‘ถนนชานอ้อย’ เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นถนนรักษ์โลก ตอบโจทย์ BCG Model เติบโตอย่างยั่งยืน
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน ที่เราต่างรู้ดีว่า เกิดจากฝีมือของมนุษย์ ทำให้วันนี้ ทุกคนเริ่มตื่นตัวและพยายามอย่างหนักในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่เพื่อโลก รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์เข้ากับเศษวัสดุเหลือใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดขยะ และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่เคยถูกมองว่าเป็นของไร้ประโยชน์จากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร มาในวันนี้ เศษวัสดุเหลือใช้หลายชนิด ได้กลายเป็นสิ่งของที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมหาศาล หนึ่งในนั้นคือ ‘ถนนที่สร้างจากชานอ้อย’
มูลค่าตลาดอ้อยทั้งในและต่างประเทศ และแนวโน้มการเติบโต
ปัจจุบัน ปริมาณการผลิตและบริโภคน้ำตาลทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อันเป็นผลจากประชากรโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้น้ำตาลจากอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ บราซิล รองลงมาคือ อินเดีย และ จีน เป็นทั้งผู้ผลิตและบริโภคน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ซึ่งน้ำตาลเป็น 1ใน 4 ของสินค้าการเกษตรที่สำคัญของจีน ขณะที่ ไทย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศที่ 93.88 ล้านตัน แยกเป็นอ้อยสด จำนวน 63.10 ล้านตัน คิดเป็น 67.21% และอ้อยถูกลักลอบเผา จำนวน 30.78 ล้านตัน คิดเป็น 32.79% ซึ่งปริมาณผลผลิตอ้อยรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.81 ล้านตัน คิดเป็น 1.97%
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปี 2566-2568 อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในปี 2567-2568 รวมทั้งภาวะการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เอื้อต่อการขยายตัวของความต้องการ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ การผลิตยังมีทิศทางขยายตัวตามผลผลิตอ้อยที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามภูมิอากาศ ที่เอื้ออำนวยและการขยายการเพาะปลูกจากแรงจูงใจด้านราคาประกันรายได้จากโรงงาน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวเลขอ้อยถูกลักลอบเผาปี 2566 ที่ยังคงอยู่ในปริมาณสูง ภาครัฐจึงวางแนวทางบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาอ้อยถูกลักลอบเผาให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยวางกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบริหารจัดการในไร่อ้อยอย่างครบวงจร (Smart Farming) ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การปลูก ตลอดจนการขนส่งและการจัดการวัสดุเหลือทิ้งของอ้อย และลดการเผาใบอ้อย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ชานอ้อยนำมาสร้างถนนได้อย่างไร
โดยทีมนักวิจัยของ Guangxi Transportation Science and Technology Group Co.,Ltd. ของจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมเส้นใยชานอ้อย (Bagasse Fiber) สำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้างพื้นผิวจราจรของประเทศจีน โดย กว่างซีจ้วง คือพื้นที่ซึ่งเป็นฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของทั้งประเทศ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและเป็นต้นแบบที่ดีในการประยุกต์ใช้จุดแข็งของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ถือเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชานอ้อยและเศรษฐกิจภาคการเกษตร ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลสที่ใช้ผสมกับยางมะตอยได้อย่างมาก
สำหรับกระบวนการพัฒนากระบวนการนำชานอ้อย (Sugarcane Bagasse) สามารถนำไปใช้สร้างถนนได้ คือ การนำชานอ้อยเหลือทิ้งในโรงงานน้ำตาล มาผ่านกระบวนการบดย่อยด้วยเครื่องจักร ปรับสภาพด้วยวิธีทางเคมีกายภาพ แล้วแยกเส้นใย จนได้เป็น ‘’เส้นใยชานอ้อย’ ที่มีคุณสมบัติในการเป็นวัสดุผสม (Composite Material) กับแอสฟัลต์ หรือที่เราเรียกว่า ‘ยางมะตอย’ สำหรับการก่อสร้างพื้นผิวถนน
โดยพื้นผิวถนนที่มีส่วนผสมของเส้นใยชานอ้อยมีคุณสมบัติเทียบเคียงกับแอสฟัลต์ที่ใช้วัสดุผสมไฟเบอร์เซลลูโลส และมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานของพื้นผิวถนน ที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ได้เป็นอย่างดี
โดยที่ผ่านมา จีนมีความพยายามมุ่งมั่นวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากร (Comprehensive Utilization) ที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในงานก่อสร้างถนนมาโดยตลอด อาทิ การใช้ยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ให้เป็นผงยางสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ การปรับปรุงวัสดุรีไซเคิลคอนกรีต (Recycled Concrete Aggregate, RCA) และเศษเหล็กด้วย
นอกจากนี้ ยังทดลองเติมวัสดุผงกราฟีนลงในยางผง (Powder Rubber) ได้เป็นเทคโนโลยีพื้นผิวถนนแอสฟัลต์ที่ปรับปรุงคุณภาพด้วยวัสดุยางผสมกับวัสดุกราฟีน และนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก
โดยจุดเด่นของวัสดุยางผสมกับวัสดุกราฟีน คือ ปราศจากสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทนต่อการแตกร้าวในอุณหภูมิต่ำ มีค่าความหนืดและการยึดเกาะพื้นผิวที่มีประสิทธิภาพ
นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบเชิงปริมาณสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นต้นแบบแรกของจีนและของโลก แม้จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 15% แต่แลกมาด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าสามารถแก้ไขปัญหาถนนในจีนที่มีอายุการใช้งานสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่างหน่วยงานไทยที่ใช้นวัตกรรมชานอ้อยสร้างถนน
ที่มาผ่านประเทศไทยมีการนำเข้า ชานอ้อยยางมะตอย เพื่อนำมาทำถนนไปบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โครงการ พื้นโรงงาน MG ทั้งหมดบนพื้นที่กว่า 400 ไร่, เส้นทางด่วนโคราชใหม่ รวมถึงกลุ่ม Intrasucture ทั้งหมด ที่มีมาตรฐานระดับสากล ส่วนไม้เคลือบฟิล์ม ก็ใช้ที่ส่วนต่อขยายสุวรรณภูมิ
ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ชานอ้อย (Sugarcane Bagasse) เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือสารอินทรีย์อีกประเภทหนึ่ง ที่มีดีมากกว่าการทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ปัจจุบันมีการนำมาใช้ประโยชน์หลาย ๆ ด้าน อาทิ การนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า, ใช้อัดเป็นแผ่น (Particle Board) ไม้อัดผิวเส้นใย (Fiber-Overlaid Plywood) และแผ่นกันความร้อน (Insulating Board) เป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์วัสดุทดแทนไม้หรือแผ่นชิ้นไม้อัด
เพราะสามารถใช้วัตถุดิบจากไม้หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ให้ชิ้นไม้ หรือเส้นใยในการผลิต เช่น ชานอ้อยโดยผสมกับสารยึดติด สารเคลือบผิวกันซึม และ สารเติมแต่งอื่น ๆ , หรือนำไปผลิตเยื่อกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ ผลิตเป็น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร จากเยื่อกระดาษชานอ้อยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีสารก่อมะเร็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมไปถึงถ่านชีวภาพ (Biochar) สามารถผลิตได้โดยใช้เคมีเชิงความร้อนจากวัตถุดิบประเภทอินทรีย์ ซึ่งชานอ้อยเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่มีคาร์บอนสูง ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในหลายๆ ด้าน ได้แก่ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้เป็นวัสดุดูดซับและกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ กากอ้อยยังทำเป็นส่วนผสมของปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิงทั้งในรูปแบบกากปกติ อัดเม็ด และอัดก้อน นำไปผลิตเอทานอล
ซึ่งเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่สำคัญ เป็นการบุกเบิกหนทางใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจอย่างไร
การผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งพลิกโฉมการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นโอกาสที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย จะศึกษาแนวทางการวิจัย หรือพัฒนาความร่วมมือวิจัยร่วมกับจีนในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ชานอ้อย มีประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตร พลังงาน กระดาษ และวัสดุก่อสร้าง ขึ้นอยู่กับการนำไปประยุกต์ใช้งาน ที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ภาคเกษตรกรรมของไทยได้อย่างยั่งยืนด้วย
ดังนั้น ประเทศไทย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก และมีโครงสร้างอุตสาหกรรมคล้ายกับ เมืองกว่างซีจ้วงของจีน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการนำต้นแบบในการพัฒนาถนนเมืองไทย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งของไทยในการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ที่วางไว้ โดยการผลักดันการใช้นโยบาย BCG เพื่อมุ่งสู่พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจะศึกษาแนวทางการวิจัย และพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับประเทศจีนในการใช้ประโยชน์จากชานอ้อย
เพื่อนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ ‘ธุรกิจสีเขียว’ (Green Business) และยังเป็นการ ‘เปลี่ยนขยะเป็นนวัตกรรมสีเขียว’ ที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ภาคเกษตรไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย แล้วนวัตกรรมที่ว่านี้ เขาทำได้อย่างไร และมีประโยชน์ขนาดไหน บทความนี้มีคำตอบ
อ้างอิง :
https://thaibizchina.com/article/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88-smart-products-%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3/
https://www.builk.com/th/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A2-steico/
https://www.csdlabservices.com/2021/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
https://www.opt-news.com/news/33936
https://www.salika.co/2021/12/15/innovation-from-sugarcane-bcg-model/