เพิ่มขีดสามารถการแข่งขัน! เปิด 5 ขั้นตอนจัดการพลังงาน สู่แนวทาง SME ไทย Energy Saving อย่างเป็นรูปธรรม

SME Update
04/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2000 คน
เพิ่มขีดสามารถการแข่งขัน! เปิด 5 ขั้นตอนจัดการพลังงาน สู่แนวทาง SME ไทย Energy Saving อย่างเป็นรูปธรรม
banner
เดือนกันยายนนี้ค่าไฟแพงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้การอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา ในการบริหารต้นทุนประคับประคองให้อยู่รอดทั้งตัวองค์กรเองไปจนถึงผู้บริโภค ให้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย - ยูเครนน้อยที่สุด ดังนั้นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการ พนักงาน เจ้าของโรงงานต่างๆ ต้องคิดออกมาเป็นสูตรสำเร็จในการจะทำอย่างไร? ให้ภาคธุรกิจประหยัดต้นทุนด้านพลังงานได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเริ่มด้วยวิธีพื้นฐานเหล่านี้ เช่น



แสงสว่าง 
การประหยัดพลังงานด้านแสงสว่างโดยการปิดไฟเมื่อไม่มีการใช้งาน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่เหล่านั้นไม่มีพนักงานอยู่ การติดตั้งระบบให้แสงสว่างอัตโนมัติหรือการใช้เซนเซอร์เพื่อเปิด - ปิดไฟ เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ที่สามารถช่วยให้ประหยัดพลังงานด้านแสงสว่างได้

วางแผนการใช้อุปกรณ์เครื่องจักร
อุปกรณ์หรือเครื่องจักรต่างๆ ในโรงงานควรเปิดเมื่อมีการใช้งานเท่านั้น การเปิดอุปกรณ์ทิ้งไว้ หรือหลงลืมเปิดเครื่องโดยไม่จำเป็นทำให้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นอย่างมาก ซึ่งการวางแผนใช้อุปกรณ์เครื่องจักรนอกจากช่วยประหยัดยังช่วยให้การผลิตมีความต่อเนื่อง ช่วยลดการใช้พลังงานเนื่องจากต้องเปิด - ปิดเครื่องจักรบ่อยๆ 

การเปิด - ปิดประตู 
โดยเฉพาะห้องสต็อกหรือห้องเย็น ยิ่งบ่อยครั้ง ยิ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน การจัดการตารางการตรวจเช็กหรือการจัดส่งสินค้า จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องทำทันที



ทำความสะอาดเครื่องจักรและอุปกรณ์ 
ซึ่งการทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องจักรในโรงงานเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานได้แล้ว ยังทำให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานได้ด้วย

เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน 
อีกหนึ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานอย่างยิ่งยวด หากระบบการทำความเย็นหรือความร้อนในโรงงานเป็นระบบเก่าที่ใช้งานมานานเกินกว่า 10 ปี การเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ก็จะช่วยทำให้ประหยัดการใช้พลังงานได้มากกว่า รวมถึงการตั้งอุณหภูมิก็มีส่วนสำคัญ เช่น การตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 25 องศา จะสามารถลดการใช้พลังงานลงไปได้ถึง 18% เป็นต้น



ติดตั้งฉนวนกันความร้อน 
ถือเป็นที่เกราะช่วยป้องกันอุณหภูมิจากภายนอกได้ ทั้งการให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และการรักษาความเย็นในฤดูร้อน ทั้งการติดตั้งฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาและฝ้าผนังล้วนเป็นหนทางที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานในโรงงานได้

สร้างร่มเงา 
ไม่ว่าจะเป็นการกั้นกำแพง หรือใช้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ก็เป็นแนวทางที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เครื่องปรับอากาศ

เปลี่ยนมาใช้หลอด LED 
การเปลี่ยนหลอดไส้มาเป็นหลอด LED สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี ให้แสงสว่างที่มีประสิทธิภาพกว่า อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึง 5 เท่า



จากวิธีประหยัดพลังงานพื้นฐานสู่ระบบการจัดการพลังงาน 5 ขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการและ SME

ระบบการจัดการพลังงาน คือระบบที่มุ่งเน้นการดำเนินการใน 2 มิติ ได้แก่ มิติด้านเทคนิควิศวกรรม และมิติด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อสร้างจิตสำนึกและความมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กรอันจะส่งผลให้เกิดผลประหยัดจากการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จากประโยชน์ของระบบการจัดการพลังงานในข้างต้นซึ่งเดิมมีการบังคับใช้กับโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมเท่านั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะขยายผลไปยังโรงงาน/อาคารขนาดเล็ก (SME) ด้วย

เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลทางด้านพลังงานอย่างมีระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์หาศักยภาพการประหยัดพลังงานได้ (ซึ่งก็หมายถึงการลดต้นทุนทางด้านพลังงานด้วย) รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของบุคลากรภายในองค์กรจากการอบรม และทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อันจะส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน แต่เนื่องจากศักยภาพของหน่วยงานผู้ประกอบการและ SME ทั้งจำนวนบุคลากร เงินทุน เครื่องจักรและอุปกรณ์ จะมีน้อยกว่าโรงงานควบคุม/อาคารควบคุม จึงมีการปรับลดขั้นตอนการดำเนินการจัดการพลังงานจาก 8 ขั้นตอน เหลือเพียง 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. การแต่งตั้งคณะทำงาน
โดยจะต้องจัดทำผังโครงสร้างคณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน และประกาศเป็นเอกสาร พร้อมลงนามโดยเจ้าของสถานประกอบการ โดยระบุอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานให้ชัดเจน เช่น คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้..

1. รวบรวมข้อมูลผลผลิต และข้อมูลการใช้พลังงานทั้งหมดนำเสนอต่อผู้บริหารทุกเดือน 

2. ประสานงาน และสร้างความมีส่วนร่วมในการจัดทำระบบการจัดการพลังงานภายในองค์กร 

3. วิเคราะห์ข้อมูลทางด้านพลังงาน และนำเสนอแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานต่อผู้บริหาร 

4. ติดตาม และรายงานผลการอนุรักษ์พลังงานให้ผู้บริหารทราบอย่างสม่ำเสมอ 

5. ควบคุมการจัดการพลังงานในองค์กร ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้

2. การกำหนดนโยบายอนุรักษ์พลังงาน
เปรียบเสมือนสิ่งที่กำหนดทิศทางในการทำระบบการจัดการพลังงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่หน่วยงานกำหนดไว้ได้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรทุกคนเกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่อยากปฏิบัติตามนโยบายมากยิ่งขึ้น โดยนโยบายต้องสามารถสื่อสารให้กับ บุคลากรทุกคนภายในองค์กรได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์พลังงานขององค์กร รวมไปถึงอาจระบุถึง ประโยชน์ที่บุคลากรจะได้รับจากการประหยัดที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์พลังงาน ตัวอย่างของข้อความในนโยบายอาจกำหนดได้ดังนี้


1. หน่วยงานจะมีการจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานอย่างสม่ำเสมอ และมีระบบการจัดเก็บที่ดี สามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่าย 

2. หน่วยงานจะมีการใช้ลด ละ เลิก การใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น 

3. หน่วยงานจะมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

4. หน่วยงานจะมีการพัฒนา และสร้างความมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานของบุคลากรในองค์กร โดยการจัดฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างสม่ำเสมอ 

5. หน่วยงานจะให้การสนับสนุนทรัพยากรทุกด้าน สำหรับการดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน

3. การประเมินศักยภาพด้านการอนุรักษ์พลังงาน
วัตถุประสงค์เพื่อค้นหาศักยภาพในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานขององค์กร และนำไปกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเริ่มจากการเก็บข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องการใช้พลังงาน โดยการทำสัดส่วนการใช้พลังงาน เพื่อวิเคราะห์และประเมินว่าระบบใดที่เป็นนัยสำคัญของการใช้พลังงาน

ซึ่งจะต้อง มุ่งเน้นการจัดการไปยังกระบวนการและอุปกรณ์ที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานที่สูง จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดมากขึ้น จนทราบว่าอุปกรณ์/เครื่องจักรใดในองค์กรที่มีการสูญเสียมาก และมีศักยภาพในการ อนุรักษ์พลังงานสูง โดยประโยชน์ที่ได้รับคือ การได้ข้อมูลเปรียบเทียบการใช้พลังงานภายในกิจการ และการทราบข้อมูลต้นทุนทางพลังงานสำหรับสินค้าหรือการบริการ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการ กำหนดเป้าหมายและวางแผนงานด้านการอนุรักษ์พลังงานต่อไป โดยการประเมินศักยภาพด้านการอนุรักษ์ พลังงาน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 

1. การประเมินการใช้พลังงานระดับองค์กร 
2. การประเมินการใช้พลังงานระดับผลิตภัณฑ์หรือบริการ 
3. การประเมินการใช้พลังงานระดับอุปกรณ์

4. การกำหนดเป้าหมาย การอบรมและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
หลังจากดำเนินการประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานในขั้นตอนที่ 3 แล้ว จะทำให้ทราบว่าองค์กรมีการใช้พลังงานชนิดใดบ้าง ใช้ไปเพื่อดำเนินกิจกรรมใด มีสัดส่วนการใช้พลังงานเป็นอย่างไร ประสิทธิภาพ ในการใช้พลังงานเป็นอย่างไร (Specific energy consumption : SEC) เครื่องจักร/อุปกรณ์ใดที่จัดเป็นเครื่องจักร/อุปกรณ์หลัก ตลอดจนทราบถึงประสิทธิภาพ และสาเหตุการสูญเสียพลังงานในเบื้องต้น

ดังนั้นในขั้นตอนนี้ จะเป็นขั้นตอนที่กำหนดแนวทางในการสูญเสียพลังงาน ด้วยแนวทางหลัก 2 แนวทางคือ
1. การจัดทำแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงาน 
2. การจัดทำแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเกิดจิตสำนึก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยก่อนจะกำหนดแผนอนุรักษ์พลังงาน สถานประกอบการต้องเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน โดยกำหนดเป็น % การใช้พลังงานที่ต้องการให้ลดลงหรือกำหนดเป็น % SEC ที่ต้องการให้ลดลง แนวทางการกำหนดแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงาน ในส่วนของการกำหนดแผนมาตรการอนุรักษ์พลังงานจะต้องกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับการวิเคราะห์สาเหตุการสูญเสียพลังงาน และสอดคล้องกับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงาน 

ทั้งนี้ แนวทางในการกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานอาจพิจารณาจากประเภทของมาตรการดังนี้ 

1. การใช้ระบบปัจจุบันที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (House Keeping) คือการปรับเปลี่ยนวิธีการ ทำงานโดยเพื่อลดความสูญเสียทางด้านพลังงาน

2. การปรังปรุงสิ่งที่มีอยู่ (Process Improvement) คือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ประกอบของระบบเพื่อให้เกิดผลประหยัด

3. การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ (Machine Change) คือการลงทุนเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาใช้ทดแทนของเดิม

แนวทางการกำหนดแผนการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 
ในส่วนของการกำหนดแผนการฝึกอบรม และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น จะเน้นไปที่การปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงาน และการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร เช่น กิจกรรมประกวดคำขวัญอนุรักษ์พลังงาน, การตอบคำถามชิงรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงาน, การติดโปสเตอร์รณรงค์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีกิจกรรมมากก็ยิ่งสร้างความสัมพันธ์และความมีส่วนร่วมของบุคลากรภายในองค์กร

5. การดำเนินงานตรวจสอบผล และวิเคราะห์ผลการปฏิบัติ
ภายหลังจากที่เป้าหมายแผนอนุรักษ์พลังงาน รวมทั้งแผนการฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานผ่านการพิจารณาแล้ว บุคลากรทุกคนมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้มีการดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการฝึกอบรม รวมถึงตรวจสอบและวิเคราะห์การปฏิบัติตามเป้าหมายและ แผนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานว่ามีการดำเนินการเป็นไปตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในแผนงานหรือไม่

ซึ่งหากมีความล่าช้าหรือการปฏิบัติไม่เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่วางไว้ คณะทำงานจะต้องดำเนินการค้นหาสาเหตุว่าทำไมการดำเนินงานจึงไม่ประสบผลตามที่ได้วางไว้ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขในการดำเนินเพื่อปรับปรุงให้การทำงานบรรลุตามเป้าหมาย



ประโยชน์ที่ได้จากการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน 5 ขั้นตอนสำหรับผู้ประกอบการและ SME 

1. สามารถเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานได้อย่างเป็นระบบ สามารถสืบค้นและนำไปใช้ได้ง่าย เช่น ค่าไฟฟ้า, ปริมาณผลผลิต, ค่าเชื้อเพลิง เป็นต้น 

2. ทำให้ทราบว่าเครื่องจักร/อุปกรณ์ใดในสถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานสูง 

3. สามารถเปรียบเทียบแนวโน้ม และวิเคราะห์การใช้พลังงานได้ 

4. สามารถวิเคราะห์สาเหตุของการสูญเสียด้านพลังงาน และหาแนวทางในการประหยัดพลังงานได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตลดลง 

5. เสริมสร้างความรู้ และความมีส่วนร่วมของพนักงานในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในองค์กร

ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่จะช่วยผู้ประกอบการและ SME ประหยัดพลังงานอย่างได้ผล เพื่อช่วยในการบริหารต้นทุนในภาวะค่าไฟแพง ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม


แหล่งอ้างอิง : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
http://energyauditorthai.com/wp-content/uploads/2017/01/02-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf 
http://www2.dede.go.th/km_berc/downloads/menu4/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%88/%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B7%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf 
http://www.energyvision.co.th/14238260/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1409 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1819 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
2011 | 25/01/2024
เพิ่มขีดสามารถการแข่งขัน! เปิด 5 ขั้นตอนจัดการพลังงาน สู่แนวทาง SME ไทย Energy Saving อย่างเป็นรูปธรรม