‘Low Carbon Tourism’ ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ วัดผลการปล่อยคาร์บอนของคุณได้อย่างไร?

ESG
08/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 5308 คน
‘Low Carbon Tourism’ ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ วัดผลการปล่อยคาร์บอนของคุณได้อย่างไร?
banner

รู้หรือไม่ว่า! ทุกกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของเรา ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 4,500 ล้านตันในแต่ละปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิม 3.9 กิกะตัน เป็น 6.5 กิกะตัน ในปี 2025 หลายคนคงไม่อยากเชื่อว่า แค่เราออกไปท่องเที่ยวจะทำร้ายสิ่งแวดล้อมและโลกได้ขนาดนี้ แต่จะให้นอนอยู่บ้านเฉย ๆ ชีวิตก็คงจะไร้สีสันเกินไป


Bangkok Bank SME จึงขอพาทุกคนไปรู้จักการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า ‘Low Carbon Tourism’ เป็นวิถีท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มาดูกันว่า เขามีวิธีลดและวัดผลการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อให้การท่องเที่ยวเกิดความสมดุล สนุกเต็มที่ ดีต่อโลกได้อย่างไร?



อุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนขนาดไหน?


จากการศึกษาและวิจัยใน 160 ประเทศ ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พบว่า ในแต่ละปีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 4.5 กิกะตัน หรือราว 4,500 ล้านตัน คิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก และยังพบว่า Carbon Footprint ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 3.9 กิกะตัน เป็น 4.5 กิกะตัน ในปี 2013 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 6.5 กิกะตัน ในปี 2025


ขณะที่ ข้อมูลสำรวจจาก Sustainable Travel International ระบุว่า ในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้ง ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน คือ การเดินทางด้วยพาหนะต่างๆ ปล่อยคาร์บอน คิดเป็น 49% ที่พัก 6% อาหารและเครื่องดื่ม 10% ภาคบริการ 8% ภาคเกษตร (พืชผักผลไม้ที่นำเข้ามาใช้) 8% สินค้าและการช็อปปิง 12% การก่อสร้างอาคารสถานที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว 6% และอื่น ๆ อีก 1%


ด้วยเหตุนี้ ‘การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ’(Low Carbon Tourism) จึงเป็นการแสดงสำนึกรับผิดชอบต่อโลก พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการเดินทางทำกิจกรรมท่องเที่ยว ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด จนนำไปสู่ การท่องเที่ยวคาร์บอนเป็นศูนย์(Net Zero Tourism หรือ Carbon Neutral) ในที่สุด



แล้วการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ คืออะไร?


การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Tourism คือ การท่องเที่ยวที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด โดยจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เกิดจากทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอน อันเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน หากพิจารณา Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน ของการเดินทางท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่า แค่เราก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อไปท่องเที่ยวก็เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนแล้ว ซึ่ง Carbon Footprint เป็นค่าทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ สู่ชั้นบรรยากาศ โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าผ่านการวัดผลทางตรง เช่น การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะที่ใช้เดินทาง ส่วนทางอ้อม วัดได้จากปริมาณก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าที่เราใช้ในทริปท่องเที่ยว เช่น เรากินอาหาร 1 จาน กว่าจะได้อาหารที่กินนั้น มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่าไร ก็นำตัวเลขตรงนี้มาคำนวณด้วย

ดังนั้น เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันคิดว่า ‘เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด’ จึงเกิดแนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Tourism ขึ้นมา เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้




เที่ยวแบบไหนถึงจะเรียกว่า ‘Low Carbon Tourism’


การท่องเที่ยวแบบนี้ ทุกกิจกรรมการท่องเที่ยวจะต้องส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการช่วยลดก๊าซคาร์บอน โดยให้นักท่องเที่ยวอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวนั้นนาน ๆ ทำกิจกรรมท่องเที่ยวแบบลึกซึ้งกับคนพื้นถิ่น รวมถึงการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย ทั้งนี้ การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำสามารถเป็นการท่องเที่ยวแบบง่าย ๆ ราคาประหยัด หรือจะท่องเที่ยวแบบหรูหรา ราคาแพง ตามความชอบหรือความต้องการของนักท่องเที่ยวก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่กิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นสำคัญ


โดยการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแบบ Low Carbon สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางที่ไม่ว่าจะจัดทริปไปจังหวัดไหน ท่องเที่ยวไปยังสถานที่ใดก็ได้ ด้วยการยึดหลักการ 4 Green คือ




1. ไม่สนับสนุนการใช้โฟม หรือ พลาสติก (Green Heart)


ลดการใช้อุปกรณ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเปลี่ยนเป็นภาชนะใช้ซ้ำแทนพลาสติกได้ อย่าง ปิ่นโตและแก้วน้ำ เปลี่ยนมาใช้วัสดุแทนกล่องโฟม อย่าง จานกาบหมาก ชานอ้อย ใช้ถุงผ้าหรือกระเป๋าตลอดการท่องเที่ยวและส่งเสริมให้ใช้ขวดน้ำประจำตัว เพิ่มจุดเติมน้ำดื่มระหว่างทางแทนการใช้ขวดพลาสติก




2. จัด Route Trip เชิงสุขภาพ (Green Activity)


การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กำลังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะการปั่นจักรยานเที่ยวชมวิว หรือชมเมือง ซึ่งการปั่นจักรยานท่องเที่ยวเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 20% ต่อปี ทำให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ได้เที่ยวชมสิ่งสวยงาม แถมยังได้ออกกำลังกายด้วย นอกจากได้ความสุข ได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปในตัวนั่นเอง


ซึ่งน้ำมันเบนซินและดีเซลทุกๆ หนึ่งลิตร จะปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 2.3 - 2.7 กิโลกรัม หากเราขับรถยนต์ท่องเที่ยวปีละ 25,000 กิโลเมตร เท่ากับปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 7.2 ตัน ต้องปลูกต้นไม้ชดใช้มากถึง 800 ต้น และต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปีด้วย




3. ลิ้มรสอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น (Green Community)


จากการวิจัยขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า การเลือกรับประทานอาหารที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ แถมอาหารที่ได้รับประทาน ก็ดีต่อสุขภาพนักท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม เพราะเลือกใช้วัตถุดิบจากเกษตรปลอดสารพิษในพื้นที่ จึงสดใหม่ ไร้สารเคมี และด้วยความที่ขนส่งในระยะทางใกล้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจึงน้อยนิด เมื่อเทียบกับการเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่สะดวก แต่อาจต้องขนส่งมาจากทางไกล ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่าจึงปล่อยคาร์บอนมากขึ้นเป็นเท่าตัว


นอกจากนี้อาหารยังปรุงจากแก๊สชีวภาพ จึงปล่อยคาร์บอนต่ำ เสิร์ฟมาพอดีคำ พอดีคน เพื่อลดเศษอาหารเหลือทิ้ง จากนั้นจะมีการจัดการเศษอาหารอย่างถูกต้อง โดยนำไปทำปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ เป็นการจัดการแบบ Waste Zero นั่นเอง



4. เลือกพักที่โรงแรมสีเขียว (Green Service)


โรงแรมสีเขียว ไม่ได้หมายถึงโรงแรมที่อยู่ท่ามกลาง ป่าเขา ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ แต่หมายถึง โรงแรมที่เน้นให้บริการโดยยึดหลัก “ความยั่งยืน” และ “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยโรงแรมสีเขียวมักจะมีวิธีในการทำธุรกิจที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ลดปัญหาขยะ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ออกแบบที่พักให้เปิดรับลมจากธรรมชาติ นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้า แถมยังได้ช่วยกระจายรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นด้วย หรือ พักโรงแรมที่จัดแคมเปญมอบส่วนลดพิเศษ 10-20% ให้นักท่องเที่ยว ที่พัก 2 คืนขึ้นไป โดยจะให้บริการที่เน้นลดปล่อยคาร์บอน ต่าง ๆ เช่น

-บริการอาหารเช้าท้องถิ่น

-ไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดเท้า

-ไม่บริการสบู่ แชมพู หรือใช้แบบรีฟิล

-งดบริการทำความสะอาดห้องน้ำในทุกวันที่เข้าพัก แต่จะทำความสะอาดในทุก 2 วัน




แล้วการท่องเที่ยวแบบนี้ วัดผลลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร


สำหรับ Low Carbon Tourism มีเครื่องมือวัดผลการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนี้

- รณรงค์การใช้รถสาธารณะหรือใช้รถคันเดียวกัน

- ลดการใช้กระดาษและพลาสติก

- งดใช้โฟมเพื่อตกแต่งหรือเป็นภาชนะใส่อาหาร

- ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า

- ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมา Reuse หรือ Recycle ได้

- ตักอาหารให้พอดีรับประทาน

สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณ หากเราลดการใช้สิ่งเหล่านี้ได้ จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ ซึ่งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (GTO) จะมีค่ากลางในการคำนวณ เช่น น้ำมัน 1 ลิตร ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ เราจะเอาสิ่งเหล่านี้มาคำนวณ ซึ่งถ้าเราออกแบบทริปในการเที่ยวดี จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยทางสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) มอบหมายให้สมาชิกสมาคมกว่า 80 บริษัท ลองออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว Low Carbon และนำเส้นทางดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรม



ยกตัวอย่าง Travel Tech Startup บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด สะท้อนภาพการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาให้กับชุมชนอื่น หรือผู้ประกอบการการท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ เพราะนี่คือ วิถีการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก เทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน และนำเครื่องมือวัดผลกระทบจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้ครั้งแรกกับกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน และชวนเข้าร่วมทริปทดสอบโปรแกรมท่องเที่ยว “Local Low Carbon”



Cr. ภาพ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร


โดยนำ 3 แนวคิดหลักของโครงการ คือ ปรับ ปรับพฤติกรรมการเดินทางในการท่องเที่ยว เช่น การปั่นจักรยาน ทำให้ไม่เสียค่าน้ำมัน เพิ่มเวลาดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลด ลดขั้นตอนการผลิตและบริโภค ลดใช้พลาสติก ลดใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย ชดเชย ชวนนักท่องเที่ยวไปทำกิจกรรมดี ๆ เช่น กิจกรรมยิงกระสุนพันธุ์ไม้ปลูกป่า ปลูกปะการัง เรียนรู้วิถีชุมชน ปลูกต้นไม้หายาก ชดเชยความอุดมสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติ เพราะเราไม่สามารถทำให้การบริโภคเป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดขั้นตอนการผลิตและบริโภคให้น้อยลงกว่าเดิมได้



เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนแบบ Local Low Carbon ทริป ‘ล่องเรือ เรียนรู้ ชิมส้มโอแบบโลว์คาร์บอน’ (One Day Trip)


นักท่องเที่ยวจะได้สนุกกับการเรียนรู้ สมาร์ทฟาร์มอินทรีย์ ต้นแบบการท่องเที่ยวไร้คาร์บอน สวนแรกในไทย แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ที่มีการจัดการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ด้วย


ความพิเศษของโปรแกรมนี้คือหลังจบทุกกิจกรรมทางชุมชนจะสรุปผลการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์เทียบจากการทำกิจกรรมรูปแบบเดิม ผลตัวเลขเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ ซึ่งหลายกิจกรรมในโปรแกรมก็เป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วในกระบวนการท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งผลการวัดค่า Carbon Footprint ได้ 0.6242 สามารถชดเชยคาร์บอนได้ 2,948 เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ถึง 152 ต้น สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 56% เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติในพื้นที่


อ่านเพิ่มเติมได้ที่

https://bangkokbanksme.com/en/23-10focus-findfolker-visit-the-community-to-reduce-carbon-emissions

https://shorturl.asia/e2udn


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า การพัฒนาต่อยอดหน่วยธุรกิจและชุมชนสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นี้ นอกจากจะเป็นการช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า สร้างจุดเด่น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยในตลาดโลก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักรู้คุณค่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่บุคลากรในหน่วยธุรกิจ และนักท่องเที่ยวได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในท้องถิ่น ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ สัมผัสประสบการณ์ที่สนุกสนานและเพลิดเพลิน เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอีกด้วย


อ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

http://tourismlibrary.tat.or.th/medias/T27356.pdf

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

https://golink.icu/I63aOBW

สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

https://shorturl.asia/NJxhr


http://www.todayhighlightnews.com/2022/07/carbon-neutral-tourism.html

https://gowithampth.com/local-low-carbon-khaoyai/

https://www.facebook.com/Deptourism/photos/a.115799065171565/4240866179331479/?type=3

https://www.anurakmag.com/featured-posts/08/24/2023/low-carbon-tourism-balanced-travel-full-of-fun-good-for-the-planet



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
151 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2861 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3843 | 30/03/2024
‘Low Carbon Tourism’ ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ วัดผลการปล่อยคาร์บอนของคุณได้อย่างไร?