‘ธุรกิจสีเขียว’ เส้นทางปรับตัวสู่ New Business Model ทางเลือกของ SME ไทย กับทางรอดของโลกด้วยแนวคิด Sustainability

ESG
29/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 15631 คน
‘ธุรกิจสีเขียว’ เส้นทางปรับตัวสู่ New Business Model ทางเลือกของ SME ไทย กับทางรอดของโลกด้วยแนวคิด Sustainability
banner
 ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรของโลกเริ่มเหลือน้อยลง สวนทางกับการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทุกคนและทุกองค์กรต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ในการหากลไกแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกลไกในการร่วมมือ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้า

จากข้อมูลของ UN Global Compact ที่ได้สำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,232 ราย จาก 113 ประเทศ 21 ภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเตรียมการขององค์กรธุรกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พบว่า 20% ของซีอีโอเหล่านี้ เชื่อมั่นในแผนของประเทศ แต่กว่า 70% มองว่าต้องปรับแผนธุรกิจของตัวเอง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไปต่อลำบาก เอกชนต้องเร่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ และเร่งอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน

หัวใจสำคัญที่จะทำให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ คือ ผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ต้องมองหาโอกาสในการลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ แม้จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เพราะหากยังไม่เริ่มดำเนินการปล่อยให้โอกาสผ่านไป จนสหประชาชาติออกกฎกติกาทางการค้าระหว่างประเทศมากมายออกมา ทั้งเรื่องภาษี และการนำเข้า จะทำให้ธุรกิจของเราเสียโอกาส และหากไปลงทุนในตอนนั้นจะยิ่งมีต้นทุนที่แพงกว่าในอนาคต



ธุรกิจสีเขียว (Green Business) ที่นักวิเคราะห์มองว่ามาแรง

การทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจสีเขียว (Green Business) เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังปรับสู่ New Business Model ไปสู่อุตสาหกรรมที่เกิดเป็นภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ และลดการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกให้น้อยที่สุด จนเกิดเป็นธุรกิจสีเขียวมาแรงที่อุตสาหกรรมกำลังจับตา และนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างฟันธงว่านี่คือธุรกิจแห่งอนาคต ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้าต่อไปนี้

1. สินค้าที่ย่อยสลายได้ง่าย และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก (Reuse - Recyle)

สำหรับเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกที่มาแรงมากในตอนนี้ คือสินค้าที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุที่ย่อยสลายง่าย สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกเพื่อลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ยกตัวอย่างธุรกิจการนำกลับมาใช้ซ้ำ เช่น  บริษัท วาวา แพค จำกัด ผู้เปลี่ยนเศษผ้า เศษกระสอบพลาสติกเหลือทิ้งเป็นกระเป๋าที่ทันสมัย การปรับตัวเข้าหากันของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการสายกรีนที่มีแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นเทรนด์ของการรักษ์โลกที่น่าลงมือทำ และน่าติดตามเป็นอย่างมาก รวมไปถึงความสร้างสรรค์กับมิติด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัว

ด้วยเหตุนี้ วาวา แพค ธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลาสติก และเส้นใยต่างๆ จึงมีแนวคิด ‘Upcycle’  โดยการนำขยะเหลือทิ้งที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่จะมีเศษผ้าเหลือ หรือส่วนที่ไม่ผ่าน QC ก็มีอยู่มากพอสมควรเลยนำมาเย็บเป็นกระเป๋นวัตกรรมใหม่ๆ ที่คงจะมีออกมาให้เห็นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าเทรนด์เหล่านี้ไม่มีเอาต์แน่นอน

อ่านบทความเกี่ยวกับ บริษัท วาวา แพค จำกัด :BIGBAG ‘วาวา แพค’ จากทอกระสอบ สู่ กระเป๋าแฟชั่นรักษ์โลก



2. พลังงานสะอาด (Clean Energy)

อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงมากขณะนี้ คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ รถยนต์พลังงานสะอาดที่ถูกสร้างขึ้นมาแก้ไขปัญหารถยนต์ทั่วไปที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยรถยนต์สะอาดก็มีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า, Eco Car, รถยนต์พลังงานไฮโดนเจน

ดังจะเห็นได้จากที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ทั้ง Toyota, BMW, Volkswagen และ Hyundai ต่างลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงในการเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และมีรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงออกวางจำหน่ายแล้วในบางพื้นที่ เช่น Honda FCX Clarity ที่มีจำหน่ายในสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น และ Toyota Mirai ที่ออกจำหน่ายในญี่ปุ่น นอกจากเรื่องของรถยนต์อีกธุรกิจที่น่าสนใจ คือ 



ไฮโดรเจนสีเขียวสู่ ‘Mega Trend’ ธุรกิจสีเขียว

ไฮโดรเจนสีเขียว เทรนด์ที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังปรับสู่ New Business Model ไปสู่อุตสาหกรรมที่เกิดเป็นภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดการส่งผลเสียต่อโลกให้น้อยที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน (Sustainability) อย่างอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง และมีการปล่อยคาร์บอนถึง 7.2% ของกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนทั้งหมด

เนื่องจากใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก จึงเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ต้องเผชิญกับมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการลดคาร์บอน

ดังเช่นที่ EU ประกาศให้เหล็กเป็น 1 ใน 5 สินค้าแรกที่จะถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ในปี 2569 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กจึงมีความพยายามจะปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานในกระบวนการผลิตเหล็กให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยใช้ไฮโดรเจนสะอาดเป็นเชื้อเพลิงแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล

หากอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถนำไฮโดรเจนที่ผลิตโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ก็จะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างมาก ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้สิ่งแวดล้อม จึงถูกคาดหมายและได้รับยอมรับว่าจะเป็นแหล่งของพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต โดยประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ได้มีการวิจัยพัฒนาพลังงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

อย่างเช่น สถานีสาธิตการใช้งานพลังงานไฮโดรเจนขนาดเมกะวัตต์แห่งแรกของจีน ที่เมืองลิ่วอัน มณฑลอันฮุย ได้เริ่มใช้งานแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่สามารถเชื่อมเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่เข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่การผลิตก๊าซไฮโดรเจน การกักเก็บไฮโดรเจนไปจนถึงการผลิตกระแสไฟจากไฮโดรเจนในระดับเมกะวัตต์

โดยสถานีแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนแบบแยกน้ำด้วยไฟฟ้าแบบเมมเบรนที่สะอาด ปราศจากคาร์บอน สามารถผลิตไฮโดรเจนได้ปีละกว่า 7 แสนลูกบาศก์เมตรมาตรฐาน มีกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจน 7.3 แสนกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

พลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตได้สามารถนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายด้านทั้งเซลล์เชื้อเพลิง ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตเหล็กด้วยพลังงานไฮโดรเจนอุตสาหกรรมไฮโดรเจนสีเขียวและสาขาอื่นๆ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะสามารถกักเก็บในเวลากลางคืน และปล่อยกระแสไฟออกมาในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด มีประโยชน์อย่างมากในการประหยัดพลังงาน ซึ่งในบทความต่อไปจะมาขยายความเจาะลึกเรื่องพลังงานไฮโดรเจน เพื่อรู้จักประโยชน์ของพลังงานชนิดให้มากขึ้น



ตัวอย่าง ผู้ประกอบการและ SME ไทยหัวใจสีเขียว ที่ช่วยเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดี โดยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับแนวคิด ESG อย่างเช่น

บริษัท จีอาร์ดี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ธุรกิจไทยที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงลึก ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างตั้งใจ ด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม BCG อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) มาผลิตเป็นแนฟทาบริสุทธิสูง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของปิโตรเคมีไทย ด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส (Pyrolysis Technology) โดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นมาด้วยทีมวิจัยทางเคมีเชิงลึกของบริษัท เพื่อการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นนับสิบเท่า 



โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้รับการอนุมัติรับรองสิทธิบัตรจากประเทศสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และถูกดำเนินการผลิตภายใต้บริษัท Circular Plas ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท SCG Chemicals นอกจากนั้นปัจจุบันบริษัท Circular Plas ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability & Carbon Certification) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย จึงเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในการการพัฒนาเทคโนโลยี Deep Tech เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับบริษัทชั้นนำของประเทศไทยอีกด้วย
   
จากกระบวนการเหล่านี้ จึงสามารถนำไปสู่การสร้างธุรกิจ Deep Tech จนเกิดเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับธุรกิจ ดังนั้น Catalyst จึงถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม เนื่องจากสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น ใช้พลังงานที่ต่ำลงในกระบวนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและสามารถลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต 

อ่านบทความเกี่ยวกับ บริษัท จีอาร์ดี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด : ‘GRD Energy’ คิดค้น Deep Tech สร้างนวัตกรรมชั้นสูง เพิ่มมูลค่าสินค้าไทย พัฒนาสู่เวทีโลก



3. สินค้า & บริการที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Products & Services)

สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจผลิตสินค้าทดแทนขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
    
หนึ่งตัวอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เราทราบกันดีว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นำไปสู่แนวคิดการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainability) โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีทางชีวภาพเปลี่ยนคุณสมบัติให้เหมือนพลาสติกซึ่งผลิตจากน้ำมันแต่ย่อยสลายเองได้ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดพลาสติก อีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาขยะ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก 

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่เพียงจะปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สินค้าหรือธุรกิจโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ เพราะจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ธุรกิจด้วย

อ่านบทความเกี่ยวกับ บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด : Save The World ‘โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์’ ผู้ผลิต Bioplastic พลาสติกทางเลือก ย่อยสลายได้


 
และอีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจสีเขียวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ บริษัท ซิมาเทค จำกัด ธุรกิจบำบัดมลพิษทางอากาศ ฝุ่น ควัน กลิ่น เสียง ของเมืองไทย ที่จัดการปัญหาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกกว่า 6,000 โปรเจกต์ โดย 80% อยู่ต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา จีน และอีกหลายประเทศในเอเชีย

อ่านบทความเกี่ยวกับ บริษัท ซิมาเทค จำกัด : เข้าใจเทรนด์เห็นโอกาส ‘ซิมาเทค’ ทางเลือกบำบัดมลพิษทางอากาศสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม พิชิตปัญหากว่า 6,000 โปรเจกต์ทั่วโลก



SME ไทยกับการปรับตัว สู่เส้นทางสาย Green Economy

SME ที่จัดอยู่กลุ่มธุรกิจสีเขียว เช่น ธุรกิจผลิตอาหาร ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเกษตร และธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านพลังงานทดแทน และโรงแรม เกือบทุกธุรกิจ SME จะให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุนการผลิตในระยะยาว (Cost Reduction) มากกว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและบริการต่างหันมาลงทุนการผลิตไฟฟ้าผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนภายใน (IRR) อยู่ที่ 8-9% 

หากวิเคราะห์โดยใช้กรอบการศึกษาของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลประกอบการของ SME ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พบว่าธุรกิจ SME ปรับตัวดังนี้..

1. ด้านการตลาด (Market Condition) ผู้ประกอบการ SME ได้ปรับตัวผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าและเทรนด์การตลาด (Demand Driven) พยายามต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์และบริการด้วยงานวิจัย และการทำ Marketing และสร้างแบรนด์ของตนเอง เน้นผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มรักสุขภาพ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ลดการใช้สารเคมี หรือธุรกิจโรงแรมเชิงอนุรักษ์ที่เน้นลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเฉพาะ

2. ด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ (Access to Knowledge and Skill) ผู้ประกอบการและ SME สามารถเข้าถึงแหล่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นแม้อยู่ในภูมิภาค แต่ยังมีข้อจำกัดในการ Scale Up งานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ขณะที่ธุรกิจ SME ยังต้องการแรงงานที่มีทักษะหลายอย่าง มีทัศนคติที่ดีและสนใจการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

3. ปัจจัยด้านสถาบันและกรอบกฎเกณฑ์ (Institutional and Regulatory Framework) ผู้ประกอบการ SME เห็นว่าควรกำหนดกิจกรรมสีเขียวให้ชัดเจน และเชื่อมโยงให้สามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการรับรองมาตรฐานการผลิตและผลิตภัณฑ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและสากล เช่น การผลิตตามมาตรฐาน ISO14000 และสินค้าฉลากเขียว (Green Label) 

4. ด้านการเงิน (Access to Finance) ผู้ประกอบการและ SME เห็นว่า ควรให้สินเชื่อสีเขียวเชื่อมโยงกับมาตรฐานการผลิตหรือมาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์สีเขียว และควรมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ SME ให้ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการส่งเสริมด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีต้นทุนที่เหมาะสม



แนวโน้ม SME กับการทำธุรกิจสีเขียวในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดสีเขียวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในหลายลักษณะ เช่น นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากผลิตมาใช้ในการผลิตพลังงาน รวมถึงการผลิตสินค้าที่ย่อยสลายได้ง่าย เป็นต้น

การจะไปให้ถึงจุดหมายอย่างรวดเร็ว สำหรับธุรกิจน่าจะอยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุนด้านพลังงานและน้ำ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับในรูปของผลกำไรหรือการประหยัดต้นทุนแล้ว สังคมโดยรวมก็ได้รับประโยชน์จากธุรกิจสีเขียวด้วยเช่นกัน โดยชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสีย ขยะ หรือเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตที่โรงงานนำมาทิ้งหรือปล่อยออกมาสู่ชุมชน ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณในการบำบัดและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริโภคมีสินค้าที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้สำหรับเลือกบริโภค

ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต จะเห็นได้ชัดว่าแนวโน้มของธุรกิจสีเขียวนอกจากจะเติบโตมากขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะมีวิธีการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจสีเขียวยังคงเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยุคนี้ เพื่อลดปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นการทำธุรกิจสีเขียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจนั้นปรากฏถึงจุดยืนด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นท่ามกลางคู่แข่งได้เป็นอย่างดี และการนำเสนอการโฆษณาสินค้าสีเขียวนั้นก็ยังคงทรงพลังต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ

และอีกด้านหนึ่งธุรกิจสีเขียวนั้นหมายถึงการใช้และบริหารทุกทรัพยากรให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เคียงคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจ และภาพพจน์อันดีต่อสังคมชุมชนที่ได้รับการจัดการที่ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย

ที่มา :
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_21Jul2021.aspx
https://thaibizchina.com/article/hydrogenchina/
https://thai.cri.cn/2022/07/12/ARTIYFsJWWRTqVucMR2Q2l9a220712.shtml
https://globalcompact-th.com/sdgs/megatrends/2022
https://www.greenery.org/articles/trend-green-business/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
2312 | 18/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล…
pin
4839 | 29/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้…
pin
3360 | 20/02/2024
‘ธุรกิจสีเขียว’ เส้นทางปรับตัวสู่ New Business Model ทางเลือกของ SME ไทย กับทางรอดของโลกด้วยแนวคิด Sustainability