Bnomics | แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

Bnomics
07/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 876 คน
Bnomics | แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
banner
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ทั้ง 7 ท่าน เห็นควรให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%  ไปสู่ระดับ 1% ต่อปี ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เน้นรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว



ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ คะแนน 7 ต่อ 0 ซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ครั้งนี้ แตกต่างจากการประชุม 2 ครั้งก่อนหน้า ที่คณะกรรมการมีการลงคะแนนเสียงที่ไม่เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงหลังทำให้ท่านคณะกรรมการเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะเหมาะสมที่สุด

การฟื้นตัวการท่องเที่ยวและราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง

เริ่มจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้แรงส่งภาคการบริโภคเอกชนจะเริ่มทรงตัวสะท้อนผ่านดัชนีการบริโภคเอกชน (PCI) แบบปรับฤดูกาลของเดือนล่าสุด สิงหาคม ซึ่งออกมาเท่ากับในเดือนกรกฎาคมพอดี 

แต่ก็ยังมีข่าวดีในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งตัวเลขล่าสุดในเดือนสิงหาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 1 ล้านคนเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้แนวโน้มภายในสิ้นปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสกลับไปทะลุ 10 ล้านคน 
 


นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเครื่องยนต์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนในภาคกว้าง เพราะการจ้างงานแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสูงถึงราว 10 ล้านคน

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกอย่างซึ่งเป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง อย่างอัตราเงินเฟ้อก็มีข่าวดีออกมาเช่นกัน

ซึ่งถึงแม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาสินค้าอาหารจะยังไม่ได้ปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ราคาพลังงานโลก ซึ่งเป็นตัวการตั้งต้นของเงินเฟ้อในปัจจุบันได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง  

ยกตัวอย่างดัชนีราคาน้ำมันทั้ง WTI และ Brent ซึ่งมีการปรับลดลง 4 เดือนติดต่อกันแล้ว จากที่เคยขึ้นไประดับเกิน 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในเดือนกันยายนก็ปรับลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว



โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การปรับตัวของตลาดที่หาแหล่งการส่งออกน้ำมันใหม่ๆ ได้แล้ว และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ เรื่องความกังวลใจต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สูงขึ้นในช่วงหลัง ทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานลดลง และทำให้ราคาพลังงานปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งหากราคาพลังงานยังปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรง เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อก็จะลดลง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยในด้านเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากภายนอกประเทศ

ความเสี่ยงจากภายนอก

ในช่วงที่ผ่านมา ความกังวลใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจทั่วโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เศรษฐกิจสำคัญอย่าง ยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน 

ยุโรปเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามในยูเครนมากที่สุด ทำให้สถานการณ์พลังงานในทวีปเข้าสู่สภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง ต้องบริหารจัดการพลังงานสำรองอย่างระมัดระวัง และก็ยังมีปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงให้ต้องจัดการด้วย 

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานหลายแห่งจำต้องปิดลงชั่วคราวไปแล้ว

ในกรณีของสหรัฐฯ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงในรอบกว่า 40 ปีก็บีบให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องใช้ยาแรงเช่นกัน โดยตอนนี้ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 3% แล้ว 

และท่าทีจากประธานเฟดก็ค่อนข้างชัดเจนว่า จะขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสู้กับปัญหาเงินเฟ้อจนจบสิ้นไป ซึ่งก็ทำให้มีความกังวลกันว่า ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในช่วงถัดไป

จีนก็เป็นอีกประเทศที่กำลังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแก้ไขไม่จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กระทบกับคนวงกว้าง 

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความกลัวว่า จะมีสภาวะถดถอยจึงเพิ่มสูงขึ้น หนึ่งดัชนีเศรษฐกิจสำคัญที่แสดงภาพได้ดี คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI)  



ซึ่งค่า PMI ของทั้งสามมีแนวโน้มปรับลดลงมาจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะ Euro Area และจีน ที่ค่าออกมาที่ 48.5 และ 48.1 ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่า 50 อันเป็นระดับแสดงการหดตัวจากเดือนก่อนหน้า และก็เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากสองเดือนก่อนด้วย

ส่วนสหรัฐฯ แม้ดัชนี PMI ภาคการผลิตจะอยู่ในระดับสูงกว่า 50 อยู่ แต่ก็เป็นระดับที่ลดลงจากเมื่อช่วงต้นปี และแนวโน้มต่อไปก็มีโอกาสที่จะปรับลดลงไปต่อ

ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายนอกก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะกับสองด้านสำคัญ คือ ค่าเงินที่อ่อนค่าและอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแรงลง 

ในส่วนค่าเงิน เมื่อความกลัวสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น คนก็จะหันหาสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำคัญแข็งค่าขึ้นไปประมาณ 17% แล้วในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี และก็ทำให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐไปตามๆ กัน

ซึ่งไทยก็เป็นประเทศซึ่งอยู่ในช่วงกลางๆ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ ค่าเงินอ่อนค่าไปประมาณ 10% 

แต่ในระยะต่อไป ค่าเงินก็มีโอกาสที่จะผันผวนต่อเนื่องไปได้อีกสักระยะ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องบริหารความเสี่ยงกันให้ดี

ส่วนที่สองคือ อุปสงค์จากต่างประเทศซึ่งจะอ่อนแรงลงในช่วงต่อไป ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงนี้ ต้องอ่อนแรงลงไปตาม 

ซึ่งอันที่จริง เราก็เริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัวลงของภาคส่งออกกันบ้างแล้ว ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าในระดับปกติอยู่ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มหดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากขึ้นกว่านี้

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
 
════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.ft.com/content/e9e8c879-5536-4fbc-8ec2-f2a274b823b4
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/MonthlyReport_August2022_so92v.pdf
https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/fomcpresconf20220921.htm
https://www.nytimes.com/2022/09/19/business/europe-energy-crisis-factories.html
https://www.marketwatch.com/investing/index/dxy

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง…
pin
407 | 09/06/2023
Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์วิกฤติในภาคธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ First Republic Bank เกิดปัญหาความเชื่อมั่น…
pin
673 | 05/05/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า…
pin
685 | 07/04/2023
Bnomics | แบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ