“Digital Nomad” กับความหวังของภาคท่องเที่ยว หลังรัฐออกเกณฑ์วีซ่าใหม่

กิจกรรมเด่น
17/09/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 7209 คน
“Digital Nomad” กับความหวังของภาคท่องเที่ยว หลังรัฐออกเกณฑ์วีซ่าใหม่
banner

ท่องเที่ยวไทยน่าเป็นห่วงและคงไม่ฟื้นอีกสักพัก

โควิดกระทบตลาดท่องเที่ยวอย่างมากในปีที่ผ่านมา ยอดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงจาก 40 ล้านคน ในปี 2019 เป็น 6.7 ล้านคน ในปี 2020 และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลงจาก 3 ล้านล้านบาท เป็น 3.3 แสนล้านบาท โรงแรมจำนวนมากทุกทิ้งร้างว่างเปล่า มีห้องพักโรงแรม 4-5 ดาว ที่ปกติราคาหลักหมื่นขายอยู่ในราคาพันต้นๆ จำนวนมาก ไม่น่าแปลกใจที่โรงแรมขนาดเล็กจะทยอยปิดตัวลง โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กที่ยากจะแข่งขันกับโรงแรมใหญ่ๆ ที่ลดราคาลงมา



การกลับมาของนักท่องเที่ยว

ขณะนี้ แม้ภูเก็ต Sandbox เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของภาคการท่องเที่ยว แต่หนทางที่ต้องเดินจนถึงปลายอุโมงค์นั้นยังอีกยาวไกลนัก จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมมีนักท่องเที่ยวสะสมรวม 26,400 คน หรือเฉลี่ยราว 400 กว่าคนต่อวัน เทียบเป็นเพียง 1% ของอัตรานักท่องเที่ยวที่เข้ามาเดิมที่ระดับ 43,000 ต่อวัน


 


ในช่วงก่อนโควิด ซึ่งหากเมืองหลักอย่างภูเก็ตยังมี Capacity เท่านี้คงไม่ต้องพูดถึงจังหวัดเมืองรองอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนที่เดินทางหลักของนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ล่าสุดกระทรวงการคลังได้คาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้จะมี 300,000 ราย จากเดิมที่ประมาณการไว้ 2 ล้านราย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้คิดเป็นไม่ถึง 1% ของยอดนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านรายในปี 2562


นอกจากนี้ แม้ตัวเลขการติดเชื้อรายวันของประเทศไทยจะเริ่มหักหัวลง หากดูในภาพรวมของตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลกแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมรายวันยังคงไม่ลดลง แต่อย่างใดหลังจากหลายประเทศประสบปัญหาจาก Delta Variant และปัจจุบันก็มี MU Variant ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ จากเดิมที่แพร่ระบาดในอเมริกาใต้ ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักโดยเร็ว


โรงแรมในปัจจุบันมีอัตราการเข้าพักน้อยกว่า 8% ซึ่งยังห่างไกลกับระดับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 65% ในช่วงก่อนโควิดอีกมาก และจากตัวเลขการประมาณการของ ททท. ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีดีที่สุดจะอยู่ที่ 18 ล้านคน และในกรณีเลวร้ายอาจอยู่ที่ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 4 หรืออย่างดีที่สุดจะเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2562 ในช่วงปี 2565 คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วหากเราอยู่ในภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเราจะทำอย่างไร การทำธุรกิจเพื่อบริการ Digital Nomad อาจเป็นหนึ่งในคำตอบ



ดิจิทัลโนแมด คือใคร

ดิจิทัลโนแมด คือ กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตเดินทางท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กัน โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้ โดยอาจมีธุรกิจออนไลน์ของตน เป็นฟรีแลนซ์ หรือทำงานโปรเจคต่างๆ ของบริษัทที่สามารถทำงานผ่านทางออนไลน์ได้ เช่น เขียนโปรแกรม งานการตลาด งานออกแบบ เป็นต้น


 


กลุ่มโนแมดเหล่านี้ อาจเดินทางและไปทำงานในประเทศต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนอาจเลิกเช่าและขายบ้านในประเทศของตน และอาจเลือกประเทศที่ตัวเองชอบ เพื่อเป็นฐานหลักในการทำงานผ่านทางออนไลน์และท่องเที่ยวไปในพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจ โดยในแต่ละสถานที่ที่ทางโนแมดได้ตัดสินใจไปอยู่เพื่อพักระยะยาวนั้น อาจจะเริ่มจากหลักการพักหลายสัปดาห์จนกระทั่งเกิน 6 เดือนไป และในการใช้ชีวิตแบบโนแมดที่เปลี่ยนสถานที่และทำงานไปเรื่อยๆ ในเมืองต่างๆ นั้น ก็จะมีโนแมดที่ใช้ชีวิตในลักษณะนี้เพียงปีสองปี ไปจนถึงมากกว่า 10 ปี โดยโนแมดส่วนใหญ่มาจากประเทศมาจากประเทศพัฒนาแล้วในแถบตะวันตก และอยู่ในช่วงวัย Millenials ตั้งแต่ 20 ต้นๆ ถึง 30 ปลายๆ



ทำไมการให้บริการ Digital Nomad ถึงน่าสนใจ

ดิจิทัลโนแมดส่วนมากมาจากประเทศแถบตะวันตก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้จากผล Survey ของ MBO Partners นั้นคาดการณ์ว่าจะมี Digital Nomad เฉพาะในสหรัฐอเมริกาจำนวน 10.9 ล้านคนเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จาก 7.3 ล้านคน ในขณะที่มีประชากรอีก 19 ล้าน ที่กำลังวางแผนที่จะเป็น Digital Nomad ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า และหากเรานำตัวเลขกำลังแรงงานสหรัฐอเมริกานั้น มีสัดส่วนแรงงานราว 27% ของประเทศรายได้สูงทั่วโลก ไปประมาณจำนวนดิจิทัลโนแมดทั่วโลกด้วยสัดส่วนเดียวกัน โนแมดทั่วโลกจะมีประมาณ 40 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่ง Digital Nomad ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด


ด้วยสถานการณ์โควิดที่ทำให้หลายๆ ประเทศจำเป็นต้องล็อคดาวน์เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน และต้องรักษาห่างในพื้นที่สาธารณะ บริษัทหลายบริษัทก็ได้อนุญาตให้พนักงาน Work From Home หรือแม้การที่พนักงานจะทำงานผ่าน Staycation จากที่พักในโรงแรมต่างๆ การจองที่พัก ซึ่งจากศึกษาของทาง Airbnb เองก็เริ่มแสดงให้เห็นเทรนด์ของความต้องการของการพักระยะยาวมากขึ้น ซึ่งความต้องการของการพักระยะยาวมากกว่า 28 วันนั้นเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2020




ด้วยความสามารถของดิจิทัลและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารและประชุมผ่านทางออนไลน์กับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าได้ ด้วยประสบการณ์ที่เสมือนอยู่ในห้องประชุมเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับหลายคนก็เริ่มมีความคิดที่ว่า การกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะเทรนด์การจ้างงานในสายไอทีและดิจิทัล ที่ในปัจจุบันมีหลายบริษัทก็ระบุในประกาศหางานว่าที่ไม่ต้องให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศ โดย Facebook เองก็ได้อนุญาตให้พนักงานของประจำของบริษัท สามารถเลือกที่จะทำงานจากที่บ้านได้ และ Mark Zuckerburg เองก็เตรียมที่จะใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งในปี 2022 ทำงานจากภายนอกออฟฟิศ


ด้วยกระแสการทำงานจากภายนอกออฟฟิศที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และความเคยชินของพนักงานหลายๆ คน ที่ได้ทำงานจากที่บ้านในช่วงโควิด ในปัจจุบันกลุ่มดิจิทัลโนแมดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นเจ้าของธุรกิจทางออนไลน์ แต่หลังโควิดน่าจะมีพนักงานประจำของบริษัทหลายแห่งที่เริ่มมาใช้ชีวิตเป็นดิจิทัลโนแมด และทำให้จำนวนดิจิทัลโนแมดน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก และตลาดการให้บริการกลุ่มโนแมดเหล่านี้จะเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ

 


ดิจิทัลโนแมด มองหาอะไร

นอกจากบรรยากาศและของเมืองที่สวยงามและวัฒนธรรมที่น่าสนใจแล้ว ความต้องการหลักของโนแมด คือการสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวพร้อมกับการทำงานผ่านทางออนไลน์ในระยะยาว




เพื่อตอบโจทย์การทำงาน โนแมดมองหาสถานที่ทำงานที่มีอินเตอร์เน็ท WiFi ที่ดี โดยการมีพื้นที่ Co-Working Space และ Coffeeshop ต่างๆ ที่มี WIFi สัญญานที่แรงและครอบคลุมตลอดเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะ Digital Nomad นั้นต้องพึ่งอินเตอร์เน็ตในการทำงานและหารายได้ของพวกเค้า


การควบคุมค่าใช้จ่ายรายเดือนก็เป็นอีกเรื่องที่โนแมดให้จึงความสำคัญอย่างมาก ค่าที่พัก ค่าอาหารและบริการต่างๆ จึงต้องไม่แพงจนเกินไป


การสร้างสังคมโดยเฉพาะกับกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเฉพาะดิจิทัลโนแมดด้วยกันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในระหว่างการท่องเที่ยวและเดินทาง โนแมดก็ต้องการที่สร้างเพื่อน พบปะสังสรรค์ และหาเพื่อนในการร่วมเดินทางหรือทำงานไปด้วยกัน ดังนั้นหลายๆ ที่จึงมีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทริปการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หรือกิจกรรมผจญภัยต่างๆ การเดินป่า หรือการดำน้ำ รวมทั้งการจัดกลุ่มคลาสโยคะ เป็นต้น




นอกจากนี้ ดิจิทัลโนแมด ยังมักเลือกประเทศที่ตัวเองชอบที่จะอยู่อาศัยเป็นฐานที่จะพักในระยะยาว และอาจเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมไปในจังหวัดและประเทศรอบๆ การที่มีกิจกรรมต่างๆ และการแนะนำสถานที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านนั้น ก็จะช่วยให้ดิจิทัลโนแมดตัดสินใจอยู่พักอาศัยยาวขึ้น


ความสะดวกในการขอวีซ่าและการจัดการด้านความปลอดภัย ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญสำหรับโนแมด ระบบความปลอดภัยบริเวณรอบที่พักและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ รวมทั้งหากมีบริการในการอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าต่างๆ ก็จะช่วยให้ Digital Nomad สะดวกที่จะใช้เมืองไทยเป็นฐานมากขึ้น



ประเทศไทย...สวรรค์โดยธรรมชาติของ Digital Nomad

ไม่ว่าจะทำงานไป จิบกาแฟชมทิวหมอกไปที่เชียงใหม่ หรือทำงานไปชมทะเลสวยๆ ริมหาดไปที่เกาะพะงัน เสน่ห์และภูมิทัศน์ของประเทศไทยนั้นเป็นสวรรค์ของเหล่าโนแมด โดยประเทศไทยมีหลายเมืองที่เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของชาวโนแมดทั่วโลก เช่น


 


จังหวัดกรุงเทพ...ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นเมืองใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก เป็นฮับในการเดินทางในภูมิภาค และค่าครองชีพที่ยังไม่สูงมากจนเกินไปแล้ว


จังหวัดเชียงใหม่...ก็เป็นอีกจังหวัดที่มีทั้งชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expat) อยู่จำนวนมาก จึงมีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวต่างชาติอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงเป็นอีกหนึ่งเมืองเป้าหมายของกลุ่มดิจิทัลโนแมดที่ชอบเที่ยว ภูเขา น้ำตกและสนใจวัฒนธรรมของวัดวาอาราม


ขณะที่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาอีกสถานที่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากโนแมด คือ เกาะพะงันและเกาะลันตา โดยเกาะลันตานอกจากจะอยู่ใกล้หินแดง หินม่วง หนึ่งในจุดดำน้ำอันดับต้นๆ ของเอเชียแล้ว Kohub Co-Working บนเกาะก็มีชื่อเสียงอย่างมากเช่นกัน ด้วยความสำเร็จในการจัดบรรยากาศการทำงาน และสร้างคอมมิวนิตี้ให้กับกลุ่มดิจิทัลโนแมดผ่านกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่เกาะพะงันก็มี Co-working Space อย่าง Beach hub ที่สามารถให้โนแมดทำงานจากริมชายหาดได้เลย



โอกาสในธุรกิจจาก Digital Nomad

การที่โนแมดเข้ามาพักอาศัยเป็นระยะเวลาหลายเดือนต่อปี จะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจจำนวนมากทั้งในทางตรงและทางอ้อม แม้โนแมดให้ความสำคัญอย่างมากในการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ


โดยเฉพาะกลุ่มโนแมดที่รายได้ไม่มากซึ่งจาก Survey ของ MBO Partners โนแมดจากสหรัฐ 26% มีรายได้น้อยกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ขณะเดียวกันก็มีโนแมดกลุ่มใหญ่ๆ ที่มีรายได้และกำลังซื้อ โดย 38% ของโนแมดนั้นมีรายได้มากกว่า 75,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน และน่าจะมีกำลังในการจ่ายค่าอยู่อาศัยและกิจกรรมต่างๆ ของตัวเอง รวมหลายหมื่นบาทหรือแสนบาทต่อเดือน


การที่โนแมดเข้าใช้ชีวิตเป็นระยะเวลาหลายเดือนก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆ เช่น


1) ธุรกิจการให้บริการที่พักและ Co-working Space รวมทั้งบริการอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ

2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Community ต่างๆ เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและเชิงแอดเวนเจอร์ เช่น เดินป่า ปีนเขา หรือดำน้ำ การจัดคลาสเรียนต่างๆ เช่น การทำอาหาร คลาสออกกำลังกาย โยคะ รวมถึงการจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อให้โนแมดสามารถ สังสรรค์ ปาร์ตี้ และสร้างเครือข่ายร่วมกัน

3) ธุรกิจที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่งและเดินทาง เช่น การให้เช่ารถ การทำเอกสารขออนุญาตต่างๆ หรือการต่ออายุวีซ่า เป็นต้น



ตัวอย่างของ Estonia กับความสำเร็จในการดึงโนแมด สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล และสตาร์ทอัพ

เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรปที่มีประชากรเพียงกว่า 1.3 ล้านคน ได้เริ่มการดึงดูดบุคลากรและบริษัทด้านดิจิทัลเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้วโดยได้จัดตั้งโครงการ E-Residency เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างๆ เข้าไปตั้งบริษัทในเอสโตเนีย ได้โดยสามารถสมัครผ่านทางออนไลน์และตั้งบริษัทผ่านทางออนไลน์ และเนื่องจากเอสโตเนีย นั้นอยู่ในประเทศ Schengen ของ EU ทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศยุโรปได้ ซึ่งกลุ่มดิจิทัลโนแมดที่เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย และเมื่อปีที่แล้ว เอสโตเนียเองก็เพิ่งได้ออกโครงการ Digital Nomad Visa เพื่อให้อำนวยความสะดวกให้กับ Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานในเอสโตเนีย ได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตทำงานเป็นระยะเวลา 1 ปี


โครงการ E-Residence ของเอสโตเนีย ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจนถึงปัจจุบันเอสโตเนียมี E-Residence กว่า 70,000 รายและมีบริษัทที่จัดตั้งผ่านโครงการกว่า 15,000 บริษัท ซึ่งความสำเร็จในการดึงดูดบุคลากรและบริษัทด้านดิจิทัลของเอสโตเนียก็ทำให้ประเทศเอสโตเนีย สามารถต่อยอดการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะระหว่างบริษัทที่มาจดทะเบียนและจัดตั้งที่ Estonia และบุคลากรภายในประเทศจนปัจจุบันเอสโตเนียมีสตาร์ทอัพมากกว่า 1,000 บริษัท


สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาทาง ครม. ได้เห็นชอบแพ็คเกจดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่ม Digital Nomad โดยให้สิทธิ์วีซ่าอายุ 10 ปี และใบอนุญาตการทำงานอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย สำหรับชาวต่างชาติที่มีรายได้ปีละ 80,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ 40,000 ดอลล่าร์ต่อปีหากจบปริญญาโท โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มโนแมดที่ต้องการเข้ามาทำงานจากประเทศไทยมากขึ้น



Agoda หนึ่งในความสำเร็จของประเทศไทย

Agoda ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดการจองห้องพักในเอเชียแปซิฟิก นั้นก็มีจุดเริ่มต้นจากการที่ CEO และผู้ก่อตั้งของบริษัท เข้ามาท่องเที่ยวพร้อมกับทำงานในประเทศไทยและถูกใจในประเทศไทยจนได้ก่อตั้งบริษัท ที่ปัจจุบันแม้จะเป็นบริษัทระดับนานาชาติแล้วออฟฟิศที่ใหญ่ที่สุดของ Agoda ที่มีพื้นที่กว่า 13,000 ตรม. ก็ยังอยู่ในประเทศไทย และมีจ้างงานหลายพันตำแหน่ง ซึ่งการจ้างงานก็เป็นโอกาสที่บุคลากรไทยจะได้มีโอกาสร่วมงานและเรียนรู้กับบุคลากรจากทั่วโลกที่เข้ามาทำงานที่ Agoda


ในอนาคตหากประเทศไทยสำเร็จในการดึงดูดดิจิทัลโนแมดให้เข้ามามากขึ้น กลุ่มโนแมดเหล่านี้ที่มักจะพักอาศัยในแต่ละที่เป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวจำนวนมากให้กับประเทศ (ในเรื่องนี้ หากลองคิดเร็วๆ ว่า ปกตินักท่องเที่ยวอยู่กันประมาณคนละ 3.5 คืน แต่ถ้าโนแมด 1 คนมาอยู่ทั้งปี ก็เท่ากับนักท่องเที่ยว 100 คน หมายความว่า ถ้าเรามีโนแมดมาอยู่ไทย 1 แสนคน ก็จะสามารถทดแทนนักท่องเที่ยวไปได้ 10 ล้านคน!!)


สำหรับ Startup บางรายที่ประสบความสำเร็จจนสามารถตั้งและบริษัทได้ อย่างกรณีของ Agoda ก็จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กับประเทศได้อย่างดียิ่ง

 

 

ผู้เขียน : ธนวัฒน์ พฤกษานานนท์ Tech & Innovation Advisor, Bnomics

 

Reference :

https://econtent.tat.or.th/

https://www.mbopartners.com/

https://techmonitor.ai/

https://www.bbc.com/

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

งานเสวนา ออนไลน์ เพื่อนคู่คิด “เกษตรก้าวหน้า” ครั้งที่ 2/2566

เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตร ชาวไร่มันสำปะหลังเตรียมตัวให้พร้อม!!!ขอเชิญท่านเข้าร่วมชมการถ่ายทอดสดงานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า…
pin
400 | 16/10/2023
โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

โอกาสสุดท้าย! ในการสมัครโครงการ The Big Blue Ocean by BBL รุ่น 2

หลักสูตร Digital Transformation 13 สัปดาห์ สำหรับผู้นำ: อัพเดตเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุด เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเสริมศักยภาพองค์กรไปกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้…
pin
958 | 13/06/2023
งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

งานเสวนาออนไลน์ เพื่อนคู่คิด "เกษตรก้าวหน้า"

ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน #เสวนาออนไลน์ไม่มีค่าใช้จ่ายมาร่วมรับฟังข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร…
pin
2706 | 15/03/2022
“Digital Nomad” กับความหวังของภาคท่องเที่ยว หลังรัฐออกเกณฑ์วีซ่าใหม่