Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics
07/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 667 คน
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้
banner
สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่
ความผันผวนในเศรษฐกิจโลก

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญที่สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์วิกฤติภาคธนาคารที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ 

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา เกิดการล้มละลายของสองธนาคารสำคัญ “Silicon Valley Bank” และ “Signature Bank” อันเป็นธนาคารที่มีการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ 

ซึ่งเมื่อเทียบตามจำนวนเงินฝากแล้ว การล้มละลายของ 2 ธนาคารนี้ ถือเป็นการล้มละลายขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 นับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2000 ด้วยมูลค่าเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 88,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

โดยสาเหตุของการล้มละลายครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการดูดสภาพคล่อง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อจัดการอัตราเงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของพันธบัตรระยะยาวที่ทางธนาคารถืออยู่ลดลงอย่างมาก 

ประกอบกับกลุ่มลูกค้าสตาร์ทอัพที่มีความอ่อนไหวต่อเงินฝากมากกว่า ทำให้มีการแห่ไปถอนเงินจากธนาคารจนเกิดปัญหาสภาพคล่อง 
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด โดยก่อนหน้าที่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ตลาดต่างคาดการณ์กันว่า มีโอกาสสูงมากที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขนาด 0.5% ในการประชุมปลายเดือนมีนาคมเพื่อควบคุมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานยังส่งสัญญาณร้อนแรงเกินไป (อ้างอิง Fed Fund Watch วันที่ 8 มีนาคม ตลาดคาดว่ามีโอกาส 76.4% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5%)

แต่หลังจากเหตุการณ์ภาคธนาคารในช่วงกลางเดือนมีนาคม ก็นำมาสู่ผ่อนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ในรอบที่ผ่านมา



นอกจากนี้ ก็ยังมีส่วนการอัดสภาพคล่องเข้าไปสู่ภาคธนาคารบางส่วน จนทำให้ Fed Balance Sheet ปรับขึ้นมากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เฟดทำการลด Balance Sheet มาอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านมาตราการ QT มาตลอด และก็ยังต้องมีการออกมาตรการประกันเงินฝากออกมาจากภาครัฐด้วย
 
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาในภาคธนาคารเข้าไปอยู่ในการดำเนินนโยบายของเฟด และสถานการณ์ความซับซ้อนในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงถัดไปเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นที่ธนาคารเก่าแก่ชื่อดังอย่าง Credit Suisse ซึ่งทางธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จำต้องเข้ามาจัดการให้ทาง UBS ซึ่งเป็นคู่แข่งมายาวนานเข้ามาควบรวมกิจการ เพื่อรักษาธุรกิจของประเทศไว้ และป้องกันไม่ให้ความเสียหายลุกลามต่อไป

ซึ่งมาตรการที่ออกมาจากภาครัฐของประเทศเหล่านี้ ก็ทำให้สถานการณ์ทางการเงินในตอนนี้มีเสถียรภาพมากขึ้น และก็เหมือนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น

ความผันผวนสำคัญอีกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มประเทศ OPEC+ ตัดสินใจอย่างเซอร์ไพร์สตลาด จะลดการผลิตน้ำมันดิบลงกว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นทันทีที่เปิดตลาด อย่างเช่นส่วนราคา Brent ปรับขึ้นราว 6% ในวันเดียว ขึ้นมาอยู่ระดับเกือบ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล



ภาคการส่งออกไทยได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจภายในยังฟื้นตัวได้

ความผันผวนและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวส่งผลมายังเศรษฐกิจไทยบางส่วน โดยเฉพาะในภาคการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่หดตัวเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน (-4.1 %YoY) โดยมีการหดตัวในหลายอุตสาหกรรม ยกเว้นแต่ภาคเกษตรแปรรูป และการส่งออกฮาร์ฟดิสก์ไดร์ฟที่ปรับตัวดีขึ้น



แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจะส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่เศรษฐกิจภาคส่วนอื่นของไทยยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี 

เริ่มจากภาคการบริโภคภายในประเทศ อ้างอิงรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องไปกับการจ้างงาน (อ้างอิงตัวเลขผู้ประกันตนตามมาตรา 33) และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

การใช้จ่ายภาคบริการก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเกินกว่า 2.14 ล้านคน ซึ่งหากยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินเข้ามาในอัตราเท่านี้ทั้งปี ไทยจะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 25 ล้านคน ซึ่งจะมีช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้



อีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย มาจากสภาวะทางการเงินของไทยที่ยังผ่อนคลายและแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับไม่สูงมากและดำเนินการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราเงินเฟ้อทั้งภาคผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ปรับลดลงมา และภาคสถาบันการเงินของไทยที่มีความแข็งแกร่งจากบทเรียนในอดีต



อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามต่อไปในอนาคต คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนภาคการส่งออกที่ยังไม่ค่อยดี และภาคการท่องเที่ยวของไทยให้พุ่งขึ้นมากกว่าเดิมในช่วงต่อไปได้

โดยอ้างอิงจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ของประเทศจีน ที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวดีขึ้นมาสู่ระดับ 51.6 แต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงมาอีกครั้งมาสู่ระดับ 50



ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงเส้นทางการฟื้นตัวของประเทศจีนว่า จะราบรื่นมากแค่ไหนในช่วงต่อไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนทั้งเศรษฐกิจไทยและโลกได้

แต่ในส่วนดัชนี PMI ของไทยที่แม้จะปรับลดลงมาเล็กน้อย ก็ยังอยู่เหนือระดับ 50 อยู่ที่ 53.1 แสดงถึงการขยายตัวในมุมมองของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถัดไป

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะยังเป็นปีที่ท้าทายทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก ที่ต้องเตรียมพร้อมมากเป็นพิเศษ เพื่อรอโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังจากความผันผวนหมดไป

ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
 
════════════════
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website : https://www.bnomics.co
Facebook : https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit : https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube : https://www.youtube.com/bnomics
Twitter : https://twitter.com/bnomics_co
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Reference :
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/Macro_Slide_TH_022023_r2qavahv.pdf
https://www.federalreserve.gov/mediacenter/files/FOMCpresconf20230201.pdf
https://www.theguardian.com/business/2023/apr/03/why-are-oil-prices-rising-opec
https://www.reuters.com/world/china/chinas-march-factory-activity-growth-falters-weaker-demand-caixin-pmi-2023-04-03/
http://www.tpso.moc.go.th/th/node/12342

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

Bnomics | สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง…
pin
380 | 09/06/2023
Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

Bnomics | สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติแบงก์ล้ม! ส่วนไทยยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว

สถานการณ์วิกฤติในภาคธนาคารของประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองอีกครั้งหลังจากที่ First Republic Bank เกิดปัญหาความเชื่อมั่น…
pin
645 | 05/05/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้

สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า ปีนี้จะเป็นที่ท้าทายทางเศรษฐกิจกับทุกคน อย่างไรก็ดีข้อมูลล่าสุดของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณว่า…
pin
668 | 07/04/2023
Bnomics | เศรษฐกิจโลกผันผวน แต่เศรษฐกิจไทยยังไปต่อได้