ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 65 ปี: เมื่อเครื่องดื่มประจำวันเริ่มไม่ธรรมดาอีกต่อไป
ก่อนที่กาแฟจะกลายเป็นธุรกิจพันล้าน หรือไอเทมประจำโต๊ะทำงานของคนเมืองทั่วโลก ต้นกำเนิดของมันเริ่มต้นอย่างเรียบง่ายจากทุ่งหญ้าในเอธิโอเปียเมื่อกว่า 1,200 ปีก่อน
เมื่อคนเลี้ยงแพะชื่อ “คาลดี” สังเกตว่าแพะกระโดดไม่หยุดหลังจากกินผลไม้สีแดงจากต้นไม้ประหลาด นั่นคือกาแฟ — เครื่องดื่มที่ต่อมาจะเดินทางจากแหล่งกำเนิดในเอธิโอเปียสู่เยเมน ผ่านเส้นทางการค้าอาหรับ และกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในโลกอิสลามช่วงศตวรรษที่ 15 จากนั้นขยายไปสู่ยุโรปในศตวรรษที่ 17 ก่อนที่ชาติมหาอำนาจในยุคอาณานิคม เช่น ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และอังกฤษ จะนำกาแฟไปปลูกในอาณานิคมต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา
ในศตวรรษที่ 19–20 กาแฟกลายเป็น “สินค้าส่งออกหลัก” ของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในลาตินอเมริกา เช่น บราซิล และโคลัมเบีย ส่วนเวียดนามเพิ่งเข้าสู่วงการผู้ผลิตในช่วง 1990 และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกโรบัสต้าอันดับหนึ่งของโลก
?จากฝิ่นสู่ฟาร์มกาแฟ: ต้นทางกาแฟไทย
แม้กาแฟจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ “กาแฟไทย” เพิ่งเริ่มมีบทบาทจริงจังในฐานะพืชเศรษฐกิจเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2515 เมื่อ “โครงการหลวง” ภายใต้การริเริ่มของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกาแทนฝิ่น ด้วยเป้าหมายลดการปลูกพืชเสพติด และยกระดับคุณภาพชีวิตในถิ่นทุรกันดาร
แม้ไทยจะไม่ได้อยู่แถวหน้าของผู้ผลิตโลก แต่กาแฟไทยกลับโดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การปลูกแบบยั่งยืน และการมี “ที่มา” ที่ชัดเจน กาแฟจากโครงการหลวงบางสายพันธุ์ เช่น ปางขอน ดอยช้าง หรืออินทนนท์ ได้รับการยอมรับในตลาด Specialty ทั้งในและต่างประเทศ กลายเป็นแบรนด์ที่เชื่อมโยง “ชุมชน–สิ่งแวดล้อม–คุณภาพชีวิต” เข้าด้วยกัน
จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 กาแฟกลายเป็น "พืชเศรษฐกิจโลก" อย่างเต็มตัว หลายประเทศที่เคยเป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบเริ่มลุกขึ้นมาเป็น "เจ้าของแบรนด์" ด้วยตนเอง เช่น โคลอมเบียที่สร้างภาพลักษณ์ “กาแฟคุณภาพจากภูเขา” เอธิโอเปียที่เชื่อมโยงกาแฟกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น และเวียดนามที่พลิกแผ่นดินให้กลายเป็น ‘โรงงานโรบัสต้า’ ของโลก
การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ไม่เพียงพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศผู้ผลิต แต่ยังพลิกเกมตลาดกาแฟโลกให้ซับซ้อนและแข่งขันสูงขึ้น ในวันที่ดีมานด์ทั่วโลกยังคงพุ่งไม่หยุด ขณะที่ซัพพลายเริ่มหดหายจากภัยธรรมชาติและข้อจำกัดด้านแรงงาน
ประเทศไทยเองกำลังยืนอยู่ที่ “ทางแยก” สำคัญ ว่าจะยังเป็นเพียงผู้บริโภคและผู้แปรรูป... หรือจะก้าวขึ้นสู่บทบาทใหม่ในห่วงโซ่กาแฟโลก
?สถานการณ์กาแฟ: เมื่อดีมานด์แรง แต่ซัพพลายเริ่มหาย
ทุกวันนี้ กาแฟไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจ แต่เป็น “วัฒนธรรมโลก” ที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรายย่อยในโลกใต้กับผู้บริโภคในเมืองใหญ่ทั่วโลก “กาแฟ” กำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ — ตั้งแต่สภาพอากาศที่ปั่นป่วน ตลาดโลกที่แปรผัน ไปจนถึงวัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย โอกาสครั้งใหม่กำลังอยู่ตรงหน้า ถ้าเรากล้าขยับจาก “ผู้บริโภค–ผู้แปรรูป” ไปสู่ “เจ้าของแบรนด์” อย่างแท้จริง
1. ตลาดกาแฟโลก: ผลผลิตลดลง แต่การบริโภคพุ่งไม่หยุด
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตกาแฟโลกลดลงจาก 10.6 ล้านตัน เหลือเพียง 10.1 ล้านตัน (ปี 2566/67) โดยมีสาเหตุจากภัยแล้ง น้ำค้างแข็ง พายุ และโรคพืชที่รุนแรงขึ้น เช่น บราซิลเผชิญภัยธรรมชาติซ้ำซากจนผลผลิตอาราบิกาลดลงถึง 26.8% ส่วนเวียดนามก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วม
ขณะที่ความต้องการบริโภคกาแฟกลับโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ตลาดเหล่านี้มีกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนจากชาเป็นกาแฟมากขึ้น และมองกาแฟเป็นทั้งไลฟ์สไตล์และ “ต้นทุนในการมีสติ” ราคากาแฟจึงพุ่งขึ้นในระดับประวัติการณ์ — อาราบิก้าพุ่งแตะ 9.04 ดอลลาร์/กก. สูงสุดในรอบ 65 ปี ส่วนโรบัสต้าอยู่ที่ 5.81 ดอลลาร์/กก. สูงสุดในรอบ 48 ปี
2. สถานการณ์กาแฟไทย: ผลผลิตลด ความต้องการเพิ่ม
แม้ไทยจะมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ แต่ในปี 2567 ผลผลิตลดลงเหลือเพียง 16.6 พันตัน ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนโค่นต้นกาแฟเพื่อปลูกทุเรียนแทน อีกทั้งยังเผชิญภัยแล้งและอุณหภูมิสูงในช่วงออกดอก
ในทางตรงข้าม ความต้องการใช้เมล็ดกาแฟกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 คาดว่าจะสูงถึง 96.8 พันตัน ขณะที่ไทยยังต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟกว่า 8 หมื่นตัน ส่วนใหญ่มาจากเวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย เพื่อใช้บริโภคและแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูป
แม้ไทยยังเป็น “ประเทศผู้นำเข้าสุทธิ” แต่มีข้อได้เปรียบด้าน “อุตสาหกรรมแปรรูป” โดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูปที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียนและออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง
3. โอกาสของกาแฟไทย: ถึงเวลาเปลี่ยนจากผู้นำเข้า...สู่ผู้สร้างแบรนด์
ราคากาแฟที่สูงขึ้นทั่วโลก เปิดทางให้เกษตรกรไทยหันมาปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจมากขึ้น แต่การยกระดับต้องมาควบคู่ ทั้งด้านการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ พัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ และระบบการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อดันกาแฟไทยสู่ตลาดพรีเมียม
ตลาดในประเทศยังโตแรง ผู้บริโภควัยทำงานนิยมกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Specialty Coffee และ Grab & Go การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและสร้าง “เรื่องเล่า” ที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น จะช่วยสร้างแบรนด์ที่มีมูลค่าและแตกต่างจากคู่แข่ง
โอกาสของไทยยังอยู่ที่การ “แปรรูปเพื่อส่งออก” โดยเฉพาะการพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบรับ “การบริโภคเพื่อโลกที่ดีขึ้น” เช่น กาแฟเพื่อสุขภาพ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ หรือระบบ Traceability ที่ผู้บริโภคสามารถรู้ที่มาของเมล็ดกาแฟได้อย่างโปร่งใส
?EUDR: กติกาใหม่ของตลาดโลกที่ไทยต้องเข้าใจ
ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปเตรียมบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation Regulation (EUDR) ซึ่งกำหนดให้สินค้านำเข้า เช่น กาแฟ โกโก้ และไม้ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการตัดป่า หรือปลูกในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศหลังปี 2020
นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ: กาแฟไทยที่จะส่งออกไปยุโรปจะต้อง “ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแปลงปลูก” พร้อมหลักฐานว่าไม่ละเมิดสิ่งแวดล้อม หากไทยปรับตัวทันและใช้เป็นจุดขายเรื่อง “กาแฟจากพื้นที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า” ก็อาจแย่งชิงพื้นที่ในตลาดพรีเมียมได้อย่างชาญฉลาด
?กาแฟไม่ใช่แค่เครื่องดื่ม แต่คือสินค้าทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์
กาแฟไทยไม่ควรเป็นเพียงสินค้าเกษตรทั่วไปอีกต่อไป ถึงเวลาเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ให้กาแฟไทยกลายเป็น “วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม” — ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์จนถึงกาแฟแก้วโปรด
ความสำเร็จในเวทีโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มี “พันธสัญญาร่วม” ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักพัฒนา และภาครัฐ ในการเปลี่ยน “ความท้าทาย” จากราคาวัตถุดิบผันผวน แรงงานไม่เป็นธรรม และกฎระเบียบใหม่ ให้กลายเป็น “โอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อน”
กาแฟไทยอาจไม่ต้องแข่งด้วยปริมาณ... แต่อาจเป็น “คุณภาพ – เรื่องเล่า – ความยั่งยืน – และการปฏิบัติจริง” ที่ทำให้โลกหันมามองเราต่างจากที่เคย
ผู้เขียน
กุสุมา ธะนะวงศ์ SPECIALIST
สราลี วงษ์เงิน SPECIALIST