Bnomics | แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงในยูเครนและเงินเฟ้อ

Bnomics
08/04/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1851 คน
Bnomics | แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงในยูเครนและเงินเฟ้อ
banner
หลังจากเริ่มฟื้นตัวมาจากการแพร่ระบาดในช่วงปลายปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสงครามยูเครน ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
 
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าทั้งหมดด้วย
 
ซึ่งด้วยความรวดเร็วในการแพร่ระบาดนี้ ก็ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันของไทยทำสถิติสูงสุดกันต่อเนื่อง และมีค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อย้อนหลัง  7 วันอยู่ในระดับสูงกว่า 20,000 คน มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ซึ่งสูงกว่าการแพร่ระบาดในระลอกก่อนหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ



ผลจากการแพร่ระบาดก็ส่งต่อมายังภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวปรับตัวลดลง อย่างเช่น ดัชนีเครื่องชี้วัดภาคการบริโภคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ปรับตัวลงเล็กน้อยเกือบทุกหมวด
  
 
 
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้จนถึงตอนนี้ ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่มากเท่ากับระลอกก่อนหน้า อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า ประชาชนเริ่มมองไวรัสโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจากภาครัฐในระลอกนี้ ก็ไม่เข้มงวดเท่ารอบก่อนหน้า
 
ซึ่งก็แสดงให้เห็นผ่านข้อมูล Google Mobility ที่เป็นเครื่องชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเร็วตัวหนึ่ง ที่มีข้อมูลของเดือนมีนาคมออกมาแล้ว ที่สะท้อนให้เห็นว่า การเดินทางของผู้คนไม่ได้ลดลงไปแรงเท่ากับการระบาดครั้งก่อน และก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้วในช่วงปลายเดือนมีนาคม
 

 

ความเสี่ยงจากสงครามยูเครนและเงินเฟ้อ

แต่แม้ ความเสี่ยงทางด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดูไม่รุนแรงเท่ากับระลอกก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยก็ต้องมาเจอความเสี่ยงใหม่ คือ ผลกระทบจากความขัดแย้งในสงครามรัสเซีย ที่ยืดเยื้อมากกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ตอนแรก และก็ทำให้เกิดการใช้มาตรการคว่ำบาตรตอบโต้กันไปมา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเงินเฟ้อด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
 
ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากระดับราคาของพลังงานที่สูงขึ้นเช่นกัน สะท้อนระดับเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่แตะระดับ 5.28%  ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ก่อนที่จะมาถูกทำลายสถิติทันทีในเดือนถัดมาที่ระดับ 5.73%
 

 
นอกจากนี้ หากปัญหาราคาพลังงานสูงยืดเยื้อต่อไปยาวนาน ทางรัฐบาลอาจจะต้องตัดสินใจยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลต่อมายังต้นทุนการขนส่งสินค้าภายในประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ 

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลักถึงประมาณ 80% ของการขนส่งภายในประเทศทั้งหมด  (อ้างอิงจากรายงานโลจิสติกส์ของประเทศไทยปี 2562 โดยสภาพัฒน์ฯ)
 
ซึ่งมันก็จะส่งผลกลับมาที่ค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากกลุ่มคนรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายในด้านพลังงานและอาหารต่อรายได้ทั้งหมดมากกว่าคนรายได้สูง (ประมาณ 60% ต่อ 40%) ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมกลุ่มคนที่เปราะบางจากปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว
 
และก็ยังจะส่งต่อมาถึงต้นทุนของภาคธุรกิจและการผลิตด้วย ซึ่งก็จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งในด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน ที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ชะลอตัวลงไปอีก
 
อย่างไรก็ดี ถ้าสงครามและมาตรการการคว่ำบาตรในสงครามยูเครนคลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว ภาวะเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มจะกลับสู่ระดับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ได้ในช่วงต้นปีหน้า
 
การส่งออกและการท่องเที่ยวก็ยังเจอความท้าทายหลายประการ

ทำให้ในตอนนี้ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่เป็นความหวังต่อการเติบโตในช่วงถัดไป กลายมาเป็นภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงแฝงอยู่หลายประการ

เริ่มที่ภาคการส่งออก ที่แม้ตัวเลขการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะเติบโตถึง 16.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ความเสี่ยงจากสงครามยูเครน ที่จะส่งผลต่อทั้งราคาขนส่ง และอุปสงค์ของประเทศในทวีปยุโรปที่มีแนวโน้มจะลดลง ยังไม่ถูกส่งผ่านมาถึงการส่งออกในเดือนนี้ ซึ่งต้องจับตามองว่า ในเดือนมีนาคม การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากขนาดไหน
 
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ การล็อคดาวน์ประชาชนหลายสิบล้านคน ในเมืองใหญ่ของประเทศจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะส่งผลต่อราคาต้นทุนค่าขนส่ง และทำให้เกิดการติดขัดต่อห่วงโซ่อุปทานโลก เหมือนกับที่เคยมีปัญหาในช่วงปีก่อน

และในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อ ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า จนอาจจะส่งผลซ้ำเติมต่อภาวะการค้าโลก ที่จีนเป็นผู้เล่นคนสำคัญ
 
ซึ่งมาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มข้นของจีน ก็ยังมีผลทำให้ตลาดการท่องเที่ยวของไทยยากจะฟื้นตัวกลับมาสมบูรณ์ในระยะสั้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเคยคิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือ ประมาณ 10 ล้านคน

กอปรกับผลจากความขัดแย้งในยูเครน ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวรัสเซียที่เป็นชาติแรกๆ ที่กลับเข้ามาเที่ยวไทยในตอนนี้ เดินทางมาเที่ยวไทยลดลง
 
อย่างไรก็ดี ก็ต้องจับตามมองว่า มาตรการการผ่อนผันด้านการกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พึ่งออกมาใช้ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะส่งผลมากขนาดไหน แต่โดยรวมแล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยน่าจะยังต้องฟันฝ่าอุปสรรคอีกไม่น้อยในปีนี้
 
ปัจจัยทางด้านความผันผวนของตลาดเงิน ก็เป็นส่วนที่ต้องจับตามองเช่นกัน โดยเฉพาะท่าทีการใช้นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่เตรียมดึงกลับสภาพคล่องครั้งใหญ่ พร้อมทั้งเตรียมเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดเงินทั่วโลก ทั้งด้านต้นทุนด้านดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน
 
อย่างเช่น ในกรณีของไทยเองที่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เงินบาทเข้าสู่ช่วงการแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ไปประมาณ 2% ก่อนที่ในเดือนมีนาคม ที่ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ออกมาพร้อมขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนขึ้น ก็ทำให้เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าลงทันทีประมาณ 2%  ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือคนที่ต้องข้องเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ก็ควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน



แต่ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก็มีแนวโน้มสูงมากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% ต่อปี ไปทั้งปี 2565 เพื่อสร้างสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปก่อน แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็กล่าวว่า กำลังจับตามองพลวัตของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดด้วยเช่นกัน
 
สรุป
แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดจะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกก่อน แต่เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยูเครน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาที่ระดับเงินเฟ้อ จากพลังงานและโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกับกลุ่มคนที่เปราะบางมากกว่า 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในด้านอื่นที่ต้องจับตามอง เช่น การล็อคดาวน์ที่ประเทศจีน และการปรับทิศทางการเงินในสหรัฐฯ เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องบริหารความเสี่ยง และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นให้ดี
 
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
 
════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10791#:~:text=%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B5%202562%20%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87,%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%200.1%20%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A
https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2022/Pages/n1765.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Pages/MediaBriefing_11022022.aspx
https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=411
http://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_cpi/Cpig032565_tg.pdf
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2022-04-06/if-stocks-don-t-fall-the-fed-needs-to-force-them?srnd=opinion-economics
 



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง…
pin
407 | 09/06/2023
Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์วิกฤติในภาคธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ First Republic Bank เกิดปัญหาความเชื่อมั่น…
pin
673 | 05/05/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า…
pin
685 | 07/04/2023
Bnomics | แนวโน้มเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงในยูเครนและเงินเฟ้อ