โมเดลธุรกิจใหม่ บนเส้นทางสาย “Next Normal”

SME Update
30/12/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 7666 คน
โมเดลธุรกิจใหม่ บนเส้นทางสาย “Next Normal”
banner

บทความ “โมเดลธุรกิจใหม่ บนเส้นทางสาย Next Normalมุ่งนำเสนอแนวคิดและรูปแบบธุรกิจในอนาคต หลังผ่านพ้นช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ก่อเกิดวิถีใหม่ในทุกๆ ด้าน (Next Normal) เพื่อผู้ประการการเอสเอ็มอี นำไปเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาธุรกิจ และแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เนื้อหาของบทความนี้ เป็นการสรุปจากบทสัมภาษณ์ ดร.กานดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (Future Tales Lab by MQDC) และนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมประมวลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มาประกอบเพื่อความสมบูรณ์ของบทความ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โควิด-19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ทำให้ประชาคมโลกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคนี้ เช่นมีการกำหนดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ก่อให้เกิดวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่นำไปสู่ Great Reset ได้แก่ วิถีชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น  มีการเปิดรับข้อมูลมหาศาล (Big Data) เชื่อมโยงกับระบบอีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

บริษัทที่ปรึกษาและวิจัย McKinsey ได้คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในช่วงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปี 2564 หรืออย่างช้าที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมของแต่ละประเทศ และความร่วมมือร่วมใจของประชากรในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีสองปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ ความสำเร็จของการผลิตวัคซีน และการที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยปราศจากความหวาดหวั่นต่อยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ณ ปัจจุบัน  

โควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับภาพรวมของโลกในวงกว้าง โดยมีการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 3 โดยในไตรมาสที่ 2 จะเป็นช่วงที่สาหัสที่สุด IMF ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2563-2564 ไว้สูงกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่องค์กรการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่า ปริมาณการค้าโลกจะหายไปถึง 1 ใน 3 เทียบกับปี พ.ศ. 2562  

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีต่อแต่ละประเทศนั้น มีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ภายใต้ 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ระยะเวลาการล็อคดาวน์ ซึ่งขึ้นกับการแพร่ระบาด และความร่วมมือของประชาชน  

2. ระดับพึ่งพาทางเศรษฐกิจ โดยประเทศที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกหรือพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง จะได้รับผลกระทบสูงกว่า

3. พื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจ หลายประเทศขยายตัวในอัตราต่ำมาอย่างยาวนาน บางประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า บางประเทศมีปัญหาหนี้ท่วม ทำให้เศรษฐกิจเปรียบเสมือนผู้ป่วยเรื้อรัง ทำให้อาจฟื้นตัวช้ากว่า

4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นยาแรงที่มีความจำเป็น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

 

ภาพรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ด้านสถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงการคลังรายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยประจำปี พ.ศ. 2563-2564 ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -8.2 ถึง -7.2) หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

1. การดำเนินมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มีการเริ่มเปิดประเทศ

2. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวชัดเจน นำโดยกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ภาคการส่งออกจึงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

3. การควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคประชาชน เอกชน และต่างประเทศ

กระทรวงการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2564 จะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นฟูอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งนี้การประมาณการณ์เศรษฐกิจไทย ต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลกด้วย อาทิ การระบาดระลอกใหม่ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เป็นต้น อย่างไรก็ดีเสถียรภาพการคลังของไทยยังคงอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง

 


ความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดในยุค Next Normal

จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยตามข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าโควิด-19 ได้สร้างปัญหาที่หนักหน่วง และทุกฝ่ายจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้ในระยะเวลาอันสั้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างช้าในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 แต่ผลของโควิดจะทิ้งบาดแผลที่สำคัญไว้คือ พฤติกรรมของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและการจัดการต่างๆ เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเกิดโควิด-19

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าแผนกที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน (Future Tales Lab by MQDC) เปิดเผยว่า โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมดังกล่าว ก็ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสามารถที่จะสร้างโอกาสและความอยู่รอดทางธุรกิจ 

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฯ ได้มองเห็นความสำคัญในพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z และศึกษาพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้แบบลึกซึ้ง เนื่องจากเป็น Gen ที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว และลึกกว่า Gen อื่นๆ เมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด-19

และในแง่ของการตลาด Gen Z ได้กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ ราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปีล่าสุด (2553) ซึ่งระบุว่า กลุ่ม Gen Z เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2540–2555 มีจำนวน 12.6  ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.95 ของประชากรทั้งประเทศที่มีทั้งหมด 66.5 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีกำลังซื้อสูงในยุคต่อไป การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของ Gen Z จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในอนาคต

ศูนย์อนาคตศึกษาฯ ได้ทำการวิจัยล่าสุด (เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2563) พบว่า Gen Z มีคุณลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้ :

1) สนใจประเด็นทางสังคม โดยกว่าร้อยละ 60 ต้องการทำงานในองค์กรที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้แก่สังคมได้

2) เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สนใจ และผ่านสื่อออนไลน์

3) สนใจเศรษฐกิจแบ่งปัน โดยกว่าร้อยละ 66 มีแนวโน้มที่จะเช่าสินค้า โดยไม่ต้องการครอบครองทรัพย์สินถาวร

4) เชื่อเรื่องดวง ให้ความสำคัญกับเรื่องดวง ใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ความนิยม Life Coach เหตุผลคือ ต้องการกำหนดอนาคตตัวเองอย่างชัดเจน

5) รักอิสระ Gen Z ยังต้องการความรัก มีครอบครัว แต่ไม่ต้องการมีลูก เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงนานาชนิดจะเติบโต ถ้าเลี้ยงสุนัขก็ต้องเลือกสรรทั้งอาหาร ขนมขบเคี้ยว แชมพู ฯลฯ

6) รักความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้นงานบริการพื้นฐานต้องเน้นความรวดเร็ว

7) ชอบความยืดหยุ่นคล่องตัวทุกเรื่อง

8) เรียบง่าย แต่มีอัตลักษณ์ (Minimalist with Uniques) อาทิ การเลือกซื้อกระเป๋าผ้าต้องการดีไซน์เรียบง่ายแต่แตกต่าง เป็นกระเป๋าผ้าดิบเหมือนกัน แต่มีคำ (Wording) ที่สะท้อนความเป็นตัวตนและแตกต่าง

ดร.กานดี ระบุว่า Gen Z  เป็นวัยที่เติบโตมาท่ามกลางบริบทการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งสังคมและสภาพแวดล้อมอื่นๆ ทำให้พวกเขามีความใจกว้างที่จะรับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน รวมถึงการยอมรับความแตกต่าง เคารพในคุณค่าตัวตน และไม่แบ่งแยกเรื่องเพศ สนใจและเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ  



ที่มา : Future Tales Lab by MQDC (3 ตุลาคม 2563)


ทั้งนี้นอกจากกลุ่ม Gen Z ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ อีกกลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่ม Gen B หรือกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) โดยตัวเลขจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าประชากรไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 มีกว่า 11 ล้านคน

จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนกลุ่มนี้มี Lifestyle ที่เปลี่ยนไปเช่นกัน อาทิ มีทักษะการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากขึ้น เพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนั้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็จะมีคนกลุ่มนี้เป็นลูกค้ามากขึ้น  

นอกจากนี้โควิด-19 ยังกระตุ้นพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีมากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพจึงน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในคนกลุ่มนี้ โดยธุรกิจอาหาร ต้องเป็นอาหารที่ดูแลสุขภาพ เช่น อาหารออร์แกนิค ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล หรือธุรกิจด้าน Anti-Ageing ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะดูแลภาพลักษณ์ของตนเอง ก็ควรเน้นที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เป็นต้น

ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19 ว่า จากการศึกษาข้อมูลการค้าทั่วโลก อาจจะสรุปได้ว่า ผู้บริโภคทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่บนฐานของความ “กลัว” ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

 

ชีวิตบนฐานความกลัว ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคเหล่านั้นต้องการสินค้าที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับความต้องการเฉพาะบุคคล และสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพเป็นสินค้าที่ต้องการอย่างมากแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าของราคา คือ สินค้าต้องมีทั้งคุณภาพและราคาเหมาะสม ราคาถูกเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ใช่คำตอบ

 

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะนำว่า ผู้ที่ต้องการทำตลาดสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องคำนึงถึง 5 S ประกอบด้วย

1. Safety (ความปลอดภัย)

2. Security (ความมั่นใจ)

3. Sending (การจัดส่งสินค้า)

4. System (การพัฒนาด้วยฐานดิจิทัล และออนไลน์)

5. Story (มีความสนุกด้วยการใส่เรื่องราว ความคิดสร้างสรรค์)

 

ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อรับมือ Next Normal

ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของแผนการตลาด และการบริหารจัดการ

ดร.การดี กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า หัวใจในการปรับเปลี่ยนของผู้ประกอบการ คือการรีเซ็ทเทคโนโลยีใหม่ทั้งระบบ รวมทั้งปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมาย

สิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป คือการปรับตัวเพื่อพลิกฟื้นด้านเงินทุนหมุนเวียน การปรับแผนธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ แผนเชิงรุกในการสร้างแบรนด์ และการสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างรายได้รวมถึงความมั่นคงให้กับธุรกิจทั้งในระยะสั้นและยาว  

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ที่เปิดเสรีให้ผู้ประกอบการนำเสนอข้อมูลสินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรีวิว การนำเสนอข้อมูล การเปรียบเทียบ ทำให้ผู้ซื้อสามารถประเมินสินค้าได้รอบด้าน และเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด

 

กลยุทธ์หนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อเพิ่มยอดขายผ่านออนไลน์ คือการมีคนมาสร้างประสบการณ์ร่วมโดย “การรีวิวสินค้า” จากบุคคลต่างๆ เช่น KOL (Key Opinion Leader), Influener, Blogger, Youtuber เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ดังนั้นการตัดสินใจซื้อจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ “วิธีการซื้อ” ของผู้บริโภคต่างหากที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจ

 

ส่วนการจัดการอื่นๆ เช่นระบบบัญชี ปัจจุบันมีบริษัท Outsource หลายแห่งที่ปรับปรุงระบบของตนเอง เพื่อรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยใช้แพลตฟอร์มบัญชีดิจิทัล ช่วยสรุปภาพรวมธุรกิจ รายรับ รายจ่าย ภาษี ฯลฯ ทำให้คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพขึ้น

 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังควรให้ความสนใจในเรื่องของ AI, Big Data ซึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจด้วย

 

ด้านนายสมเด็จ กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม 3 ด้าน เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของไวรัสโควิด ได้แก่

1. การตั้งรับ

2. การปรับตัว   

3. การหาโอกาส

โดยทั้ง 3 ข้อดังกล่าว สามารถบรรจุไว้ในแผนจัดการในช่วงสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งทุกบริษัทควรดำเนินการในภาวะปัจจุบัน

นายสมเด็จ ยังได้เสนอแนะแนวคิดกลยุทธ์แผนจัดการในสภาวะฉุกเฉิน CBS Reform Business Model ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีพิจารณานำไปใช้เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ  นั้นคือกลยุทธ์ปรับปรุง 5 ด้าน ประกอบด้วย

Retool คือ ธุรกิจต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงานมากขึ้น

Re-Target คือ การเป็นกลุ่มเป้าหมายลูกค้าใหม่

Re-Business คือ การเปลี่ยนรูปแบบการหารายได้ใหม่ๆ

Re-Process คือ การเปลี่ยนกระบวนการบริหาร

Reunite คือ การหาเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า

ทั้งนี้การทำแผนธุรกิจในภาวะฉุกเฉิน ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละบริษัทว่ามีรายละเอียดอย่างไร แต่หลักการคือต้องมีแกนทั้ง 5 ด้านข้างต้น


โอกาสทางธุรกิจใหม่ในยุค Next Normal

แม้จะมีการคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงต่อไปอีกนานนับปี แต่ก็สิ่งที่น่ายินดีสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยกระทรวงการคลัง ระบุเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ว่า Fitch Ratings ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งการที่ประเทศไทยยังได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดิมท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง และแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพ   

ทั้งนี้จากข้อมูลแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจข้างต้น น่าจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ พร้อมปรับตัวเพื่อให้ผ่านสถานการณ์นี้ไป ขณะเดียวกันก็ต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส มองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจในอนาคตด้วยเช่นกัน

จากงานวิจัยของบริษัท Mckinsey เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 (รายงานเดือน มิ.ย. 2563) เป็นงานวิจัยที่จุดประกายความคิดเกี่ยวกับโอกาสใหม่ของธุรกิจ โดยระบุว่า สถานการณ์โควิดได้ช่วยเร่งกระแสการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในวิถีชีวิต 8 ด้าน ได้แก่

1. ผู้คนจะประสบกับการว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อลดลง

2. การช้อปปิ้งและการบริโภค แบบอีคอมเมิร์ซจะโตเร็วมาก

3. การเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

4. การใช้ชีวิตที่บ้านมากขึ้น

5. การสื่อสารและการรับข้อมูล ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

6. ความบันเทิงต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่นสตรีมมิ่ง ได้รับความนิยม

7. การท่องเที่ยว การเดินทางภายในประเทศจะสูงขึ้น

8. สุขภาพและความเป็นอยู่ เน้นการกินดีอยู่ดีแบบห่วงใยสุขภาพ เช่น เน้นอาหารออแกนิกส์ ใช้บริการร้านขายยาออนไลน์ บริการทางการแพทย์ออนไลน์ เป็นต้น


ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าว มีข้อแนะนำในการปรับตัวทางธุรกิจ ตามภาพรวมของพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกกลุ่ม ภายหลังโควิด-19 ได้แก่

ธุรกิจต้องคิดถึง Trend สุขภาพ สาเหตุเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค Next Normal มีความวิตกกังวลเรื่องสุขภาพ (Anxious about Health) จึงมีแนวโน้มจะดูแลป้องกันสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม Telehealth & Telemedicine จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาและการตรวจรักษาเบื้องต้น จากแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง

ธุรกิจต้อง Local ธุรกิจต้องมองการทำธุรกิจที่พึ่ง Local Market มากขึ้น ปรับตลาดและใช้ Supply chain ในประเทศมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาต่างประเทศ เช่นบริษัทไฟรเฟนเดอร์ จำกัด ได้ปรับตลาดโช๊คอัพจากต่างประเทศ มาขายในประเทศ สร้างพันธมิตรกับอู่รถยนต์ในจังหวัดต่างๆ https://bit.ly/37vQ0bC

ธุรกิจต้องใช้ technology และตรวจสอบได้ อาทิ อุปกรณ์และวิธีการเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น หุ้นยนต์อัตโนมัติ ระบบเซนเซอร์ การทำเกษตรปลอดภัย อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น Plant based food หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มคุณค่า

ธุรกิจต้องรักษ์โลก ปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจนี้ คือการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น รองเท้า allbirds รองเท้าที่พวกเขาผลิตเกือบ 100 % มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นขนแกะ เปลือกต้นยูคาลิปตัส อ้อย น้ำมันละหุ่ง ตลอดจนกระดาษลังรีไซเคิล ในขณะที่วัสดุสังเคราะห์ที่จำเป็นต้องใช้ พวกเขาก็เลือกใช้วัสดุรีไซเคิล เช่น พลาสติกที่ทำมาจากขวดรีไซเคิล แทน

ธุรกิจต้องเข้าใจ ต้องคิดมากกว่าการผลิต ต้องคิดถึงการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของ E-commerce แม้จะผ่านช่วงล็อคดาวน์ แต่ผู้บริโภคก็ใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น เช่น การขนส่งระยะสั้น  (Last-mile delivery) แพคเกจจิ้ง และการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อนึ่งวิถีการบริโภคก็จะเปลี่ยนชัดเจน Mass consumption ลดลง มีความเป็นพรีเมี่ยมมากขึ้น  

 

บทสรุป

จากผลวิจัยและการประเมินสถานการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลก มีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจนับจากนี้ ขณะที่การจัดลำดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยก็อยู่ในระดับดี สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สรุปว่าไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน และกระทรวงการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่จะได้เตรียมพร้อมกับการแข่งขัน นอกเหนือจากการตั้งรับ ปรับมุมมอง เปิดใจ และหาโอกาส เพื่อพัฒนาแบรนด์ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี หรือเครื่องมือดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลมหาศาล (Big Data) โดยกล่าวได้ว่าดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการแตกต่างจากคู่แข่งอีกต่อไป แต่คือความจำเป็นพื้นฐานในการอยู่รอดหลังการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไปและแตกต่างจากเดิมอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโควิด ผนวกกับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายในอนาคต คือ Gen Z ซึ่งนับเป็นการก้าวกระโดดสู่ยุคที่เรียกว่า Digital Transformation ดังนั้นจากอดีตที่สินค้ามีเพียงคุณลักษณะพื้นฐานและบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่ผู้บริโภคเข้าถึง ก็สามารถดึงความสนใจให้ตัดสินใจซื้อได้แล้วนั้น แต่สำหรับยุค Next Normal ไม่เพียงพออีกต่อไปจำเป็นต้องมีการพัฒนาแบรนด์เพิ่มใน 4 ด้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1. การพัฒนาโลโก้และสโลแกน

2. คุณค่าของสินค้าและบริการ  

3. การแสดงออกเพื่อสะท้อนตัวตนและความคิดของแบรนด์

4. แก่นแท้ที่เป็นหลักการและปรัชญาเบื้องหลังของการทำธุรกิจ  

ทั้งนี้การสร้างภาพลักษณ์และตัวตนที่แตกต่าง ต้องชูอัตลักษณ์ที่เฉพาะเจาะจง และต้องมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย และที่ลืมไม่ได้คือการสร้างประสบการณ์ร่วมให้กบผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความประทับใจและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

ดังนั้นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นอกจากต้องปรับตัวพลิกฟื้นเงินทุนหมุนเวียน ปรับแผนธุรกิจ ต้องมีแผนเชิงรุกในการสร้างสรรค์แบรนด์และการสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนด้วย

ด้านการแสวงหาโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็มีช่องว่างให้ก้าวเดินหลากหลาย จากอดีตโอกาสเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น วิกฤตครั้งนี้เปิดช่องว่างให้ธุรกิจใหม่ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนั้นการให้ความสนใจกับวัตถุดิบในท้องถิ่นมากขึ้น เป็นโอกาสให้แบรนด์ท้องถิ่นเกิดและเติบโตได้

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องและโดดเด่น หลังสถานการณ์ระบาดของโควิด ได้แก่ อุตสาหกรรมสุขภาพ อาหาร พลังงานสะอาดและโลจิสติคส์ ซึ่งจะสอดคล้องกับการเติบโตของอี คอมเมิร์ซด้วย


ดัชนีแหล่งอ้างอิง

https://www.worldbank.org/

https://www.mckinsey.com/

http://www.dop.go.th/

http://www.fpo.go.th/

https://e-journal.dip.go.th/

https://web.tcdc.or.th/

https://www.dmh.go.th/

https://www.mckinsey.com/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1226 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1585 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1872 | 25/01/2024
โมเดลธุรกิจใหม่ บนเส้นทางสาย “Next Normal”