บทสรุป COP28 ประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก กับข้อตกลงลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ที่ต้องจับตามอง

ESG
22/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 7210 คน
บทสรุป COP28 ประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก กับข้อตกลงลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ที่ต้องจับตามอง
banner

COP28 ที่ปิดฉากลงไปแล้ว เป็นครั้งแรกที่แทบทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ตกลงกันว่าจะ ‘เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ในระบบพลังงาน อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม ในทศวรรษนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 นับเป็นการประชุมที่มีข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ และข้อตกลงต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายเรื่อง จึงอยากสรุปผลการประชุมประเด็นหลัก ๆ ที่สำคัญ มาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้ เนื่องจากข้อตกลงเหล่านี้ล้วนมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย รวมถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของไทยในอนาคต




จาก ‘โลกร้อน’ กำลังไปสู่ ‘โลกเดือด’


ตลอดปี 2023 สัญญาณความรุนแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปีที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ออกโรงเตือนการยุติของยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ยืนยันว่าปี 2023 จะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจากข้อมูล แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิโลกสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่กำลังจะขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทะลุเพดานการจำกัดอุณหภูมิโลกไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส นับจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีนี้จึงเป็นที่จับตามองว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือของประชาคมโลกในการหยุดยั้งวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติได้จริงหรือไม่ ท่ามกลางข้อกังขานานัปการ อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่หยิบยกประเด็นระบบอาหารและเกษตรกรรม หนึ่งในตัวการสำคัญของการผลิตก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาระดมความคิด เพื่อรับมือและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ




สาระสำคัญที่สรุปได้จากการประชุม COP28 มีอะไรน่าสนใจบ้าง


สำหรับการประชุม COP28 เน้นย้ำถึงเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 43% ภายในปี 2573 และ 60% ภายในปี 2578 ซึ่งปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีสาระสำคัญที่น่าสนใจสรุปได้จากการประชุม COP28 ดังนี้


- การเรียกร้องให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573

- ประกาศข้อตกลงจัดตั้งกองทุนชดเชยค่าความเสียหายและความสูญเสีย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งเป็นกองทุนแรกของโลกที่มีเป้าหมายเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าผลกระทบที่ไม่อาจย้อนคืนจากหายนะทางสภาพอากาศ ให้แก่ประเทศยากจนและเปราะบาง


- นานาประเทศสนับสนุนปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (COP28 UAE Declaration on Climate and Health) สำหรับเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้คนจากผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น


- ผู้นำกว่า 130 ประเทศได้ลงนามในปฏิญญา COP28 UAE ว่าด้วยการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food, & Climate) เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Global Cooling Pledge ได้รับการรับรองจาก 66 ประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็นลงอย่างน้อย ร้อยละ 68 ภายในปี 2593




ประเด็นร้อน ข้อตกลงการใช้งานพลังงานฟอสซิล


ประเด็นที่ผู้นำโลกมุ่งเน้นในการประชุม COP 28 ครั้งนี้ คือการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอย่างมีส่วนร่วม เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้พุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการติดตามเเละเร่งรัดการมุ่งหน้าสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาด และการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล


ทั้งนี้ รายงาน Global Carbon Budget ที่รวบรวมข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์สถาบันต่าง ๆ กว่า 90 แห่ง ระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดียและจีน กรณีของอินเดียมาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ากำลังการผลิตพลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลชดเชยการขาดแคลนพลังงาน ส่วนจีนการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นหลังจากยกเลิกข้อจำกัดโควิด-19




นอกจากนี้ยังประมาณการว่าปีนี้ประเทศต่าง ๆ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 36.8 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.1% จากปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า โลกยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ทำให้โลกยังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ดี แม้หลายประเทศมีความเห็นตรงกันว่าตัวการสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจกคือ เชื้อเพลิงฟอสซิล และมีข้อตกลงเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า พลังงานหลักของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 80% เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน


ทำให้การประชุมถูกแบ่งออกเป็น 2 เสียง ฝ่ายหนึ่ง อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก เป็นต้น รวมกว่า 100 ประเทศ มองว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นตัวการหลักในการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน การจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกคือ ต้อง ‘เลิก’ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และให้ระบุข้อตกลงในการประชุมนี้


ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง คือประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ออกมาคัดค้าน เช่น ซาอุดีอาระเบีย ประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ อิหร่าน อิรักและรัสเซีย เป็นต้น ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก กลับมองว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปเลย อาจเป็นข้อตกลงที่สุดโต่งเกินไป ทำให้การลงนามในร่างสุดท้าย จึงไม่มีการระบุถึงแผนลดการใช้พลังงานฟอสซิล ข้อตกลงและทิศทางเรื่องการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลจึงไม่มีความชัดเจนเท่าไหร่นัก




ข้อตกลงการลดมีเทน 80% ของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่กว่า 50 บริษัท


จะเห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังมีต่อเนื่อง ยิ่งทำให้โลกห่างไกลจากการป้องกันวิกฤตโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกหนึ่ง วาระสำคัญของการประชุม COP28 คือการพูดคุยข้อตกลงการใช้งานพลังงานฟอสซิล ว่าจะเป็นลักษณะ Fade Out (ค่อยๆ ลดการใช้จนกระทั่งเลิกใช้พลังงานฟอสซิล) หรือจะเป็นลักษณะ Fade Down (ค่อยๆ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ยังคงมีการใช้งานอยู่) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างต่อรองของประเทศแถบตะวันออกกลาง จีน อินเดีย รวมถึงรัสเซียด้วย





สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทันทีที่มีข้อเสนอยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก็กลายเป็นประเด็นร้อนในบรรดาผู้ร่วมประชุมเกือบ 200 ประเทศ โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซออกมาปฏิเสธข้อเสนอนี้


ข้อเสนอเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเกิดขึ้นในจังหวะที่มีงานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่แสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่าความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด


หน่วยงานด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ได้เสนอให้เขียนไปในร่างบันทึกข้อตกลงของ COP28 ให้มีการ “ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเป็นลำดับและค่อย ๆ สิ้นสุด” ซึ่งหากร่างข้อตกลงนี้ถูกนำมาใช้เป็นข้อตกลงร่วมสุดท้ายใน COP28 เท่ากับว่าจะเป็นข้อตกลงระดับโลกครั้งแรกในการยุติยุคการใช้น้ำมัน สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุ


ปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ในเวทีหลักของการประชุม COP28 ซีอีโอของบริษัทพลังงานรายใหญ่หลายแห่งโต้แย้ง และอธิบายถึงความคืบหน้าในการที่บริษัทพลังงานได้พยายามที่จะลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติของบราซิล Petrobras บอกว่า การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน (ยุติใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล) จะมีผลได้ก็ต้องทำให้แฟร์ด้วย


ส่วนซีอีโอของ Total Energies บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส ให้ความเห็นว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้น้ำมันและก๊าซยังต้องใช้เวลานาน ระหว่างนี้เราจึงจำเป็นต้องผลิตน้ำมันและก๊าซด้วยวิธีที่ต่างออกไป แน่นอนว่าสามารถทำได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


มีการเปิดเผย “ร่างข้อความ” ที่มีการต่อรองกันอยู่ และอาจจะเป็นข้อตกลงขั้นสุดท้ายของการประชุม COP28 ว่ามี 3 ทางเลือกในการจัดการกับเชื้อเพลิงฟอสซิล


ทางเลือกที่หนึ่ง คือ การยุติใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเป็นลำดับและค่อย ๆ สิ้นสุด หมายความว่าประเทศที่ร่ำรวยและมีประวัติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมายาวนานจะต้องยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ


ทางเลือกที่สอง คือ เรียกร้องให้เร่งความพยายามในการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่ลดลง


ทางเลือกที่สาม คือ การหลีกเลี่ยงการหยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล




ผลลัพธ์การประชุม COP28


ท้ายที่สุดแล้วประเทศผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงผลักดันให้ทั่วโลกเร่งผลิตพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 3 เท่า ภายในปี 2030 นี้




โดยเปลี่ยนจากการใช้คำว่า ‘ยุติ’ เป็น ‘เปลี่ยนผ่าน’ แทนในข้อตกลง เพื่อให้ได้การยอมรับจากผู้แทนนานาชาติ จนทำให้ที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลง ‘เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล’ โดยถือเป็นก้าวสำคัญของทุกประเทศที่จะมุ่งไปสู่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไป


John Kerry ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญมาก และถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่โลกของเราจะเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล”




วาระสำคัญ กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย


อีกหนึ่งวาระสำคัญ คือเรื่องกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ที่มาจากประเทศพัฒนาแล้วมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมายาวนาน จึงควรสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเอาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในประเทศกำลังพัฒนา และช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัว ทั้งทางเศรษฐกิจและระบบอาหาร เพื่อให้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น (Climate Resilience) โดยความคืบหน้าในปัจจุบันมีการใส่เม็ดเงินเข้ากองทุนฯ เรียบร้อยแล้ว




4 ประเด็นสำคัญ จุดยืนของไทยบนเวที COP28


การประชุม COP28 ทำให้เราได้เห็นผู้นำทั่วโลก เริ่มกระตือรือร้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมจะสร้างผลกระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ครั้งนี้รัฐบาลไทยจึงจริงจังและเร่งจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ ที่เป็นจุดยืนของไทยบนเวที COP28 ได้แก่

1. การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่

2. เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

4. การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ



พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมันตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Photo by COP28 / Christophe Viseux


ทีนี้หันมามองประเทศไทยบนเวที COP28 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลง ในช่วงการประชุมระดับสูง (High-level Segment) เพื่อตอกย้ำจุดยืนของประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ไข พร้อมทั้งกล่าวว่า วันนี้คนไทยทั้งฝั่งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ต่างตื่นตัวหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนมากขึ้น โดยภาครัฐได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดปี 2030 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ


เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในประเทศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานดังนี้


ประการแรก ประเทศไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศ กำหนด 2030 ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ภายในปี 2025 โดยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน


ประการที่สอง รัฐบาลไทยเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว โดยมีกลไกการเงิน ที่เหมาะสมและเข้าถึงได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ


ประการที่สาม ประเทศไทยได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็น กรอบหลักในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัว อีกด้วย

ประเทศไทยกำลังผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว


นอกจากนี้ภาครัฐยังเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย และในท้ายที่สุดประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้




ส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยอย่างไร?


ทั้งนี้ ที่ประชุม COP28 จะส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวมากขึ้น ทั้งจากกฎระเบียบ และมาตรการสากลที่จะมีความชัดเจน เข้มงวด และครอบคลุมมากขึ้น ทั้งจากมิติของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเริ่มครอบคลุมถึงก๊าซมีเทน รวมถึงผลกระทบด้านสังคม ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิมนุษยชน เพิ่มเติมจากแค่มิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยขยายขอบเขตความครอบคลุมการดำเนินการด้านดังกล่าวทั้ง Supply Chain ที่จะทำให้เกิดการส่งผ่านข้อบังคับ หรือการดำเนินการในด้านดังกล่าวจากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนา และจากบริษัทขนาดใหญ่ไปสู่บริษัทขนาดเล็ก รวมถึง SME ได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีกฎระเบียบ หรือมาตรการภายในประเทศที่บังคับใช้ หรือกำหนดบทลงโทษก็ตาม ซึ่งคงจะเป็นความเสี่ยงแก่ภาคธุรกิจในทุกระดับให้ต้องเร่งปรับตัวให้ทัน


อย่างไรก็ตาม หลังการประชุม COP28 ที่ปิดฉากลงไปแล้ว มีหัวข้อการประชุมที่มีนัยสำคัญ 3 ด้านคือ ด้านพลังงานเพื่อหารือทิศทางในอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และด้านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสรุปการหารือและวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทยได้ดังนี้


1.ด้านพลังงาน : หารือเรื่องอนาคตของเชื้อเพลิงฟอสซิล – ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ เน้นย้ำถึงความร่วมมือการเปลี่ยนผ่านพลังงานมาโดยตลอด คาดว่าครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้นๆ ได้แสดงจุดยืนและหันมาเรียกร้องให้มีการปลดระวางการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Phase Out) แทนการลดปริมาณการใช้ตามกรอบเวลาที่กำหนด (Phase Down) ตามกลยุทธ์ Double Down, Triple Up ขององค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Renewable Energy Agency: IRENA) ที่วางแผนเร่งกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่าให้ถึง 11,000 กิกะวัตต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่าภายในปี 2573


แม้ไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งจากการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศและนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ไทยได้ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่ 12 กิกะวัตต์ (ร้อยละ 20.6 ของกำลังการผลิตทั้งหมด) และมุ่งเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 34.2 ในปี 2580 ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญของการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนในประเทศไทย


2.ด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ความคืบหน้าของเงินช่วยเหลือผ่านกองทุน Loss and Damage และกลไกร่วมลงทุน – แม้จะมีความกังวลต่อเงินทุนที่ไม่เพียงพอเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การประชุมสามารถสรุปเงินช่วยเหลือได้ถึง 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้บรรลุข้อตกลงกองทุน Loss and Damage ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน 726 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมอบหมายให้ธนาคารโลกเป็นผู้จัดการกองทุนชั่วคราว


นอกจากนี้ ยังมีการตกลงให้เงินทุนสนับสนุนผ่านกลไกร่วมลงทุน Blended Finance ที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐและเอกชน ในปีที่ผ่านมากลไกนี้ได้จัดสรรเงินทุนไปแล้วประมาณ 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในครั้งนี้ ผู้แทนกองทุนได้ประกาศอัดฉีดเงินก้อนใหม่ อาทิ กองทุน Green Climate Fund (3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และกองทุน The Catalytic Climate Finance Facility (2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับประเทศในแอฟริกาและลาตินอเมริกา ซึ่งจะเปิดรับข้อเสนอโครงการในเดือนมีนาคม 2567


3.ด้านการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม-ผลสรุปจากการสำรวจของสหประชาชาติ (UN Global Stocktake) พบว่าการดำเนินงานเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีกลไกการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) เพื่อผลักดันและเร่งการดำเนินงานให้โปร่งใสและเป็นรูปธรรมภายในปี 2567 - 2568


ไทยยังคงเป็นประเทศเปราะบางและเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติ ด้วยบริบทนี้ไทยจึงต้องการเงินสนับสนุนจากกลไกการเงินระดับโลก การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของไทยจะแสดงบทบาทและจุดยืนของไทยในการเปลี่ยนผ่านประเทศเพื่อดึงดูดเงินลงทุน ภาครัฐควรเร่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนสีเขียว อาทิ การออกนโยบายที่ชัดเจนควบคู่พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการที่สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่ม Thailand Taxonomy ซึ่งระบบนิเวศนี้จะช่วยให้ภาคการเงินสามารถประเมินและจัดสรรเงินทุนได้ตรงจุด โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เกิดขึ้นจริง


ปัจจุบัน ไทยยังคงเดินหน้าดำเนินงานตามคำมั่นที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ภาครัฐจำเป็นต้องวางรากฐานด้านนโยบายและสร้างแรงจูงใจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้ภาคการเงินและภาคธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความเข้าใจและมีศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รับเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอและนำพาให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ในอนาคต



ในบทความครั้งต่อไป เราจะมาย้อนดูว่าปีที่ผ่านมาในปี 2023 มีเหตุการณ์ หรือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ESG มีกฎระเบียบอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น CBAM เริ่มบังคับใช้ในปีนี้เป็นต้นไปจะมีผลอย่างไรในปี 2024 นี้ เมื่อมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน และอะไรคือโอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่จะใช้แนวทาง ESG มาปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อให้ไปต่อได้ ติดตามได้ในบทความหน้าว่า วาระ ESG ที่น่าจับตามองในปี 2024 มีอะไรน่าสนใจบ้าง



อ้างอิง

https://www.sdgmove.com/2023/11/29/cop-28-proposal-to-thailand/

https://www.sdgmove.com/2023/12/20/cop28-climate-change-conference-2023/

https://www.the101.world/cop28/

https://workpointtoday.com/cop28-conference-fossil-fuel-phase-out/

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1092726

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/investment/1103440

https://www.reuters.com/business/environment/fossil-fuel-phase-out-put-table-cop28-climate-talks-2023-12-05/

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/845958




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
99 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2831 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3841 | 30/03/2024
บทสรุป COP28 ประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก กับข้อตกลงลดการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ที่ต้องจับตามอง