ชมความล้ำ! นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากมหกรรม FAST AUTO SHOW THAILAND & EV EXPO 2023 และไทยก้าวไปถึงอยู่จุดไหนแล้ว?
จบไปหมาด ๆ สำหรับงาน Fast Auto Show Thailand and EV Expo 2023 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมไบเทคบางนา ถือเป็นงานที่รวมผู้ประกอบการรถยนต์ทั้งรถยนต์สันดาปหรือใช้น้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาอยู่ในงานเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค่ายรถยนต์ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เครื่องชาร์จไฟฟ้า เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าไว้อย่างครบถ้วน
ในโอกาสนี้ Bangkok Bank SME ได้มีโอกาสพูดคุยกับค่ายรถ EV ชั้นนำ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางการตัดสินใจของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SME ที่กำลังคิดปรับเปลี่ยนธุรกิจ แล้วแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใน 2023 เป็นอย่างไร และอัตราการเติบโตในอนาคตเป็นไปในทิศทางใด ติดตามข้อมูลได้ในบทความนี้

คุณพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์และประธานจัดงาน Fast Auto Show Thailand and EV Expo 2023 เปิดเผยถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า ปีนี้ได้เพิ่มเติมในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการทำการตลาดรถยนต์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตปรับทิศทาง ผู้บริโภคก็ต้องตามให้ทันเพื่อตัดสินใจให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้รถของตัวเอง
ดังนั้น ในงานจึงมุ่งเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้และการเตรียมพร้อม เพื่อให้ผู้ที่สนใจอยากเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องการใช้และการชาร์จไฟฟ้า รวมไปถึงการเตรียมระบบไฟฟ้าในบ้านเพื่อติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้ารถยนต์ ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อรถแล้วจบ แต่ต้องมีความพร้อมในเรื่องเครื่องชาร์จว่าไฟฟ้าในบ้านต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ชาร์จรถยนต์ได้หรือไม่ ติดต่อการไฟฟ้าอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องได้รับความรู้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเป็นอย่างไร?
เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากยอดขาย 3.2 ล้านคันในปี 2020 และพุ่งขึ้นถึง 10 ล้านคันในปี 2022 โดยทาง Bloomberg คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์แบบ Plug-in จะพุ่งไปถึง 14 ล้านคันภายในปี 2023 โดยจำนวนนั้นจะมีรถที่ใช้ไฟฟ้าแบบ 100% มากถึง 75%
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล (Passenger Car) ขณะที่ในส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Car) ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่า ยอดขายในปี 2023 จะมากถึง 570,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถบัสและรถตู้ขนส่งสินค้า ส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Truck) เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดย Forbes คาดการณ์ว่าในปี 2030 ราคารถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าจะถูกกว่าที่ใช้น้ำมันดีเซลถึง 50% เลยทีเดียว

รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตถึงไหนแล้ว
เมื่อผู้ใช้รถยนต์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายรายที่มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย จึงมีการลงทุนเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละประเภทเพิ่มขึ้นด้วย นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand-EVAT) ระบุว่า ยอดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากสถิติยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮบริด (HEV) แบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และแบบที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (BEV)
โดยแยกประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจดทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) มียอดจดทะเบียนสะสมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 265,475 คัน รองลงมา คือ รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) มียอดจดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 44,535 คัน
ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มียอดจดทะเบียนสะสม 21,875 คัน ซึ่งถือเป็นประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีเพียง 4,260 คัน เพิ่มขึ้นถึง 286.83% สะท้อนให้เห็นการเติบโตของรถยนต์ใช้ไฟฟ้า 100% หรือ EV CAR ในบ้านเราได้อย่างชัดเจน

อะไร? คือปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
แม้จะมีผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า รถยนต์ไฟฟ้ายังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเราที่ยังต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจเลือกให้เหมาะกับการใช้งานกับเราจริง ๆ และจากการสอบถาม คุณวรุฒ อินน้อย ที่ปรึกษาการขายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดังอย่าง BYD ที่มาเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% น้องใหม่ไซซ์กระทัดรัด ชื่อ ‘BYD DOLPHIN’
ในงานครั้งนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลกับ Bangkok Bank SME ว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งคือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีค่าบำรุงรักษาที่มากกว่า ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้มากกว่า 50% นอกจากนี้ผู้ที่ชื่นชอบการแคมป์ปิ้งยังสามารถนอนในรถได้โดยไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพจากควันท่อไอเสีย และไม่สร้างปัญหาด้านมลพิษรวมถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขณะที่เมื่อถามว่า สิ่งที่ผู้บริโภคยังกังวลในการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดคืออะไร? คุณวรุฒ ตอบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้ามีแผนเพิ่มสถานีชาร์จทั่วประเทศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนการเดินทางมากขึ้น แต่ถ้ามองว่าเป็นการแวะพักรถเพื่อรับประทานอาหารหรือช้อปปิ้งด้วย ก็ถือว่าไม่ได้ใช้เวลามากเท่าไหร่นัก เช่น BYD หากชาร์จแบบ Fast Charge ใช้เวลาเพียง 30 นาทีก็ชาร์จได้ถึงเกือบ 80% แล้ว ซึ่งวิ่งได้ระยะทางราว 300 กิโลเมตร
ส่วนปัญหาน้ำท่วมขังที่หลายคนกังวล เช่น กรุงเทพฯ ฝนตกน้ำท่วมขังนานจะมีปัญหากับรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ คุณวรุฒ อธิบายว่า รถไฟฟ้าสามารถลุยน้ำได้ อาจจะดีกว่ารถใช้น้ำมันด้วยซ้ำไป เนื่องจากระบบการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ได้ดูดอากาศเข้ามาเผาไหม้ในห้องเครื่องเหมือนรถยนต์สันดาป ดังนั้นจึงสามารถลุยน้ำท่วมขังได้ถึงครึ่งล้อโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อระบบไฟฟ้าและผู้ใช้รถ
ส่วนแบตเตอรี่และมอเตอร์ ถึงแม้จะอยู่ใต้ท้องรถ แต่ก็มีระบบกันน้ำตามมาตรฐาน IP67 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นและน้ำได้ประมาณ 30 นาที ดังนั้น รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรลุยน้ำสูงเกิน 30 นาที แต่ถึงแม้น้ำจะเข้าไปในแบตเตอรี่แล้วเกิดการ ‘ช็อต’ ระบบไฟฟ้าของเครื่องยนต์ทุกอย่างจะดับทันที จึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ผู้ใช้ยังมองว่าเป็นเรื่องใหม่ ถ้าค่ายรถยนต์ให้ความรู้มากพอ จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจและมั่นใจ จนในที่สุดก็จะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะเป็นการประหยัดต้นทุนในระยะยาวนั่นเอง

กลุ่มปตท. โชว์นวัตกรรม EV
สำหรับภายในงานนี้ นอกจากการจัดแสดงนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายประเภทการใช้งานแล้ว กลุ่ม ปตท. ยังได้นำศักยภาพด้านธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ มาสาธิตและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ เพื่อรองรับและผลักดันการเปลี่ยนผ่านจากยุครถยนต์ใช้น้ำมันสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งกลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท อรุณ พลัส จำกัด จึงได้รวบรวมนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจมาจัดแสดงภายในงาน ได้แก่

- Nuovo+ (นูโอโว พลัส) ระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ EV Value Chain ผ่านการเป็น Battery Solution Provider สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิด Net Zero ของประเทศ ซึ่งภายในงานมีผลิตภัณฑ์ใหม่จากทาง Nuovo+ ได้แก่ E-Plus – Mobile Energy Storage Charging อุปกรณ์กักเก็บและชาร์จพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่อัจฉริยะที่มีความสะดวกสบาย ซึ่งความพิเศษของเครื่องนี้คือ หากรถแบตเตอรี่หมด เราไม่ต้องขับรถไปหาที่ชาร์จ แต่สามารถจอดรถที่ไหนก็ได้ แล้วปล่อยให้เครื่องประจุไฟเคลื่อนที่มายังจุดที่รถจอดอยู่ได้เอง

และอีกหนึ่งนวัตกรรมคือ Gendome – Portable Power Station อุปกรณ์กักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่ได้ ที่ใช้ได้กับเครื่องไฟฟ้าทุกชนิด มีช่องต่อมากถึง 16 ช่อง ไม่ว่าจะเป็น USB-A, USB-C, ปลั๊กไฟแบบ Universal หรือ Wireless Charger เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวสายแคมป์ปิ้ง

- On-ion (ออน ไอออน) สาธิตการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมบริการจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัย ให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันมีสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า On-ion ทั้งหมด 59 สถานี สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน On-ion พร้อมใช้งานทั้ง iOS และ Android เพื่อค้นหาสถานีใกล้เรา

- EVme (อีวี มี) แพลตฟอร์มบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชัน ที่มอบประสบการณ์การเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบบง่าย ๆ พร้อมบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง โดยปัจจุบันมีรถ EV ให้เช่า 900 คัน เฉลี่ยการเช่า 80-90% ปลายปี 2566 มีแผนเพิ่มให้ได้ 1,600-1,800 คัน ตามความต้องการของลูกค้า

- Swap&Go (สวอพ แอนด์ โก) บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องรอชาร์จ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจเดลิเวอรี และการเดินทางทุกไลฟ์สไตล์ในเมือง โดยระยะทางต่อการ Swap อยู่ที่ 80-90 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วกว่า 22 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ

- OR จำลอง PTT Station เป็นสถานีบริการที่มีผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสินค้าและบริการครบครัน โดยมี EV Station PluZ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนาประสิทธิภาพการชาร์จให้ไวขึ้น พร้อมรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายในประเทศไทย ผ่านแอปพลิเคชัน EV Station PluZ บนระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ ครอบคลุมทุกการเดินทางทั่วไทย ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วกว่า 411 แห่ง และตั้งเป้าจะขยายให้ได้ถึง 800 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

แนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบจากสถิติยอดขายในแต่ละปีที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสการรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานที่ก่อมลพิษสิ่งแวดล้อม ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ตลาดรถยนต์ประเภทนี้มีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ในช่วงต้นปี 2023 ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไปจะมีค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เข้ามาประกอบและผลิตในประเทศไทย ตามที่ได้เซ็น MOU กันไว้กับผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์เป็นอันดับที่ 11 ของโลก

จากการที่ประเทศไทยมีเป้าหมายสู่ Carbon neutrality Target หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงให้ความสำคัญในภาคขนส่ง นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ปี 2021 ทั้งการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ZEV หรือ Zero Emission Vehicle นั่นหมายถึง รถยนต์ไฟฟ้า 100% และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน แต่ไม่นับรวมรถยนต์สันดาปและรถปลั๊กอิน - ไฮบริด ,รถไฮบริด
โดยในปี 2025 คาดว่าจะมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่ง - รถกระบะไฟฟ้า ประมาณ 200,000 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 คัน ในปี 2030 หลังจากนั้นในปี 2035 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ZEV ทั้งหมด ซึ่งในอนาคตเราจะเห็นรถยนต์ที่สามารถรีไซเคิลได้ มีการใช้ Recycle Material มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั่นเอง

Ecosystem ทำอย่างไร ให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตมากกว่านี้
เมื่อหันมามองปัจจัยที่มีผลต่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคือ ระบบ Ecosystem ของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ 1. แบตเตอรี่ 2. มอเตอร์ หรือค่ายรถยนต์ 3. สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 4. กฎหรือข้อบังคับต่าง ๆ และ 5. ผู้ใช้งาน
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่า เราอยู่ใน Ecosystem ไหน เช่น ถ้าเราเป็นผู้ผลิตจะสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้หรือไม่ หรือหากเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ จะสามารถผลิตเองได้หรือไม่ ขณะที่หากเราเป็นผู้ประกอบการก็ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น ถ้าเราเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า อาจหันมาพัฒนาระบบชาร์จ EV Car สำหรับติดตั้งภายในบ้าน เพื่อรองรับตลาดที่อนาคตจะมีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันก็มีงานหลายส่วนโดน Disrupt ไปไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 7-8 แสนคน ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าโตเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือหากรถยนต์ไฟฟ้าสามารถขายเริ่มต้นได้ในราคาคันละ 4-5 แสนบาท อาจส่งผลให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นจะต้องเลิกผลิตรถยนต์สันดาปในช่วงราคานี้ไปเลยก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้รับจ้างผลิตด้วยเช่นกัน ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี หาก ปตท. กับ ฟ็อกซ์คอนน์ ที่มีโครงการจะร่วมมือกันในการสร้าง Ecosystem หรือ ระบบนิเวศ EV แบบครบวงจร และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีแผนสร้างโรงงานสำหรับการรับผลิต EV Car ให้กับค่ายรถยนต์ที่สนใจทำตลาดในไทยและอาเซียน เราน่าจะยังอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ เช่น การทำตัวถังรถ ล้อ ยาง เป็นต้น ส่วนแบตเตอรี่นั้น มีความเป็นไปได้ ถ้าฟ็อกคอนน์มาทำในไทย คน 7-8 แสนคนในกลุ่มนี้จะยังไปต่อได้
นอกจากนี้ ไทยก็มีคู่แข่งที่สำคัญ อย่าง อินโดนีเซียที่มีประชากรถึง 220 ล้านคน และฟิลิปปินส์ มีประชากร 100 ล้านคน รวมประมาณ 320 ล้านคน ที่สำคัญอินโดนีเซียยังมีแร่นิกเกิลที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่อีกด้วย ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ผู้ผลิตจะไปตั้งฐานการผลิตในประเทศเหล่านี้แทนที่จะมาไทย ดังนั้นไทยจำเป็นต้องดึงดูดให้ผู้ผลิตเข้ามาลงทุนในบ้านเราให้ได้
ขณะที่ภาครัฐเองต้องผลักดันให้เกิด Ecosystem ที่ส่งเสริมการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า และวางเป้าหมายหลักให้อยู่ที่การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ ๆ ให้อยากเข้ามาลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมให้เปลี่ยนผ่านสู่ EV และที่สำคัญคือต้องสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับการใช้บริการของภาคอุตสาหกรรมในเรื่องของศูนย์ทดสอบ ศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของสตาร์ตอัพไทยให้เข้ามาอยู่ใน Ecosystem
เพราะการจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตไทยได้ จำเป็นต้องมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์และรุ่นที่แตกต่างกันสามารถใช้งานร่วมกันได้ และเร่งสร้าง Ecosystem ขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันทั้งองค์กรใหญ่ ภาครัฐและสตาร์ตอัพ เพื่อทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนมากเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานอุตสาหกรรมใหม่ ที่มีโครงสร้างมั่นคงรองรับการเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ธุรกิจอู่ซ่อมรถต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่?
วันนี้ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ประกอบการเกี่ยวกับเครื่องยนต์ทั้งหมด เพราะอะไหล่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์จะเริ่มมีความต้องการน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หายไปทันที เพราะรถยนต์ไม่ได้มีแค่เพียงเครื่องยนต์กับระบบเครื่องยนต์เท่านั้น
แต่ยังมีชิ้นส่วนอีกมากมาย เช่น สีและตัวถัง, ระบบช่วงล่าง, ระบบเบรค, ระบบเกียร์, ระบบไฟฟ้า, ระบบแอร์, ลูกปืน, รวมถึงชิ้นส่วนภายในอื่น ๆ ที่ยังจำเป็นต้องใช้งานเหมือนเดิม ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาทักษะและหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนของการให้บริการซ่อมในจุดอื่น ๆ เพื่อทดแทนงานซ่อมเครื่องยนต์ที่จะลดลงในอนาคตอันใกล้นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจสำหรับผู้ที่มองเห็นแนวโน้มและทิศทางในอนาคต เพราะไม่มีใครต้านทานกระแสการมาของรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งทั่วโลกต่างขานรับและปรับตัวอย่างหนักเพื่อนำพาธุรกิจให้รอดพ้นการ Disrupt นี้
ดังนั้นภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะที่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีและอื่น ๆ ที่จะกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ด้วย
อ้างอิง
คุณวรุฒ อินน้อย ที่ปรึกษาการขาย (Sales Specialist) บริษัท BYD AUTO (THAILAND) จำกัด
https://www.facebook.com/FASTAUTOSHOW
https://www.thansettakij.com/motor/ev/559793
https://www.bangkokbiznews.com/auto/1077073
https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/auto/1076737
https://www.mreport.co.th/news/statistic-and-ranking/220-Global-Electric-Vehicles-Sales-2023-expects-to-reach-14-million
https://www.thansettakij.com/motor/ev/567434
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-28105.aspx
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ
https://www.boi.go.th/upload/content/EV_BOI_614983bc2fd0e.pdf