ข้าวญี่ปุ่น ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ความอร่อยเกรดพรีเมียม เปี่ยมคุณภาพ

SME Update
07/07/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 14429 คน
ข้าวญี่ปุ่น ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ความอร่อยเกรดพรีเมียม เปี่ยมคุณภาพ
banner

รวงข้าวเหลืองอร่าม พร้อมเก็บเกี่ยวเต็มท้องทุ่งสุดลูกหูลูกตา จำนวนหลายพันไร่ในเขตพื้นที่อำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แหล่งปลูก ‘ข้าวญี่ปุ่น’ ขึ้นชื่อของเมืองไทย ความสุขบนผืนดินที่ทำให้ คุณสนั่น สุภาวะ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ประสบความสำเร็จเป็นผู้นำด้านการผลิตข้าวญี่ปุ่นบ้านเราในปัจจุบัน

 ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


เริ่มต้นจาก ‘เกษตรกร’ ผันตัวสู่ ‘พนักงานบริษัท’

คุณสนั่น เล่าว่า เมื่อปี 2536 มีคนรู้จักแนะนำให้ไปทำงานกับบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด ซึ่งกำลังส่งเสริมการปลูกข้าวเหนียวญี่ปุ่นในเขตพื้นที่อำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อนำมาผลิตเป็นแป้งข้าวเหนียวส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

แม้จะเรียนจบช่างยนต์ แต่ก็ทำการเกษตรมาโดยตลอด ปลูกข้าว ปลูกพริก ใช้ชีวิตเกษตรกรตั้งแต่เด็ก ก่อนที่จะไปทำงานกับบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวเหนียวญี่ปุ่น

 


‘ฟองสบู่แตก’ จุดประกายธุรกิจปลูก ‘ข้าวญี่ปุ่น’

ปี 2540 เกิดภาวะฟองสบู่แตก ส่งผลให้บริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด รับภาระไม่ไหวต้องปิดกิจการ คุณสนั่น ได้เผยว่า ตอนนั้นตนเองกำลังสนุกอยู่กับงาน การส่งเสริมปลูกข้าวเหนียวและข้าวเจ้าญี่ปุ่นกำลังไปได้ดี มีการประกันราคาสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร จึงมีความคิดว่าข้าวญี่ปุ่นยังสามารถเติบโตต่อไปได้

แม้ในปี 2541 เศรษฐกิจจะยังได้รับผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตก แต่กลุ่มลูกค้าร้านอาหารญี่ปุ่นที่ต้องการข้าวญี่ปุ่นยังมีอยู่ คุณสนั่น จึงได้เช่าไร่นาเพื่อปลูกข้าวญี่ปุ่น พร้อมกับการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นมีเงินลงทุนค่อนข้างจำกัดจึงจำเป็นต้องเช่ารถบรรทุก จ้างโรงสีข้าว รวมถึงการเช่าตู้อบข้าวของสหกรณ์อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัวก็มีการขยับขยาย กู้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซื้อเครื่องมือเป็นของตัวเอง เช่น ตู้อบข้าว รถบรรทุก เครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสร้างโรงสีข้าว ก่อนจดทะเบียน ‘หจก.โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ในปี 2545

ตอนเริ่มทำธุรกิจ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ มีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรเดิมของบริษัท สยามจาปอนิก้าฟลาวร์ จำกัด ขณะนั้นมีพื้นที่ประมาณ 300-500 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรประมาณ 300 ราย จำนวน 4,400 ไร่

คุณสนั่น กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากทำบริษัทของตนเองจึงมีการเลือกปลูก ‘ข้าวเจ้าญี่ปุ่น’ เพื่อจำหน่ายร้านอาหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะ โดยเริ่มต้นจากจังหวัดเชียงใหม่ มีการสั่งข้าวจำนวน 200-300 กิโลกรัมต่อครั้ง หลังจากนั้นมีลูกค้าของร้านอาหารที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นร้านค้าส่งข้าวญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ให้ความสนใจ จึงจำหน่ายข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ตันต่อสัปดาห์


หลังจากส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่น ช่วยเป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญทำให้เกิด ‘การประกันราคาข้าว’ ที่เกษตรกรยอมรับ ส่งผลให้ผลผลิตและยอดขายเริ่มเติบโต คุณสนั่น จึงปรึกษากับหุ้นส่วนว่าควรหาตลาดข้าวใหม่ๆ เพิ่มเติม ก่อนที่ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ จะติดต่อดำเนินธุรกิจกับบริษัทค้าข้าวญี่ปุ่น ซื้อข้าวเพื่อไปทำแบรนด์ของบริษัทนั้นๆ

เมื่อ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ เป็นที่รู้จัก จึงมีบริษัทต่างๆ ขอซื้อข้าวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยแต่ละบริษัทจะแจ้งว่าต้องการจำนวนเท่าไร จากนั้นคุณสนั่นก็จะวางแผนการเพาะปลูก โดยปัจจุบันมีลูกค้าสั่งซื้อข้าวเป็นประจำ 5-6 บริษัทด้วยกัน

 


เพิ่ม ‘Productivity’ เป็น 1,400-1,500 กก./ไร่

คุณสนั่นกล่าวว่า ด้วยลักษณะพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในปัจจุบัน มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าว กรมการข้าว จังหวัดเชียงราย ซึ่งผ่านการรับรองพันธุ์ข้าว 2 พันธุ์คือ ก.วก.1 หรือพันธุ์ ซาซานิชิกิ (Sasanishiki) และ ก.วก.2 หรือพันธุ์ อาคิตะโคมาจิ (Akitakomachi) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’  ปลูกในปัจจุบัน

สำหรับเทคนิคการใส่ปุ๋ย การเพาะกล้า คุณสนั่นกล่าวเสริมว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรในหลายจังหวัดว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตสูงขึ้น หลังจากนั้นจึงมีการประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ ถ่ายทอดความรู้ว่าต้องปลูกอย่างไร มีรายละเอียดปลีกย่อย-ปัจจัยอะไรบ้าง ส่งผลให้ในปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจากการ Productivity เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 750 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นผลผลิต 1,400-1,500 กิโลกรัมต่อไร่

ผมสร้างคู่มือการปลูกให้กับเกษตรกร โดยปรับปรุงมาจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ แล้วปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการปลูกข้าวญี่ปุ่น

 


‘อาคิตะโคมาจิ’ มีดีอย่างไร ทำไมได้ใจผู้บริโภค

คุณสนั่นกล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมปลูกข้าวญี่ปุ่นมาเกือบ 30 ปี พันธุ์ข้าวญี่ปุ่น อาคิตะโคมาจิ (Akitakomachi) จะมีความเหนียวนุ่ม สามารถใช้เป็นข้าวบริโภค รวมถึงทำซูชิก็อร่อยกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในเมืองไทย นอกจากนี้พันธุ์ข้าวยังมีความต้านทานต่อโรคสูงด้วย

สำหรับจุดเด่นอื่นๆ ที่ใช้พิชิตใจลูกค้า ก็คือข้าวจะต้องใหม่อยู่เสมอ โดยข้าวที่พร้อมจำหน่ายต้องหมดภายใน 6 เดือน เพื่อรับข้าวใหม่ที่จะเข้ามา ซึ่งการจำหน่ายต้องมีการวางแผนเพื่อไม่ให้ข้าวค้างสต็อก


 

ตลาด ‘ข้าวญี่ปุ่น’ คือใคร

สำหรับเรื่องนี้คุณสนั่นเล่าว่า ตลาดข้าวญี่ปุ่นจะมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือ

1. กลุ่มที่ใช้ข้าวมาจากญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งมีจำนวนไม่มาก

2. กลุ่มที่ใช้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่

3. กลุ่มที่ใช้ข้าวจากอาเซียน (เวียดนาม) ซึ่งคุณภาพด้อยกว่า 2 กลุ่มแรก     

คุณสนั่น บอกว่า ด้วยความที่ขณะนี้ข้าวประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในไทยจำนวนมาก ทำให้การแข่งขันค่อนข้างเผชิญกับปัญหาพอสมควร เนื่องจากต้นทุนข้าวในบ้านเราสูงกว่า แม้จะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม

ซึ่งนอกจากเรื่อง ‘ต้นทุน’ แล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญในอนาคตก็คือ Traceability หรือระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งปลูกข้าวญี่ปุ่นเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการซื้อข้าว ซึ่งเป็นกลไกกระบวนการประกันความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันคุณภาพเกี่ยวกับการปนเปื้อนอันตราย ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียจากการเรียกคืนสินค้า ทำให้ภาคการผลิตสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และในปริมาณที่ควรจะเป็น หากผู้ประกอบการเลือกใช้ข้าวที่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้


 

‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ ในไทยโตต่อเนื่อง โอกาสทองข้าวญี่ปุ่น

ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ที่เผยผลการสำรวจตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2563 (prachachat.net วันที่ 17 ธันวาคม 2563) ระบุว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 4,094 ร้าน จากเดิม 3,637 ร้าน ซึ่งร้านอาหารประเภทซูชิเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 504 ร้าน มากกว่าปี 2562 ถึง 50.9% จากการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ จากเชนใหญ่ต่างๆ ที่เร่งบุกตลาด และจากผู้เล่นรายใหม่ที่กระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

คุณสนั่น มองว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดอาหารญี่ปุ่นขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจ น่าจะมาจากความชื่นชอบประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นที่มากและหลากหลายยิ่งขึ้น รวมไปถึงตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยมีทางเลือกมากขึ้น ทั้งประเภทอาหารและช่วงราคา ทำให้ฐานลูกค้าขยายตัวขึ้นตามไปด้วย



จากเกษตรกรตัวเล็กๆ คุณสนั่น สุภาวะ ได้อาศัยการเรียนรู้ต่อยอดจากงานประจำ นำมาพัฒนาสู่ธุรกิจปลูกข้าวญี่ปุ่นของ ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ และข้าวญี่ปุ่นแบรนด์ ‘ไทโย’ ให้เติบโตสามารถสร้างเครือข่ายเกษตรกร พร้อมด้วยการทำ ‘Productivity’ ช่วยให้การปลูกข้าวมีคุณภาพให้ผลผลิตต่อไร่สูง จนประสบความสำเร็จเป็นผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแถวหน้าของเมืองไทย 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1057 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1402 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1677 | 25/01/2024
ข้าวญี่ปุ่น ‘โรงสีข้าวจิราภรณ์’ ความอร่อยเกรดพรีเมียม เปี่ยมคุณภาพ