Microplastic ภัยเงียบที่มนุษย์โลกต้องตระหนักรู้

Edutainment
25/05/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 4189 คน
Microplastic ภัยเงียบที่มนุษย์โลกต้องตระหนักรู้
banner

ไมโครพลาสติก (Microplastic) ภัยเงียบคุกคามสิ่งมีชีวิตในระบบห่วงโซ่อาหาร อันเป็นผลพวงมาจากการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ ซึ่งคิดค้นพบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1863 เมื่อเวลาผ่านมากว่าร้อยปีจึงได้รู้ว่าเจ้าพลาสติกที่มนุษย์นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกนั้นเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นในท้องทะเลและยังส่งผลย้อนคืนสู่มนุษย์ในทางอ้อม

โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลตัวการสำคัญในการคุกคามสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศน์ในท้องทะเลและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งมีงานวิจัยมากมายช่วยยืนยันว่าไมโครพลาสติกที่ตกค้างในท้องทะเลนั้น สามารถทำลายสิ่งมีชีวิตในทะเลให้สูญพันธุ์ไปจนสามารถถ่ายโอนมาอยู่ในร่างกายของมนุษย์ได้ จากการตกค้างปนเปื้อนอยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อม

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


Microplastic ผลพวงจากขยะพลาสติก

ไมโครพลาสติก เป็นพลาสติกที่มีอนุภาคเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร เกิดจากพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ มีขนาดเล็กมาตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้งานหลากหลาย เช่น เม็ดบีดส์สครับผิว (microbeads) ในโฟมล้างหน้า ครีมขัดสครับผิว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และเกิดจากการแตกหักออกจากตัวโครงสร้างของผลิตภัณฑ์พลาสติก

ทั้งจากกระบวนการทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ เช่น การซักล้าง เปลี่ยนแปลงรูปร่าง แตกหัก ย่อยสลาย ผุพัง  ล้วนเป็นหนทางแห่งการทำให้เกิดไมโครพลาสติกออกมาสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้ทั้งสิ้น โดยพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้จะล่องลอยไปตกค้างในสภาพแวดล้อม ปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ อากาศ ยากต่อการกำจัด เพราะไม่ง่ายในการจัดการเหมือนอย่างถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่มีการรณรงค์ให้เลิกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยขนาดเล็กจิ๋วของมันนี่เอง จึงทำให้ไมโครพลาสติกเดินทางเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ง่าย แค่เพียงมีลมและน้ำเป็นพาหนะนำพาไป ซึ่งปลายทางสุดท้ายแล้วจะไปหยุดสะสมอยู่ในท้องทะเล และเมื่อใดก็ตามที่ไมโครพลาสติกเหล่านี้เดินทางไปสู่ท้องทะเลได้ หายนะก็จะบังเกิดแก่สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่สามารถส่งผ่านมาถึงมนุษย์ได้จากระบบห่วงโซ่อาหาร

 

หายนะที่เกิดจาก Microplastic

งานวิจัยตรวจพบการตกค้างของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเล รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลที่มีเปลือกแข็งบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทย 3 แห่ง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin ในปี 2017 พบว่า

ค่าเฉลี่ยการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเลเปลือกแข็งสูงถึง 0.2–0.6 อนุภาคต่อสัตว์ทะเล มากกว่า 90% ที่พบเจอล้วนมีไมโครพลาสติกสะสมอยู่ รวมไปถึงปะการังด้วย โดยพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจกลายเป็นอาหารปลาผิวน้ำ จากสภาพความจริงที่ว่าพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่จะแตกตัวออกเป็นชิ้นเล็กๆ และยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานเป็นหลายร้อยปี เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไปขยะพลาสติกขนาดเล็กนี้จะส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหาร แม้จะมีบางส่วนถูกขับถ่ายออกมา ก็ยังคงเหลือบางส่วนที่ฝังตัวลงไปในกระเพาะ ทำให้เกิดการระคายเคืองและก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ด้วยขนาดที่เล็กเทียบเท่ากับเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ในแบบเดียวกับที่ศึกษาทดลองจากสัตว์ทะเล เพียงแต่กับมนุษย์อาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ด้วยยังเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังทำการศึกษาทดลอง แต่มีการคาดการณ์ว่าหากคนเราทานอาหารทะเลที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนเข้าไปเป็นประจำ อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร รวมถึงส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยขนาดที่เล็กจนสามารถเข้าไปในเส้นเลือดได้ 

 

ไมโครพลาสติกจากสัตว์ทะเลเข้าสู่ร่างกาย

โดยการรับประทานอาหารจากทะเลเข้าไป ซึ่งมีการวิจัยพบว่าในปลาทู 1 ตัวจะพบชิ้นส่วนของไมโครพลาสติกสูงถึง 78 ชิ้น และพบไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทูตัวอย่างที่สุ่มตรวจทุกตัว มีทั้งพลาสติกที่มีลักษณะเป็นเส้นใย แท่งสีดำและกลิตเตอร์ จึงเป็นที่น่าห่วงว่าชิ้นส่วนพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้จะถูกส่งต่อผ่านการทานปลาทูโดยตรง ในเมนูยอดนิยมอย่างแกงไตปลาที่นำส่วนกระเพาะปลามาปรุงแต่ง ไปจนถึงการทานปลาทูตามปกติ นั่นเท่ากับว่าขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่ปนเปื้อนมากับอาหารจะเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ได้ตามห่วงโซ่อาหาร และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพดังข้อสันนิษฐานของ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ข้างต้น

ออร์บ มีเดีย (Orb Media) ยังตรวจสอบพบอนุภาคของพลาสติกขนาดเล็กปนเปื้อนมากับน้ำดื่มแบบบรรจุขวด จากการศึกษาตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดกว่า 250 ขวด ของ 11 ยี่ห้อจาก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนยา, เลบานอน, เม็กซิโก, สหรัฐฯ และไทย ที่พบอนุภาคพลาสติกใน 93% ของตัวอย่างทั้งหมดในน้ำดื่มยี่ห้อทั่วไปและยี่ห้อดังอีก 6 แบรนด์ และยังมีข้อสันนิษฐานว่าพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจหลุดเข้าไปสู่ระบบทางเดินลมหายใจของมนุษย์เราผ่านการหายใจเข้าไปได้ด้วย

The Environment Agency Austria หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ได้ทำการทดลองนำอุจจาระของมนุษย์จำนวน 8 คน จาก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศ ออสเตรีย,อิตาลี,ฟินแลนด์,เนเธอร์แลนด์,โปแลนด์,ญี่ปุ่น,รัสเซีย และสหราชอาณาจักร มาทำการทดสอบหาไมโครพลาสติกตกค้างในร่างกายจากห่วงโซ่อาหาร ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนทานอาหารเป็นปกติ มีจำนวน 6 คนที่ทานปลาทะเล พบว่าตรวจเจอไมโครพลาสติกจากอุจจาระของผู้ที่ร่วมการทดสอบทุกราย มีทั้งชนิด Polyethylene terephthalate ที่ใช้ผลิตขวดน้ำดื่ม, Polypropylene ที่ผลิตถุงร้อนใส่อาหาร แก้วโยเกิร์ต และ Polyvinyl Chloride หรือ PVC ที่ใช้ผลิตฟิล์มห่ออาหาร, พลาสติกแบบบางที่ใช้หุ้มห่อบรรจุภัณฑ์ โดยอุจจาระทุก10 กรัมจะพบอนุภาคของไมโครพลาสติกจำนวน 20 ชิ้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าพบไมโครพลาสติกผสมอยู่ในเกลือ โดยเป็นผลการศึกษาร่วมระหว่างศาสตราจารย์ซึง-คยู คิม (Seung-Kyu Kim) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินชอน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออก เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนของ Microplastic ที่เป็นพลาสติกขนาดจิ๋วในเกลือ ซึ่งผลการวิจัยพบว่ามี ไมโครพลาสติกตกค้างปนเปื้อนอยู่ในเกลือจากทุกแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลก

เรื่องไมโครพลาสติกจึงไม่ใช่ปัญหาที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลจนมนุษยชาติจะนิ่งนอนใจได้ เพราะสุดท้ายแล้วทุกสิ่งที่มนุษย์ทำต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ จะย้อนผลคืนกลับมาสู่ตัวมนุษย์เองแบบเลี่ยงไม่พ้น แม้จะใช้เวลายาวนานกว่าร้อยปีนับตั้งแต่มีการคิดค้นพลาสติกขึ้นใช้บนโลกนี้ก็ตาม

 

แนวทางการรับมือกับ Microplastic

การสร้างความรับรู้ให้แก่ผู้คนทั่วโลกถึงการมีอยู่ของไมโครพลาติกเป็นแนวทางที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ  รวมไปถึงการลดการผลิตหรือจำหน่ายไปจนถึงนำมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดไมโครพลาสติกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ปนเปื้อนตกค้างในสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้นำไปสู่ความพยายามทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ในปี พ.ศ. 2555 ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปบางประเทศได้เริ่มรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบและอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีไมโครพลาสติก ประเภทเม็ดไมโครบีดส์เป็นส่วนผสม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการปลอดเม็ดไมโครบีดส์ในแหล่งน้ำให้มีผลบังคับใช้ในสหรัฐอเมริกาภายในปีเดียวกัน โดยสั่งห้ามผลิต จัดจําหน่าย รวมถึงขายผลิตภัณฑ์ที่มีเม็ดไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบ ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสําอางที่ชําระล้าง ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาด ผลัดเซลล์ผิว และมีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ด้วย


ในส่วนของไมโครพลาสติกที่เกิดจากการผุกร่อนแตกออกจากโครงสร้างเดิม หากมีการควบคุมเรื่องการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ลดการใช้พลาสติกและไม่ปล่อยให้รั่วไหลลงสู่ทะเล ไปจนถึงเน้นการนำกลับมาใช้ใหม่ ก็อาจช่วยลดจำนวนไมโครพลาสติกที่จะหลุดออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้

แต่การคาดหวังว่าปัญหานี้จะหมดไปจากโลกคงเป็นไปได้ยากพอๆ กับการจะสั่งให้ทุกประเทศทั่วโลกงดใช้พลาสติกนั่นเลยทีเดียว และตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของไมโครพลาสติก และไม่มีหน่วยงานองค์กรมาช่วงรณรงค์ รวมถึงโทษภัยของไมโครพลาสติกที่มีต่อมนุษย์ในวันนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจน เรื่องที่จะช่วยลดปริมาณการใช้ขยะพลาสติกไปจนงดใช้ก็คงเป็นไปได้ยาก พอๆ กับการเสกกระดาษเปล่าให้เป็นเงินนั่นเลยล่ะ.

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.greenpeace.org/thailand/explore/resist/plastic/harm-plastic/ 

https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0025326X17304903?via%3Dihub 

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22042435/ 

https://www.bbc.com/thai/thailand-49671448  


ยังไม่ไปไหน! พลาสติกอยู่ใกล้ตัวโดยที่เราอาจไม่รู้

ธุรกิจควรทบทวน เมื่อคนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก

 

 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ตรุษจีนยุคใหม่ไร้ Foodwaste เคลียร์ของไหว้เป็นเมนูเด็ด แถมลดโลดร้อน

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะยิ่งนับวัน การคืบคลานเข้ามาของสภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายภาคส่วน…
pin
761 | 07/02/2024
‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

‘เวียดนาม’ โตไวในธุรกิจรักษ์โลก ไทยอยู่อันดับเท่าไหร่ในตลาดอาเซียน

จากข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sdgmove)  ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามเผยแพร่ยุทธศาสตร์ชาติ…
pin
10595 | 26/10/2023
#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

#กินเจ2566 เช็ค 8 สถานที่ใกล้ตัว งาน‘เทศกาลกินเจ 2566’ อิ่มท้อง อิ่มใจ ได้บุญ

ช่วงเวลาของสายบุญ ที่จะเวียนมาปีละครั้ง สำหรับเทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ตามประเพณีแบบลัทธิเต๋า รวม 9 วัน โดยกำหนดวันตามจันทรคติ…
pin
13107 | 03/10/2023
Microplastic ภัยเงียบที่มนุษย์โลกต้องตระหนักรู้