ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด 19
ได้เริ่มมีการพัฒนา ‘วัคซีน’ ในไตรมาสแรกปี 2563
การพัฒนาเป็นไปอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้โดยเร็ว ขณะนี้มีวัคซีนโควิดออกใช้แล้วในประเทศต่างๆ
ไม่น้อยกว่า 18 ผลิตภัณฑ์ (ข้อมูลวันที่ 3 ส.ค. 2564)
มีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์ (full authorization) และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (emergency use
authorization) ซึ่งการอนุมัติวัคซีนในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
ในจำนวนวัคซีนเหล่านี้มีเพียง 6 ชนิดที่อยู่ในรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
(WHO's Emergency Use Listing) คือ
1. วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer–BioNTech COVID-19 vaccine)
2. วัคซีนแอสตราเซเนกา (Oxford–AstraZeneca COVID-19 vaccine)
3. วัคซีนแจนเซน (Janssen COVID-19 vaccine) หรือวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson
& Johnson COVID-19 vaccine)
4. วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna COVID-19 vaccine)
5. วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm
COVID-19 vaccine)
6. วัคซีนซิโนแวค (Sinovac COVID-19 vaccine)
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. แพลตฟอร์มที่ใช้ผลิตวัคซีน
แพลตฟอร์ม (Platform)
ในที่นี้หมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของวัคซีนที่เกิดจากกรรมวิธีหรือเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตวัคซีน
ซึ่งวัคซีนจำนวน 6
ผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นมีแพลตฟอร์มที่เป็นเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger
ribonucleic acid หรือ mRNA) จำนวน 2
ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา แพลตฟอร์มที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ
(adenovirus vector) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนแอสตราเซเนกากับวัคซีนแจนเซน
และแพลตฟอร์มที่ใช้เชื้อตาย (inactivated SARS-CoV-2) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวค
2. ลักษณะทางเภสัชกรรม
วัคซีนทั้งหมดมีลักษณะเป็นยาแขวนตะกอน (suspension) ยกเว้นวัคซีนแอสตราเซเนกาที่มีชื่อการค้า Covishield มีลักษณะเป็นยาน้ำใสหรือออกเหลือบเล็กน้อย (clear to slightly
opaque solution) ผลิตภัณฑ์ที่มีวัคซีนบรรจุในขวดยาสำหรับการใช้ฉีดหลายครั้ง
(multiple-dose vial) หรือ 1 ขวดฉีดได้หลายคน ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนแอสตราเซเนกา
และวัคซีนแจนเซน ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวคบรรจุในขวดยาสำหรับการฉีดให้ 1
คน (single-dose vial)
3. การเก็บรักษาวัคซีน
วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอทั้งวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นาต้องเก็บในสภาพแช่แข็งและเก็บพ้นแสง โดยวัคซีนไฟเซอร์เก็บที่อุณหภูมิ -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส ได้นาน 6 เดือน และวัคซีนโมเดอร์นาเก็บที่อุณหภูมิ -50 ถึง -15 องศาเซลเซียส ได้นาน 6 เดือน
ส่วนวัคซีนที่เหลือ ได้แก่ วัคซีนแอสตราเซเนกา วัคซีนแจนเซน วัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนซิโนแวค เก็บที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (ห้ามแช่แข็ง) และเก็บพ้นแสง ซึ่งวัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนแจนเซนเก็บได้นาน 6 เดือน ส่วนวัคซีนซิโนฟาร์มเก็บได้นาน 24 เดือน (ที่ขวดมีสติกเกอร์ซึ่งเปลี่ยนสีได้เมื่อถูกความร้อน ช่วยให้รู้ว่าวัคซีนอยู่ในสภาพเดิมหรือไม่) และวัคซีนซิโนแวคเก็บได้นาน 12 เดือน ทั้งนี้ให้ตรวจสอบดูวันหมดอายุที่ระบุไว้บนขวดหรือกระบอกฉีดยาที่บรรจุวัคซีนด้วย
4. การให้วัคซีน
วัคซีนทั้งหมดที่กล่าวถึงในที่นี้ให้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
(มักฉีดที่ต้นแขน) ก่อนฉีดวัคซีนหากมีไข้หรือมีอุณหภูมิกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าอาการไข้จะหายไป
วัคซีนไฟเซอร์ใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
(เดิมระบุไว้ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป
ต่อมามีการศึกษาเพิ่มเติมในเด็กอายุ 12-15 ปี) ส่วนวัคซีนชนิดอื่นใช้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป วัคซีนทุกผลิตภัณฑ์ฉีด 2 เข็ม
ยกเว้นวัคซีนแจนเซนฉีดเพียง 1 เข็ม (ตามข้อมูลในขณะนี้)
วัคซีนไฟเซอร์เป็นชนิดเดียวที่ต้องเจือจางก่อนฉีดและเป็นวัคซีนชนิดเดียวที่ฉีดเพียง
0.3 มิลลิลิตร ส่วนวัคซีนอื่นฉีด 0.5 มิลลิลิตร
การเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง
(ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นในกรณีที่ฉีด 2 เข็ม)
กำหนดไว้แตกต่างกันดังนี้ วัคซีนไฟเซอร์เว้นห่างกัน 3 สัปดาห์
วัคซีนโมเดอร์นาเว้นห่างกัน 1 เดือน วัคซีนแอสตราเซเนกาเว้นห่างกัน
4-12 สัปดาห์
วัคซีนซิโนฟาร์มเว้นห่างกัน 3-4 สัปดาห์
และวัคซีนซิโนแวคเว้นห่างกัน 2-4 สัปดาห์
เกี่ยวกับการเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สองนั้น ให้อยู่ในช่วงกำหนดระยะห่างของวัคซีนชนิดที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว
5. ประสิทธิภาพต่อไวรัสกลายพันธุ์
ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันไวรัสโควิด
19 ที่กลายพันธุ์ ประสิทธิภาพประเมินผลจากการฉีดวัคซีนในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์
และผลการทดสอบวัคซีนในห้องปฏิบัติการ
ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าวัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ชนิดสายพันธุ์แอลฟา
(Alpha: B.1.1.7) และสายพันธุ์เดลตา (Delta: B.1.617.2) โดยเฉพาะเมื่อได้ฉีดครบ 2 เข็ม
ขณะที่วัคซีนโมเดอร์นาพบว่าประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์เบตา
(Beta: B.1.351) ลดลง
แต่ประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์อื่นได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ สายพันธุ์แกมมา (Gamma: P.1), สายพันธุ์แอลฟา
และสายพันธุ์เอปซิลอน (Epsilon: B.1.429)
ส่วนประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตานั้นยังไม่อาจประเมินได้
ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพค่อนข้างดีต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟาและสายพันธุ์เดลตา
โดยผลการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เบตาและสายพันธุ์ P.2 (ก่อนหน้านี้เรียกว่าสายพันธุ์ Zeta ต่อมาไม่ได้รับความสนใจเนื่องจากไม่ใช่สายพันธุ์ที่ก่อการระบาดของโควิด
19)
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มต่อเชื้อกลายพันธุ์
สำหรับวัคซีนซิโนแวคมีผลจากการศึกษา (observational study) ที่ประมาณการณ์ได้ว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีอาการของโควิด
19 จากเชื้อสายพันธุ์แกมมา (ซึ่งพบการระบาดราว 75% ของกลุ่มตัวอย่าง) ได้ 49.6%
และจากเชื้อสายพันธุ์ P.2 ได้ 49.6% ภายหลังฉีดเข็มแรกและได้
50.7% ภายหลังฉีดเข็มที่สองไปแล้ว 2 สัปดาห์ ขณะนี้ยังคงต้องมีการติดตามข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดต่างๆ
ต่อเชื้อกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
แหล่งอ้างอิง : คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล