เทคโนโลยี 'HealthTech' เครื่องมือที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบดูแลสุขภาพของผู้คนยุคใหม่ ให้เป็นสุขภาพดิจิทัล (Digital Health)

Mega Trends & Business Transformation
23/03/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 4000 คน
เทคโนโลยี 'HealthTech' เครื่องมือที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบดูแลสุขภาพของผู้คนยุคใหม่ ให้เป็นสุขภาพดิจิทัล (Digital Health)
banner

นับจากโควิดแพร่ระบาดเมื่อปี 2019 ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ 'HealthTech' หรือเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยตลาดเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ปี 2020 หลังจากการระบาดของโควิด มีมูลค่า 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มจะเติบโตมากกว่า 17.4% นับจากปี 2021 เป็นต้นมา


ยกตัวอย่าง ในเดนมาร์ก Ellen Trane Nørby, Minister for Health, Denmark (2019), ระบุว่า ในเดนมาร์กการใช้ดิจิทัลได้เปลี่ยนชีวิตของผู้คนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันผ่านเทคโนโลยี ไปจนถึงการแพทย์ระดับจีโนมเฉพาะบุคคล แนวทางดิจิทัลสามารถสนับสนุนการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพเชิงคาดการณ์และการดูแลส่วนบุคคล แต่มาพร้อมกับความรับผิดชอบทางการเมือง ความเป็นผู้นำ และความเต็มใจที่จะยอมรับโอกาสและป้องกันการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม



HealthTech เปลี่ยนชีวิตผู้คน


'HealthTech' เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการดูแลสุขภาพของผู้คนในยุคใหม่อย่างมหาศาล โดยเป็นในแง่ของการทำให้เกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และเติบโตเป็น 'สุขภาพดิจิทัล' หรือ Digital Health ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคของบุคคล


สุขภาพดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเฮลธ์ (Digital Health) สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านคุณภาพและความ ยั่งยืนในระบบการดูแลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยรักษาชีวิต ทำให้ ประชาชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ดีขึ้น ช่วยสนับสนุนระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ส่งมอบบริการด้านสุขภาพ ที่ปลอดภัย มีคุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพสำหรับคนไทยทุกคน


การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงระบบสุขภาพให้ทันสมัย ปลดล็อกข้อมูลเพื่อใช้สร้างคุณค่า เกื้อหนุน เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการดำเนินงาน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ที่เหมาะสม ปลอดภัยและทันท่วงที



เทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบริการด้านสุขภาพและการดูแลทางสังคม เพื่อให้ การดูแลสามารถยึดบุคคลเป็นศูนย์กลางได้มากขึ้น


แนวทางดิจิทัลสามารถดำเนินการได้ด้วยการฝึกอบรม การเฝ้าระวัง การรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพ และการให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงส่งเสริมชุมชนและประชาชนในการรักษาสุขภาพและดูแลความเป็นอยู่ของตนเองด้วยรูปแบบใหม่และสร้างสรรค์


ตัวอย่างของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ใน Digital Health


หลายคนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่

- AI หรือ Artificial Intelligence มีบทบาทในการเพิ่มความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค

- Telemedicine อยู่ที่ไหนก็พบแพทย์ได้ เพราะเทคโนโลยีนี้ คือ การให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพ และการรักษาแบบออนไลน์ ช่วยให้แพทย์กับผู้ป่วยสามารถสื่อสารกันได้แบบ Realtime โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลที่เริ่มให้บริการ Telemedicine หรือ Teleconsultant แล้ว เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลพญาไท และโรงพาบาลกรุงเทพ




- Blockchain ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ นำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย เวชระเบียน เวชสถิติต่าง ๆ โดยมีความถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัยสูง

- Robotic Surgery หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ช่วยลดข้อจำกัด และเพิ่มความแม่นยำในกระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยาก


อ่านบทความ : “ดาวินชี (da Vinci Xi)” หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดฝีมือหมอไทย เพิ่มโอกาสรอดผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้น

https://www.bangkokbanksme.com/en/da-vinci-surgical-assistant-robot



- Internet of Medical Things (IoMT) เชื่อมต่อการแพทย์กับระบบอินเทอร์เน็ต เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และการวางแผนการรักษาด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อทางการแพทย์ที่ใช้เก็บข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วย อาทิ อุปกรณ์สวมใส่ (Wearables)


ซึ่งจะเห็นว่าเทคโนโลยี 'HealthTech' มีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากมายในการช่วยให้ผู้คนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้เทคโนโลยี มีความสำคัญต่อความรวดเร็วและความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ


ไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนา Health Tech


สำหรับประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพ หรือ HealthTech เพื่อไปสู่ Digital Healthy ให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดข้อจำกัดในด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาล


โดยภาพรวมตลาด HealthTech ของไทย เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ASEAN จากข้อมูลของ INSEAD เปิดเผยรายงานภาพรวมอุตสาหกรรม Healthcare และ HealthTech เทียบกันใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และไทย เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อจำนวนประชากรของไทยอยู่ที่ 247 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าอีก 3 ประเทศในกลุ่มสำรวจเฉลี่ย 2 เท่า ไทยมีพัฒนาการในอุตสาหกรรม Healthcare สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค เมื่อเจาะลงไปยังการสนับสนุน Startup ด้าน HealthTech โดยเปรียบเทียบกับ 4 ประเทศข้างต้น พบว่าประเทศไทยมีจำนวนการสนับสนุนสูงที่สุด


แต่มูลค่าการลงทุนใน HealthTech ของไทยยังต่ำกว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงสิงคโปร์ โดยมูลค่าการลงทุนในด้าน HealthTech ในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2019 รวมที่ 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่ทุ่มเงินลงทุนในด้าน HealthTech มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าว ขณะที่ อินโดนีเซียและเวียดนาม คิดเป็นประเทศละ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยส่งออกและนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์รวมกันมากถึง 27,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นส่งออกมากถึง 18,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 8,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าที่สูงระดับนี้มาจากการเป็นฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์กว่า 600 บริษัท ซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น เพราะไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ มีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 60 ปี มากที่สุดในอาเซียน ทำให้ความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพมากขึ้น และยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยด้วย



ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทย นับเป็นตลาดด้าน Medical Tourism ใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก ปี 2019 ประเทศไทยทำรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์มากถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากผู้ใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยราว 3.5 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัญหาด้านการดูแลสุขภาพในเขตชนบท ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาและการเข้าถึง ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นหนึ่งในปัญหาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขในอนาคต


ปลุกกระแสสตาร์ทอัพ Health Tech


ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพของไทยนับว่ามีความคึกคัก เพราะจากข้อมูลของสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย (Thai HealthTech Association) ระบุว่า HealthTech Startup ในประเทศไทย (เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020) มี Startup ด้น HealthTech 56 ราย ประกอบด้วยทั้ง Startup ด้าน TeleHealth ที่ให้บริการทางการแพทย์ทางไกล, Remote Monitoring การติดตามอาการแบบทุกที่ทุกเวลา, Clinic Management Solution ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนทำงานด้านการแพทย์ ไปจนถึง BioTechnology นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านนวัตกรรมร่วมสนับสนุนมากมาย




ตัวอย่าง Startup ไทยในอุตสาหกรรม Healthcare และ HealthTech ที่น่าสนใจ ได้แก่


– Arincare ผู้พัฒนาระบบ Pharmacy Management System ทำให้ร้านขายยาหรือคลินิคสามารถจัดการสินค้าได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้ระบบจัดการจากต่างประเทศ โดย Arincare ได้ระดมทุน Series A ไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา


– Meticuly เป็น Startup ที่พัฒนาการผลิตชิ้นส่วนกระดูกแบบ 3D Print โดยใช้ AI คำนวณลักษณะของแบบกระดูกให้เหมาะกับความต้องการรักษาของแต่ละคน ทำให้มีต้นทุนวัสดุถูกกว่าการรักษาแบบเดิมถึง 3 เท่า โดย Meticuly ได้ระดมทุน Series A เป็นมูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2019


– Ooca หนึ่งใน HealthTech Startup ที่พัฒนา TeleHealth Platform ด้านสุขภาพจิตแบบครบวงจร ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้จากทุกที่ในช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นกว่าการเดินทางไปสถานพยาบาลด้วยตัวเอง


อ่านเพิ่มเติม คลิก : https://www.bangkokbanksme.com/en/17386


การใช้เทคโนโลยี 'HealthTech' ในสุขภาพดิจิทัล ช่วยให้ผู้คนสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการ โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือรับการตรวจจากแพทย์โดยตรง การปรับใช้เทคโนโลยีในด้านสุขภาพนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของบุคคลให้แข็งแรง และรักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศไทยอีกด้วย


การขับเคลื่อนด้าน Digital Health ของภาครัฐ


ในฝั่งของภาครัฐ จากข้อมูลจากงานวิจัยของ Bolliger & Company เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ปี 2566-2570 ในด้านสุขภาพและการแพทย์ ได้ระบุถึง SWOT ด้านบริการและการแพทย์ของไทย ว่า จุดอ่อนของระบบบริการดิจิทัลด้านสุขภาพ และการแพทย์ไทย คือ การบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่จำนวนมากแต่ยังไม่ได้รับการฝึกอบรวมในระดับเท่ากัน และการออกแบบแอปพลิเคชันที่ยังไม่ได้มุ่งเน้นผู้ใช้ (User oriented) มากเพียงพอ


อุปสรรคสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การพัฒนาเรื่องนี้ล่าช้าไปมาก ขณะที่ความต้องการใช้บริการด้านดิจิทัลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก เพราะไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย


อย่างไรก็ตาม ไทยมีจุดแข็งในด้านนโยบายที่แข็งแกร่งมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน และมีแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth) ของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2560-2569 และประชาชนไทยเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต 69.5% ของประชากรทั้งหมด และมีอัตราการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต 129.7% ของประชากร


และอีกด้านหนึ่งในงานวิจัยนี้ พบว่า ช่วงโควิดอาจเป็นโอกาสในการเก็บข้อมูลเพื่อใช้กับ Machine Learning และยังช่วยด้านพฤติกรรมของผู้ใช้บริการให้คุ้นเคยกับระบบออนไลน์ เพราะการทำงานแบบ Work from home ทำให้คนคุ้นชินที่จะเข้าปรึกษาแพทย์ในระดับออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้ง Big Data, AI, และการนำข้อมูล IOT มาประมูลผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น



ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ eHealth ปี 2560-2569 นั้น กำหนดพันธกิจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อดำเนินงานด้าน eHealth โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ไว้ 6 ด้าน คือ จัดตั้งองค์กรกลางความร่วมมือการบริหารจัดการ eHealth การพัฒนาและปรับปรุงสถาปัตยกรรมองค์กรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการให้บริการ eHealth การสร้างมาตรฐานของระบบข้อมูลสุขภาพ การบรูณาการข้อมูล การขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมบริการ โปรแกรม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การผลักดันการใช้กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ และการพัฒนาทุนมนุษย์ด้าน eHealth


ทั้งหมดนี้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนที่ต้องการให้ประชาชน มีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากeHealth และมุ่งให้ชุมชนและท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย ได้รับประโยชน์จาก eHealth เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยเช่นกัน



จะเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยี 'HealthTech' หรือ สุขภาพดิจิทัล มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อการดูแลสุขภาพของผู้คนอย่างเป็นระบบและชัดเจน จะมีผลต่อการพัฒนาและเติบโตในอนาคตของผู้คนทั่วโลก



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3960 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3939 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1032 | 25/03/2024
เทคโนโลยี 'HealthTech' เครื่องมือที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบดูแลสุขภาพของผู้คนยุคใหม่ ให้เป็นสุขภาพดิจิทัล (Digital Health)