สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องรู้ ก่อน Business Transformation องค์กรเข้าสู่ระบบ ‘Automation’

Mega Trends & Business Transformation
14/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5538 คน
สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องรู้ ก่อน Business Transformation องค์กรเข้าสู่ระบบ ‘Automation’
banner
ระบบ Automation (เทคโนโลยีอัตโนมัติ) อีกหนึ่ง Mega Trend เปลี่ยนโลกที่กลายเป็นเรื่องปกติที่ภาคอุตสาหกรรมนำมาใช้ในปัจจุบัน โดยเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในต่างประเทศเริ่มใช้กันมาเป็น 10 ปีแล้ว และทุกคนก็ได้เห็นประโยชน์อันมหาศาลของเทคโนโลยีนี้
 

นำระบบ Automation มาใช้กับ SME 

แต่ในเมืองไทยการนำระบบ Automation มาใช้ยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก ดังนั้น SME Series ตอนนี้ จึงขอนำสิ่งควรรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอัตโนมัติมาให้ผู้ประกอบการและ SME ได้เข้าใจมากขึ้น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา Business Transformation องค์กรเข้าสู่ระบบ Automation ไม่ตกขบวนเทรนด์เทคโนโลยี
 
สำหรับปรากฏการณ์และการเปลี่ยนแปลงไปของแวดวงอุตสาหกรรมโลก ต้องดูเจาะกันไปที่ประเทศหลักๆ ในวงการอุตสาหกรรม อย่างเช่น จีน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ประเทศต่างๆ เหล่านี้เริ่มมีการใช้ระบบ ออโตเมชัน อย่างเป็นรูปเป็นร่างจริงจังกันตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
 
แต่ในระยะนั้นเทคโนโลยียังไม่พัฒนามาไกลแบบปัจจุบัน ระบบ Automation ยังเป็นการลงทุนที่สูงมาก แม้จะลงทุนสูงแต่ประเทศในกลุ่มผู้นำด้านอุตสาหกรรมการผลิตเหล่านี้ก็ตัดสินใจที่จะลงทุนนำมาใช้ เนื่องจากประสบปัญหาด้านการขาดแคลนด้านฝีมือแรงงานในการผลิต อย่างจีนแม้ประชากรจะเยอะก็ตาม ด้วมความที่จีนเร่งขยายประเทศในทุกๆ ด้าน ทำให้กลุ่มคนในวัยแรงงานไม่เพียงพอ จึงต้องตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย



ซึ่งแต่ละประเทศที่ตัดสินใจใช้ระบบ Automation เข้ามาช่วย ต่างพบว่าอัตราการผลิตและอัตราการเติบโตทางธุรกิจอุตสาหกรรมโตขึ้นอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด กลุ่มอุตสาหกรรมที่เห็นเด่นชัดมากในการเติบโตและอัตราการแข่งขันสูงขึ้นก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ และในภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมทุกด้านโตขึ้นทั้งหมด อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาโตขึ้นเฉลี่ย 15% ในทุกปี ตั้งแต่ช่วงปี 2008 - 2017 หรือญี่ปุ่นก็โตขึ้นมากกว่า 5% ต่อปี
 
สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่าระบบ Automation มีพลังในการเปลี่ยนโลกอุตสาหกรรม SME เพียงใด และยิ่งในปี 2020 - 2025 นี้ IoT จะยิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญกับวงการอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ทำให้ระบบอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้จนกลายเป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปกันเลยทีเดียว
 

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้ SME ใช้ออโตเมชัน โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ ‘ยกเว้น’ ภาษีเงินได้

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันก็มีการนำระบบ Automation มาใช้ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนักเนื่องจากเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้จุดคุ้มทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้หลายบริษัทตัดสินใจไม่ลงทุน หรือเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หน่วยต่างๆ อย่างเช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมบ้านเราหันมาใช้ออโตเมชันมากขึ้น
 
โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ ‘ยกเว้น’ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) รวมถึงการ ‘ยกเว้น’ อากรนำเข้าเครื่องจักร และหากโรงงานอุตสาหกรรมเลือกใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่มีการเชื่อมโยงหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตระบบอัตโนมัติในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าระบบอัตโนมัติที่มีการปรับเปลี่ยนก็จะได้รับ ‘ยกเว้น’ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปีในสัดส่วน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้ผู้ประกอบการและ SME หันมาลงทุนกับระบบ Automation มากขึ้น



สิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ควรรู้ เมื่อต้องการเปลี่ยน Manual สู่ระบบ Automation

 
ด้วยความที่ภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่มักนำระบบออโตเมชันมาใช้ในกระบวนการผลิต ดังนั้น หุ่นยนต์ (Robot) จึงถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยหุ่นยนต์คือเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ออกแบบให้สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานบางประเภท โดยทำงานด้วยคำสั่งเดิมซ้ำๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนและยืดหยุ่นได้ดี สามารถถูกปรับเปลี่ยนโปรแกรมให้ทำงานได้หลากหลายกว่า และอาจถูกติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้สามารถตัดสินใจเองได้ และระบบอัตโนมัติ (Automation System) หมายถึง ระบบหรือกลไกที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยทำงานตามโปรแกรมที่วางไว้
 
สำหรับประเภทของหุ่นยนต์ตามเทคโนโลยีหลักในตัวหุ่นยนต์ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่..
 
1. หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในระบบผลิต ซึ่งสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติตามโปรแกรมที่ถูกเขียนไว้ เช่น แขนกลในดรงงานผลิตสินค้า 
 
2. หุ่นยนต์บริการ (Service Robot) เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในงานอื่นๆ ในโรงงานหรือคลังสินค้านอกเหนือจากงานผลิตแบบอัตโนมัติ หรือใช้ในงานที่ไม่ใช่งานในอุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ทางการศึกษา หุ่นยนต์ที่ใช้ทางการแพทย์ หุ่นยนต์สำรวจอวกาศ โดยเคลื่อนไหวได้มากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และทำงานร่วมกับมนุษย์ได้มากกว่า
 
สำหรับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของหุ่นยนต์ สามารถแบ่งได้ตามส่วนประกอบของหุ่นยนต์และวิทยาการพัฒนาหุ่นยนต์ ดังนี้
ส่วนประกอบของหุ่นยนต์ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ..
 
1. ส่วนการควบคุม เป็นเทคโนโลยีที่เน้นศึกษาด้านการออกแบบชิ้นส่วนหุ่นยนต์การประกอบหุ่นยนต์ และการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์
 
2. ส่วนการรับรู้ เป็นเทคโนโลยีที่เน้นพัฒนาส่วนของการรับรู้ข้อมูลของหุ่นยนต์จากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ รวมทั้งระบบ Computer Vision ที่ทำให้หุ่นยนต์มองเห็น หรือตรวจสอบระยะใกล้ไกลของวัตถุ โดยข้อมูลที่ได้มานั้นจะนำมาประมวลผลและส่งต่อคำสั่งไปที่ตัวขับเคลื่อนต่างๆ
 
3. ส่วนการเข้าใจ เป็นเทคโนโลยีที่เน้นการพัฒนาระบบการตัดสินใจของหุ่นยนต์เมื่อได้รับข้อมูลจากตัวตรวจจับ ซึ่งเป็นการใช้หลักการของวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI และศาสตร์ Machine Learning



วิทยาการพัฒนาหุ่นยนต์ แบ่งได้เป็น 5 วิทยาการหลักคือ

1. วิทยาการด้านปฏิสัมพันธ์ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่เน้นพัฒนาด้านการตีความของหุ่นยนต์ต่อกลุ่มคำหรือสิ่งต่างๆ ที่พบเจอ

2. วิทยาการด้านการเคลื่อนที่ อาศัยความรู้ด้านพลศาสตร์ พัฒนาตัวขับเคลื่อนที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์

3. วิทยาการด้านการนำทาง ศึกษาระบบนำทางอัตโนมัติที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถตรวจจับเส้นทางและวางแผนเส้นทางในการเคลื่อนที่ เพื่อจะไม่ไปชนกับวัตถุสิ่งกีดขวางต่างๆ

4. วิทยาการด้านการเคลื่อนย้ายชิ้นงาน ศึกษาด้านการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์ในลักษณะต่างๆ

5. วิทยาการด้านปัญญา ศึกษาด้านการทำความเข้าใจข้อมูลด้วยตัวเองของหุ่นยนต์



ขณะที่ระบบอัตโนมัติในการผลิต SME สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระบบคือ


1. ระบบอัตโนมัติแบบตายตัว

คือหน่วยผลิตอัตโนมัติที่ติดตั้งคำสั่งตายตัวลงเครื่องในรูปแบบของอะไหล่ เช่น กล้อง เฟือง ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบได้ง่ายนัก ระบบอัตโนมัติรูปแบบนี้ใช้เงินลงทุนเริ่มเเรกสูง และมอบอัตราการผลิตสูง จึงเหมาะสำหรับงานผลิตปริมาณมาก ตัวอย่างของระบบอัตโนมัติแบบตายตัว ได้แก่ สายพานเคลื่อนย้ายเครื่องจักร และเครื่องประกอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์

‍2. ระบบอัตโนมัติแบบตั้งโปรแกรมได้ 

สามารถผลิตสินค้าเป็นชุดๆ ในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป โดยต้องตั้งโปรแกรมอุปกรณ์การผลิตใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบของสินค้าที่ต้องการผลิตเเต่ละชุด การใช้เวลาปรับเเต่งโปรแกรมเเละการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำให้เสียเวลาเเละไม่เกิดประสิทธิผล ดังนั้น อัตราการผลิตที่ได้จากระบบอัตโนมัติแบบตั้งโปรแกรมได้จะต่ำกว่าระบบอัตโนมัติแบบตายตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนของระบบอัตโนมัติแบบตั้งโปรแกรมได้คือ เครื่อง CNC (Computer Numerical Control) ที่ส่วนต่างๆ ของเครื่องนั้นถูกควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

‍3. ระบบอัตโนมัติแบบยืดหยุ่น 

คือส่วนที่เพิ่มขึ้นมาของระบบอัตโนมัติเเบบตั้งโปรแกรมได้ การตั้งค่าโปรแกรมใหม่ในระบบอัตโนมัติแบบยืดหยุ่นนั้นใช้เวลาไม่นาน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ผลิตสำหรับการผลิตสินค้าชุดใหม่นั้นรวดเร็วและอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องจัดกลุ่มสินค้าที่เหมือนกัน และสามารถผสมสินค้าหลากหลายรูปแบบเพื่อผลิตได้อย่างต่อเนื่อง



ภาคแรงงานได้อะไร? เมื่อภาคอุตสาหกรรม SME เปลี่ยนมาใช้ออโตเมชัน

 
การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของ Automation ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงานของแรงงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการณ์ไปจนถึงผู้จัดการโรงงาน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้..
 
จุดเด่น
- เพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน
- ลดระยะเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนลง
- ลดความเมื่อยล้าหรือภาระของร่างกายนการทำงานที่เกิดจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มศักยภาพในการทำงานให้มีความแม่นยำเที่ยงตรง
- ทำให้สามารถโฟกัสกับหน้าที่ซึ่งมีความสำคัญของตนเองได้มากขึ้น
 
ข้อควรระวัง
- รูปแบบและบทบาทการทำงานเปลี่ยนแปลงไป
- ต้องการความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้นเพื่อจัดการกับเทคโนโลยี
- หากไม่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องอาจขาดคุณสมบัตินการทำงานได้



เพราะอะไร? ภาคการผลิต SME จึงควรเปลี่ยนมาเป็นระบบ Automation

 
เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกี่ยวไขว้กันไปมา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค พื้นที่ตลาดซึ่งถูกกระจายส่วนแบ่งด้วยเทคโนโลยี เช่น กลุ่ม Startup อุปนิสัยของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็ว รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมอีกด้วย การใช้ออโตเมชันสำหรับผู้ผลิตจึงมีความน่าสนใจดังนี้..
 
- เพิ่มผลิตภาพของการทำงาน
- สามารถแสดงผลและเก็บข้อมูลการทำงานได้อย่างละเอียด
- วิเคราะห์และวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สร้าง Lean ในการทำงาน
- ลดต้นทุนในระยะยาว
- สะดวกสบายในการบริหารจัดการการผลิตและโลจิสติกส์
- ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน
- วางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพิ่มคุณภาพสินค้า
- สร้างความมั่นใจในมาตรฐานการผลิต
 
 
 
ซึ่งนอกจากปัจจัยที่ควรทราบแล้ว สิ่งที่ภาคการผลิตต้องรู้อีกหนึ่งอย่างก็คือ การออกแบบระบบ Automation ซึ่งมีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเทคโนโลยี
 
สำหรับผู้ประกอบการหรือคนติดตามกระแสของเทคโนโลยี คงเคยได้ยินเรื่องราวของอุตสาหกรรม 4.0 หรือคือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาร่วมกับโรงงาน โดยระบบ Automation ก็ถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าการอัพเกรดเทคโนโลยีต่างๆ ก็คือการออกแบบระบบ Factory Automation ให้เหมาะสม
 
แม้ระบบ Automation ภายในโรงงานนั้นจะมีปัจจัยที่ต่างกันออกไปบ้าง แต่ในการวางระบบจริงก็ยังมีเรื่องจำเป็นหลายอย่างในการ ‘ออกแบบอย่างไรให้ปัง’ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรม 4.0 ที่เทคโนโลยีก้าวหน้าถึงขีดสุด
 
1. ออกแบบให้เหมาะสมกับธุรกิจ
 
ความเหมาะสมในการออกแบบระบบ Automation ไม่ใช่แค่การเลือกเครื่องจักรให้เหมาะกับการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบอีก ยกตัวอย่างเช่น..
 
- ขนาดของโรงงาน ทางเข้า ทางออก
- ระบบขนส่งต่างๆ
- สินค้า วัตถุดิบในการผลิต
- ระยะเวลาในการผลิตโดยรวม
- ต้นทุนในการทำงานทั้งหมด
 
2. ออกแบบเผื่ออนาคตข้างหน้า
 
การออกแบบ Factory Automation ที่ดี ควรมีการออกแบบเผื่ออนาคตข้างหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขยายระบบการผลิต การเพิ่มรูปแบบสินค้า หรือแม้แต่กระทั่งการต่อเติมโรงงาน ซึ่งในกรณีนี้ทางผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนไว้ระดับหนึ่ง แม้ว่าตัวระบบ Automation จะมีความยืดหยุ่น แต่การแก้ไขสิ่งต่างๆ ในระบบล้วนมีค่าใช้จ่ายและมีข้อจำกัด การที่สามารถระบุได้ว่าวางแผนจะเพิ่มสินค้าชนิดใด หรือวางแผนโรงงานนี้ต่อไปในอนาคต จะทำให้การออกแบบ Factory Automation มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
 
3. ออกแบบให้ครบจบสมบูรณ์
 
การวางแผนการผลิตคือการวางแผนสร้าง ‘ทั้งระบบ’ ขึ้นมาในโรงงานของเรา ซึ่งควรจะมีความครบถ้วน ครอบคลุม ตั้งแต่เริ่มนำวัสดุเข้ามาในโรงงานไปจนถึงระบบ Quality Control (QC) ทว่าด้วยงบประมาณที่จำกัดหรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางโรงงานเลือกที่จะตัดระบบบางส่วนออกแต่ต้น
 
ซึ่งการทำแบบนั้นอาจทำให้โรงงานของคุณ ‘เสียโอกาส’ ในการพัฒนาได้ ไม่ว่าจะปรับปรุง ซ่อมแซม หรืออัพเกรดระบบทั้งหมด ดังนั้นการออกแบบจึงควรออกแบบให้ครบถ้วน จบทุกกระบวนการเสียก่อน ไม่ใช่การตัดทิ้งดื้อๆ ทั้งนี้ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าการติดตั้งระบบต่างๆ หรือการตัดระบบบางส่วนทิ้ง จะไม่ส่งผลกับคุณภาพส่วนอื่นของการผลิต
 
 
ปัจจุบันโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ Business Transformation แล้วตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงทีและชาญฉลาด จะสามารถอยู่รอดในสมรภูมิการแข่งขันยุคดิจิทัลได้ ซึ่งการลงทุนระบบ Automation นอกจากจะเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว ผู้ประกอบการและ SME ยังต้องมีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมระหว่างเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับองค์กรด้วย อันจะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จเห็นผลลัพธ์ชัดเจน


แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
https://www.prachachat.net/public-relations/news-492902 
https://www.britannica.com/technology/automation/Manufacturing-applications-of-automation-and-robotics 
https://www.mckinsey.com/business-functions/operations/our-insights/human-plus-machine-a-new-era-of-automation-in-manufacturing 
https://industrytoday.com/automation-and-technology-factors-behind-a-green-future/ 
https://www.mreport.co.th/experts/technology/357-automation-in-the-future-of-manufacturing-industry 
https://www.bangkokbiznews.com/social/938061 
https://www.electricaltechnology.org/2015/09/what-is-industrial-automation.html 
https://www.economicshelp.org/blog/25163/economics/automation/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3502 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3817 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1005 | 25/03/2024
สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องรู้ ก่อน Business Transformation องค์กรเข้าสู่ระบบ ‘Automation’