แกะรอยแฟรนไชส์ ‘Fresh Me’ เบื้องลึกขยายธุรกิจ 100 สาขา จาก Passion ของคนชอบชานมไข่มุก

SME in Focus
21/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 1543 คน
แกะรอยแฟรนไชส์ ‘Fresh Me’ เบื้องลึกขยายธุรกิจ 100 สาขา จาก Passion ของคนชอบชานมไข่มุก
banner

‘Fresh Me Fresh Everyday’ สโลแกนที่ฟังแล้วรู้สึกสดชื่น ผสมผสานกับสีสันที่สดใสเชิญชวนให้ดื่มไม่น้อยเลย วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับ CEO สาว ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชานมไข่มุกชื่อดัง ที่มาเล่าถึงเรื่องราวเส้นทางสู่ความสำเร็จของแฟรนไชส์ Fresh Me พร้อมรอยยิ้มที่สดใส จากเด็กสาวปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่ชื่นชอบในชานมไข่มุก จุดประกายเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ ชานม Fresh Me ที่สามารถขยายสาขาได้กว่า 100 สาขาทั่วประเทศ เขามีเคล็ดลับอย่างไร ถึงสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้ ตั้งแต่อายุยังน้อย Bangkok Bank SME จะพาไปหาคำตอบในบทสัมภาษณ์นี้ด้วยกัน




Passion ชอบชานมไข่มุก


คุณแพร กวิสรา จันทร์สว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรชมี จำกัด ธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) ร้านเครื่องดื่มชานมไข่มุกแบรนด์ Fresh Me ประกอบธุรกิจมา 12 ปี เส้นทางนักธุรกิจหญิงเก่งเริ่มต้นจากพื้นฐานครอบครัว เธอเล่าว่า ตั้งแต่เด็กอยากทำธุรกิจของตนเอง อาจด้วยซึมซับมาจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นต้นแบบ เส้นทางธุรกิจของเธอจึงเริ่มต้นตั้งแต่ตอนกำลังเรียนชั้นปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


ในตอนนั้น ธุรกิจร้านชานมไข่มุกเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ยังจำกัดอยู่ในเขตเมือง เลยคิดเล่น ๆ จุดประกายเล็ก ๆ ว่าอยากจะมีร้านเป็นของตัวเอง นำไปสู่การฝึกหัดชงเครื่องดื่มจนเริ่มมั่นใจว่ารสชาติอร่อย ส่งให้เพื่อน ๆ ช่วยกันชิม จึงได้เปิดร้าน Fresh Me ชานมไข่มุก สาขาแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลตอบรับดีจึงค่อย ๆ เพิ่มสาขา และขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ ปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 100 สาขาครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ


“ตอนแรกไม่ได้คิดไปไกลมาก เน้นบริหารจัดการร้านที่มีเพียงสาขาเดียวให้ดี และพัฒนาสินค้าเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอก็พอ”




ใส่ใจคุณภาพและมาตรฐานของเครื่องดื่ม


คุณแพร บอกว่า ความหมายแบรนด์ Fresh Me ไม่ได้จำกัดเพียงชานม ไข่มุก แต่สื่อความหมายรวมถึง “อะไรก็ได้ที่ทำให้สดชื่น” ช่วงแรกที่เปิดร้าน คนอาจจะยังไม่รู้จักมากนัก แต่ก็ค่อย ๆ พัฒนา จนเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยเทคนิคด้านการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดออฟไลน์ อาทิ การให้ทดลองชิม ส่วน ลด คูปอง นำเสนอเมนูเครื่องดื่มใหม่ ๆ สร้างความหลากหลายให้ร้าน จนยอดขายเพิ่มขึ้น และขยายสาขาที่ 2 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากขึ้น




จากบทบาทที่เป็นผู้บริโภคเองด้วย ทำให้สังเกตว่าบางครั้งรสชาติของ ชาแต่ละร้านในแต่ละวันยังขาดมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ คุณแพรจึงต้มชาเองจากที่บ้านเพื่อเป็นวัตถุดิบหลักนำไปใช้ในร้าน ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบหลัก ที่เป็นจุดขายของร้านให้ ‘อร่อยทุกครั้งที่สั่ง’ ด้วยรสชาติเดียวกันทุกวันได้ ซึ่งในปัจจุบัน Fresh Me จึงมีโรงงานสำหรับผลิตชาส่งไปให้หน้าสาขาเพื่อให้ควบคุมมาตรฐานได้เท่ากันทุกสาขา


การมีมาตรฐานที่ดี คุณภาพสม่ำเสมอ และไม่หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมองว่าธุรกิจเครื่องดื่มเหมือนธุรกิจแฟชั่น ต้องออกคอลเลคชั่นใหม่ นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ สร้างความน่าสนใจ และความหลากหลาย ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคตลอดเวลา อาทิ สมัยก่อนร้านเครื่องดื่มทั่วไปอาจจะมีกำหนดระดับความหวานของเครื่องดื่ม แต่ปัจจุบันมีระดับความหวานให้เลือกได้ตามชอบ การเพิ่มนมทางเลือก หรือการออกสินค้าใหม่ ๆ เราต้องไม่หยุดพัฒนา




ขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์


คุณแพร บอกว่า ธุรกิจร้านชานมไข่มุกแบรนด์ Fresh Me เริ่มจากผู้ปกครองที่มารอรับบุตรหลานที่มหาวิทยาลัย เข้ามาสอบถามที่ร้านว่า ซื้อแฟรนไชส์มาจากไหน ขายแฟรนไชส์หรือเปล่า เนื่องจากช่วงนั้นร้านขายดีตลอด คำถามดังกล่าวได้จุดประกายแนวคิดต่อยอดธุรกิจร้านชานมไข่มุก และเริ่มศึกษาระบบธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อสามารถขยายธุรกิจได้ และด้วยความที่ครอบครัวเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว เธอจึงเหมือนมีโค้ชส่วนตัวไว้คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการอบรมความรู้ ด้านธุรกิจแฟรนไชส์ของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จนเกิดไอเดีย และเปิดโลกทัศน์ธุรกิจแฟรนไชส์ให้กว้างขึ้น ทำให้เริ่มมองออกว่าควรพัฒนาในส่วนไหนบ้าง เพื่อให้เข้าเป็นระบบที่ดำเนินการได้สะดวกสำหรับผู้ที่สนใจอยากเป็นแฟรนไชส์ของเรา


ในมุมกลับกัน แน่นอนว่าลูกค้าที่มาซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) จากเราย่อมคาดหวังที่จะประสบความสำเร็จ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เหตุนี้ เมื่อร้านแฟรนไชส์ขยายสาขามากขึ้น ก็เป็นความท้าทายและกดดันที่จะต้องพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับต้องรับผิดชอบดูแลลูกค้า แฟรนไชส์ที่ไว้วางใจเราให้เติบโตไปด้วยกัน ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่แตกต่าง จากการทำร้านตัวเองเพียงอย่างเดียว




การดูแลลูกค้าแฟรนไชส์


สำหรับการดูแลลูกค้าแฟรนไชส์ Fresh Me จะดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งร้าน ช่วยแนะนำทำเลที่เหมาะสม หรือถ้ายังไม่มีทำเล จะมีทีมช่วยหาทำเลให้ มีการ ฝึกอบรมทั้งเรื่องสูตรและการบริหารจัดการร้าน วางแผนเรื่องการตลาด เราจะประกบลูกค้าเป็นราย ๆ จนกระทั่งลูกค้าสามารถเปิดร้านให้บริการลูกค้าได้ และหลังจากนั้นจะมีทีมงานคอยสนับสนุนลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ มีการออกเมนูใหม่ ๆ มีพาร์ทเนอร์ใหม่ ๆ มีการให้ข้อมูล ความรู้ เพื่อนำไปพัฒนาร้านให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ


โดยการเลือกทำเลของเรายังมี 2 ข้อที่ต้องดูคือ 1.ปริมาณของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และ 2.ทำเลที่ตั้งเหมาะสมต่อการลงทุน ซึ่งการดูทราฟิก และทำเล ต้นทุนค่าเช่าร้าน ต้องเหมาะสมโดยที่ลูกค้าต้องไม่รับภาระมากเกินไป


โดยปัจจุบัน Fresh Me มีจำนวน 100 สาขา โดย 95% เป็นร้านแฟรนไชส์ กระจายทั้งพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงทุกภาคทั่วประเทศ


เป้าหมายแรกของคุณแพร คืออยากตั้งร้านเครื่องดื่มในสถานศึกษาชั้นนำของประเทศให้มากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ราว 40% ของร้านทั้งหมด ต่อมาคือการเติบโตเข้าถึงคนให้ได้มากที่สุด จึงได้ขยายสาขาไปในห้างสรรพสินค้า ร้านแบบ Stand Alone และ ปีนี้เริ่มขยายไปในสถานีบริการน้ำมัน และสถานีรถไฟฟ้า มองว่าธุรกิจร้านเครื่องดื่มยังสามารถขยายได้อีกมาก




หลังโควิด-19 ร้านแฟรนไชส์เป็นอย่างไร


ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ร้านค้าในมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากปิดการเรียน การสอน อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนใหญ่ ร้านค้า Fresh Me ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่มีต้นทุนการจัดการร้านที่ไม่สูงมาก บางมหาวิทยาลัยไม่ได้คิดค่าเช่าร้าน ทำให้ผลกระทบยังไม่รุนแรงนัก จึงสามารถผ่านช่วงวิกฤตมาได้


ขณะที่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 จบลง ทุกคนเรียนหนังสือกันตามปกติ ประเทศกลับมาฟื้นตัวจนแทบจะเป็นปกติในเวลาที่ค่อนข้างเร็ว

ข้อคิดจากโควิด-19 คือ ต้องปรับตัวให้ไว ต้องตัดสินใจให้ไว เราเข้าไปเจรจากับทุกส่วน เราทำเดลิเวอรีทุกช่องทางและทำโปรโมชั่นต่าง ๆ โชคดีที่ต้นทุนค่าเช่าของร้านเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราให้ความสำคัญ จึงทำให้ร้าน ค้าแฟรนไชส์ประคองตัวอยู่รอดได้ แม้ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในช่วงนั้นยอดขายในส่วนเดลิเวอรีเข้ามาช่วยเสริมรายได้ที่ร้านค้าได้




ก่อนเกิดโควิด-19 เทรนด์ของลูกค้าจะมาในทิศทางของร้านค่าเฟ่ นั่งชิลล์ ให้บริการเครื่องดื่ม เราต้องพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยการตกแต่งจัดสถานที่นั่ง เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่ง ที่ต้องแลกกับ ‘ต้นทุน’ ค่าเช่าและค่าอุปกรณ์ตกแต่งร้านที่สูงขึ้น


แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 เราจึงแบ่งสัดส่วนร้าน นอกจากร้านใหญ่สาขาใหญ่ ๆ จึงมีโมเดลรูปแบบ Grab&Go มากขึ้น เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่สูงเกินไป ร้านสาขาเล็กหรือใหญ่ก็สามารถขายแบบเดลิเวอรี ได้ด้วยเหมือนกัน และดูเหมือนว่าเทรนด์ลูกค้าประเภท Grab & Go มีแนวโน้มสูงขึ้น แม้จะจบโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม




โอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ชานมไข่มุก


จากประสบการณ์ที่ทำร้านแฟรนไชส์เครื่องดื่มมาเกือบ 12 ปี คุณแพร มองว่าธุรกิจร้านเครื่องดื่ม ‘ชานมไข่มุก’ เป็นเครื่องดื่มที่มีจุดขายในตัวเอง เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบดื่มกาแฟ ที่ยังคงขายได้เรื่อย ๆ รวมถึงถ้ามีเทรนด์อะไรมาใหม่ แล้วเราเข้าไปจับเทรนด์มาสร้างเป็นจุดขายต่อยอดได้ เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้อีกมาก การเข้าร้านชานมไข่มุกของลูกค้า คือเข้าไปหาเครื่องดื่มมาเติมความสดชื่นไปแล้ว เพราะปัจจุบันมี สินค้าที่หลากหลายมาก คอยตอบโจทย์ลูกค้า


“เราอยู่มา 12 ปี อยู่หลายช่วงของธุรกิจ เทรนด์มีขึ้นและมีลง แต่ในทุกครั้ง แบรนด์ที่ไม่พัฒนาและไม่แข็งแรงในตลาดก็ค่อย ๆ หายไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นแบรนด์เครื่องดื่มในตลาดตอนนี้ จึงเป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง มีจุดขาย และฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจน”





คุณแพร สะท้อนภาพธุรกิจว่า สำหรับแบรนด์ Fresh Me ไม่ได้มีดีแค่ชานมไข่มุก แต่ต้องการสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ เป็นร้านเครื่องดื่มที่มอบ ความสดชื่นในทุกๆ วัน (FRESH EVERY DAY) ให้กับผู้บริโภค สำคัญไปกว่านั้นคือ ต้องเข้าถึงผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุด เราจึงพยายามเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ เป็นทางเลือกสำหรับทุกคน อาทิ กาแฟ Cold Brew กาแฟคั่วกลางสูตรพิเศษ กาแฟส้ม เมนูที่ไม่ผสมชา รวมถึงอีกหลากหลายเมนูเครื่องดื่มที่พัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน




Fresh Me ทุกสาขามีเมนูเหมือนกันกว่า 30 เมนู ด้วยข้อดีของระบบแฟรนไชส์จะต้องทำทุกอย่างให้บริหารจัดการง่าย และเป็นมาตรฐาน มีส่วน ผสมหลักเพียงไม่กี่อย่าง ที่เหลือเป็นการหยิบจับวัตถุดิบมาผสมผสานให้ เกิดเป็นเมนูเครื่องดื่มชนิดต่าง ๆ เมนูไฮไลท์แต่ละร้านอาจแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง อาทิ สาขาที่อยู่ในสถานศึกษา อาจนำเสนอเมนูที่เข้าถึงได้ง่ายราคาไม่แพงมาเป็นทางเลือกให้ลูกค้า


ในขณะที่หากเป็นสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า อาจเสนอเมนูไฮไลท์ราคาสูงขึ้นหน่อยเป็นเมนูที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ โดยภาพรวมจะพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายของร้าน ตามความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง รวมถึงพฤติกรรมพื้นฐานของผู้บริโภค




คุณแพร บอกว่า เมื่อเปิดสาขาไปแล้ว จะมีทีมวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านเพื่อดูแลเทรนด์การขายของแต่ละสาขาเพื่อนำข้อมูลมาใช้ต่อยอดในการทำการตลาด หลายสาขาที่ยอดขายกาแฟ หรือ เครื่องดื่มชาผลไม้ขายดี ดังนั้น การเลือกเมนูเด่นที่แตกต่างกัน เพื่อชูเป็นจุดขายของแต่ละสาขาอย่างเหมาะสม จึงเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นแนวทางในการพิจารณา Seasonal Menu ต่าง ๆ สามารถนำมา ปรับใช้ในการพัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ ๆ ให้สอดรับกับเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคได้




นอกจากนี้ คุณแพร ยังมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจในรูปแบบ Catering โมเดลร้าน Fresh Me เคลื่อนที่พร้อม ‘ส่งต่อความสดชื่น’ ผ่านรูปแบบรถฟู้ดทรัค และมินิบูธ เพิ่มโมเดลธุรกิจรับจัดเลี้ยงตามงานและเทศกาลต่าง ๆ เพิ่มจุดขายที่ลูกค้าสามารถตกแต่งรถฟู้ดทรัคและบูธได้ตามธีมงาน สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสและมองว่าธุรกิจจะพัฒนาไปในทิศทางที่เติบโตยิ่งขึ้นได้



แง่คิดสำหรับ SME


“แพรโชคดีที่ได้ทำตาม Passion จึงมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และสิ่งที่อยากทำ สำหรับปัญหาในการทำธุรกิจ เชื่อว่าจะมีมาเสมอ แต่เราก็ค่อย ๆ แก้ไป สิ่งสำคัญเลย ต้องไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ถ้าไม่ใช่ก็แค่หาวิธีใหม่ เดี๋ยวก็มีทางออกได้เอง”


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/freshmebubbletea




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
148 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
261 | 29/04/2024
แกะรอยแฟรนไชส์ ‘Fresh Me’ เบื้องลึกขยายธุรกิจ 100 สาขา จาก Passion ของคนชอบชานมไข่มุก