จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกแห่งหนึ่ง
อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ดึงความสนใจของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง
โดยเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุไฟไหม้โรงงานธรรมดา เนื่องจากโรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งเก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกจำนวนมาก จากข้อมูลของ Hsu Cheng Cheng ผู้จัดการโรงงานหมิงตี้ แจ้งว่ามีวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกคือ ‘เพนเทน’ ประมาณ 70 ตัน ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ประมาณ 1,600 ตัน น้ำประมาณ 300 ตัน
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดย ‘สารสไตรีนโมโนเมอร์’ ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตโฟม
มีคุณสมบัติติดไฟง่าย เมื่อถูกความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิด คือ ‘สไตรีนและเบนซีน’ โดย ‘สารสไตรีน’ เป็นสารระเหย
หากหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง
อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารในปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้
ส่วน ‘สารเบนซีน’ เป็นสารพิษอันตราย
มีความเป็นพิษสูง และเป็นสารก่อมะเร็งตา ส่วนอาการของผู้ได้รับเบนซีน
เมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูงระยะแรกจะทำให้เกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ
และใจสั่น เมื่อสูดดมเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเลือดได้
การเกิดอัคคีภัยในสถานประกอบการโรงงานได้สร้างผลกระทบและความเสียหายมากมาย
เช่น การสูญเสียทรัพย์สินจากการลงทุนในธุรกิจที่ต้องหยุดประกอบกิจการ อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายแก่พนักงาน
ได้รับการบาดเจ็บ ขาดรายได้จากการหยุดงาน หรืออาจทำให้สูญเสียชีวิตได้
จากเหตุการณ์นี้ รศ.ดร.กิติกร
จามรดุสิต นักวิชาการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถือเป็นบทเรียนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน หน่วยงานท้องถิ่น
จะต้องทบทวนถึงมาตรการการป้องกัน โดยเฉพาะโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเก็บสารเคมีไวไฟและเป็นอันตรายไว้จำนวนมาก
ทั้งมาตรการความปลอดภัยในการจัดเก็บ มาตรการฉุกเฉินที่ไม่เฉพาะภายในโรงงาน แต่ต้องครอบคลุมถึงชุมชนโดยรอบอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
รวมไปถึงการซ้อมแผนอพยพชุมชน
สถิติไฟไหม้เฉลี่ยปีละ
2,000 ครั้ง
ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ตั้งแต่ปี 2532-2560 ประเทศไทยมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นมากกว่า 58,000
ครั้ง ตกเฉลี่ยปีละ 2,000 ครั้ง
ซึ่งในแต่ละวันจะมีเหตุเพลิงไหม้ถึง 5-6 พื้นที่ ต้นเหตุสำคัญมากจากไฟฟ้าลัดวงจร มูลค่าความเสียหายมากกว่า
4 หมื่นล้านบาท
มาตรการป้องกันรับมือไฟไหม้โรงงาน
เพื่อให้ชีวิตและทรัพย์สินในโรงงานมีความปลอดภัยจากเหตุอัคคีภัย
ในสถานประกอบการควรมีการกำหนดมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัย ดังนี้
1. การจัดระเบียบในโรงงาน
โดยควรมีการแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน
วัตถุไหนที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ เช่น สายไฟที่เกะกะ หรือกีดขวางทางเดิน ควรดำเนินการจัดเก็บให้เรียบร้อย
เพราะสายไฟในโรงงานเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร
2. เตรียมแผนป้องกัน
การวางแผนเพื่อช่วยลด-ป้องกันความเสียหาย
โดยประเมินบริเวณโรงงานทั้งหมดว่ามีจุดใดบ้างที่เป็นจุดเสี่ยง เรียงลำดับตามความเสี่ยง
เพื่อเตรียมอุปกรณ์สำหรับการดับเพลิงให้เหมาะสม
3. จัดเตรียมอุปกรณ์
เตรียมอุปกรณ์สำหรับป้องกัน
ไม่ว่าจะเป็นถังดับเพลิง สายดับเพลิงที่จะติดตั้งเอาไว้ยังจุดเสี่ยง รวมถึงระบบหัวฉีดน้ำอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้
โดยติดเอาไว้ยังส่วนเพดานของโรงงาน และเปิดให้ทำงานโดยอัตโนมัติ
4. ตรวจสอบความเรียบร้อยในโรงงาน
การตรวจสอบก็เป็นการเตรียมพร้อมอีกอย่างหนึ่ง
เพราะบางครั้งสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ ก็มาจากเหตุที่ไม่คาดคิดได้ เช่น
เกิดจากสัตว์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุอย่างอื่น ดังนั้นการหมั่นตรวจสอบยังจุดต่างๆ จะเป็นตัวช่วยป้องกันได้ทันท่วงที
5. ข้อปฏิบัติสำหรับพนักงาน
การให้พนักงานปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆ
ก็เป็นตัวช่วยในการป้องกันได้ เช่น การสูบบุหรี่ในโรงงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้
ดังนั้นควรมีการจัดสถานที่สำหรับสูบโดยเฉพาะเอาไว้
6. ‘ประกัน’ ตัวช่วยคุ้มครองความเสี่ยง
เพื่อความปลอดภัยของโรงงาน
การทำประกันจะเป็นตัวช่วยคุ้มครองความเสี่ยงได้ เพราะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ฉุกเฉินจะเกิดขึ้นเมื่อไร
อ้างอิง : สำนักงานสถิติแห่งชาติ,
กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน, กรมโรงงานอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรม