‘คิว เเคร์ริเออร์’ ใช้นวัตกรรมสร้าง Business Model ใหม่ สู่เป้าหมายขนส่งคอนกรีตเบอร์ 1 ในไทย

SME in Focus
29/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2020 คน
‘คิว เเคร์ริเออร์’ ใช้นวัตกรรมสร้าง Business Model ใหม่ สู่เป้าหมายขนส่งคอนกรีตเบอร์ 1 ในไทย
banner
การตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นเรื่องทั่วไปที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่วาดภาพไว้ แต่การจะไปถึงจุดหมายที่วางไว้ให้ได้อย่างไร? คือโจทย์หินที่ท้าทายความสามารถของนักบริหารรุ่นใหม่อย่างมาก เพราะไม่เพียงแค่อาศัยความพยายาม แต่ต้องประกอบด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร 

อย่างที่ คุณธัชนนท์ แซ่เจียง ซีอีโอแห่งบริษัท คิว เเคร์ริเออร์ จำกัด ได้ใช้องค์ประกอบเหล่านี้ Disruption “อุตสาหกรรมบริการขนส่งคอนกรีต” รูปแบบเดิม ๆ สร้างความต่างด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนกลายเป็น Business Model ที่ขับเคลื่อนธุรกิจ จนประสบความสำเร็จได้อย่างงดงาม 



คุณธัชนนท์ แซ่เจียง หรือ คุณแบงค์ เผยถึงรูปแบบการทำธุรกิจของ คิว เเคร์ริเออร์ ว่าในบริษัทจะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ บริการขนส่งคอนกรีตและขนถ่ายสินค้า, บริการตักทรายในแพล้นปูน (Concrete Batching Plant) จำหน่ายแพล้นคอนกรีต จำหน่ายรถโม่และรถตัก โดยการให้บริการจะอยู่ในรูปแบบที่ทำร่วมกับแบรนด์ปูนยี่ห้อต่าง ๆ เช่น นกอินทรี, ซีแพค, ดอกบัว และ คิวมิกซ์ โดยขนส่งแพล้นปูน ไปที่หน้างานของลูกค้า ปัจจุบันมีรถมิกเซอร์ (Mixer) ใช้ขนส่งอยู่ที่ 201 คัน ครอบคลุมกว่า 20 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย

คุณธัชนนท์ ย้อนเรื่องราวการทำธุรกิจก่อนจะมาเป็นผู้ให้บริการขนส่งคอนกรีตว่า ก่อนหน้านี้คุณพ่อทำอู่ต่อตัวถังรถโม่และรถดัมพ์, ต่อหางเทรลเลอร์ และนำเข้าเครื่องจักรอยู่แล้ว จากนั้นจึงขยับขยายมาทำศูนย์บริการรถฮีโน่ ซึ่งมีศูนย์ 2 แห่งตั้งอยู่ที่หนองแค จ.สระบุรี และที่จ.ชลบุรี  ทำให้มีโอกาสขายรถให้บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

จากจุดนี้จึงได้รับการชักชวนให้ทำธุรกิจรถขนส่ง ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมเป็นผู้รับเหมาขนส่งคอนกรีต ซึ่งความได้เปรียบและจุดแข็งของบริษัท คือมีอู่ต่อตัวถังของตัวเอง นำเข้าเครื่องจักร อะไหล่ และซ่อมบำรุงเอง ทำให้ได้รับโอกาสต่อยอดในอุตสาหกรรมนี้และมีพัฒนาเรื่อยมา จนได้รับผลตอบรับจากลูกค้าและพาร์ทเนอร์เป็นอย่างดี 


ธัชนนท์ แซ่เจียง CEO แห่งบริษัท คิว เเคร์ริเออร์ จำกัด

ลูกค้า ‘คิว เเคร์ริเออร์’ เป็นใคร

คุณธัชนนท์ อธิบายให้เห็นภาพว่า หน้าที่ของรถปูนในการให้บริการ Process จะเริ่มจากบริษัท ไปรับปูนจากผู้ผลิต จากนั้นจะมีทีมงานทำการตรวจสอบคุณภาพคอนกรีตก่อนส่งไปยังลูกค้าอย่างปลอดภัย และควบคุมการปล่อยคอนกรีตที่หน้างาน ตัวอย่างโครงการที่เราให้บริการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง, โครงการมอเตอร์เวย์,  โครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 36  โครงการบางกอกมอลล์ และ โครงการฟอเรสต์เทียร์ บางนา เป็นต้น 

อีกส่วนหนึ่งคือ รถตักหินทราย จะมีให้บริการที่ภาคตะวันออก ตะวันตก และภาคอีสาน ประจำอยู่ประมาณ 28 หน่วยผลิต ซึ่งจะเป็น แพล้นปูน ของแบรนด์นกอินทรี กับดอกบัว เริ่มต้นตั้งแต่บางนา ไปจนสุดภาคตะวันออกคือจังหวัดตราด ไปจนถึงจันทบุรี ซึ่งเส้นทางที่บอกจะมีบริการของเราอยู่ทั่วทุกแพล้น หน้าที่ของรถตัก คือตักหิน หรือตักทรายในแพล้น วิธีการคือจะสต็อกหินทราย จากรถขนส่งหิน ทราย จากนั้นจะตักเข้ายุ้ง แพล้นคอนกรีตเพื่อนำไปผลิตคอนกรีต โดยคิว เเคร์ริเออร์ มีคนงาน, รถของตัวเอง รวมถึงมีทีมงาน Maintenance ซ่อมบำรุงเองจึงเป็นบริการที่ครบวงจร

แพล้นโมบายล์เคลื่อนที่ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของแพล้นคอนกรีตสำเร็จรูป จุดเด่นคือเคลื่อนที่ได้ ซึ่งสิ่งที่จะไม่เหมือนแพล้นทั่วๆ ไป คือรถของ คิว แเคร์ริเออร์ สามารถขับบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องเหมือนรถเทรลเลอร์ทั่วไป เพราะบริษัทมีการจดทะเบียนเป็นรถเทรลเลอร์ที่ใช้ในงานขนส่ง ซึ่งในส่วนนี้มีการพัฒนาเป็นหางเทรลเลอร์ที่สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว คือภายใน 2 วันเพื่อผลิตคอนกรีตให้ลูกค้า  ส่วนกำลังการผลิต  (Production Capacity) จะเท่ากับแพล้นปกติทั่วไปคือ 2 คิว ผลิตคอนกรีตได้ 90 คิวต่อชั่วโมง จุดเด่นคือ ไม่มีการใช้ฐานล่าง แต่จะเป็นแผ่นเหล็กปูรองตามจุดต่างๆ ทำให้บริเวณหน้างานไม่จำเป็นต้องมีไฟ หรือน้ำ เพราะมีตัวผลิตพลังงานไฟฟ้า  Generator ใช้ตัว Feeder ที่เป็นระบบไฮดรอลิค ซึ่งเซ็ทอัพงานได้เลย



ลงทุนครั้งเดียว คุ้มค่ามากกว่า

คุณธัชนนท์ เผยต่อว่า บริษัทได้โจทย์จากลูกค้ามาว่าอยากลดต้นทุน ค่า Civil เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับฐานราก ค่าทำพื้น หรือตอกเข็ม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณหลักล้าน ถึง 4 ล้านบาท  ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ซึ่งแพล้นของคิว แคร์ริเออร์ สามารถเคลื่อนย้ายได้เร็ว ภายใน 1-2 วัน ไปอีกที่หนึ่งได้เลย ทำให้ลูกค้าได้ในเรื่องความสะดวกมากกว่า

“นอกจากเรื่องการบริหารจัดการ อีกหนึ่งสิ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือเราใช้ระบบตราชั่ง ไม่ว่าจะเป็นปูน หรือน้ำ จะผ่านตาชั่งทั้งหมด  ซึ่งขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ เราจะเช็คจากโรงงานให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อไปถึงหน้างาน จึงทำแค่เพียงต่อปลั๊กคอนโทรลเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เลย เทียบกับแพล้นทั่วไปคือส่วนใหญ่จะใช้เหล็กเป็นท่อนๆ ฉะนั้นพื้นที่เล็กที่สุดที่เราทำได้คือพื้นที่กว้างประมาณ 17 เมตร ยาว 25 เมตร

คอร์สเมื่อเทียบกับแพล้นปกติ จะแตกต่างกันที่ 8-9 ล้าน ราคาไม่ต่างกันแต่ค่าไฮโดรลิก ต่างกันที่ 8-9 แสน เพราะจะแพงที่ไซโลปกติที่เป็นแนวตั้ง ราคาอยู่ที่ 5 แสน แต่ของเราอยู่ที่ล้านกว่าบาท หากเทียบกับการชดเชยโดยคอร์สที่ลดลงด้านฐานรากซึ่งลูกค้าลงทุนครั้งเดียวจะคุ้มค่ามากกว่าหลักแสนถึงล้าน” 



ชู “ไอโอที” สู่โรงงานปูนดิจิทัลอัจฉริยะ

ในส่วนของแพล้นโมบายล์ บริษัทได้ร่วมกับบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ในการใช้นวัตกรรมซึ่งเป็นผลงานของคนไทย สู่ระบบ “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ” (Digital Connected Plant) ที่มีการพัฒนาการทำงานด้านต่างๆ เช่น การซ่อมบำรุง (Maintenance) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เร็วขึ้น เชื่อถือได้มากขึ้น โดยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ด้านดิจิทัล และ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) มาพัฒนาและปรับใช้กับเครื่องมือ อุปกรณ์ และฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

ด้านงานซ่อมบำรุง และการใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ และระบบควบคุมต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ ประเมินสภาพเครื่องจักรและระบบการรายงานผล ที่ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางเสียง รูปภาพ และวิดีโอให้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ในโรงงาน ปัจจุบัน นวัตกรรมพัฒนาไปสู่โมเดลที่ 3 คือสามารถจดทะเบียนได้ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาเรื่องระยะเวลาในการติดตั้งให้เร็วขึ้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีด้วยกันทั้งหมด 6 ชุด

“เรื่องการผลิตปูนซีเมนต์ คนไทยมีศักยภาพมาก โดยการทำงานจะมีทั้งการชั่ง การตวง เพื่อให้ได้น้ำหนักที่ได้มาตรฐาน ทั้งน้ำยาหน่วงต่าง ๆ จะวัดกันเป็นมิลลิลิตร ซึ่งละเอียดมาก นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้รูปแบบของแพล้นปูนจะเป็นลักษณะของปุ่มกด แต่ปัจจุบันเรามีนวัตกรรมที่พัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ควบคุมเข้ากับเครื่องจักรได้เลย สามารถจะมอนิเตอร์การทำงานได้ทุกขั้นตอน ซึ่งจะเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ รวมถึงรีโมทผ่าน Wifi เพื่อแก้ไขกรณีลูกค้าเกิดปัญหาได้แบบเรียลไทม์”  คุณธัชนนท์ อธิบายเพิ่มเติม



แพล้นโมบายล์ มีโอกาส Disruption แพล้นปูน หรือไม่?

คุณธัชนนท์ ให้มุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับการเข้ามาแทนที่ของแพล้นโมบายล์ ที่มีโอกาสในการเติบโตมากในขณะนี้ 

"ผมว่าเทรนด์อาจจะเปลี่ยนอีกสัก 5 ปี   จากปัจจัยต่าง ๆ เช่นเรื่องของกฎหมาย แพล้นปูนอาจจะลดน้อยลง ขณะเดียวกัน โมบายล์อาจจะเข้าไปตอบโจทย์มากขึ้น คิดว่าสิ่งที่จะถูกแทนที่อาจจะไม่ใช่แค่แพล้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของไซโล เพราะบางรายลูกค้ามีแพล้นอยู่แล้ว แต่จะสั่งไซโลไปติดตั้งแพล้นที่มีอยู่ ถามว่ามีโอกาสที่เทรนด์จะเปลี่ยนไปมั้ย ก็เป็นไปได้โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังจากนี้ จะเป็นแพล้นขนาดใหญ่ พวกพาวเวอร์แพล้น ที่กำลังผลิต 160 คิวต่อชั่วโมง อยู่ตามชานเมืองในลักษณะออนไซต์ อาจจะขยับไปวิ่งในเมืองมากขึ้น"

 

ต่อยอดธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขายแต่ “ให้เช่าเครื่องจักร”

สำหรับโมเดลธุรกิจในระยะต่อไปของ คิว แครฺริเออร์นั้น ซีอีโอหนุ่มเผยมุมมองว่า จากนี้ไป ผู้รับเหมาส่วนใหญ่อาจจะมีการบริหารต้นทุน โดยลดการลงทุนเรื่องแพล้นปูน และปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีเช่าเป็นรายคิว โดยคิว เเคร์ริเออร์ ได้เตรียมแผนรองรับการให้บริการดังกล่าวไว้แล้ว

“เราคิดโมเดลใหม่ซึ่งเป็นการให้เช่าเครื่องจักร โดยส่งทีมงานไปติดตั้ง จัดการเรื่องการขออนุญาตออกแบบพื้นที่ในไซต์งาน, ดูแลเรื่องแมนทาแนนท์ ซ่อมบำรุง ซึ่งจะผลิตตามสูตรของลูกค้า หรือหากลูกค้าไม่มีสูตร ก็มีบริการเรื่องสูตรให้ จุดเด่น ใช้เวลาในการติดตั้ง 2 วัน ลูกค้าไม่ต้องใช้ฐานราก นอกจากนี้ยังใช้ไซโลแนวนอนที่กำลังการผลิตได้ถึง 90 คิวต่อชั่วโมง”

“อุตสาหกรรมก่อสร้าง” ตายช้า-เกิดใหม่เร็ว 

จากภาพรวมการสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าช่วง 3 เดือนแรก ปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเล็กน้อย โดยรายได้ภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างขยายตัว ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron น้อยกว่าระลอกก่อน ซึ่งแม้ว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีการชะลอตัวในระยะหนึ่ง

แต่ในมุมมองของคุณธัชนนท์ กลับมองว่าไม่ใช่อุปสรรคของธุรกิจ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเป็นการวางแผนระยะยาวทำให้รับมือกับสถานการณ์ได้และไม่กระทบกับธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา

“งานที่เรารับไว้ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด 19 แต่เรามองว่าสำหรับธุรกิจขนส่งคอนกรีต จะเป็นส่วนที่ตายช้าที่สุด เพราะการดำเนินงานต้องใช้ระยะเวลานานในการก่อสร้าง มีการวางแผนกันเป็นปี ๆ ขณะเดียวกัน แม้จะผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว สิ่งที่ฟื้นตัวและกลับมาได้ก่อนก็ยังคงเป็นธุรกิจก่อสร้าง เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง หากได้อานิสงส์จากการที่ประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศอีกรอบหนึ่ง น่าจะส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้นอีก”

สำหรับเป้าหมายในอนาคตสำหรับการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมของ คิว แครฺริเออร์ คือ ตั้งเป้าเป็นรถขนส่งคอนกรีต อันดับ 1 ของประเทศไทย และจากความสำเร็จที่สะท้อนการดำเนินงานที่ผ่านมา เชื่อว่าเป้าหมายของซีอีโอรุ่นใหม่คนนี้วางไว้ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม


รู้จัก ‘บริษัท คิว เเคร์ริเออร์ จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
q.carrier.thailand@gmail.com
เบอร์ติดต่อ : 038-111-000

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
127 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
234 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
854 | 17/04/2024
‘คิว เเคร์ริเออร์’ ใช้นวัตกรรมสร้าง Business Model ใหม่ สู่เป้าหมายขนส่งคอนกรีตเบอร์ 1 ในไทย