Bnomics | เตรียมรับมือพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ

Bnomics
02/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1551 คน
Bnomics | เตรียมรับมือพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ
banner
โลกพึ่งได้รับข่าวดี เรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เบาลงไปไม่นาน ก็ต้องเตรียมรับมือกับพายุลูกใหม่ทางเศรษฐกิจแล้ว โดยพายุทางเศรษฐกิจลูกนี้ถือเป็นพายุลูกใหญ่ที่น่ากังวล ถึงขนาดที่หลายคนเรียกกันว่า “Perfect Storm” 

ที่บอกว่าเป็นพายุทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ เพราะพายุลูกนี้ประกอบไปด้วยวิกฤตย่อยที่เป็นพายุลูกเล็ก ๆ หลายลูก ซึ่งเกิดขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และส่งผลกระทบกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเตรียมรับมือให้ดี เพราะผลกระทบที่ตามมาอาจจะรุนแรงอย่างมากได้

วิกฤติอาหารและพลังงาน

วิกฤติอย่างแรกในพายุเศรษฐกิจครั้งนี้ที่น่ากังวลใจ คือ วิกฤติทางด้านอาหาร ที่เริ่มต้นมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวโพด ข้าวสาลี และน้ำมันดอกทานตะวัน คิดเป็น 20%  30% และ 50% ของโลกตามลำดับ  เมื่อมีปัญหาเพาะปลูกและส่งออกได้ยาก ก็ทำให้เกิดปัญหาโดยตรงด้านอาหาร

นอกจากนี้ รัสเซียรวมกับเบลารุสที่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีและโพทาส (Potash) อันดับหนึ่งของโลก 

เมื่อส่งออกไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบให้อัตราผลผลิตทางด้านการเกษตรของโลกลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

และเมื่อมีความไม่มั่นคงทางด้านอาหารเกิดขึ้น ก็ทำให้ระดับราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศผู้ส่งออกอาหารหลายประเทศเริ่มมีความกังวลใจว่า ประชาชนภายในประเทศของตนเองจะต้องบริโภคอาหารในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน จึงได้ตัดสินใจต้องควบคุมการส่งออกอาหาร 

นำมาด้วยอินเดียที่ควบคุมการส่งออกข้าวสาลี อินโดนีเซียที่ควบคุมการส่งออกน้ำมันปาล์ม มาเลเซียที่ลดการส่งออกไก่ และอีกหลายประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ที่ออกมาตรการมาควบคุมการส่งออก 

ซึ่งก็เริ่มเห็นผลกระทบที่ตามมาจากการควบคุมสินค้าเหล่านี้ในหลายประเทศแล้ว ที่ถ้ายังไม่มีการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม สถานการณ์วิกฤติอาหารก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นจนเกิดเป็นความไม่พอใจของประชาชนได้



ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ยังทำให้ราคาปิโตรเลียมและโลหะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก ส่งออกน้ำมันอันดับสองของโลก และเป็นส่งออกโลหะสำคัญอีกหลายชนิด 

พอสถานการณ์การส่งออกของรัสเซียเริ่มไม่แน่นอน คนเริ่มหวั่นใจ จึงกดดันให้ราคาสินค้ากลุ่มนี้ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมีนัยยะ 
ยิ่งล่าสุดทาง EU ตัดสินใจเด็ดขาด จะลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียให้ได้ 90% ภายในสิ้นปี ยิ่งทำให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มจะสูงไปอีกสักพักหนึ่ง ประเทศไทยเองก็เห็นน้ำมันขึ้นไปแตะระดับ 50 บาทต่อลิตรแล้ว

ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังต้นทุนค่าขนส่งและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และก็ยังซ้ำเติมวิกฤติราคาอาหารที่จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก รวมแล้วก็เกิดเป็นสภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบหลายสิบปี ในหลายประเทศทั่วโลก เป็นวิกฤติอีกข้อที่อยู่ภายในพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ

ซึ่งภาวะเงินเฟ้อสูง ก็กลายมาเป็นความท้าทายกับธนาคารกลางหลายแห่ง ที่ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อจัดการให้ระดับราคาสินค้ากลับมาสู่ระดับปกติให้ได้ โดยธนาคารกลางที่สำคัญที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องจับตามองการตัดสินใจอย่างใกล้ชิด ก็คือ ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) 

ภารกิจ Soft Landing ของเฟด

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางเฟดได้ใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลดดอกเบี้ยลงไปสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์และการอัดสภาพคล่องจนมีขนาดงบดุลระดับ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ที่ต้องใช้ยาแรงขนาดนี้ เพราะว่า เฟดกังวลใจว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจจะรุนแรง แต่กลายเป็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ในอเมริกา จบเร็วกว่าที่คาดกันไว้ตอนแรก 

แต่ในตอนนั้นเฟดก็ยังลังเลที่จะถอนนโยบายที่ใช้ไปออกมาอย่างรวดเร็ว เพราะมันก็มีโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตลอดเวลา 

สุดท้ายจึงถอนนโยบายช้าไป ทำให้สภาวะผ่อนคลายอย่างมากทางการเงินก่อให้ภาวะเงินเฟ้อตามมา และเมื่อมาเผชิญกับปัญหาราคาปิโตรเลียมและโภคภัณฑ์อื่นที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จึงทำให้เฟดต้องเข้าสู่ช่วงที่ต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้น 

ซึ่งนี่เป็นส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความกังวล เพราะในอดีตที่ผ่านมา ช่วงที่เฟดตัดสินใจใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้น ผ่านการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย มักจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา 

โดยจากช่วงการขึ้นดอกเบี้ยในอดีตมากกว่า 10 ครั้ง มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่ไม่เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ตามมา ซึ่งครั้งที่ไม่มีการถดถอยทางเศรษฐกิจตามมานี้ เราก็จะเรียกกันว่า “Soft Landing” เปรียบเหมือนการลงจอดเครื่องบินแบบนิ่มๆ ไม่กระทบกระเทือนผู้โดยสาร



ภารกิจ Soft Landing เป็นภารกิจที่สำคัญและท้าทายของเฟด ที่ถ้าทำไม่สำเร็จ เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจตามมาในสหรัฐฯ ก็จะซ้ำเติมให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดจากนี้จะยิ่งยาก

นอกจากนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยาวนานเกินไปของเฟด เมื่อต้องถอนคืนไป ก็ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเกิดความผันผวน มีความกังวลในฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องจัดการความเสี่ยงกันให้ดี

และผลกระทบสำคัญสุดท้ายที่ตามมาจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด คือ ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะรุนแรงเป็นพิเศษกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับหนี้สูง  ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่อยู่ในพายุลูกใหญ่ คือ วิกฤตทางการเงิน  

โดย UNTAD บอกว่า มีถึง 69 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ที่กำลังมีความเสี่ยงต้องเผชิญกับพายุทางเศรษฐกิจจากวิกฤตทั้งสามข้อ คือ อาหาร พลังงาน และ การเงินที่เข้มงวด พร้อมๆ กัน 

หนึ่งในประเทศตัวอย่างที่กำลังเจอปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ก็คือ ศรีลังกา ที่มีช่วงที่ประเทศไม่มีทุนสำรองมากพอจะไปซื้อน้ำมัน เพื่อมาใช้บริโภคในประเทศ จนถึงตอนนี้ก็ยังต้องหาทางออกจากปัญหากันอยู่ 



ซึ่งหากสถานการณ์มันบานปลายและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่มีความร่วมมือจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นอีกหลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ตามมา

ไทยต้องเตรียมรับมือและคว้าโอกาส

ในช่วงนี้ ไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือจัดการปัญหาและบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลกให้ดี ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งท้าทาย แต่ก็มีโอกาสซ่อนอยู่เช่นกัน

อย่างเช่น ในส่วนของวิกฤติอาหาร ถ้าเราสามารถเพิ่มการผลิตและควบคุมระดับราคาในประเทศได้อย่างเหมาะสม ตอนนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าทางการเกษตรคืนมา

ไทยยังมีโอกาสจากการท่องเที่ยวหลังจากช่วงโควิดซาลงไป ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเคยสร้างรายได้ประมาณ 10% ของ GDP ในตอนนี้เมื่อภูมิภาคของเราไม่มีความขัดแย้งครั้งใหญ่ ก็ต้องถือโอกาสดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาสร้างรายได้ นำเงินเข้าประเทศ ช่วยในเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะทำให้เรารับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินได้ดีขึ้น นานาชาติก็น่าจะมองเราดีขึ้น

ประกอบกับภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ภูมิภาคที่เป็นดาวรุ่งในสายตาของทุกคน เราต้องคว้าโอกาสนี้ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ ศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ และ ศูนย์กลางทางการวิจัยและสตาร์ทอัพ เป็นต้น 

ในส่วนของธุรกิจเองก็ต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น บริหารความเสี่ยงท่ามกลางพายุทางเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญ และมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่ เพื่อที่เมื่อพายุทางเศรษฐกิจสงบลง  สายรุ้งสว่างขึ้นมา เราจะได้เป็นคนที่ไปล่าขุมทรัพย์ตรงปลายทางมันได้ทันที

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
 
════════════════
ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://unctad.org/system/files/official-document/un-gcrg-ukraine-brief-no-1_en.pdf
https://www.bankofcanada.ca/wp-content/uploads/2022/05/remarks-120522.pdf#chart1
https://blogs.imf.org/2022/05/22/why-we-must-resist-geoeconomic-fragmentation-and-how/
https://www.ifpri.org/blog/bad-worse-how-export-restrictions-exacerbate-global-food-security
https://www.ifpri.org/blog/how-will-russias-invasion-ukraine-affect-global-food-security
https://www.reuters.com/markets/europe/commodities-perfect-storm-says-erg-crisis-starts-super-cycle-2022-05-25/
https://www.piie.com/blogs/realtime-economic-issues-watch/chinas-recent-trade-moves-create-outsize-problems-everyone-else

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง…
pin
407 | 09/06/2023
Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์วิกฤติในภาคธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ First Republic Bank เกิดปัญหาความเชื่อมั่น…
pin
673 | 05/05/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า…
pin
685 | 07/04/2023
Bnomics | เตรียมรับมือพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจ