หากคุณคือคนหนึ่งที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น ‘หัวหน้า’
การปรับตำแหน่งเป็นเรื่องที่คนทำงานหลายคนต้องการ เพราะนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว การปรับตำแหน่งยังหมายถึงการทุ่มเท-พิสูจน์ตัวเอง ทั้งในเรื่องการทำงาน ระเบียบวินัย ไปจนถึงผลงานที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว ซึ่งเมื่อหัวหน้ามือใหม่ถูกปรับตำแหน่งนอกจากภาระการรับผิดชอบงานที่เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจรู้สึกไม่แน่ใจในการเป็นหัวหน้า เพราะไม่รู้ว่าต้องวางตัวแบบไหน ต้องรับมือกับความคาดหวังของลูกน้องอย่างไร ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงขอนำวิธีบริหาร ‘คน’ มาฝากหัวหน้ามือใหม่
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. เรียนรู้ที่จะเป็น ‘ผู้นำ’ ไม่ใช่ ‘เจ้านาย’
หลายครั้งหัวหน้ามือใหม่เข้าใจผิดเกี่ยวกับหน้าที่หลักของตัวเองว่าคือการสั่งงานเท่านั้น
ซึ่งนั่นจะทำให้เรากลายเป็น “เจ้านาย” ทันที แทนที่จะเป็น “ผู้นำ” ซึ่งอาจทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา
เพราะอย่าลืมว่าเราเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นาน นอกจากการได้รับการยอมรับจากหัวหน้าของเราแล้ว
ก็ต้องพิสูจน์และแสดงออกให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นด้วย
ว่าเราเข้ามาเพื่อช่วยเหลือและเป็นผู้นำที่จะพาทีมให้เดินทางไปอย่างถูกทาง
2.
มองเห็นความสำคัญของทุกคนในแผนก
ในบางครั้งเราอาจจะมองคนในหน่วยงานของเราในบางมุมเฉพาะที่เขาทำให้เราเห็น
แต่ถ้าเราเป็นเจ้านายของเขา เราจำเป็นจะต้องรู้จักเขาในทุกแง่ทุกมุม เข้าใจจุดเด่น
จุดด้อย และสิ่งพิเศษที่ซ่อนอยู่ในตัว เพื่อที่จะเลือกมาใช้ในงานได้อย่างเหมาะสม
3.
ให้เครดิตทีมเสมอ
หลายครั้งที่หัวหน้าพังเพราะลืมให้เครดิตทีมงาน คนทำงานทุกคนมีตัวตนจะงานเล็กงานน้อยก็ถือว่าเป็นผลงานเช่นกัน
ดังนั้นหากหัวหน้าลืมข้อนี้ไปก็ง่ายมากที่ลูกน้องจะเฟล ฉะนั้นให้เกียรติคนทำงานด้วยการให้เครดิตพวกเขาอยู่เสมอ
แค่นี้ลูกน้องก็ปลื้มแล้ว
4. ทำให้ลูกน้องเชื่อมั่น-วางใจได้
การรักษาคำพูด รักษาคำมั่นสัญญา ถือเป็นเรื่องที่หัวหน้าควรจะต้องมีอย่างยิ่ง
ที่สำคัญเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองเสมอ หากทำตามที่พูดหรือสัญญาไม่ได้ ก็ควรอธิบายกับลูกน้องถึงเหตุผลเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเรา
5. เปลี่ยนมุมมองใหม่..มองกว้างและไกลกว่าเดิม
ตอนนี้หน้าที่ของเราไม่ใช่เพียงทำงานของตัวเองที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จเท่านั้น
แต่ตอนนี้หน้าที่เราเปรียบเสมือนเป็นกัปตันเรือ
ที่ต้องคอยรับผิดชอบลูกเรืออีกหลายชีวิต
ถึงแม้เราไม่จำเป็นต้องออกแรงพายแต่ก็ต้องรู้ว่าหางเสือของเรือลำนี้ต้องหันไปในทิศทางไหน
ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายในระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งนอกจากเราต้องคอยดูแลการทำงานในภาพรวมแล้ว ยังต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้เห็นอุปสรรคที่กำลังจะมาถึงอีกด้วย
เพื่อที่จะได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที
6. ตัดสินใจเฉียบคม รับผิดชอบแทนทีม
นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญมากของการเป็นหัวหน้าคน เพราะการตัดสินใจจะบ่งบอกได้ถึงวุฒิภาวะ
หลายครั้งที่การตัดสินใจของหัวหน้าผิดพลาด ทำให้ลูกน้องเกิดความเบื่อหน่าย
เมื่อสะสมนานเข้าสุดท้ายก็อาจหมดศรัทธาในที่สุด ดังนั้นทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจอะไรต้องเด็ดขาด
และรับผิดชอบผลของการตัดสินใจของตัวเองแทนทีมทุกครั้ง
7. แบ่งปันแนวคิด พิชิตเป้าหมาย
การร่วมแบ่งปันไอเดีย หรือแชร์ความรู้สึกต่างๆ กับลูกน้องในทีม
เป็นสิ่งที่หัวหน้าหลายคนอาจมองข้ามไป เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้องเกิดความสบายใจในการทำงานมากขึ้น
พวกเขารู้สึกว่าหัวหน้า รู้จักรับฟัง-เข้าใจพวกเขาอีกด้วย สละเวลาสักนิดเรียกประชุมทีมเพื่อการแบ่งปัน
พวกเขาจะรักใคร่ และอยากร่วมงานกับคุณมากที่สุด
8. วางตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
การวางตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก หัวหน้าบางคนพังเพราะไม่รู้จักการวางตัว
เพราะบางคนวางตัวไม่เป็นลูกน้องก็ขาดความเคารพ ฉะนั้นลองเริ่มจากวิธีง่ายๆ นั่นก็คือคุณควรแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน
สวมหัวโขนให้ถูกที่ถูกจังหวะ ลองดูว่าจังหวะไหนหัวโขนของคุณคือหัวหน้า
จังหวะไหนหัวโขนของคุณคือเพื่อน พี่ หรือน้อง และที่สำคัญให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียม
9. ‘เจ้านายฉลาด’ ใช้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทางสร้างสรรค์ได้
เพราะความขัดแย้งในระดับที่เหมาะสมนั้นย่อมจะทำให้องค์กรมีชีวิตชีวา มีการทำงานที่รอบคอบมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดมุมมองใหม่ที่ไม่เคยคิดมาก่อน ถ้าเราไม่ทำให้ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่พูดให้ทุกคนรู้สึกว่าความคิดที่แตกต่างของแต่ละคนนั้นมีคุณค่า ไม่ทำให้ใครต้องตกอยู่ในภาวะแพะรับบาป และหัวหน้าสามารถชักจูงให้ทุกคนในทีมเกิดการยอมรับและหาข้อยุติในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ องค์กรนั้นย่อมจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ
ช่วงแรกของการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่ง ‘หัวหน้าคน’ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
จะให้เอาใจทุกคนเหมือนกันก็คงไม่ได้ ดังนั้นหัวหน้าจำเป็นต้องมีเทคนิคที่ดี วุฒิภาวะ
สติในทุกๆ การกระทำ แม้การเป็นผู้นำที่ดีนั้นไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้แค่เพียงข้ามคืน
ต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ สิ่งสำคัญที่สุดก็คืออย่าหยุดพัฒนาตัวเอง
เพราะยังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอเราอยู่ในเส้นทางของการเป็นหัวหน้าและการทำงานในอนาคต