รู้จัก ‘ESG & SDGs’ 2 แนวคิดสร้างโอกาสและความท้าทายธุรกิจสู่ความยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัท ให้ความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพราะนั่นแปลว่าธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน จึงเป็นธุรกิจน่าสนใจ
ESG คืออะไร?
ESG คือ แนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว (Investment Style) แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) ซึ่งปัจจุบัน ESG ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นแนวคิดที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้าน ที่ใช้เป็นตัวชี้วัด ได้แก่
1. Environment (สิ่งแวดล้อม) ชี้วัดความรับผิดชอบของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas), การสร้างของเสีย, การปล่อยมลพิษ
2. Social (สังคม) ใช้วัดบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์กับ พนักงาน ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ชุมชนท้องถิ่น และผู้ทำงานใน Value Chain ทั้งหมดอย่างไร อาทิ สุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน, ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
3. Governance (ธรรมาภิบาล) ชี้วัดว่าบริษัทมีการจัดการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้
แนวคิด ESG นี้จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแก่ธุรกิจ ที่สะท้อนความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
‘ESG ผนึก SDGs’ โอกาสและความท้าทายสู่เป้าหมายความยั่งยืน
ปัจจุบัน ‘ความยั่งยืน’ กำลังกลายเป็นบริบทสำคัญของโลกใบนี้ หลายๆ องค์กรธุรกิจเริ่มเห็นความสำคัญของ SDGs และ ESG เพิ่มมากขึ้น โดย ESG คือความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการเลือกลงทุนกับธุรกิจที่คำนึงถึงการสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สร้างผลดีต่อสังคม (Social) และบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล (Governance)
ขณะที่ SDGs คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยแบ่งออกได้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. สังคม (PEOPLE)
2. เศรษฐกิจ (PROSPERITY)
3. สิ่งแวดล้อม (PLANET)
4. สันติภาพ และความยุติธรรม (PEACE)
5. หุ้นส่วนการพัฒนา (PARTNERSHIP)
เป็นเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations) เช่น การแก้ปัญหาความยากจน, ความหิวโหย, ลดความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพ และส่งเสริมสวัสดิภาพของประชากร ฯลฯ
โดยเป็นข้อผูกพันสำหรับชาติสมาชิกที่ได้ให้การรับรอง 193 ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย เป็นกรอบที่ทั่วโลกใช้พัฒนาร่วมกัน โดยตั้งโจทย์ว่าทุกประเทศจะพัฒนาประเทศอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ จะถูกใช้เป็นเครื่องกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของทั่วโลกนับจากนี้ จนถึงปี 2573 รวมระยะเวลา 15 ปี
ทั้งนี้ SDGs ไม่ได้อยู่ในรูปของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่บังคับหรือผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ต้องทำตาม แต่การจะบรรลุผลเป้าหมายได้นั้น ต้องมีตัวชี้วัดเพื่อกำกับตรวจสอบ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นพัฒนาตัวเอง บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ESG สำคัญอย่างไร? ทำไมต้องดำเนินธุรกิจตามแนวคิดนี้
ในอดีตนักลงทุนจะเน้นลงทุนในบริษัทที่มีผลกำไรดีเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันบทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งชี้ว่า ในระยะยาวการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นแนวคิด ESG ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่แสวงผลกำไร
กล่าวได้ว่า ในภายภาคหน้า สถาบันการเงินหลายแห่งจะไม่สนับสนุนเงินลงทุนกับบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ESG เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นบริษัทที่สามารถระบุปัจจัย ESG ที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งอย่างชัดเจน
ทั้งนี้จากผลการสำรวจขององค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) พบว่ามีบริษัทเพียง 25% เท่านั้น ที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน ซึ่งภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) บริษัทที่ไม่มีแนวคิด ESG อาจกลายเป็นบริษัทที่ไม่ได้รับการยอมรับและเสียโอกาสจากนักลงทุน เพราะไม่สอดรับกับเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลก ที่ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศทั่วโลกได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
เทรนด์ธุรกิจ ESG ที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง
แนวโน้มและเทรนด์ของโลกในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางการสร้างสรรสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวตาม เทรนด์ธุรกิจ ESG ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม
2. การลงทุนในกลุ่มพลังงานใหม่ ได้แก่ พลังงานสะอาด (Clean Energy), กลุ่มธุรกิจก่อสร้างหรือผลิตชิ้นส่วนที่ช่วยลดโลกร้อน (Energy Efficiency), กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประสิทธิภาพ (Environmental Resources), บริษัทที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อน (Low-Carbon Leader) และกลุ่มธุรกิจการขนส่งแบบยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า (Sustainable Transport)
แหล่งอ้างอิง :
https://www.tris.co.th/esg/
https://tdri.or.th/2017/07/interviews-sdgs-goal-16
https://www.brandbuffet.in.th/2021/12/scg-trend-esg-sustainability/