ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ตลาดค้าทองคึกคักมากอีกปี โดยราคาทองคำในตลาดโลกขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนได้ทำลายสถิติระดับราคานิวไฮไปถึง 2,020 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันเริ่มอ่อนตัวลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงประมาณ 1,700-1,800 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
การปรับขึ้นอย่างรุนแรงของราคาทองคำในปีนี้
เป็นผลจากปัจจัยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลก
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก ที่นำไปสู่การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ตลาดอินเดีย" ผู้นำเข้าทองคำมากที่สุดของโลกปีละ 800-900 ตัน ก็ถือว่าแผ่วลงมาบ้าง โดยยอดนำเข้าตามปีงบประมาณของอินเดีย ในช่วงเดือนเมษายน 2562-มีนาคม 2563 มีมูลค่านำเข้าเพียง 9,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 47.42% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีการนำเข้า 17.64%
ข้อมูลจาก All India Gem & Jewelry Domestic Council ระบุว่า โดยปกติการนำเข้าทองคำของอินเดียจะถูกนำไปใช้ผลิตเป็นเครื่องประดับ โดยในจำนวนนี้ 40% จะเป็นความต้องการของประชาชนทางตอนใต้ ส่วนอีก 60% ประชาชนอินเดียในภาคเหนือและภาคตะวันตกจะซื้อเครื่องประดับที่มีค่าให้กับตัวเองและญาติมิตรในเทศกลายวันธันเตราส (Dhanteras) หรือวันขึ้นปีใหม่วันแรกของชาวฮินดู ซึ่งปีนี้ตรงกันวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ก็ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่ระดับราคาทองคำปรับขึ้นไปถึงกรัมละ 2,200 บาทจากปีก่อนที่มีราคาเพียงกรัมละ 1,650 บาท นอกจากนี้ยังมีการสั่งจองเครื่องประดับทองคำสำหรับงานแต่งงานซึ่งโดยปกติจะนิยมจัดขึ้นในเดือนมกราคมเป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่อาจจะสรุปชัดว่าจะฟื้นตัวหรือไม่ แต่แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคก็ยังนิยมทองคำ นำมาเป็นเครื่องประดับ เช่นเดียวกับความนิยมในทับทิม และมรกต เพราะเป็นเครื่องแสดงฐานะและเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน
แต่อีกด้านหนึ่งประชาชนคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ มีแนวโน้มที่จะหันไปสนใจเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินและทองคำขาวมากขึ้น ผู้ส่งออกไทยควรติดตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะต้องปรับการผลิตให้สอดรับกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ในอนาคต
ขณะที่การส่งออกทองคำและเครื่องประดับแบบเดิมของไทยไปยังอินเดียในช่วงที่ที่ผ่านมา ก็ประสบปัญหาจากมาตรการทางการค้า ภายหลังจากที่ไทยและอินเดียได้ลงนามความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน (เอฟทีเอ) ไทย-อินเดีย
ทางอินเดียเปิดตลาดทองคำให้ไทย ทำให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งต่อมารัฐบาลอินเดียได้ประกาศใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือ Countervailing Duty โดยปรับขึ้นภาษีสินค้าทองคำแท่งและเหรียญทองจากไทย 12.5% เมื่อปี 2559 ส่งผลให้ไทยส่งออกได้ลดลง
ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ส่งออกไทยพยายามผลักดัน เพื่อขอให้อินเดียปรับลดภาษีลงเหลือ 4% สำหรับทองคำที่นำเข้าไปผลิตเพื่อการส่งออกในอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนภาษี เพื่อแต้มต่อในการแข่งขันและขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้นในอนาคต
โดยไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะของช่างฝีมือ และส่งเสริมการลงทุนในอินเดีย รวมถึงส่งเสริมนักลงทุนอินเดียที่สนใจจะเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการรผลิตเครื่องประดับ โดยใชัวัตถุดิบพลอยสี ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มสมาชิกอาเซียน รวมถึงสมาชิกในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)