ชี้ช่องเกษตรกรไทย! ปรับตัวลดปล่อย Carbon สร้างรายได้-ลดโลกร้อน
ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนได้ที่ประกาศเป้าหมายจะต้องปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2030 (2573) จากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศมีการปล่อยคาร์บอน 0.8% ของโลก คิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยมีภาคพลังงานเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด
ที่ผ่านมาไทยได้แก้ปัญหาการทำนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมาก ด้วยการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) จากการ ‘ทำนาเปียกสลับแห้ง’ ที่ดำเนินการมาแล้ว 4-5 ปี ผลที่ได้นอกจากจะลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 50-80% แล้วยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย ไปดูกันว่าเขาทำกันอย่างไร?
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนที่ประกาศเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2030 (2573) จากปัจจุบันที่ไทยเป็นประเทศมีการปล่อยคาร์บอน 0.8% ของโลก หรือคิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยมีภาค ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานสูงสุดคือ 70%
รองลงมาคือ ภาคการเกษตร15% ตามด้วยภาคอุตสาหกรรม 10% และจากของเสีย 4.59% โดยประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) สุทธิ 372,716.86 GgCO2eq (คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ขณะที่ภาคป่าไม้ดูดกลับได้ 91,988.52 (GgCO2eq) และคาดว่าระดับการปล่อย GHG จะแตะระดับสูงสุดในปี 2025
ทั้งนี้ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตลอด โดยมีการทบทวนแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตรที่เดิมไม่เคยกำหนดเป้าหมายมาก่อน
ล่าสุดมีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน เนื่องจากภาคเกษตรมีการปล่อยมีเทนสูงมาก เพราะยังคงมีวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทน ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
ชาวนาตัวเล็ก ๆ ก็ช่วยลดโลกร้อนได้
จากปัญหาภาคการเกษตรไทยในการปลูกข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปริมาณมาก โดยนาข้าว 1 ไร่ อาจก่อให้เกิดก๊าซมีเทนได้ถึงหลัก 1,000 กิโลคาร์บอนและทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ากับการใช้น้ำมันตั้งแต่ 1 - 100 ลิตร หากเราสามารถลดตรงนี้ได้ จะช่วยลดก๊าซมีเทนลงกว่าครึ่งเลยทีเดียว จึงต้องปรับวิธีการทำนาแบบใหม่ให้เป็นรูปแบบใหม่ รวมถึงปรับ Mindset เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ตัวการหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
ด้วยเหตุนี้ กรมการข้าวจึงร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ พัฒนา ‘การทำนาข้าวลดโลกร้อน’ จากการส่งเสริมให้มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า โครงการ Thai Rice NAMA โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร จาก NAMA Facility ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) โดยเป็นการนำร่องทดลองปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (Alternative Wetting and Drying :AWD) สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาแปลงใหญ่
สำหรับโครงการ Thai Rice NAMA มีแปลงทดลองปลูกอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยังมีอีก 5 จังหวัด คือ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ เป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขอบคุณภาพ เพจ Thai Rice NAMA
โดยใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง คือตอนข้าวตั้งท้อง เอาน้ำออกจากนาให้หมด นอกจากข้าวไม่ตายแล้ว ตรงกันข้ามยังให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 20-30% และใช้ปริมาณน้ำน้อยลงครึ่งหนึ่ง ลดพลังงานสูบน้ำทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นหายไป 70% ตอนนี้มีบริษัทอเมริกันมาซื้อคาร์บอนเครดิตแล้ว
จากชาวนาเดิมบางนางบวช ขายได้ 400 บาทต่อไร่ ปลูกปีละ 2 รอบ ชาวนาได้เงิน 800 บาทต่อไร่ ต่อไปกำลังจะขอสนับสนุนเงินจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว Thai Rice ECF เพื่อขยายเป็น 21 จังหวัด ตั้งเป้าลดก๊าซมีเทนให้ได้ 2.4 ล้านตันคาร์บอน
ขอบคุณภาพเกษตรก้าวหน้า
ทั้งนี้ 6 จังหวัดนำร่อง ได้ร่วมอบรมและปรับรูปแบบการทำนา เป็นการทำนาแบบยั่งยืน คือ การปรับเปลี่ยนที่ประยุกต์กับการทำนาแบบดั้งเดิมของไทยผ่าน 4 วิธีหลัก ได้แก่
1.ใช้เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ที่มีความละเอียดแม่นยำ สามารถปรับหน้าดินในสภาพที่ดินแห้งได้มีประสิต่อทธิภาพ เหมาะสมในระดับความคลาดเคลื่อน +/- 2 ซม. ทั่วแปลง
2.การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว โดยข้าวต้องการน้ำมากที่สุดตั้งแต่ 20 วัน ก่อนการออกรวง และ 20 วันหลังการออกรวง ซึ่งไม่ใช่การขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา เพราะน้ำที่ขังในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทนได้มาก
3.เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารในนาข้าว ตั้งแต่การเลือกใช้ชนิดปุ๋ยให้เหมาะสม เพียงพอ ให้ตรงตามเวลาที่ข้าวต้องการ คือ ระยะกล้า ระยะแตกกอ และ ระยะสร้างรวงอ่อน และ
4.เทคโนโลยีการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว โดยไม่ใช้วิธีการเผา คือ การไถกลบฟาง/ตอซังขาวลงในนา และ ย้ายฟางข้าวออกจากนา ไปเป็นอาหารสัตว์ วัสดุทำเพาะเห็ด หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ บวกกับอีก 1 วิธี คือ ใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้กับดักแสงไฟ ตาข่าย ปลูกพืชเป็นแนวกันชน และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้สารเคมี
ทั้งนี้หลังจากทำนาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว ก็ต้องมีระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting and Verification :MRV) ซึ่งในการตรวจวัดจะนำตัวอย่างก๊าซที่พบในนาใส่ลงไปในเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ เพื่อนำไปคำนวณการปลดปล่อยเมื่อเทียบกับพื้นที่
ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นกลางและนำไปใส่ในระบบ MRV เพื่อจัดเก็บและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ ที่ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทางโครงการฯได้พัฒนาขึ้น
ซึ่งในช่วงก่อนเริ่มโครงการฯ ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากนาข้าวทั้ง 6 จังหวัดได้ 1.22 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หลังจากทำโครงการฯได้ 4 ปี จึงมีการประเมินอีกครั้งพบว่าก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวปลดปล่อยลดลง 0.87 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หรือ 29% ต่อฤดู
ดร.โทมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญ GIZ-CIM ให้ข้อมูลว่า จากการทำนาแบบเดิมของชาวนาในแปลงนาสาธิตของ จ.ปทุมธานีพบการปล่อยก๊าซมีเทน 3.58 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ส่วนอีก 5 จังหวัดเฉลี่ยมีการปล่อยก๊าซมีเทนประมาณ 1.23 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน เท่ากับว่า จ.ปทุมธานีมีการปล่อยสูงถึง 3 เท่า
แต่หลังจากมีการปรับการใช้น้ำในแปลงนา พบค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซมีเทน จ.ปทุมธานีลดลงประมาณ 1.88 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน และจังหวัดอื่นลดลงรวมเฉลี่ย 0.50 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ยิ่งในช่วงฤดูแล้งทำให้ก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยลดลง รวมไปถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปสู่ภาคการเกษตรอื่น ๆ และการใช้เทคโนโลยีต่างก็สามารถนำไปใช้กับพืชเกษตรที่ไม่ใช่แค่ข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้โครงการจะจบลงปลายปี 2566 นี้ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกที่ดำเนินโครงการนำร่องผลิตข้าวที่ยั่งยืน โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยได้อย่างยั่งยืน โดยผลจากการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561 – 2564 พบว่า มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 25,000 คน สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวได้กว่า 305,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ลดโลกร้อนแล้ว ยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย
อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรและชาวนาตัวเล็ก ๆ ที่จะเข้าถึงการขายคาร์บอนเครดิตจากการทำนาได้ คือ ‘Spiro Carbon’ โดยคุณ David Rockwood ผู้ร่วมก่อตั้ง Spiro Carbon องค์กรที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกร ที่ร่วมมือกับบริษัท Wave BCG
ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Carbon Credits ในประเทศไทย ร่วมกับ Net Zero Carbon Thailand เป็นผู้เชี่ยวชาญในตลาด Carbon Credits และ RECs ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ Spiro Carbon เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการ Verify ในยุโรป ที่สนับสนุนโครงการนี้ในด้านการ Verify รวมทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการทำ Carbon Credits จากการปลูกข้าว และนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้ในอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยได้
คุณ David Rockwood ระบุว่า เทคโนโลยีของ Spiro Carbon ทำให้เรามีโอกาสวิเคราะห์และชักชวนให้ชาวนาชาวไร่เปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นแบบเปียกสลับแห้ง ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 50% ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดก๊าซมีเทนได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 25-40% และลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 50% ช่วยลดการใช้สารเคมีได้ถึง 70-100%
นอกจากนี้ Spiro Carbon ยังมีแอปพลิเคชันทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยใช้ดาวเทียมในการจับภาพวิเคราะห์ว่าชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการดำเนินงานจริงหรือไม่ ทำวันไหน ปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงชาวนายังสามารถถ่ายภาพท่อวัดน้ำเมื่อทำนาแบบเปียก และเมื่อนาแห้งก่อนเติมน้ำก่อนส่งผ่านแอปฯเพื่อเป็นการยืนยันซ้ำได้ เป็นการการันตีให้กับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต
ขณะที่บริษัท WAVE BCG จะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรกับ Spiro Carbon เพื่อพัฒนาสู่การทำคาร์บอนเครดิต ซึ่ง Spiro Carbon เป็นองค์กรที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้ชาวนาและเกษตรกร มั่นใจในศักยภาพของ Wave BCG ที่จะสามารถเป็นจุดเชื่อมสำคัญระหว่างเกษตรกรกับ Spiro Carbon ในการทำการตลาด Carbon Credits ในไทยด้วยเทคโนโลยีที่มี
ซึ่งจะเป็นเจ้าแรกของไทยในการทำตลาดคาร์บอนจากการปลูกข้าวให้เป็นจริง และสร้างรายที่ได้ยั่งยืนให้ชาวนา ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก มีเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน ดังนั้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคการเกษตรของไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
โดยชาวนากลุ่มแรกที่ได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นกลุ่มนำร่องที่เปลี่ยนวิธีเพาะปลูกข้าวเป็นแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปลูกข้าวแบบเดิม 1 ไร่ จะปล่อยคาร์บอนออกมาประมาณ 2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
เมื่อชาวนาหันมาปลูกแบบเปียกสลับแห้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็เกิดเป็นคาร์บอนเครดิตเอาไปขายได้ โดย Spiro Carbon จะรับซื้อคาร์บอนเครดิตในราคา 400 บาทต่อ 1 ตันคาร์บอนเทียบเท่า (ราคาอาจจะสูงกว่านี้ในอนาคตเมื่อกำแพงภาษีคาร์บอนมีการบังคับใช้เป็นสากล) ปีหนึ่งทำนาได้ 2 ครั้งเท่ากับชาวนาปลูกข้าวในนา 1 ไร่แบบเปียกสลับแห้งจะมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต 800 บาทต่อปี
ขอบคุณภาพ giz-thailand
ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนของประเทศไทยที่ตั้งเป้าในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรกว่า 30 ล้านคน ที่สามารถขาย Carbon Credits ได้ถึง 400 บาทต่อไร่
จากการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงให้เกษตรได้อย่างยั่งยืน และเป็นก้าวสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมไทยในการก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นศูนย์ในที่สุด
ซึ่ง Spiro Carbon ไม่ได้ทำเพียงแค่แนะนำชาวนาให้ใช้การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง แต่ยังส่งเสริมให้ชาวนาหารายได้เสริมด้านการขายคาร์บอนเครดิตจากการทำนาด้วยวิธีนี้ด้วย โดยการใช้เทคโนโลยีจานดาวเทียมเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ที่ลงทะเบียนกับ Spiro Carbon จะเป็นการตรวจจับพืชผลที่มีแสงแตกต่างกันออกไป
พร้อมแสดงข้อมูลพิสูจน์ว่า ที่น่าผืนนี้มีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจริงหรือไม่ และลดก๊าซมีเทนไปได้เท่าไหร่ อีกทั้งยังใช้พลังของ Blockchain เพื่อสร้างระบบแบบกระจายศูนย์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่และความน่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งหมด
ซึ่งผลตอบรับขณะนี้มีชาวนาหรือเกษตรที่ร่วมโครงการกับ Spiro Carbon แล้วทั้งสิ้น 10,000 ราย สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ 60,000 ตันคาร์บอน และจ่ายรายได้ให้กับชาวนาไปแล้ว 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31 ล้านบาท
ปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน ขายเป็นคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ต้นไม้จะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร? ต้องบอกว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีสัดส่วนถึง 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา
โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกต้นไม้ดูดซับเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และถูกนำมากักเก็บในรูปแบบของเนื้อไม้ ตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ กิ่ง ลำต้น และรากใต้ดิน และใบไม้ดินในป่าก็ช่วยเก็บคาร์บอนในรูปของรากต้นไม้ที่กำลังเน่าเปื่อยผุพัง ใบและเนื้อไม้ที่กำลังเน่าเปื่อยผุพัง
นอกจากนั้นดินป่าไม้ยังช่วยดูดซับก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากมาย ผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ เช่น เสาเรือน กระดาน คาน ประตู เฟอร์นิเจอร์ ล้วนช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอน
อีกหนึ่งหนทางเพิ่มรายได้ นอกจากการปลูกป่า ปลูกไม้ต้นเศรษฐกิจ คือการทำสวนผลไม้ ใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ก็สามารถนำเสนอโครงการเพื่อ ขายคาร์บอนเครดิต ได้ด้วย
ข้อดีของการทำเกษตร ขายคาร์บอนเครดิต ที่เห็นได้ชัดคือการลดโลกร้อนและสามารถสร้างรายได้อีกทาง อาจจะมีขั้นตอนที่ละเอียดในช่วงแรก โดยต้องเก็บข้อมูลการทำเกษตรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนนำเสนอโครงการ และในขณะดำเนินการผลผลิตจะต้องไม่น้อยลงด้วย แต่หากเสนอโครงการผ่านก็สามารถเพิ่มรายในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่าง โมเดล ‘ปลูกป่าวนเกษตร ขายคาร์บอนเครดิต’ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกพืชแบบผสมผสาน ควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยใช้กลไกคาร์บอนเครดิตเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นไม้สำหรับขายคาร์บอนเครดิตในระยะยาวเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
ทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มนำร่องพื้นที่แรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จำนวน 22.5 ไร่
ซึ่งการปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9 – 15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ต้นไม้ในป่าเขตร้อน 1 ต้น จะกักเก็บคาร์บอนได้เฉลี่ย 23 กิโลกรัมต่อปี และยังช่วยดักจับฝุ่นและมลพิษในอากาศ ได้ 1.4 กิโลกรัม/ปี ทำให้อากาศสะอาด หากปลูกถูกวิธีในพื้นที่ที่เหมาะสมกับพืชพันธุ์ชนิดนั้น จะยิ่งส่งผลให้กักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณสูง
ดังนั้นยิ่งชุมชนมีพื้นที่ป่ามาก ยิ่งสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับหน่วยงานหรือบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กรที่เกินเป้าหมายได้ อีกทั้งปัจจุบันภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับการกดดันจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2566 ทำให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้หลายภาคส่วนส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อลดโลกร้อน เพราะการปลูกต้นไม้ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งต้นไม้มีคุณสมบัติเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน(Carbon Sequestration)
โดยการดึงคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศมาเก็บไว้ในแหล่งเก็บที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งพืชสีเขียวทุกชนิดดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาปรุงเป็นอาหาร แล้วกลายเป็นเนื้อไม้ โดยเนื้อไม้โดยทั่ว ๆ ไปมีคาร์บอนอยู่ราว 50% การปลูกต้นไม้ก็คือการดึงคาร์บอนมาเก็บไว้ ทำให้คาร์บอนในชั้นบรรยากาศลดลง ป่าจึงเป็นที่เก็บคาร์บอน (sink) ชั้นดี
โอกาส ‘ภาคเกษตรไทย’ ส่งออกสินค้าเกษตรลดคาร์บอน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. ระบุว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจภาคเกษตรไทย
เนื่องจากการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต 58 สายพันธุ์ เช่น ต้นสะเดา ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นนนทรี ต้นปีบ ต้นอินทนิลน้ำ ไม้สัก ต้นประดู่ พยอม แคนา จามจุรี
รวมถึงต้นไม้ที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เช่น ไผ่ ซึ่งเมื่อปี 2563 มีการปลูกไผ่เพื่อการค้าราว 9.2 หมื่นไร่ และไม้ผล เช่น ทุเรียน มะม่วง และมะขาม ซึ่งจัดเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย และผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
รวมทั้งพืชสมุนไพร เช่น มะหาด และมะขามป้อม ที่นอกจากปลูกเพื่อการค้าแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VERs2) สาขาเกษตร (สวนผลไม้) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีกช่องทางหนึ่ง รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตรอีกด้วย
นอกจากนี้ สนค. ระบุด้วยว่า ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ จะขายได้ราคาดีกว่าสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกฎการค้าโลกสมัยใหม่ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น
ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในเชิงรุก เตรียมความพร้อมและปรับตัว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การขับเคลื่อน BCG โมเดลการสร้าง News S-Curve ทางเศรษฐกิจ
รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ
รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วม T-VERs ให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทย เพื่อเตรียมความพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเกษตรในตลาดโลกต่อไป
อ้างอิง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
โครงการไทยไรซ์ นามา (#ThaiRiceNAMA)