ชวนรู้จักเทคโนโลยีขับเคลื่อนนโยบาย Green Port ท่าเรือจีน โลจิสติกส์ไทยปรับใช้ได้ประโยชน์

SME Update
31/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2945 คน
ชวนรู้จักเทคโนโลยีขับเคลื่อนนโยบาย Green Port ท่าเรือจีน โลจิสติกส์ไทยปรับใช้ได้ประโยชน์
banner
ปัจจุบันที่ผู้บริโภคเองมีจิตสำนึกในการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการส่งผลให้แนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขยายไปในวงกว้างกับกลุ่มธุรกิจทั่วโลก ทั้งยังเป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้กับหลายองค์กรใส่ใจถึงเรื่องนี้ และได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์

เช่นเดียวกับประเทศจีนในขณะนี้ที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม’ เพื่อให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยมี 2 แนวทางคือ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวทางแรก โดยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ต้องหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% 



โดยเรื่องนี้รัฐบาลท้องถิ่นของประเทศจีนได้ตอบสนองนโยบายจากส่วนกลางเพื่อก้าวผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว’ โดยเฉพาะการจำกัดและกำจัดอุตสาหกรรมที่สิ้นเปลืองพลังงานและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการบริการให้มีความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงภาคการขนส่งและโลจิสติกส์นี้ด้วย

กรณีนี้ ‘ท่าเรือฝางเฉิงก่าง’ ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้ประกอบการค้าผลไม้ และเป็นเมืองเดียวของจีนที่มีพรมแดนทางบกและทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ประตูแห่งภาคตะวันตกเฉียงใต้’ ได้เริ่มใช้งาน ‘สถานีเปลี่ยนแบตเตอรีสำหรับรถบรรทุก’ เป็นแห่งแรกในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) โดยมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (EV Truck) อีกจำนวน 10 คัน ซึ่งจะใช้ในการปฏิบัติงานภายในเขตท่าเรือฝางเฉิงก่าง เป็นการขานรับนโยบาย ‘เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว’ ของประเทศจีน



นำร่องสู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น

สำหรับ ‘สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่’ เป็นโครงการนำร่องสู่การปรับเปลี่ยนรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันไปใช้รถบรรทุกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า โดยสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีดังกล่าวมีเนื้อที่ 300 ตารางเมตร ตัวโครงสร้างของสถานีประกอบขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ ด้วยการประกอบติดตั้งและทดสอบการใช้งานใช้เวลาเพียง 3 วัน 

โดยระบบการทำงานใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีความล้ำสมัยในการเปลี่ยนแบตเตอรี อาทิ ชุดอุปกรณ์ยกแบตเตอรี่รถบรรทุกขนาดใหญ่ด้วยพลังแม่เหล็กที่มีความต้านทานแรงลมและการโยกไหวได้เป็นที่แรกของประเทศจีน รวมถึงระบบวัดระยะห่างด้วยเรดาร์ ระบบระบุตำแหน่งด้วย AI Vision และเทคโนโลยี 5G ซึ่งสามารถทำงานด้วยความแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม

ส่วนขั้นตอนและกระบวนการเปลี่ยนแบตเตอรีรถบรรทุกนั้นจะใช้เวลาเพียง 5 นาที ถือเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดแบบเดิมของรถ EV ที่ไม่ต้องจอดรถเพื่อรอชาร์จแบตเตอรีเป็นเวลานาน 3 - 6 ชั่วโมง เพราะชุดแบตเตอรี่ที่ใช้จะเป็นแบตเตอรีลิเธียมไอออนฟอสเฟส หรือ LiFePO4 มีแรงขับเคลื่อน 141 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 10-12 ชั่วโมง โดยชุดอุปกรณ์นี้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ 144 ครั้งต่อวัน ช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของรถบรรทุกในท่าเรือได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รถบรรทุกระบบไฟฟ้า 10 คัน ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันดีเซลได้ปีละ 2 แสนลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 480 ตัน อีกทั้งยังเป็นการขานรับนโยบายประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อขับเคลื่อนท่าเรือแห่งนี้สู่ Green Port และ Smart Port อย่างมีประสิทธิภาพ



จีนเร่งใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในท่าเรือ

นอกจาก ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ได้พัฒนาสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนแรงงานบริเวณหน้างาน และช่วยให้กิจกรรมการผลิตในท่าเทียบเรือมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นยังมีท่าเรืออื่นๆ ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือเที่ยซานในเมืองเป๋ยไห่ ที่ได้ทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับ ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่เดิมภายในท่าเทียบเรือ

รวมทั้ง ท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ ได้ใช้งานท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน ด้วยการพัฒนาระบบเครนยกตู้สินค้าและรถขนถ่ายตู้สินค้า (shutter truck) ให้ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการพัฒนาโมเดลการขนส่ง ‘เรือ+ราง’ แบบไร้รอยต่อในบริเวณท่าเรือ ช่วยให้การขนส่งกระจายสินค้าทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน



ท่าเทียบเรือไทย กับการใช้รถบรรทุกไร้คนขับครั้งแรก

สำหรับประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำ เปิดตัวรถบรรทุกหัวลากไร้คนขับ เพื่อนำมาปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งแรกในประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับวงการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศด้วยเทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับที่เรียกว่า ‘Qomolo’ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานที่ท่าเทียบเรือแห่งนั้นได้เป็นอย่างดี

โดยรถบรรทุกไร้คนขับนี้ ได้โชว์ศักยภาพในการปฏิบัติงาน ร่วมกับรถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและลานตู้สินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยี AI ขั้นสูง และระบบการชาร์จพลังงานแบบไร้สาย ส่งผลให้สามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ประกอบกับ การติดตั้งเซ็นเซอร์ที่วัดระยะห่างด้วยแสงเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับและสำรวจสภาพแวดล้อมทุกทิศทางได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยการสร้างแผนที่แบบ 3 มิติ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินสภาพการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและการชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับภายในท่าเทียบเรือดังกล่าว ได้ถูกควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการสำหรับท่าเทียบเรือแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทนี้ได้ทำการพัฒนาขึ้นเองเพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกับนวัตกรรมและระบบอื่นๆ ภายในท่าเทียบเรือ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลเพื่อวางแผนเส้นทางวิ่งของรถ ตลอดจนระบบนัดหมายรถเข้าท่าเทียบเรือและลานจอดรถ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติงาน 

จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการใช้งานในท่าเรือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกรณีตัวอย่างที่กล่าวมา ก็จะช่วยด้านการบริหารต้นทุนด้านการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในระยะยาวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อย ซึ่งสอดรับกับมาตรการกีดกันทางการค้าด้านประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ตลาดโลกให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ 

แหล่งอ้างอิง : ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1297 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1662 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1918 | 25/01/2024
ชวนรู้จักเทคโนโลยีขับเคลื่อนนโยบาย Green Port ท่าเรือจีน โลจิสติกส์ไทยปรับใช้ได้ประโยชน์