  โดยมุ่งมั่นในการใช้อาหารต่อสู้กับโลกร้อน อาหารโปรตีนทางเลือกจากพืช ด้วยกรรมวิธีและกระบวนการการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการทำปศุสัตว์ ทั้งยังส่งผลที่ดีต่อสุขภาพ 

ทั้งนี้ แบรนด์ alt. หรือ อัลท์ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้โปรตีนจากพืช ทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากผลวิจัยพบว่ากรรมวิธีการผลิตอาหาร Plant-based สามารถช่วยลดโลกร้อนจากการทำปศุสัตว์ได้ถึง 30% นอกจากนี้ยังได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชอย่างต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนารสชาติ เนื้อสัมผัส และรูปลักษณ์ให้อร่อย ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ มีโปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ ถูกหลักโภชนาการ สามารถรับประทานได้ทุกวัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ



ขณะที่ ธุรกิจ SME อย่าง บริษัทแอบบรา จำกัด เป็นบริษัทนำเข้ามาจัดจำหน่ายและผลิตเองที่เป็นแบบ ‘ธรรมชาติ’ เช่น Never Meat ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช หรือ Plant-based alternative อาทิ โปรตีนบดจากพืช เนื้อสามชั้นจากโปรตีนพืช เนื้อวัวบดจากโปรตีนพืช เนื้อปูสับจากโปรตีนพืช แซลมอนจากพืช ซี่โครงบาร์บีคิวจากพืช ที่จะช่วยให้ผู้คนทั่วโลกได้รับอาหารที่มีคุณภาพสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่เหมาะสม

อ่านบทความ ‘บริษัท แอบบรา จำกัด’ :
https://www.bangkokbanksme.com/en/5focus-abbra-distributor

สะท้อนว่า ‘อาหารแห่งอนาคต’ จะเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับอนาคต เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของผู้บริโภค และลดปัญหามลภาวะสะสมทางด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน การรังสรรค์และค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสินค้า


อ้างอิง
สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
https://shorturl.asia/xtT97
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-30445.aspx
https://www.bangkokbanksme.com/en/5focus-abbra-distributor
https://workpointtoday.com/future-of-food-lab-grown-meat/
https://www.nia.or.th/5InnoSPACEF
https://www.gqthailand.com/lifestyle/article/futuristic-food-innovations

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1594 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
2036 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
2178 | 25/01/2024
ส่องนวัตกรรม ‘Future Food’ โอกาสผู้ประกอบการ SME ไทยเจาะตลาดโลก ต่อสู้ปัญหาวิกฤตอาหารโลก