‘Da vinci’ หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ลดระยะเวลาพักฟื้น

Edutainment
19/09/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1504 คน
‘Da vinci’ หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ลดระยะเวลาพักฟื้น
banner
แนวโน้มธุรกิจ Healthcare ยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตในระยะยาว จากการเปลี่ยนแปลงของประเทศส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการคาดการณ์ว่า ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 1.5 พันล้านคนภายในปี 2050 หรือคิดเป็น 21% ของประชากรโลก 7,300 ล้านคน ส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ   

ประกอบกับการแพร่ระบาดของ Covid 19 เร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพเฉพาะทางอย่าง วัคซีน และ Telehealth (เทคโนโลยีการดูแลสุขภาพทางไกล) เป็นแรงผลักดัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการแพทย์และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรม Healthcare ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมพัฒนาการของเทคโนโลยีการแพทย์ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพจากการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น



 “ดาวินชี (da Vinci Xi)” หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดฝีมือหมอไทย เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้น
 
“ดาวินชี (da Vinci Xi)” หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic surgery เป็นหนึ่งในเอไอผู้ช่วยแพทย์ ที่น่าจับตามองและยังคงเป็นเทรนด์นวัตกรรมในกระแสมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ซึ่งระบบของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และมีการนำเข้ามาใช้งานจริงในโรงพยาบาลชั้นนำของไทย มีคุณสมบัติในการเข้าถึงอวัยวะขนาดเล็กภายในเพื่อทำการผ่าตัดและเย็บแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีความแม่นยำมากที่สุด ทำให้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้นลดได้ ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 เครื่องในประเทศไทย โดยหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมาแล้วเป็นเวลากว่า 10 ปี



ที่ผ่านมา หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีในหลายโรคด้วยกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน โรคทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะอ้วน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคซับซ้อน ซึ่งการผ่าตัดแบบปกตินั้นไม่สามารถทำการรักษาได้เลย แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ช่วยให้แพทย์สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น

ผศ.นพ.พงศธร ตั้งทวี (ศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี) เผยว่า แต่เดิมและจนถึงปัจจุบันการผ่าตัดผู้ป่วยในกลุ่มอวัยวะที่อยู่ลึกในช่องท้อง เช่น ตับอ่อน, ถุงน้ำดี, ต่อมลูกหมาก เป็นต้น แพทย์จะใช้วิธีการที่เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องช่องท้อง (Laparoscopic Surgery) โดยเจาะแผลหน้าท้องผู้ป่วยเพื่อสอดกล้องขนาดเล็กและเครื่องมือเข้าไปตรวจดูอวัยวะภายในขณะทำการผ่าตัด ซึ่งเวลาเฉลี่ยในการผ่าตัดในบางอวัยวะจะใช้เวลา 8-10 ชั่วโมง และในการผ่าตัดแต่ละครั้งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก รวมถึงตัวกล้องเองที่มีลักษณะตรงก็มีข้อจำกัดในการเข้าถึงซอกหรือมุมในอวัยวะบางส่วนของผู้ป่วย 



“วิวัฒนาการของนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลงได้ ลดการใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการผ่าตัดแต่ละครั้ง รวมถึงตัวแขนกลของเครื่องมีลักษณะเป็นปลายข้อมือที่หมุนได้เหมือนข้อมือมนุษย์ ทำให้สามารถเข้าถึงอวัยวะที่อยู่ลึกให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลขนาดเล็ก เจ็บน้อยลง ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะในอวัยวะที่มีเส้นประสาทอยู่เยอะเช่นในต่อมลูกหมาก และลดระยะเวลาในการพักฟื้นลงได้”



สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA  ระบุว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือที่คุ้นหูกันโดยทั่วไปว่า AI เป็นกุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จบนโลกดิจิทัล ที่หลายอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจ “ความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบริการดิจิทัลอย่างมีธรรมาภิบาล (AI Readiness Measurement) ปี 2566 โดย ETDA และ สวทช. พบว่า ในอีก 1-2 ปีนี้ อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยมีแผนที่จะนำ AI ไปใช้งานสูงถึง 56.60% 

ซึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยตอบสนองทั้งในความแม่นยำ ความรวดเร็วในการทำงานและเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงานของคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เว้นแม้แต่ “วงการแพทย์ของไทย” ที่ได้นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของผู้ป่วยประกอบการวินิจฉัยโรค การลดขั้นตอนการทำงานซ้ำ ๆ ของทีมแพทย์ การติดตามอาการของผู้ป่วยด้วยระบบออนไลน์ ฯลฯ 

ความเห็นส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน โดย AIGC by ETDA (AI Governance Clinic by ETDA) และผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ กล่าวถึงประเด็นปัญญาประดิษฐ์ หัวข้อ “Healthcare ยุคใหม่... กับการสร้าง AI GOVERNANCE ของผู้นำองค์กร” ว่า โรงพยาบาลในหลายแห่งของไทย นำ AI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัย รักษา ดูแล ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น 


ที่มาภาพจาก : www.etda.or.th

อย่างไรก็ตาม แม้ AI ที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยแพทย์ที่สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนการทำงานของแพทย์ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า AI ถือเป็นตัวช่วยที่ดี ที่จะเข้ามาสนับสนุนการดูแล รักษา และการวินิจฉัยของแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก AI เป็นระบบที่มีการประมวลผลและการวิเคราะห์ได้ค่อนข้างละเอียด ที่สำคัญมีองค์ความรู้แบบไม่ลืม ยิ่ง AI ได้เรียนรู้ข้อมูลทางด้านสุขภาพของคนมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งฉลาดและสามารถวิเคราะห์ผลการรักษาได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

แพทย์ไทย โชว์ความสำเร็จ ‘นวัตกรรมจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะในโรงพยาบาล’ 

ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล โดยศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โชว์ความสำเร็จ เปิดตัว ‘นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะในโรงพยาบาล’ (Al Smart Logistics for 5G Smart Hospital) ประสิทธิภาพของ ‘ต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ’ พร้อมร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศสู่ ‘เมดิคัลฮับ’ อย่างยั่งยืน 


ที่มาภาพจาก : www.eg.mahidol.ac.th

สำหรับ “ระบบบริหารจัดการคลังยาและการขนส่งอัจฉริยะภายในโรงพยาบาล (Al Smart Logistics for 5G Smart Hospital)” เป็นการการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาพยาบาล สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ประชาชนที่มารับบริการ


ที่มาภาพจาก : https://www.telecomlover.com

หนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญในโครงการ คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการคลังยา และการขนส่งอัจฉริยะ‘ขนส่งแบบไร้คนขับ (Unmanned car)’ ภายในโรงพยาบาล โดยเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านโลจิสติกส์ในโรงพยาบาล ผลลัพธ์จากนวัตกรรมนี้ คือ ‘ระบบแพลตฟอร์มขนส่ง TMS–X’ ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบ SAP ผ่านระบบ QR code

รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบ Neolix ยานยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ (5G Unmanned Vehicle) ลดภาระงาน Workload ในระบบโรงพยาบาล ส่งเสริมบทบาท และเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยให้ประชาชนคนไทยสามารถได้เข้าถึงบริการสุขภาพทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ 


ที่มาภาพจาก : www.eg.mahidol.ac.th

อย่างที่เราทราบดีว่า AI ยุคใหม่ พัฒนารวดเร็วแบบก้าวกระโดดและมีการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ในสาขาที่เราเคยมั่นใจว่ามีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ แต่ตอนนี้ความมั่นใจนั้นได้ถูกสั่นสะเทือนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ใช่ในมุมมองของการเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ AI กลายเป็นผู้ช่วยสำคัญที่มีบทบาทในการเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมการแพทย์ยุคใหม่ ขนาดที่ว่าหลายโรงพยาบาล ถือเป็น ‘ของที่ต้องมี’ 

อ้างอิง :
https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/Articles/aigc/AI-Digital-Healthcare.aspx
https://www.eg.mahidol.ac.th/


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
818 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
11834 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
14259 | 03/10/2023
‘Da vinci’ หุ่นยนต์ผู้ช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ลดระยะเวลาพักฟื้น