‘คลองปานามาน้ำลด – เขื่อนน้ำแห้ง’ สัญญาณเตือนโลกวิกฤต กระทบเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะไปต่อได้?

ESG
24/09/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 20312 คน
‘คลองปานามาน้ำลด – เขื่อนน้ำแห้ง’ สัญญาณเตือนโลกวิกฤต กระทบเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะไปต่อได้?
banner
จากสถานการณ์ที่คลองปานามาน้ำลดลง รวมไปถึงน้ำในเขื่อนแห้งจากภัยแล้งเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งกำลังสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ระบบนิเวศกำลังเปลี่ยนแปลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการตัดไม่ทำลายป่าที่ได้กล่าวถึงผลกระทบที่สำคัญในบทความที่แล้ว ที่กล่าวมาเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น มีการประเมินตัวเลขความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย

จากผลกระทบ ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” มากถึงราว 9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี หากเรายังปล่อยให้สภาพในปัจจุบันดำเนินต่อไปแบบนี้ อนาคตเศรษฐกิจไทย จะลดลง 4.9%- 43.6% เลยทีเดียว ถึงเวลานั้นอาจยากจะแก้ไขและรับมือได้ทัน

ความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ทราบกันดีว่า เอลนีโญ เป็นสาเหตุของภัยแล้งรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ คือ เมื่อเกิดความแห้งแล้งผิดปกติ ทำให้เกิดไฟป่าซึ่งจะไปทำลายระบบนิเวศ แมลงจะระบาดมาก เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูของข้าวมีมากขึ้นส่งผลให้พื้นที่ทำนาเสียหาย



ยกตัวอย่าง สถานการณ์ไฟป่าครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศแคนาดา ที่เผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 63 ล้านไร่ ส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สูงถึง 600 ล้านตัน จากป่าไม้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญต่อสำหรับภาวะโลกร้อน

ทางตอนเหนือของแคนาดาสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้มากกว่า 200 พันล้านตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกหลายทศวรรษ แต่เมื่อป่าถูกเผาไหม้จะปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเป็นทวีคูณ

สิ่งนี้เร่งความเร็วของภาวะโลกร้อนและสร้างวงจรย้อนกลับที่อันตรายมากขึ้น จะยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกรุนแรงยิ่งขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ของมนุษย์เรานั่นเอง 

ความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

‘คลองปานามา’ กำลังมีระดับน้ำลดต่ำลงมากที่สุดในรอบศตวรรษ นับตั้งแต่เปิดใช้งานเมื่อปี 2457 จนเสี่ยงที่จะแห้งขอด อันมาจากปัญหาภัยแล้ง เอลนีโญ ความรุนแรงของภัยแล้งในปีนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นภัยแล้งหนักสุดในรอบ 100 ปี ส่งผลกระทบด้านโลจิสติกส์โลกอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของเรือขนส่งค้าทั่วโลกต้องผ่านเส้นทางนี้



ขณะที่ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 2 ข้อสำคัญคือ 

1.การลดระดับเพดานสูงสุดของอัตรากินน้ำลึกของเรือขนส่งสินค้า ทำให้เรือต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งแต่ละเที่ยว

และ 2.การเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมผันแปร FreshWater Surcharge ที่ดำเนินการโดยสำนักงานบริหารคลองปานามา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันอัตราค่าธรรมเนียมได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.99% สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 2-4%

ผลของมาตรการนี้ทำให้นักวิเคราะห์ด้านโลจิสติกส์ในต่างประเทศ ประเมินว่า เรือขนส่งสินค้าจำเป็นต้องลดความจุของตู้คอนเทนเนอร์ลงประมาณ 40% หรือมากกว่า 2,000 ตู้ เพื่อให้เรือมีน้ำหนักเบาและแล่นผ่านคลองที่ตื้นไปได้ และอาจต้องเพิ่มจำนวนเรือขนส่งให้มากขึ้น เพื่อกระจายน้ำหนักสินค้า

ซึ่งปี 2566 ปานามาประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ โดยหน่วยงานวิชาการในต่างประเทศได้คาดการณ์ว่า ปี นี้ปานามาจะเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงสิ้นปี

ทั้งนี้ คลองปานามา เป็นคลองที่มีความสำคัญต่อการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วน 6% ของการค้าทางทะเลโลก เป็นเส้นทางสำหรับการขนส่งสินค้ารวม 180 เส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของท่าเรือทั่วโลกกว่า 1,920 ท่าเรือใน 170 ประเทศ แต่ละปีมีเรือขนส่งสินค้าผ่านคลองปานามาประมาณ 13,000-14,000 ลำ

โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ถั่วเหลือง สินค้าอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

สำหรับประเทศไทยใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออก (East Coast) ของสหรัฐอเมริกา โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งของเรือตู้คอนเทนเนอร์ มีมูลค่าการค้ารวม 17,912.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยสินค้าที่ไทยขนส่งไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ได้แก่ ยางรถบรรทุกหรือรถบัส ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์ และปลาทูน่าปรุงแต่ง และมีท่าเรือที่ใช้นำเข้าสินค้าจากไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม สนค. ประเมินว่า ในปี 2567 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัว ทำให้ความต้องการซื้อสินค้า ความต้องการใช้เรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์กลับมาเพิ่มขึ้น โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ จะมีแนวโน้มยาวนานจนถึงปี 2567 จึงมีความเป็นไปได้ที่ค่าใช้จ่ายสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมถึงค่าระวางเรือจะปรับตัวสูงขึ้น

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยว่า สินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศมากกว่า 90% ถูกจัดส่งทางทะเล และคาดว่าภายในปี 2593 การค้าทางทะเลจะขยายตัวขึ้นได้ถึง 3 เท่า 

อย่างที่รู้ก็ดี เส้นทางเดินเรือสายสำคัญหลายแห่ง เป็นคลองที่ขุดขึ้นเพื่อตัดผ่านให้เรือสินค้าแล่นไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลาอ้อมไกล เช่น คลองสุเอซ เส้นทางการค้าที่สำคัญสำหรับการค้าทางทะเลมากถึง 12% ของโลก  ตัดผ่านประเทศอียิปต์ ซึ่งใช้เดินทางจากเอเชียใต้ไปยุโรป  เส้นทางสายนี้ทำให้เรือสินค้าไม่ต้องเดินทางไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปที่ไกลกว่าเกือบเท่าตัว

ซึ่งหากเส้นทางสายสำคัญเหล่านี้เกิดวิกฤตภัยแล้งหนัก จนน้ำลดเรือไม่สามารถผ่านไปได้ เศรษฐกิจจะเสียหายอย่างมหาศาล


ภาพจาก Atlas Logistics Network

ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ เรือขนส่งสินค้าเกยตื้นขวางคลองสุเอซ

ย้อนกลับในปี 2021 ที่เรือบรรทุก Ever Given หนึ่งในเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกยตื้นขวางคลองสุเอซ ทำให้เส้นทางเดินเรือสายนี้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง หลายบริษัทต้องเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้า เดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกาออกไป

การที่เรือสินค้าต้องใช้เวลานานขึ้นในการเดินทาง เท่ากับว่าต้นทุนในการขนส่ง ทั้งค่าน้ำมัน เวลาที่เสียไป ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ Ever Given เกยตื้น ส่งผลให้การค้าหยุดชะงักครั้งใหญ่ ระหว่างยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง สูญเสียทางการค้าถึง 7 พันล้านปอนด์/วัน และคลองสุเอซเสียรายได้ไปกว่า 10.9 ล้านปอนด์/วัน 

ขณะที่ข้อมูลจาก Lloyd's List ระบุว่า การปิดคลองครั้งนี้ ทำให้มีสินค้าต้องถูกส่งล่าช้าคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณเกือบ 300,000 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมงละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนในระบบ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักวิเคราะห์เตือนว่าสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งได้รับแรงหนุนจาก ‘วิกฤตสภาพภูมิอากาศ’ สามารถเพิ่มความถี่ของเหตุการณ์ที่คล้ายกับ Ever Given โดยอาจส่งผลที่กว้างไกลต่อห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจในภูมิภาค

หลายคนอาจสงสัยว่า คลองสุเอซ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการค้าไทยอย่างไร คำตอบ คือ คลองสุเอซเป็นเส้นทางเชื่อมการเดินเรือระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก โดยเป็นเส้นทางเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าที่สั้นที่สุด ซึ่งหากน้ำแห้งไม่สามารถผ่านได้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทย ดังนี้ 

ผลกระทบส่งออกไปแอฟริกา กลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์หนัก

ไทยมีการส่งออกไปแอฟริกา โดยเฉพาะอียิปต์ที่เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้น ๆ ในแอฟริกาเหนือและเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ปลาทูน่ากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของการส่งออกของไทยไปอียิปต์

ผลกระทบส่งออกไปยุโรป สินค้าเกษตรเสี่ยงเน่าเสีย

ส่วนทางฝั่งสหภาพยุโรป ไทยส่งออกประมาณ 20.53 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8.96% ของการส่งออกทั้งหมด โดยเป็นสินค้าเกษตรประมาณ 13.15% และสินค้าอุตสาหกรรม 86.85% ในส่วนของสินค้าเกษตรที่ส่งออก เช่น เครื่องในไก่ อาหารสัตว์ ข้าว ซอสปรุงรส เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ ปลาทูน่าชิ้น กุ้งแช่แข็ง ผักและผลไม้ เป็นต้น อาจได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงการเน่าเสียได้



สะท้อนให้เห็นว่า ที่กล่าวมานี้เป็นแค่ความเสียหายจากเส้นทางการเดินเรือเพียงสายเดียวเท่านั้น ถ้าหากเส้นทางการค้าทางทะเลสายสำคัญทั่วโลกถูกตัดขาด เพราะเจอกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้ง Climate Change และเอลนีโญ จะยิ่งทวีความเสียหายต่อเศรษฐกิจขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะไม่สามารถหยุดภัยแล้งที่โลกกำลังเผชิญอยู่ได้ แต่ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ ซึ่งองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ภายใต้สหประชาชาติ (UN) วางมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสําหรับขนส่งระหว่างประเทศ ตั้งเป้าปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (2050)



ยกตัวอย่างบริษัทเดินเรือไทย อย่าง บริษัท อินโนสเตลลาร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางทะเลของประเทศไทย ได้มองเห็น Pain Point ธุรกิจเดินเรือ ที่เกิดมลภาวะจากการขนส่งทางทะเล ส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม

โดยมีการกำหนดการบังคับใช้ ให้เรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ(IMO) ที่ต้องการจะลดก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ 40 %  ในปี 2573 ซึ่ง IMO รับร่างนี้แล้ว ทำให้เกิดระเบียบข้อบังคับใหม่ที่เรียกว่า ดัชนีความเข้มข้นของคาร์บอน (Carbon Intensity Indicator: CII)

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เรือจำเป็นต้องคำนวณ Energy Efficiency Existing Ship Index (EEXI) ที่ได้รับ เพื่อวัดประสิทธิภาพพลังงานและเริ่มการรวบรวมข้อมูลสำหรับการรายงานตัวบ่งชี้ความเข้มคาร์บอนในการปฏิบัติงานประจำปี



ยกตัวอย่าง อินโนสเตลลาร์ มีเรืออยู่ลำหนึ่ง เรือลำนี้มีค่า CII Rating คือ C หากผมต้องไปรับงานบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง เขาบอกว่าต้องการ CII Rating คือ B  อินโนสเตลลาร์ ต้องส่งเรือลำใหม่ให้กับผู้เช่า นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถรับงานนั้นได้ นอกจากเปลี่ยนเรือใหม่ หรือดำเนินการแก้ไขค่า CII Rating เช่นการเปลี่ยนเครื่องยนต์ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาปรับปรุง  หรือต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทน

ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ อินโนสเตลลาร์ จะต่อยอดธุรกิจต่อไป ในปัจจุบันเขารู้แค่ว่าคุณปล่อยคาร์บอนออกไปเท่าไหร่? อย่างไร? ตามกฎเรือ ซึ่งอนาคตจะต่อยอดในเรื่องของการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของเรือด้วย ถือเป็นตัวอย่างที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในไทย จะเริ่มมองหาแนวทางดำเนินธุรกิจที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับโลกใบนี้ได้






เมื่อเขื่อนซีเคพาวเวอร์เเห้ง ผลิตไฟหาย 4 พันล้านหน่วย

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์น้ำที่ลดลงจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนํ้า ที่มีต้นทุนตํ่าราว 2.60-2.80 บาทต่อหน่วย ส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้าจากสปป.ลาว

เมื่อปริมาณนํ้าในเขื่อนต่าง ๆ เริ่มลดตํ่าลง มีการประเมินว่าพลังงานไฟฟ้าจากพลังนํ้าที่จะต้องจัดซื้อตามแผนในปี 2566 นี้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านหน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศประมาณ 208,000 ล้านหน่วย จะลดลงราว 4,000 ล้านหน่วย เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้าในเขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณนํ้าลดตํ่าลงไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจ่ายให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะมีความจำเป็นต้องกักเก็บนํ้าไว้ผลิตไฟฟ้าในปีหน้าด้วย



สินค้าเกษตรผลผลิตลดลง จาก ‘เอลนีโญ’ รุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ เอลนีโญ ยังสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยอาจสร้างความเสียหายต่อพืชเกษตรสำคัญของไทยที่ผลผลิตจะเริ่มทยอยสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงนี้ ประกอบด้วยข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 2566 ประมาณ 48,000 ล้านบาท โดยข้าวเป็นความเสียหายเป็นหลักที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า เอลนีโญ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสำหรับการลงทุนในภาคการเกษตร ในช่วงครึ่งปีหลังและต่อเนื่องถึงปี 2567 ซึ่งหากเกิดรุนแรงอาจกระทบต่ออุณหภูมิอากาศในประเทศให้ร้อนขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ปี และอาจเกิดภัยแล้งกระทบต่อระบบชลประทาน, ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร และปริมาณน้ำหนักตัวของปศุสัตว์ด้วย

ทั้งนี้มองว่าในปี 2567 เอลนีโญอาจรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อถึง มี.ค.2567 จะสร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย สร้างความเสียหายมากกว่าปี 2566 รวมไปถึงธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญราคาวัตถุดิบต้นน้ำที่สูง และอาจเสี่ยงขาดแคลนวัตถุดิบได้ในบางช่วง



จากการรวบรวมข้อมูลย้อนหลังในอดีต มีการประเมินว่า ผลจากภาวะ เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ในประเทศ จึงต้องมีแผนการเตรียมรับมือในการกักเก็บน้ำล่วงหน้า เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ แต่ด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567

อาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ด้วย ที่อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ความเสียหายของข้าวมีสูง เพราะมาจากทั้งข้าวนาปรังและนาปี เกษตรกรจึงต้องเตรียมรับมือกับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย

โดยราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกอาจมีความผันผวนมากขึ้น จากความเสี่ยงของสภาพอากาศที่จะกระทบปริมาณผลผลิตในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ



ผลกระทบต่อไทยมีมากแค่ไหน แล้วต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไรบ้าง

สำหรับพิษจากภัยแล้งจะยังคงส่งผลต่อคลองปานามาต่อไปอีกตลอดปี 2023 ซึ่ง เอลนีโญ่ จะคลี่คลายลงในช่วงปี 2024 โดยฝนมรสุมใหญ่ช่วงเดือนมิถุนายนช่วยเพิ่มปริมาณน้ำลดปัญหาความตื้นของคลองลงได้ 

ส่วนการแก้ปัญหาที่ผู้ส่งออกไทยสามารถทำได้ คือหลีกเลี่ยงการใช้บริการคลองปานามา อาทิ การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ควรเลือกบริการเส้นทาง Trans-Atlantic ที่ผ่านคลองสุเอซ ในการส่งสินค้าไปยังท่าเรือชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาหรือเส้นทาง Trans-Pacific ในการขนส่งสินค้าไปท่าเรือชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและขนส่งทางบกต่อไปยังพื้นที่ตอนกลางหรือทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาได้

อย่างไรก็ตาม คลองปานามาไม่ใช่เส้นทางขนส่งหลักของไทย จึงอาจไม่กระทบมากนัก แต่อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ที่ทำให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรติดตามสถานการณ์การขนส่งทางทะเล เส้นทาง Trans-Atlantic อย่างใกล้ชิด

เพื่อวางแผนการขนส่ง และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่าย และการขนส่งหยุดชะงัก อีกทั้งต้องติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์และมาตรการปรับตัว รวมถึงเลือกรูปแบบและเส้นทางขนส่งที่เหมาะสมในการขนส่งต่อไป



แนวทางการปรับตัว เพื่อลดภาวะโลกร้อน ให้ธุรกิจไปต่อได้

ปัจจุบันหลายบริษัทประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนอย่างชัดเจน เนื่องจากคู่ค้าหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายบังคับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ธุรกิจหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant) ภายในอาคารและโรงงานมากขึ้น 

ขณะที่ในระยะข้างหน้าภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะลงทุนสร้างระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) เพิ่มเติมหากต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลง สำหรับบางบริษัทที่ไม่ได้ลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ แต่มีความใส่ใจในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะได้ใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC: Renewable Energy Certificate) สำหรับใช้เป็นหลักฐานเพื่อจัดทำรายงานความยั่งยืน(Sustainability) และการจัดอันดับของบริษัทชั้นนำต่าง ๆ

นอกจากนี้ บางบริษัทเริ่มเก็บข้อมูล Carbon Credit ในกิจกรรมดำเนินงานเท่าที่ทำได้ เพราะเชื่อว่าในอนาคตคู่ค้าจะให้ความสำคัญมากขึ้น รวมถึงเริ่มใช้สินค้าและอุปกรณ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ชุดแต่งกายพนักงานที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) มักใช้เงินทุนสูงและใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน ส่วนใหญ่จึงเห็นเพียงธุรกิจการผลิตขนาดใหญ่เท่านั้นที่ปรับตัวอย่างจริงจัง ขณะที่ธุรกิจ SME ที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ช้ากว่าและมีเงินทุนน้อยกว่า ยังไม่พร้อมที่จะลงทุน

สะท้อนให้เห็นว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวคือเงินทุน เพราะแนวทางในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) เช่น การจัดทำฐานข้อมูล การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสีเขียว จำเป็นต้องใช้เงินทุนสูง ภาคการเงินจึงเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรเงินทุนแก่ภาคธุรกิจเพื่อลงทุนปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว 

แต่ปัจจุบันความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน ทำให้การจัดสรรเงินทุนไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอ ดังนั้น ธปท. จึงกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับใช้อ้างอิงและเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และใช้ในกระบวนการประเมินความเสี่ยงเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น



ขณะที่การปล่อยก๊าซในภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่มาจากการทำนาข้าว การใช้ปุ๋ย และปศุสัตว์ ภาครัฐควรผสมผสานเครื่องมือในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งการใช้กลไกราคา (Market-based approach) การกำหนดกฎเกณฑ์ (Prescriptive approach) และการสนับสนุนและส่งเสริม (Facilitative approach)

โดยควรคำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีต้นทุนขั้นต้นสูง (Fixed Cost) แต่ต้นทุนต่อหน่วยจะค่อย ๆ ลดลงภายหลัง คำนึงถึงต้นทุนและความคุ้มค่าในระดับประเทศที่มีจุดแข็งจากการเป็นแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียนจากสินค้าเกษตร และคำนึงถึงความสัมพันธ์ของห่วงโซ่ธุรกิจตามที่ได้เริ่มเห็นผลของการปรับตัวของบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบ (Suppliers) ตลอดไปยังเกษตรกรแล้ว

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องลงมืออย่างจริงจังและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกวันนี้ เป็นผลที่สั่งสมมาจากในอดีต หากไม่เร่งปรับตัวและแก้ไขปัญหาตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตวิกฤตจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนอาจถึงจุดที่ระบบนิเวศเลวร้ายจนแก้ไขไม่ได้

ภาครัฐควรส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อมและมีนโยบายควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างชัดเจน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักถึงความสำคัญและเร่งลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ขณะเดียวกัน ภาคการเงินต้องพร้อมสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างทันสถานการณ์

อ้างอิง
สมาคมธนาคารไทย
https://shorturl.asia/czgDZ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
https://shorturl.asia/Mibmp
https://shorturl.asia/GCgMR
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2058447
https://www.thansettakij.com/sustainable/energy/573570
https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7379423
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2023aug15.html
https://www.ocsb.go.th/2023/economic-news/23605/
https://thestandard.co/summary-impacts-thailand-ever-given-blocks-suez-canal/
https://dxc.thaipbs.or.th/ภาวะโลกร้อน/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
184 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2878 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3846 | 30/03/2024
‘คลองปานามาน้ำลด – เขื่อนน้ำแห้ง’ สัญญาณเตือนโลกวิกฤต กระทบเศรษฐกิจโลก ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะไปต่อได้?