ชวนรู้จัก ‘ฝีดาษลิง’ แตกต่างกับฝีดาษคนอย่างไร? สู่วิธีป้องกันเพื่อปลอดภัยห่างไกลโรค

Edutainment
07/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3161 คน
ชวนรู้จัก ‘ฝีดาษลิง’ แตกต่างกับฝีดาษคนอย่างไร? สู่วิธีป้องกันเพื่อปลอดภัยห่างไกลโรค
banner
ขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มพบการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มากขึ้น สร้างความวิตกกังวลถึงอันตรายของโรคนี้ Bangkok Bank SME จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ฝีดาษลิง’ มาให้ได้ทราบ รวมถึงมีความกับฝีดาษคนอย่างไร สู่วิธีป้องกันเพื่อห่างไกลจากโรคติดต่อนี้



รู้จัก ‘ฝีดาษลิง’

โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่ใกล้เคียงกับอีสุกอีใส และไข้ทรพิษแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ร่วมกับตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และต่อมน้ำเหลืองโต โรคนี้ถูกพบครั้งแรกในลิง จึงตั้งชื่อว่า ‘ฝีดาษลิง’

โดยโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (Variola Virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (Vaccinia Virus) และฝีดาษวัว (Cowpox Virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง แคเมอรูน คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน และกาบอง

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โดยปัจจุบันมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัส ฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลาง และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์แอฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานติดต่อจากคนสู่คน



‘ฝีดาษลิง’ ติดต่อได้อย่างไร?

1. ติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ : พบได้ทั้งในสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เกิดจากการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ที่ติดเชื้อกับสัตว์ปกติ ผ่านแผลบนผิวหนัง และทางการหายใจ

2. จากสัตว์สู่คน : เกิดจากการสัมผัสโดยตรงจากเลือด สารคัดหลั่งหรือตุ่มหนองของสัตว์ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน รวมถึงการประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ

3. จากคนสู่คน : การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งหรือตุ่มหนอง การติดต่อจากทางเดินหายใจโดยผ่านทางละอองจากการไอหรือจาม

โรคฝีดาษ (Smallpox) ต่างจากฝีดาษลิงอย่างไร?

‘ฝีดาษ’ โรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus) สามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสกับผื่นหรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้

ปัจจุบันโรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้าง แต่ยังเก็บตัวอย่างเชื้อไว้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาเพิ่มเติม จนได้มีการผลิตยารักษาโรคไข้ทรพิษตัวใหม่คือ ยา Tecovirimat (TPOXX) ในปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการระบาดในอนาคต



*หมายเหตุ ฝีดาษลิง
- ผื่น จะเกิดหลังเริ่มมีไข้ประมาณ 1 - 3 วัน ลักษณะผื่นเป็นจุดแดง จากนั้นจะขยายขึ้นเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และแตกแห้งหลุดไปในที่สุด โดยมักจะเริ่มบริเวณใบหน้า กระจายไปตามแขนขา ลำตัว และใช้เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์กว่าผื่นจะหายเป็นปกติ
- ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ตาบอด ติดเชื้อแทรกซ้อน จนถึงเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1 - 10%

*หมายเหตุ ฝีดาษคน
-เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7 - 17 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการต่างๆ 
- มีผื่นสีแดงขึ้นลามไปทั่วทั้งตัว แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ
- จากนั้นต้องใช้เวลาอีก 8 - 9 วันแผลจึงเริ่มตกสะเก็ด แล้วค่อยๆ หลุด เหลือเพียงแผลเป็นในที่สุด
โดยช่วงที่เกิดการแพร่กระจายเชื้อจะเริ่มตั้งแต่ช่วงที่มีผื่นขึ้นจนกระทั่งสะเก็ดแผลหลุดร่วงไปจนหมด
- หากผู้ป่วยไม่มีอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายก็สามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ และอาจมีเพียงแผลเป็นให้เห็น



โรคฝีดาษลิงรักษาได้หรือไม่?

การรักษาฝีดาษลิงในขณะนี้ใช้การรักษาประคับประคองตามอาการ ยังไม่มียามาตรฐานที่ใช้รักษาอย่างจำเพาะเจาะจง อย่างไรก็ตามมีการพิจารณานำยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคฝีดาษมาใช้รักษาโรคฝีดาษลิงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีอาการหนัก ซึ่งอาจต้องรอการศึกษาและพัฒนาการรักษาที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง

- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ

- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติ มาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ

- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย

- หลีกเลี่ยงการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค

- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน

- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ สร้างจาก Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic (MVA-BN) สำหรับป้องกัน Orthopoxvirus สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้ทรพิษ และโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 85%


แหล่งอ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
684 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
9389 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
12083 | 03/10/2023
ชวนรู้จัก ‘ฝีดาษลิง’ แตกต่างกับฝีดาษคนอย่างไร? สู่วิธีป้องกันเพื่อปลอดภัยห่างไกลโรค