‘ผ้าลายบ่อสวก’ งานฝีมือ ‘บ้านซาวหลวง เมืองน่าน’ จากชุมชนสู่ Creative Economy

SME in Focus
10/10/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 3548 คน
‘ผ้าลายบ่อสวก’ งานฝีมือ ‘บ้านซาวหลวง เมืองน่าน’ จากชุมชนสู่ Creative Economy
banner

ร้อยเรียงเรื่องราว..บอกเล่าสตอรีบนผืนผ้า

ทอผ้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นงานอดิเรกยามว่างเว้นจากการเกษตรของชาวบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน จุดประกายแรงบันดาลใจคนในพื้นที่ในการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ก่อกำเนิด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ที่ใช้เรื่องราวเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในชุมชน มาร้อยเรียงสตอรีลงบนผืนผ้า กลายเป็นผ้าทอฝีมือประณีตบรรจง สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ


 

งานอดิเรก สู่วิสาหกิจชุมชน

คุณวัลลภา อินผ่อง รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง เผยว่า ชาวบ้านหมู่บ้านซาวหลวง มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ทำสวนยาง ในยามว่างกิจกรรมของผู้คนในชุมชนก็คือทอผ้า ชาวบ้านจึงได้มีการหารือกันว่างานอดิเรกนี้ น่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่ นำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ในปี 2527

 


ชูเอกลักษณ์ ทำให้เป็นที่รู้จักด้วย ผ้าลายบ่อสวก

คุณวัลลภา เล่าว่า เนื่องด้วยกลุ่มทอผ้าทั้งในจังหวัดน่านและเมืองไทยมีจำนวนมาก แม้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านซาวหลวงจะทอผ้าสวยมีคุณภาพ แต่ก็ต้องหาจุดเด่นให้เป็นที่รู้จัก โดยเมื่อปี 2540 กรมศิลปากรได้มาขุดเจอปากไหโบราณ แหล่งเครื่องปั้นดินเผาสมัยโบราณที่มีอายุกว่า 700 ปี ในตำบลบ่อสวก ก่อเกิดแนวคิดการทำผ้าลายบ่อสวก สร้างอัตลักษณ์ของชุมชนขึ้นมา

ผ้าลายบ่อสวก เกิดขึ้นจากการที่ช่างแกะลายผ้าทอในหมู่บ้านไปดูสถานที่ขุดเจอไหโบราณ แล้วจินตนาการผสมผสานกับลายดั้งเดิม ใส่สตอรีบนผืนผ้า สร้างเรื่องเล่าให้เห็นภาพใกล้เคียงกับตำนานมากที่สุด กลายเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะบ้านซาวหลวง

 


ขยายตลาดทอผ้าเป็นผืน ด้วยการแปรรูป

 ในเรื่องนี้ คุณวัลลภา กล่าวว่า ด้วยความที่กลุ่มทอผ้าในจังหวัดน่านมีค่อนข้างเยอะ จึงอาจเกิดการแย่งส่วนแบ่งตลาด-ลูกค้า ทางกลุ่มฯ จึงแปรรูปผ้าทอพัฒนาสินค้าให้หลากหลาย เช่น เสื้อ เสื้อคลุม ผ้าขาวม้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง จะช่วยขยายตลาดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค

การแปรรูปมาจากผ้าทอที่นำลายผ้าซิ่นมาออกแบบเป็นการใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ช่วยขยายตลาดใหม่ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากอาชีพหลักทางการเกษตร

 


ก่อเกิดแบรนด์ น่านเน้อเจ้าความร่วมมือของ 4 ชุมชน

จากความนิยมในเรื่องการทอผ้าของผู้คนจังหวัดน่าน ทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้ามาสนับสนุนจนทำให้เกิดแบรนด์ น่านเน้อเจ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอเมืองน่านที่มาจาก 4 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มทอผ้าโฮงเจ้าฟองคำ ตำบลในเวียง

2. กลุ่มท่อผ้าบ้านซาวหลวง ตำบลบ่อสวก

3. กลุ่มทอผ้าบ้านนาปงพัฒนา ตำบลบ่อสวก

4. กลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้างเชียงราย ตำบลดู่ใต้

ร่วมสร้างพลังและการจดจำในผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกให้กับสินค้าพื้นเมืองจังหวัดน่าน สะท้อนอัตลักษณ์ผ่านลวดลายบนผืนผ้า โดยมีจุดเด่นทั้งเรื่องการรวมกลุ่มของสตรีแม่บ้าน ที่พัฒนางานอดิเรกให้กลายเป็นอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ ที่สำคัญเป็นการส่งต่อคุณค่านำมาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)

แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อผลิตผ้าทอลายบ่อสวกสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

 


จำหน่ายสินค้าอย่างไร ในช่วงโควิด 19 ระบาด

คุณวัลลภา เผยว่า ก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19 ทางกลุ่มฯ จะไปร่วมออกงานอีเวนต์ต่างๆ ทั่วประเทศ พอเกิดการระบาดจึงให้ต้องหันมาจำหน่ายทางออนไลน์ โดยสินค้าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ลูกค้าที่เคยซื้อแล้วประทับใจในผลิตภัณฑ์

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาเที่ยวเมืองไทย จะสั่งซื้อทางออนไลน์เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีร้านเสื้อผ้าที่ทางกลุ่มฯ รับผลิตแบบ OEM ตามออเดอร์

สำหรับการทอผ้า ทางกลุ่มฯ ไม่ได้บังคับสมาชิกต้องมาทอผ้าทุกวัน เพราะมีงานประจำก็คือการปลูกข้าว ทำสวนยาง เมื่อมีเวลาว่างจึงมาทอผ้า หากมีออเดอร์เยอะทางกลุ่มฯ จะแจ้งสมาชิกให้มาช่วยกัน ซึ่งมีทั้งการทอที่กลุ่มฯ และที่บ้าน

 


เล่าสตอรีสินค้าผ่านไลฟ์สด กลยุทธ์มัดใจผู้บริโภค

สำหรับเรื่องนี้ คุณวัลลภา กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง นอกจากจะมีหน้าร้าน การจัดจำหน่ายตามงานอีเวนต์ซึ่งต้องพักชั่วคราวเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 แล้ว ทางกลุ่มฯ ได้มีการจำหน่ายออนไลน์ ผ่านช่องทางเพจเฟซบุ๊ก โดยมีการไลฟ์สดแล้วบอกเล่าเรื่องราวสตอรีของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง โดยผู้รับชมหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเข้ามา ทางกลุ่มฯ ยินดีตอบข้อสงสัยต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี

 

จากงานอดิเรกในอดีต ที่ปัจจุบันชาวบ้านหมู่บ้านซาวหลวงได้นำการทอผ้ามาสร้างรายได้ ผนึกกำลังกันจนเป็น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ใช้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนมาสร้างสตอรีบนผืนผ้า ก่อกำเนิดจุดเด่นทำให้ ผ้าลายบ่อสวก เป็นที่ถูกใจชาวต่างชาติและคนไทย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่

  

รู้จัก ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง’ เพิ่มเติมได้ที่

กลุ่มวิสาหกิจผ้าทอมือซาวหลวง

ซาวหลวงผ้าทอมือเมืองน่าน


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด” ดึงเสน่ห์ของงานเซรามิคในอดีต มาสร้างคุณค่าในปัจจุบัน ผ่าน Nostalgia Marketing

“บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด” ดึงเสน่ห์ของงานเซรามิคในอดีต มาสร้างคุณค่าในปัจจุบัน ผ่าน Nostalgia Marketing

หากพูดถึงอุตสาหกรรมเซรามิคในประเทศไทย หลายคนอาจนึกถึงงานหัตถศิลป์ที่มีรายละเอียดประณีต หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน แต่มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่สามารถนำศิลปะเหล่านี้ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน…
pin
7 | 23/05/2025
“บริษัท เท็บโต จำกัด” ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ Oracle NetSuite อันดับหนึ่งในประเทศไทย  กับแนวคิดการลงทุนนวัตกรรมเพื่อพิชิตตลาดโลก

“บริษัท เท็บโต จำกัด” ผู้นำตลาดซอฟต์แวร์ Oracle NetSuite อันดับหนึ่งในประเทศไทย กับแนวคิดการลงทุนนวัตกรรมเพื่อพิชิตตลาดโลก

ในโลกของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรง คือ โซลูชัน ERP บนคลาวด์ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ…
pin
10 | 16/05/2025
“เทวาศรม เขาหลัก” มอบสุนทรียะแห่งการพักผ่อน  ด้วยกลยุทธ์ Experience-Driven Hospitality ที่สร้างเอกลักษณ์เหนือระดับ

“เทวาศรม เขาหลัก” มอบสุนทรียะแห่งการพักผ่อน ด้วยกลยุทธ์ Experience-Driven Hospitality ที่สร้างเอกลักษณ์เหนือระดับ

เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมในประเทศไทยมีการแข่งขันสูงเพียงใด ทว่า “เทวาศรม เขาหลัก” ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในรีสอร์ตหรูที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล…
pin
15 | 09/05/2025
‘ผ้าลายบ่อสวก’ งานฝีมือ ‘บ้านซาวหลวง เมืองน่าน’ จากชุมชนสู่ Creative Economy