เทศกาลของสายบุญ ถือศีล-กินผัก ไขข้อข้องใจจำเป็นไหมที่ต้อง ‘ล้างท้อง’ ก่อน ‘กินเจ’

Edutainment
21/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1616 คน
เทศกาลของสายบุญ ถือศีล-กินผัก ไขข้อข้องใจจำเป็นไหมที่ต้อง ‘ล้างท้อง’ ก่อน ‘กินเจ’
banner
ใกล้เข้ามาแล้วกับช่วงเทศกาลกินเจของทุกปี ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน โดยจะตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย ตามปฏิทินสากล รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 9 วัน 9 คืน 

กินเจ เริ่มวันไหน?

สำหรับเทศกาลกินเจปี 2565 นี้ ตรงกับวันที่ 26 กันยายน - 4 ตุลาคม 2565 (รวมเป็นเวลา 9 วัน) หากบางท่านนับวันล้างท้อง ในวันที่ 25 กันยายนจะรวมเป็น 10 วัน  มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า “ล้างท้องก่อนกินเจ” มันคืออะไร? จำเป็นแค่ไหน และหากไม่ล้างท้อง จะมีผลอย่างไรต่อการกินเจ บทความนี้ มีคำตอบ 



จะเห็นว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ที่สนใจบริโภคอาหารที่ไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบช่วงเทศกาลกินเจเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 20-39 ปี และเมื่อถึงเทศกาลกินเจทีไร มักจะมีคำ ๆ หนึ่งที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ นั่นคือต้อง “ล้างท้อง”ประมาณ 1-2 วัน  ก่อนจะเริ่มกินเจ อย่างเป็นทางการ

ถ้าหากจะพูดในแง่ของ “ความเชื่อ” ตามศาสนาพุทธนิกายมหายาน จะเชื่อว่า การล้างท้องก่อนเริ่มต้นถือศีล-กินผัก คือการเตรียมร่างกายให้บริสุทธิ์ งดทานเนื้อสัตว์เพื่อให้ร่างกายขับเอาอาหารประเภทเนื้อออกจากร่างกายอย่างหมดจด ให้ร่างกายบริสุทธิ์ทั้งภายในและภายนอก และไม่ใช่แค่เพียงงดทานเนื้อสัตว์ แต่ต้องรักษาศีล และประพฤติตนให้ดีทั้งกาย วาจา ใจ ด้วย

ซึ่งความเชื่อเรื่องการล้างท้องก่อนเริ่มกินเจในวันแรก ที่หลาย ๆ คนยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมานานนั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวกและพึงพอใจ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด แต่ในเรื่องการทำงานของระบบร่างกาย หากเรางดทานเนื้อสัตว์ 1-2 วันก่อนเริ่มกินเจ จะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับสภาพสำหรับการรับประทานอาหารแบบใหม่ และสร้างความคุ้นชินให้ระบบย่อยอาหารทำงานให้ได้ดีขึ้นนั่นเอง



กินเจแบบไหน ปลอดภัย ไม่ขาดสารอาหาร 

ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า เทศกาลกินเจ เป็นช่วงเวลาร่วมกันสร้างบุญ ลด ละ เนื้อสัตว์ กินผัก หรือโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้ง แต่ต้องไม่ลืมสุขภาพด้วยเพราะอาหารเจที่วางจำหน่ายทั่วไป มักปรุงด้วยการผัดและทอดที่ใช้น้ำมันมาก จึงเป็นอาหารไขมันสูง หากกินทุก ๆ วัน วันละ 3 มื้อและไม่จำกัดปริมาณจะทำให้มากเกิน ความต้องการของร่างกาย ทำให้มีไขมันสะสมน้ำหนักตัวเพิ่ม และเป็นโรคอ้วนในที่สุด 

เพื่อสุขภาพที่ดี ควรเลือกกินอาหารเจที่ปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง ยำ อบ รวมทั้งผักผลไม้ โดยกินให้ครบ 5 หมู่ในมื้ออาหารส่วนผลิตภัณฑ์ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นโปรตีนเทียม ที่ไม่สมบูรณ์ทำจากแป้ง ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย

“กินเจ” ให้ได้บุญ ห้ามทำอะไรบ้าง

การกินเจ นอกจากงดทานเนื้อสัตว์ ยังมีข้อห้ามอื่น ๆ  ที่ผู้กินจำเป็นต้องรู้ไว้เพื่อไม่ให้ “เจแตก” หรือเผลอกินอาหารที่เป็นข้อห้ามเข้าไป ซึ่งมีดังต่อไปนี้

•ห้ามกินเนื้อสัตว์ รวมถึงไขมันสัตว์, ไข่, และเลือด
•ไม่กินผักที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม, หัวหอม, ต้นหอม, กุยช่าย, ใบยาสูบ
•ไม่กินอาหารรสเผ็ด
•ไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา และไม่สูบบุหรี่
•ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
•ไม่พูดคำหยาบ โกหก ส่อเสียดต่อผู้อื่น

นอกจากนี้ ต้องกินอาหารที่ปรุงจากคนถือศีลกินเจ และไม่ใช้จาน ชาม ปะปนกับคนอื่น 



การกินเจ เพื่ออะไร?

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการกินเจนั้น ประกอบไปด้วยเรื่องดี ๆ มากมาย เช่น เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับสมดุลและเป็นการขับสารพิษในร่างกาย ช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พักจากการรับประทานเนื้อสัตว์ที่อาจย่อยยากในชีวิตประจำวัน  และส่งผลดีต่อการขับถ่าย รวมถึงการทานผักผลไม้ ยังมีสารอาหารและวิตามินที่ช่วยให้ผิวพรรณผ่องใส  ที่สำคัญยังเป็นการสร้างบุญ บารมี เพราะเทศกาลกินเจ มาพร้อมการถือศีล ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ตั้งมั่นในความดี ส่งผลดีต่อใจ ลดการเบียดเบียนต่อชีวิตสัตว์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 



ล้างท้องแล้ว อย่าลืม ปรับร่างกายก่อนออกเจ

กรมอนามัย ยังให้ข้อมูลดี ๆ สำหรับเทศกาลกินเจ โดยระบุว่า ในช่วงกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทน ดังนั้น เมื่อร่างกายต้องกลับมากินอาหารตามปกติ ผู้บริโภคจึงปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ กินให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เลือกอาหารรสไม่จัด ไม่หวาน มัน เค็ม เผ็ด เปรี้ยวมากจนเกินไป

หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เพราะทำให้ย่อยยากในช่วงแรก จึงทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้ สำหรับการดื่มนม แนะนำให้เริ่มดื่มนมวัวครั้งละน้อยๆ ประมาณครึ่งแก้ว และค่อยเพิ่มเป็น ครั้งละ 1 แก้วได้ ในเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย ในมื้ออาหารว่างหรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลกโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ต หรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน แต่หลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารกลับสู่ภาวะเดิม ก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ 

อ้างอิงข้อมูล : กรมอนามัย
https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/151064/
https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/eat-j/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
764 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
10643 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
13144 | 03/10/2023
เทศกาลของสายบุญ ถือศีล-กินผัก ไขข้อข้องใจจำเป็นไหมที่ต้อง ‘ล้างท้อง’ ก่อน ‘กินเจ’