ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ESG
30/03/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 3866 คน
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?
banner

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง เรือโดยสาร เรือขนส่ง เครื่องบินหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อาทิ พลังงานลม พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน ที่เป็นส่วนหนึ่งของยานยนต์ที่จะมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน อีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรลุเป้าหมาย Net Zero เร็วขึ้นได้ Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักนวัตกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เขาพัฒนากันไปถึงขั้นไหนกันแล้ว และช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากพอจะช่วยลดโลกร้อนได้จริงหรือไม่? หาคำตอบได้ในบทความนี้



อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าลดปล่อย CO2 ได้ 50%


สำหรับ อุตสาหกรรมรถยนต์ จากข้อมูลของ Emissions Database for Global Atmospheric Research (EDGAR) ระบุว่า ในปี 2565 ยานพาหนะและโลจิสติกส์ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 39.2 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาในเวลาเดียวกัน คิดเป็น 30% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาทั้งหมด รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปี 2024 แล้วรถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้มากแค่ไหน ดูได้จากการเปรียบเทียบรถยนต์ประเภทต่าง ๆ 1 คัน กับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

- รถยนต์สันดาป อัตราการปล่อย CO2 คือ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร

- รถยนต์ประเภท BEV อัตราการปล่อย CO2 คือ 0 กรัมต่อกิโลเมตร

- รถยนต์ประเภท PHEV อัตราการปล่อย CO2 คือ 50-60 กรัมต่อกิโลเมตร

- รถยนต์ประเภท HEV อัตราการปล่อย CO2 คือ 90-100 กรัมต่อกิโลเมตร



หากมอง เทคโนโลยียานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5 ปีที่ผ่านมานี้ คงหนีไม่พ้นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) หรือ รถยนต์ EV โดยนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระบุว่า หากดูตัวเลขปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามียอดขายทั่วโลกในปี 2022 ประมาณ 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 60% ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้านี้


สำหรับ อัตราการเติบโตของรถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) ในไทย เทียบออกมาทั้ง BEV Plug-In Hybrid จนไปถึงรถไฮบริด BEV คนไทยนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ในปี 2566 อยู่ที่ 76,366 คัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มียอดจดทะเบียนทั้งสิ้น 9,678 คัน เติบโตเทียบกับปีก่อนกว่า 400% ส่งผลให้สามารถลด CO2 ได้ถึง 532,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว


ขณะที่ Reuters ระบุว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนผลสำรวจ Deloitte ในไทยพบว่า ผู้ใช้รถส่วนมากต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV เพิ่มขึ้นประมาณ 31% สูสีกับรถยนต์ทั่วไปที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 36%


ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้คนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง ไรเดอร์ หรือวินมอเตอร์ไซค์ เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงการขนส่งสาธารณะ เช่น รถบัส รถเมล์ไฟฟ้า ในกรุงเทพฯ ซึ่งปี 2566 จดทะเบียนไปแล้วทั้งหมด 976 คัน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นอย่างรวดเร็ว





นโยบายประกาศใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก


ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่และลดปัญหาการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศนอร์เวย์ ตั้งเป้าภายในปี 2025 รถใหม่ที่จำหน่ายและใช้งานในประเทศทั้งหมดต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากที่สุด เพราะเหลืออีกไม่กี่ปีเท่านั้น


ส่วน ประเทศเยอรมนี ประกาศว่าภายในปี 2030 จะหันมาใช้พลังงานที่ไม่ปล่อยมลพิษ โดยจะออกมาตรการทางภาษีเพื่อบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ยุติการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งยังเสนอให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) หันมาพิจารณามาตรการดังกล่าวร่วมกัน


ขณะที่ ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ตั้งเป้าห้ามการซื้อขายรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และรถยนต์ในประเทศต้องใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2040


กลับมาทางฝั่งเอเชีย ประเทศจีนและญี่ปุ่น ตั้งเป้าภายในปี 2030 ผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น สนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ ระบบชาร์จไฟ และการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น


ตามมาด้วย ประเทศอินเดีย ตั้งเป้าใช้รถพลังงานไฟฟ้าแทนรถใช้น้ำมัน ภายในปี 2030 โดยเริ่มนำร่องจากรถโดยสารสาธารณะภายในกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็น 1 ใน 13 เมืองที่มีปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลก

สำหรับประเทศไทย ประกาศว่าภายในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% โดยจะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระบบขนส่งของประเทศ รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริมและผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น


EU ห้ามขายรถใหม่ใช้น้ำมัน


ล่าสุดมีข้อมูลจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ระบุว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปลงมติ ห้ามการขายรถยนต์ใหม่ ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในปี 2035 โดยกำหนดให้รถยนต์ใหม่ทั้งหมดในยุโรปต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น


ขณะที่ International Energy Agency ระบุข้อมูลที่น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้ EU ได้ตั้งข้อกำหนดว่ารถยนต์ที่มีการจดทะเบียนใหม่จะต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำกว่าปี 2021 ถึง 55% และรถตู้ใหม่จะต้องลดการปล่อย CO2 ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030


ด้าน สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า เป้าหมายดังกล่าวสร้างความชัดเจนให้อุตสาหกรรมรถยนต์และกระตุ้นนวัตกรรมและการลงทุนสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ และมาตรการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าเชื้อเพลิง แม้ว่าปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาแพงกว่ารถทั่วไป แต่ราคาก็ลดลง และคาดว่าภายในปี 2035 จะสามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้


อุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้า


อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนที่สามารถใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า จะได้รับอนิสงส์จากตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เพราะนอกจากรถยนต์เครื่องสันดาปแล้ว ยังมีดีมานด์จากรถยนต์ไฟฟ้ารออยู่ ตัวอย่าง เช่น ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนขับเคลื่อน (ล้อ เพลา ฯลฯ) ธุรกิจประกอบตกแต่งภายในรถ ธุรกิจระบบสื่อสาร Telematics และธุรกิจผลิตแบตเตอรีไฟฟ้า ตลอดทั้ง Supply Chain


นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจร หน่วยควบคุมแบตเตอรี สายไฟ ระบบชาร์จ ฯลฯ ก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน


Cr.ภาพจาก Goodyear


เมื่อรถรักษ์โลกได้ ยางต้องรักษ์โลกด้วย


แต่ลำพังรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียวอาจยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่พอ ชิ้นส่วนอย่างยางรถยนต์ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในทุกปี มียางรถยนต์ราว 1 พันล้านเส้นหมดอายุการใช้งาน นวัตกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยีรีไซเคิล ช่วยให้ยางรถยนต์ใช้แล้วกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง


ยกตัวอย่าง ผู้ผลิตยางรถยนต์สีเขียว


เริ่มจากบริษัทผลิตยางรถยนต์ชั้นนำอย่าง Goodyear ออกมาเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนายางรถยนต์ด้วยวัสดุที่มีความยั่งยืนสูงถึง 90% พร้อมผ่านการทดสอบตามกฎหมายและการทดสอบภายในสำหรับการใช้งานจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เช่น

- น้ำมันจากพืช และ Tire Pyrolysis Oil ที่หมดอายุแล้ว

- การใช้น้ำมันถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานภายใต้อุณหภูมิที่หลากหลาย

- การใช้ RHA Silica ซึ่งเป็น by-product จากกระบวนการแปรรูปข้าว

- การรีไซเคิล Polyester จากขวดที่ผ่านการใช้งานแล้ว

- การใช้เหล็กกล้าที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิล ด้วยกระบวนการ Electric Arc Furnace (EAF) ซึ่งใช้พลังงานน้อยลง และสามารถใช้วัตถุดิบที่ผ่านการรีไซเคิลได้มากขึ้น

นอกจากจะใส่ใจด้านความยั่งยืน ด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ยางดังกล่าวยังมีแรงเสียดทานที่น้อยกว่ายางรถยนต์แบบเดิม ช่วยลดการใช้พลังงานและการสร้างคาร์บอนให้กับการขับขี่ยานยนต์ด้วยอีกทางหนึ่งด้วย


อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ มิชลิน-เอ็นไวโร พัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปยางรถใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จาก น้ำมันดอกทานตะวัน และเรซิ่นจากแหล่งชีวภาพ ซึ่งสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ด้วยเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ เช่น


- การผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล อาทิ เศษไม้ แกลบ และซังข้าวโพด

- การผลิตสไตรีนขึ้นใหม่จากขยะโพลีสไตรีน เช่น กล่องโยเกิร์ต กล่องใส่อาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติก ฯลฯ

- ผลิตสิ่งทอเส้นใยล้อจากขยะพลาสติกประเภท PET เช่น ขวดพลาสติกที่ใช้ใส่น้ำ น้ำผลไม้ น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำยาล้างจาน เป็นต้น

- การผลิตคาร์บอนแบล็คที่ได้จากการรีไซเคิลยางที่หมดอายุใช้งานแล้ว


Cr.ภาพจากFacebook Dow Thailand


บริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) คิดค้นนวัตกรรมซิลิโคนเคลือบยางรถยนต์ปิดผนึกรอยรั่วได้เอง (Self-sealing Silicone) เป็นเทรนด์ใหม่ของวงการยางรถยนต์ในขณะนี้ ที่โดดเด่นด้วยคุณสมบัติสามารถอุดรอยรั่วของยางรถยนต์ได้อัตโนมัติในระหว่างการขับขี่ และสามารถรีไซเคิลได้ทั้งตัวยางรถยนต์และซิลิโคนเคลือบ โดยสามารถแยกซิลิโคนภายในยางออกจากยางรถยนต์ได้ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเทียบกับยางรถยนต์ทั่วไป ที่ไม่สามารถแยกสารเคลือบออกจากยางหลังหมดอายุการใช้งาน


นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตเนื่องจากสามารถเคลือบยางได้ในอุณหภูมิห้อง และลดเวลาในขั้นตอนการผลิตอีกด้วย



‘เครื่องบิน’ ผู้ร้ายปล่อยคาร์บอนสูงจะเป็นมิตรกับอากาศได้อย่างไร?


อุตสาหกรรมเครื่องบิน มีการปล่อยคาร์บอนสูงถึงปีละ 915 ตัน คาดการณ์ว่าปริมาณ CO2 ที่ถูกปลดปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการขนส่งทางอากาศในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ทำให้สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและบริการให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้เชื้อเพลิงการบินยั่งยืน ที่ผลิตขึ้นจากชีวภาพ เช่น น้ำมันพืชใช้แล้ว ที่เป็นไปตามมาตรฐานและได้รับการรับรองจากสมาคมการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา SAF ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบเดิม



ยกตัวอย่าง ‘แอร์บัส’ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% โดยไม่ได้ผสม SAF เข้ากับเชื้อเพลิงการบินแบบเดิม และในปี 2021 สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้สาธิตการใช้ SAF บนเครื่องบิน AIRBUS A350-941 ในเที่ยวบินที่ JL515 ด้วยการผสม SAF กว่า 3,132 ลิตรเข้ากับเชื้อเพลิงการบินแบบเดิม ซึ่งการสาธิตนี้เป็นการใช้ SAF กับเที่ยวบินที่ให้บริการผู้โดยสารจริงไม่ใช่เที่ยวบินทดสอบ ขณะที่ในปี 2023 ที่ผ่านมา สายการบิน Emirates ประสบความสำเร็จในการทดสอบการใช้ SAF 100% บนเครื่องบินโบอิ้งเช่นกัน



ล่าสุดต้นปีที่ผ่านมานี้ สายการบินไอร์แลนด์ ได้ติดตั้งปลายปีกรูปแบบใหม่กว่า 400 ลำ ช่วยลดแรงต้านระหว่างบิน อันส่งผลให้สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้สูงถึงปีละ 65 ล้านลิตร และลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงปีละ 165,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


Cr.ภาพจาก https://www.delicious.com.au/travel/travel-news


การให้บริการด้วยบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้ภาชนะใส่อาหารที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินก็มีส่วนสำคัญในการช่วยลดโลกร้อนไม่แพ้กัน อย่างเช่น สายการบิน SINGAPORE AIRLINES ทดลองใช้ภาชนะบรรจุอาหารกระดาษที่ผ่านการรับรองจากองค์กรพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council หรือ FSC)


ส่วน สายการบิน Alaska เป็นสายการบินแรกของสหรัฐอเมริกา ที่ยกเลิกการใช้แก้วน้ำพลาสติกทุกเที่ยวบิน ซึ่งสามารถลดขยะแก้วน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละกว่า 55 ล้านใบ นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำพลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษ โดยบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษนี้ผลิตจากพืชในอัตราส่วนที่มากถึง 92% ทำให้ลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้มากถึงปีละ 2 ล้านขวด และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้มากถึง 36% เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกแบบเดิม



ขณะที่ สายการบิน JAPAN AIRLINES ได้เริ่มใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric-Powered Vehicles) สำหรับงานบริการภาคพื้นในสนามบินหลายแห่งของญี่ปุ่น เพื่อแทนที่ยานพาหนะแบบเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล



อุตสาหกรรมเรือ เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเช่นกัน


จากข้อมูลขององค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization-IMO) การขนส่งด้วยเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลคุณภาพต่ำ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 1,000 ล้านตันทุกปี


ทำให้มีมาตรการด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนระหว่างประเทศเริ่มออกมาใช้ บริษัทผู้ผลิตเรือจึงเริ่มนำพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มาปรับใช้กับธุรกิจมากขึ้น และหลายบริษัทเริ่มพิจารณาการใช้พลังงานที่ไม่มีต้นทุนและเป็นแหล่งพลังงานแบบเดิม


ยกตัวอย่าง เรือพลังงานสะอาดจากทั่วโลก


เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า แห่ง อัมสเตอร์ดัม


เรือโดยสารนับเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอัมสเตอร์ดัม เนื่องจากเป็นหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก นำผู้โดยสารผ่านลำคลองอันเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองในแต่ละปีรวมกันนับล้านคน โดยปัจจุบันเรือพาณิชย์ต่าง ๆ ในคลองอัมสเตอร์ดัม ไม่ต่ำกว่า 75% เปลี่ยนมาเป็นเรือไฟฟ้า และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าให้เป็นเรือปลอดน้ำมันทั้งหมดภายในปี 2025


สวีเดน ไม่น้อยหน้า ผลิตเรือโดยสารข้ามฟากพลังงานไฟฟ้าไร้คนขับ


ทางฟากฝั่งสวีเดนก็ได้คิดค้น เรือโดยสารข้ามฟากพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช้คนขับ ซึ่งจะใช้งานภายในเมือง สตอกโฮล์ม



Cr.ภาพจาก Crowley via PR News Wire


สหรัฐอเมริกา พัฒนาเรือลากจูงพลังงานไฟฟ้า100%


เรือลากจูง (Tugboat) เป็นหนึ่งในเรือสำคัญสำหรับงานท่าเรือที่ต้องทำหน้าที่จัดการภายในท่าเรือ ขนย้ายสินค้า หรือลากจูงเรือบรรทุกสินค้าไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำให้เรือลากจูงต้องมีพละกำลังสูง ส่งผลให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมากจากการเผ้าไหม้เครื่องยนต์


ด้วยเหตุนี้ บริษัท Crowley ในสหรัฐอเมริกา จึงพัฒนา eWolf เรือลากจูงไฟฟ้า 100% เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ที่จอดเทียบท่าในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มดำเนินการที่ท่าเรือในปี 2024 คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ได้ 178 ตัน ลดการปล่อยฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันดีเซลได้ 2.5 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 3.100 เมตริกตัน ซึ่งเทียบเท่าการลดการใช้น้ำมันกว่า 1.32 ล้านลิตร ตามการคำนวณของกรมควบคุมมลพิษ และตามการคำนวณของ EPA การลดลงนี้เทียบเท่ากับการขจัดก๊าซมลพิษต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นมากถึง 350,000 แกลลอนออกจากการใช้งาน เมื่อเทียบกับการลากจูงทั่วไป ซึ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สูงมากเลยทีเดียว


จีน กับเรือบรรทุกสินค้าพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดลำแรกของโลก


จีนเริ่มใช้ ‘เรือบรรทุกสินค้าพลังงานไฟฟ้า’ หนัก 2,000 ตันลำนี้ เป็นเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดลำแรกของโลก โดยสามารถเดินทางได้ไกลราว 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมงดังกล่าวก็เป็นเวลาที่เรือลำนี้อยู่ระหว่างขนถ่ายสินค้าขณะเทียบชายฝั่งนั่นเอง โดยที่ท่าขนถ่ายทั้งต้นทางกับปลายทางต้องมีระบบสำหรับชาร์จไฟด้วย


Cr.ภาพจาก Cargill Ocean Transportation


อังกฤษ พลิกโฉมเรือใช้น้ำมันเป็นเรือสินค้าพลังงานลมลำแรกของโลก


‘พลังงานลม’ เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม และยังใช้ได้อย่างไม่จำกัดและตลอดเวลา อย่างเช่น บริษัทอุตสาหกรรมจากอังกฤษ ได้นำเรือขนส่งสินค้าที่เดิมใช้เชื้อเพลิง มาดัดแปลงให้ใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน จนกลายเป็น ‘เรือ Pyxis Ocean’ เรือสินค้าพลังงานลมลำแรกของโลก ปัจจุบันเดินเรือแล้ว ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 30% ตลอดอายุการใช้งาน ตอบโจทย์ทางเลือกอุตสาหกรรมเรือยุคใหม่ไร้คาร์บอน


Cr.ภาพจาก VARD Design


เรือสำราญไฟฟ้า นอร์เวย์


บริษัทเรือสำราญ นอร์เวย์ เตรียมเปิดตัว “เรือสำราญไฟฟ้า” ให้บริการในปี 2030 มีใบเรือเป็นแผงโซลาร์เซลล์ เรือ Sea Zero จะใช้พลังงานส่วนใหญ่จากแบตเตอรี่ 60 เมกะวัตต์ที่สามารถชาร์จด้วยพลังงานสะอาด เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 98% ของระบบไฟฟ้าของนอร์เวย์


Cr.จาก https://www.facebook.com/EnergyAbsolute


นวัตกรรมเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100% ฝีมือคนไทย


เรือโดยสาร MINE SMART FERRY เป็น EV (Electric Vehicle) เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ฝีมือคนไทย ที่ช่วยให้การเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยามีความสะดวกสบาย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์โดยใช้พลังงานไฟฟ้า 100% จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ได้ถึง 10,875 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 4,029,260 ลิตรต่อปี


โดยเรือลำนี้ เป็นเรือลำแรกของโลก ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ภายใน 20 นาที ซึ่งแพลตฟอร์มหรือโมเดลนี้สามารถไปใช้ได้กับรถยนต์ เรือเมล์ รถบัส รถลาก ได้ด้วย


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างการปรับตัวของแต่ละอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ต่างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและโลกมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกประเภท ต้องเร่งปรับตัวหันมาปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ตอบรับกับกระแสรักษ์โลก ตามแนวทาง ESG มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน



อ้างอิง

https://www.factorytalkthai.com/goodyear-unveils-90-percent-sustainable-material-tire/

https://www.greennetworkthailand.com/sustainability-in-aviation-industry/

https://www.posttoday.com/post-next/innovation/694725

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/204229

https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/575216

https://www.tnnthailand.com/news/tech/161071/

https://www.thebusinessplus.com/mine-smart-ferry-ea/

https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/564686

https://www.factorytalkthai.com/goodyear-unveils-90-percent-sustainable-material-tire/

https://mgronline.com/science/detail/9660000079326



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
323 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2956 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3867 | 30/03/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?