“หนี้” เรื่องลึกแต่ไม่ลับที่เด็กควรเรียนรู้

Edutainment
08/08/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 3622 คน
“หนี้” เรื่องลึกแต่ไม่ลับที่เด็กควรเรียนรู้
banner

การสอนให้เด็กรู้ค่าของเงินและมีความรู้เรื่องการเงินเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับครอบครัวและตัวเด็กเองในอนาคต เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่จำเป็นต้องซีเรียสเสมอไป แต่อาจกลายเป็นเรื่องสนุกได้ หากรู้จักใช้สถานการณ์ต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ตอนไปตลาดมาสอนลูกตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน

พอโตขึ้นมาในระดับมัธยมไปจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย เป็นวัยที่จะมีการพัฒนาหลักการด้านเหตุผลและสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลพวงของสิ่งต่างๆ อันเปิดโอกาสให้พ่อแม่สามารถคุยกับลูกได้เรื่องบัตรเครดิต ดอกเบี้ย การทำรายรับ-รายจ่าย รวมถึงหนี้สิน

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่ผู้บริโภคตัวน้อยก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับหนี้สินไว้บ้าง เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในวังวนของการก่อหนี้

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme 


คนเป็นผู้ใหญ่ทราบดีว่าเครดิตหรือสินเชื่อ ไม่ได้แจกฟรี สำหรับเด็กนั้นก็ต้องเข้าใจว่าการกู้ยืมเงินไม่ได้ง่ายเหมือนการขอยืมปากกาเพื่อน โดยพ่อแม่อาจแจกแจงให้ลูกรู้ว่าหนี้แบบไหนบ้างที่อาจพบเจอตอนโตขึ้น อย่าง “หนี้จากการใช้จ่าย” ที่เกิดขึ้นเมื่อไปซื้อของด้วยเงินที่ยืมมาก่อน เช่น รูดบัตรเครดิตตอนซื้อเสื้อผ้า-ซื้อแกดเจ็ต, ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือ “หนี้จากการลงทุน” ที่เกิดขึ้นตอนซื้อของที่มูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วยเงินที่ยืมมา อย่างซื้อบ้าน หรือกู้เงินมาทำธุรกิจ โดยการยืมเงินในทั้งสองกรณี ต้องใช้คืนและอาจพ่วงดอกเบี้ยไปด้วย

ความซับซ้อนจะบังเกิดเมื่อมีการลงรายละเอียด บางคนมองว่าหนี้จากการใช้จ่ายเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ อย่างหนี้ที่เกิดจากการซื้อของฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเกินตัว ส่วนหนี้จากการลงทุนเป็นหนี้ดี หมายถึงหนี้สร้างรายได้  เช่น กู้เงินมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือกู้เงินเพื่อซื้อบ้านในราคาที่สมเหตุสมผล แต่หนี้สินก็คือหนี้สิน หากไม่บริหารจัดการอย่างถูกต้อง จ่ายเงินไม่ครบตามกำหนด ชีวิตอาจอับเฉาได้ ดังนั้น จึงควรแนะลูกให้รู้จักใช้เงินอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น :

1. คิดให้ดีก่อนยืมเงิน

เพราะหนี้ทุกอย่างมีความเสี่ยง คนจำนวนมากสร้างหนี้โดยไม่เข้าใจความเสี่ยงที่มาพร้อมกัน ก่อนก่อหนี้จึงต้องคิดให้รอบคอบว่าสิ่งที่ได้มานั้นคุ้มค่ากันและไม่เป็นภาระมากเกินไป เนื่องจากหากล่าช้าในการคืนเงินหรือจ่ายคืนไม่เต็มจำนวน หนี้สินก็จะมีแต่ทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ ดังนั้นก่อนก่อหนี้หรือไปยืมเงินใคร ควรถามตัวเองว่า

-ทำไมต้องยืมเงิน ยืมไปเพื่อซื้อของจำเป็นหรือแค่ของที่อยากได้ การแยกให้ออกระหว่างของที่ “จำเป็น” กับของที่ “อยากได้” เป็นสิ่งสำคัญมาก

-อยากได้ของชิ้นนั้นตอนนี้เลยเหรอ หรือจะอดใจไว้ซื้อวันหลังตอนเก็บเงินได้ครบจำนวน คำถามนี้จะช่วยให้ลูกรู้จับยับยั้งชั่งใจและประเมินแผนการในอนาคตว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

-ถ้าซื้อของนี้แล้วจะยังมีเงินเหลือพอซื้อหรือทำอย่างอื่น และใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการรึเปล่า

-พอยืมเงินแล้วต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะใช้คืนหมด และคุ้มค่ากันมั้ย

-อะไรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีเงินคืนเขา

2. อธิบายเกี่ยวกับบัตรเครดิต

ลูกที่ย่างเข้าวัยรุ่นคงพอระแคะระคายว่าถ้าใช้บัตรเครดิตอย่างไม่ระวังอาจต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่บัตรเครดิตช่างมีความยั่วยวน ดังนั้นด่านแรกในการสะกิดลูก คือให้อ่านเงื่อนไขสำหรับการสมัครบัตรให้ฟังดังๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมตอนจ่ายเงินช้า อันจะทำให้ลูกได้ทราบข้อมูลจากผู้ออกบัตรโดยตรง ไม่ใช่จากปากพ่อแม่ที่พร่ำบอก

นอกจากนั้น อาจอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้บัตร โดยเฉพาะวงเงิน ว่าไม่จำเป็นต้องรูดบัตรจนเต็มวงเงิน เหมือนตอนไปร้านขนมที่ลูกไม่จำเป็นต้องซื้อหรือกินขนมหมดทั้งร้าน เพราะถ้าเห็นอะไรก็น่าอร่อยไปหมดและหยิบทุกอย่างเข้าปากคงท้องแตกตาย เหมือนการรูดข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่จำเป็นจนเต็มวงเงิน แต่ไม่มีเงินจ่าย สุดท้ายต้องเสียค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยสูงลิ่ว และไปๆ มาๆ อาจต้องมานั่งจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น

3. ใช้ประสบการณ์จริง

หากพ่อแม่มีประสบการณ์ตรงของการเป็นหนี้ อย่าอายที่จะคุยกับลูกเรื่องนี้ เพราะไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ก่อความผิดพลาดทำนองเดียวกันเมื่อโตขึ้น โดยอาจบอกลูกว่า “พ่อกับแม่หมุนเงินไม่ทัน เพราะเดือนนี้หมดเงินไปกับการซื้อของมากเกินไป ซึ่งถือเป็นความผิดพลาด แต่เรากำลังแก้ปัญหากันอยู่ และอยากให้ลูกช่วยด้วย” จากนั้นก็คุยกับลูกว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนไหนได้บ้าง ก่อนขยายไปคุยเรื่องวิธีใช้เงินอย่างสมเหตุสมผล โดยอาจกำหนดเป้าหมายหรืองบประมาณของสมาชิกในครอบครัว

4. ให้ลูกทำรายรับ-รายจ่าย

การสอนให้ลูกรู้จักใช้เงิน เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมีความรับผิดชอบ เด็กสมัยนี้อยู่หน้าจอโทรศัพท์แทบจะทั้งวันอยู่แล้ว ดังนั้นก็อาจให้ลูกติดตั้งแอปรายรับ-รายจ่าย เพื่อสร้างนิสัยบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายของตัวเองไม่ว่าจะให้ค่าขนมลูกกี่บาทก็ตาม เพราะเท่ากับปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้ถึงความสำคัญของการวางแผนใช้เงิน รวมถึงการเก็บเงิน โดยอาจพาลูกไปเปิดบัญชีธนาคาร ลูกจะตื่นเต้นเมื่อออมเงินแล้วได้ดอกเบี้ยด้วย

นอกจากนั้น หากลูกอยากได้สิ่งของอะไรเป็นพิเศษแต่เงินไม่พอ ก็อาจช่วยลูกหางานทำตอนปิดเทอม เพื่อสอนให้ลูกรู้จักทำงานหาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง ดีกว่าไปยืมเงินคนอื่น ทั้งยังปลูกฝังให้ลูกเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ ที่กว่าจะได้มาก็ต้องใช้แรงกายเข้าแลก ซึ่งอย่างหลังนี้สำคัญมากในยุคที่แทบเล็ตและสมาร์ทโฟนกลายเป็น “ของเล่น” ที่เด็กๆ อยากมีไว้ในครอบครอง


เมื่อลูกมีความรู้พื้นฐานด้านการเงิน รวมถึงหนี้สินแล้ว การที่พ่อแม่ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกๆ ได้เห็น มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกเติบโตขึ้นมาพร้อมกับรู้จักใช้จ่ายอย่างมีความรับผิดชอบ ชั่งตวงวัดข้อดี-ข้อเสียก่อนการตัดสินใจสำคัญๆ และสามารถดูแลตัวเอง รวมถึงผู้อื่นได้ในอนาคต

อยากแก่ แต่เก๋าต้องวางแผนการเงินให้เป็น

5 เคล็ดลับการวางแผนทางการเงินให้คุณกลายเป็นเศรษฐี


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
761 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
10596 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
13108 | 03/10/2023
“หนี้” เรื่องลึกแต่ไม่ลับที่เด็กควรเรียนรู้