‘Blue Carbon’ แหล่งกักเก็บคาร์บอนทางทะเลได้มากกว่าบนบก 10 เท่า โอกาสภาคธุรกิจ สู่ Net Zero เร็วขึ้น

ESG
18/12/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1325 คน
‘Blue Carbon’ แหล่งกักเก็บคาร์บอนทางทะเลได้มากกว่าบนบก 10 เท่า โอกาสภาคธุรกิจ สู่ Net Zero เร็วขึ้น
banner

ปัจจุบัน องค์กรธุรกิจทุกระดับทั่วโลก พยายามจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ตามที่ปักหมุดหมายไว้ ให้สอดรับกับวาระของโลกที่มุ่งลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง แต่ก็ยังทำไม่ได้ทั้งหมด ด้วยต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกสูงไม่น้อยเลย จึงทำให้มีความต้องการคาร์บอนเครดิตจำนวนมาก เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น


บทความนี้ จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักทางเลือกใหม่ในการกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านระบบนิเวศชายฝั่งหรือ Blue Carbon Ecosystem (BCE) และโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากระบบนิเวศ Blue Carbon รวมไปถึงการใช้ในกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อบรรลุเป้าหมายNet Zero เร็วขึ้น




Blue Carbon คืออะไร


บลูคาร์บอน (Blue Carbon) คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกดูดซับและกักเก็บไว้ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล อาทิ ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ระบบนิเวศเหล่านี้จะทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบชีวมวลและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดิน นับว่าเป็นป่าที่มีความสำคัญต่อระบบชีวภาพ และอุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์



Cr. ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


ทำไม? ต้องเป็น Blue Carbon

ปัจจุบันระบบนิเวศ Blue Carbon กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 185 ล้านเฮกตาร์ และมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า 30,000 TgC (1 TgC มีค่าเท่ากับ 1 ล้านตันคาร์บอน) หรือประมาณ 3 หมื่นล้านล้านตันคาร์บอน ซึ่งสามารถลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 141- 146 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ขณะที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีป่าชายเลนมากที่สุด เป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของโลก


ทั้งนี้ ระบบนิเวศ Blue Carbon จะช่วยให้คาร์บอนตกตะกอนในมหาสมุทรถึง 50% โดยหญ้าทะเลสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนไว้ในชั้นดินได้ถึง 95% ซึ่งหากป่าชายเลนลดลงจะส่งผลให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 10%


เราจะเห็นได้ว่า หญ้าทะเลมีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนในทะเลสูงมาก แม้มีพื้นที่เพียงร้อยละ 0.1% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งโลก แต่มีความสามารถในการเก็บคาร์บอนมากถึงร้อยละ 10 ของปริมาณคาร์บอนที่พบทั้งหมดในมหาสมุทรทั้งหมด




ยกตัวอย่างเช่น หญ้าทะเล 1 เฮกตาร์ (6ไร่ 1งาน) ดูดซับคาร์บอนได้ 330 ตัน หรือ เท่ากับไร่ละ 52.8 ตัน โดยปริมาณคาร์บอน 330 ตันต่อปี เท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขับรถ 1 คัน ในระยะทาง 3,350 กม.หรือ ระยะทางเท่ากับกรุงเทพ-ปักกิ่ง หรือ หญ้าทะเล 1 ตารางเมตร ผลิตออกซิเจน ที่เราหายใจได้ 10 ลิตรต่อวัน



นอกจากนี้ ผลการศึกษา ยังชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมฟื้นฟูพื้นที่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งนั้น สามารถลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมรายปีได้อีกถึง 621-1,024 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าในภาพรวมทั้งหมดสูงถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์






Blue Carbon ทางเลือกใหม่ แหล่งดูดซับคาร์บอนมากกว่าป่าไม้ 10 เท่า


จากผลการวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมาชี้ว่า ระบบนิเวศป่าชายเลนและชายฝั่ง หรือ Blue Carbon มีศักยภาพในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าไม้ หรือ Green Carbon เนื่องจากสามารถ ดึงคาร์บอนประมาณ 50-90% ไปกักเก็บไว้ในรากและตะกอนดินที่มีน้ำทะเลท่วมขัง ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีถ้าไม่ถูกรบกวน




ขณะที่ป่าไม้หรือ Green Carbon เช่น ป่าฝน กักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ Blue Carbon จึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ 5 -10 เท่า ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น และมีบทบาทอย่างมากในการลดภาวะโลกร้อน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต



Cr.ภาพ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.


ป่าชายเลนไทย โอกาสสำคัญในการดูดซับคาร์บอนภาคธุรกิจไทย


สำหรับ ประเทศไทย จากข้อมูลของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร มีระบบนิเวศ Blue Carbon ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลซึ่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดหรือหมู่เกาะต่าง ๆ


โดยในปีที่ผ่านมาจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย อาจไม่เพียงพอกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประเมินว่า ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเป็นป่าอยู่ 1.74 ล้านไร่ โดยบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่กระทบระบบนิเวศป่าชายเลน ขณะที่พื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลมีอยู่ราว 160,628 ไร่ แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2564 มีพื้นที่เพียง 99,325 ไร่ ซึ่งแสดงว่าไทยยังมีพื้นที่อีก 38% ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เป็นระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงเดินหน้า “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัดจำนวน 3 แสนไร่ ระหว่างปี 2565 – 2574 และในปีที่ผ่านมา ได้จัดสรรพื้นที่ 4.1 หมื่นไร่ ให้ภาคเอกชน 14 ราย เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับประโยชน์จากการชดเชยคาร์บอนเครดิตในอนาคต ทั้งการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสร้างรายได้การการขายคาร์บอนเครดิต โดยพบว่า ป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซต่อไร่ต่อปี ซึ่งหากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่ คาดว่าจะได้ปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บไว้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี และเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่สามารถนำไปทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions ได้อีกทางหนึ่ง


Cr. ภาพ ส่วนส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน


สร้างโอกาสให้ธุรกิจ ด้วย Blue Carbon Credit


ป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 tCO2 ต่อไร่ต่อปี อ้างอิงจากผลการศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนในพื้นที่ 9 จังหวัดของไทยทั้งในโซนอ่าวไทยและโซนอันดามันของคณะทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ ในเบื้องต้น หาก ทช. สามารถดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนได้ครบตามเป้าหมาย 3 แสนไร่พร้อมกับกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ที่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยศักยภาพข้างต้น และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตอย่างน้อย 10 ปี คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2


ซึ่งสอดรับกับงานวิจัยของ McKinsey & Company ในปี 2022 ที่ประเมินว่า กิจกรรมฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มรวมทั้งโลก จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนราว 0.4-1.2 กิกะตัน หรือ 0.4-1.2 ล้านล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2 ) ต่อปี ภายในปี 2050 ขณะที่ต้นทุนสุทธิที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2 ) ของ Blue Carbon เช่น การฟื้นฟู หรืออนุรักษ์ป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ซึ่งสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศบนบก เช่น การปลูกป่า

รวมทั้งราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตที่จูงใจ ตามข้อมูลของ Abatable พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตจาก Blue Carbon โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ขณะที่โครงการบางประเภทมีราคาซื้อขายสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 เลยทีเดียว ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อาจนำพาประเทศไทยและภาคธุรกิจบรรลุสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ได้เร็วยิ่งขึ้น


นับเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจทั้งที่เป็นผู้พัฒนาโครงการเพื่อรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต หรือผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่พัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลนดังกล่าว เพื่อใช้ในกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการเข้าใกล้เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emissions มากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง


โดยผู้ที่พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ขึ้นทะเบียนโครงการกับ อบก. จะได้ประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศเป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน และยังสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย



นอกจากนี้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงในหลากหลายมิติ เช่น เป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (Marine Ecotourism) การทำประมงที่มีความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4.8 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว



Cr.ภาพ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่งหญ้าทะเลบางแห่งมีสภาพดีขึ้น แต่บางแห่งก็ยังคงถูกคุกคามจากน้ำมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน ท่าเรือ รีสอร์ท การพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งการทำประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ล้วนมีส่วนที่ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลง


ดังนั้นผู้ประกอบการ SME จึงควรหันมาใส่ใจตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลทางระบบนิเวศและเชื่อมโยงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดูดซับคาร์บอนจาก ป่าไม้ หรือ Green Carbon และ ระบบนิเวศทะเล หรือ Blue Carbon ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียวที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

https://www.ceab.csic.es/en/ecosistemes-de-carboni-blau-una-solucio-natural-per-emmagatzemar-carboni-i-combatre-el-canvi-climatic/


องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

bluecarbonsociety


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/115/news/274/detail/49023

https://km.dmcr.go.th/c_11/d_19699

https://energy-thaichamber.org/blue-carbon/

https://ngthai.com/environment/45975/blue-carbon-seagrass-sing-r-sa/




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
177 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2870 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3843 | 30/03/2024
‘Blue Carbon’ แหล่งกักเก็บคาร์บอนทางทะเลได้มากกว่าบนบก 10 เท่า โอกาสภาคธุรกิจ สู่ Net Zero เร็วขึ้น