Bnomics | จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าคาดส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

Bnomics
10/03/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 579 คน
Bnomics | จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าคาดส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก
banner
การแถลงการณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คุณเจอโรม พาวเวล ต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องจับตามอง

เนื่องจากว่า ในแถลงการณ์ดังกล่าวมีการชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ทางเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งกว่าเดิมและอาจจะต้องคงดอกเบี้ยไว้สูงนานกว่าเดิม หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงร้อนแรงเกินไปไม่หยุด

ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องทำเช่นนั้นจริง ก็จะส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจ และตลาดการเงินของสหรัฐฯ เอง และก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่

โดยหลังจากที่คุณเจอโรม พาวเวล ได้ออกมาแถลงการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าคาดเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อให้เด็ดขาด จากการที่เศรษฐกิจยังร้อนแรงไม่หยุด ก็ทำให้ตลาดปรับคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ การประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในช่วงอีกประมาณสองสัปดาห์ทันที

อ้างอิงจาก CME FedWatch Tool ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดคาดการณ์กันว่า “โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป 0.5% อยู่ที่ 29.9%” ในขณะที่ตอนนั้นส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมที่จะถึง

แต่หลังจากที่พาวเวลออกมาแถลงการณ์ การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยขึ้น 0.5% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 76.4% แล้ว (อ้างอิงวันที่ 8 มีนาคม) แสดงให้เห็นว่า คนในตลาดส่วนปรับการคาดการณ์จากขึ้น 0.25% มาเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.5% แล้ว



ซึ่งการปรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อเนื่องไปสู่ตลาดการเงินอื่นทันที โดยตลาดหนึ่งที่สำคัญคือตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินทั่วโลก

โดยเงินบาทไทยก็ปรับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ กลับมาอยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง



อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงนี้ เกิดขึ้นหลังจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงสองเดือนแรกของปี 2566 อันมีเหตุผลสำคัญมาจากการเปิดประเทศของจีน ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นในปีนี้ และมีรายได้ภาคบริการไหลเข้าจากต่างประเทศมากขึ้นและทำให้เงินบาทแข็งค่า

แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ค่าเงินบาทจะผันผวนตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายนอกในช่วงต่อไป ซึ่งธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าเงินควรจะมีการจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสม

สถานการณ์การเปิดประเทศของจีนยังส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMIs) ของจีนปรับตัวขึ้นมาอยู่ในแดนขยายตัว (เกิน 50) ที่ 51.6 เป็นระดับที่มากที่สุดในรอบ 8 เดือน



ในขณะที่ PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และยูโรโซนยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อยู่สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจของสองกลุ่มเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน

นอกจากนี้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนยังส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย โดยในปี 2665 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทยด้วยมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท และ 1.1 ล้านล้านบาท ตามลำดับ และก็ยังจะส่งผลต่อเนื่องต่อประเทศคู่ค้าอื่นของไทยได้อีกด้วย

โดยสถานการณ์ภาคการส่งออกของไทยจากที่เคยเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ก็ปรับกลับมาชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยืนยันได้จากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่ประกาศออกมา

ตัวเลขการส่งออกสินค้าและบริการที่เคยขยายตัวในแต่ละไตรมาสเกิน หรือเกือบ 10% ปรับกลับมาติดลบ 0.7% โดยพิจารณาแค่การส่งออกสินค้าอย่างเดียวไม่รวมภาคบริการที่มีนักท่องเที่ยวกลับมา การส่งออกสินค้าไทยในไตรมาสที่ 4 จะติดลบถึง 10.5%

ในส่วนขององค์ประกอบ GDP ในส่วนอื่นก็ยังมีการขยายตัวได้อยู่ในไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา แต่ขยายตัวในอัตราที่น้อยลง จะมีแต่ภาคใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งใช้จ่ายไปในช่วงการปิดเมืองแล้ว ที่หดตัว 8%



สัญญาณบวกเศรษฐกิจในประเทศ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายในประเทศล่าสุดในเดือนมกราคมก็ยังมีสัญญาณบวกบางประการอยู่ อันเกิดมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การบริโภคภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ



โดยส่วนที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวล่าสุดในเดือนมกราคมปรับลดลงมาเล็กน้อยจากราว 2.2 ล้านคนลงมาเหลือ 2.1 ล้านคน เป็นผลมาจากการคุมเข้มของการเดินทางเข้าไทยจากรัฐบาลอินเดีย

แต่ตอนนี้มาตรการดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และนักท่องเที่ยวจีนก็กำลังเดินทางกลับมาไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงคาดการณ์กันว่าในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดี และส่งผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจภายในต่อไป

อีกสัญญาณบวกที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ที่ประกาศออกมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคปรับขึ้นในอัตราชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ในระดับ 3.79% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ ยังปรับลดลงจากเดือนมีนาคมด้วยที่ระดับ -0.12% แสดงให้เห็นสัญญาณการชะลอตัวของระดับราคาอย่างชัดเจน ไม่ใช่ผลจากแค่การเปรียบเทียบกับระดับราคาในปีก่อนที่มีฐานค่อนข้างสูงเท่านั้น



นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของผู้ผลิตก็ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ลงมาอยู่ระดับ 1.57% ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้บริโภคเป็นเดือนที่สามติดต่อกันแล้ว แรงกดดันที่จะส่งต่อต้นทุนภาคการผลิตมาที่ผู้บริโภคก็ลดลง

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงส่งผลดีโดยตรงกับสภาวะเศรษฐกิจไทยที่รับแรงกดดันด้านค่าครองชีพสูงในช่วงที่ผ่านมา และอาจจะทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นได้ดีกว่าที่คาดกันไว้

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายก็อาจจะเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปสูงจนเกินไป และอาจจะสามารถให้น้ำหนักนโยบายกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นได้


เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/Pages/default.aspx
https://www.cmegroup.com/markets/interest-rates/cme-fedwatch-tool.html
https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf
https://www.reuters.com/markets/rates-bonds/feds-powell-sticks-hawkish-message-second-day-testimony-2023-03-08/
https://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=CountryRank&Lang=Th&imextype=1

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง…
pin
407 | 09/06/2023
Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์วิกฤติในภาคธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ First Republic Bank เกิดปัญหาความเชื่อมั่น…
pin
673 | 05/05/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า…
pin
685 | 07/04/2023
Bnomics | จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าคาดส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก