หลายคนแนะว่าให้เกษตรกรขายออนไลน์ ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สร้างอำนาจการต่อรองและเป็นการผลิตส่งต่อให้ผู้บริโภคโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง แต่เชื่อว่าหลายๆ คนยังทำไม่เป็น หรืออาจทำเป็นแต่อาจไม่ครบถ้วนตามแบบฉบับการขายออนไลน์ที่แท้จริง โดยในบทความนี้เลยอยากแนะนำว่าจะดีกว่าไหม หากในวันนี้คุณจะลงมือเปลี่ยนจากวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ มาเป็นโอกาสเริ่มต้นเกษตรอย่างยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่บนโลกออนไลน์ ให้ซื้อง่าย ขายคล่อง ไม่ต้องง้อคนกลางด้วยวิธีที่เรานำมาฝากเหล่านี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. ทำความรู้จักกับสินค้าของคุณให้มากขึ้น
เริ่มต้นด้วยการรู้จักสินค้าของตัวเองอย่างแท้จริง
ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรจากมือของเกษตรกรมักจะเป็นผลผลิตที่ไม่ผ่านการแปรรูป หรือผ่านการแปรรูปในขั้นต้นเท่านั้น
จึงอาจยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากนัก หรือสร้างความแตกต่างในตลาดได้
ดังนั้นควรศึกษาจุดเด่นของสินค้า และมุ่งพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ หาจุดทำการตลาดและสื่อสารกับผู้บริโภคให้ตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น
หรือที่เรียกว่าการสร้าง ‘สตอรี่’ เพราะการนำเสนอสินค้าเหมือนๆ กันมาขายในตลาดออนไลน์ที่กว้างใหญ่
จำเป็นที่จะต้องมีจุดเด่นให้เขาจดจำหรือแตกต่าง
ยกตัวอย่าง
เช่น มะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิกราชบุรีสวนลุงขจร น้ำหอมเนื้อหวาน สดใหม่จากสวนทุกวัน ฟังดูเป็นสโกแกนทั่วไป
แต่ถ้าทำให้คนรู้จักและพูดกันติดปากได้นี่คือความสำเร็จขั้นแรก รวมทั้งการออกแบบสัญลักษณ์แบรนด์หรือโลโก้โดดเด่น, ยกว่าเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัดที่เพาะปลูก,
มีการยกระดับในแง่บรรจุภัณฑ์หรือการแปรรูปอย่างไร, การจัดการภายในฟาร์มเหนือกว่าฟาร์มอื่นอย่างไร ฯลฯ
2. รู้ตลาดว่าควรจะขายที่ไหน
สิ่งที่ควรคิดก่อน
คือปลูกแล้วขายให้ใคร ใครเป็นลูกค้าของเรา วางแผนไว้เลยว่าจะอยากได้ลูกค้าแบบไหน
ซึ่งการตลาดแบบออฟไลน์ที่เราไปเดินซื้อของกัน อาจจะมีพื้นที่จำกัดให้เราได้เดินดูของทั่วถึง
แต่ตลาดออนไลน์นั้นกว้างใหญ่มากๆ เพราะอาจจะไม่ใช่แค่คนในอำเภอ จังหวัด
หรือประเทศมาเลือกซื้อ แต่อาจจะเป็นคนชาติอื่นทั่วโลกก็เป็นได้ ดังนั้นการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายจึงสำคัญเพื่อที่คุณจะสามารถผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการ
เช่น ขายมะละกอให้กับคนรักสุขภาพ ขายทุเรียนให้คนจีน
ขายเมล่อนให้กับกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงแต่ต้องการของพรีเมี่ยม
ซึ่งข้อดีของตลาดออนไลน์คือเราเข้าไปได้ทุกที่
โดยศึกษาว่าตลาดออนไลน์แพลตฟอร์มไหนถึงจะมีกลุ่มเป้าหมายคุณมาพบเจอ
ถ้าให้ตรงกลุ่มก็อาจจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ เช่น greenspace.market, DGTFarm, kasetguru,
Lazada ฯลฯ และโพสต์ตามโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Page,
Facebook Group, Twitter ฯลฯ เพิ่มเติม แต่ทั้งหมดทั้งมวลคุณต้องทราบก่อนว่าผลิตเพื่อขายใคร
แล้วทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งในปัจจุบันนิยมมากคือขายผ่าน Facebook IG และ LINE@
ที่สามารถโฟกัสลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้แถมมีค่าใช้จ่ายต่ำ
และเรียนรู้ได้ง่ายอีกด้วย
3. หาวิธีรักษาความสดของสินค้าจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค
ต้องเข้าใจว่าทำไมผู้บริโภคถึงเลือกซื้อสินค้าเกษตรใน
Super Market หรือตลาดใกล้บ้านมากกว่าทางออนไลน์
เพราะสะดวกและได้ของสดใหม่ ซึ่งในเรื่องความสะดวกการสั่งผ่านออนไลน์ย่อมได้เปรียบ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคงไม่กล้าไปเดินตลาดเท่าไหร่
แต่เรื่องความสดใหม่นี่สิที่เป็นโจทย์สำคัญให้เกษตรกรทุกท่านต้องคิดต่อว่า
จะทำอย่างไรสินค้าเกษตรถึงจะสะอาด สด ใหม่ จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค
เพราะบางครั้งอาจจะเจอปัญหาระหว่างขนส่ง
เช่น น้ำหนักลดลง เน่าเสีย ฯลฯ ควรจะต้องหาวิธีการเตรียมขนส่งเบื้องต้น
อย่างการหาองค์กรที่รองรับการขนส่งสินค้าเกษตรและใช้เวลาในการขนส่งไม่นาน
และใช้วิธีการแพคที่เหมาะสม เช่น เลือกขนาดกล่องที่มีความพอดีและหนา 5 มม. ขึ้นไป,
มีตัวช่วยห่อกันช้ำสำหรับผลไม้เปลือกบางช้ำง่าย, แพคให้แน่นหนาและภายในไม่มีช่องว่างให้ผลิตผลขยับไปมา ฯลฯ
4. จัดเตรียมคอนเทนต์ทั้งเนื้อหาและภาพให้โดนใจ
ศัพท์การตลาดยุคนี้บอกว่า
Content is King ด้วยเหตุนี้การทำเรื่องราวเพื่อสื่อสารกับลูกค้า
จึงเป็นสิ่งชี้วัดว่าสินค้าคุณจะปังแค่ไหน ซึ่งถ้าเปรียบแพลตฟอร์มสำหรับลงขายเหมือนหน้าร้าน
การจัดเตรียมเนื้อหาและภาพสินค้าให้สวยโดนใจ ก็เหมือนการคัดสรรสินค้ามาวางบนเชลฟ์เพื่อดึงดูดใจให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อสินค้า
ในส่วนของเนื้อหาควรจะมีคำสำคัญหรือคีย์เวิร์ดที่ใช้ในการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต
เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมาเจอสินค้าของคุณ
สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการตลาดมากนัก
อาจจะใช้วิธีการสื่อสารในรูปแบบท้องไร่ปลายนา มีความ Local สะท้อนวิถีเกษตรเรียบง่าย
แต่เข้าถึงความรู้สึกคนส่วนใหญ่ หรือการจะเคลมว่าเป็นของมีคุณภาพก็ต้องทำคอนเทนต์ให้เห็นว่าขั้นตอนที่พิถีพิถัน
หรืออาจมีแฮชแท็กประจำร้านเพื่อสร้างการจดจำ ฯลฯ และเนื้อหาควรมีความน่าสนใจ
ผู้พบเจอได้ประโยชน์จากเนื้อหาในโพสต์ ไม่ใช่โพสต์ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว เช่น
ข้อมูลของสินค้าเกษตรของคุณ ประโยชน์ต่อผู้บริโภค ให้ความบันเทิงสนุกสนาน ฯลฯ
นอกจากนี้ ภาพที่ใช้ควรจะสวยงาม หรืออย่างน้อยก็ต้องเห็นภาพสินค้าที่จะขายชัดเจน
เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจของลูกค้า
5. วางแผนการตลาดให้เหมาะสม
แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะต้องเริ่มต้นทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
แต่เราขอแนะนำให้คุณลองวางแผนการตลาดในแต่ละเดือนบ้าง เช่น
การติดต่ออินฟลูเอนเซอร์/ร้านค้า/เพจต่างๆ
เพื่อช่วยโปรโมตให้คนรู้จักสินค้าของคุณ, มีการจัดโปรโมชั่นลด-แลก-แจก-แถมตามความเหมาะสม,
ปรับปรุงบริการใหม่ๆ ให้น่าสนใจ อย่างการจัดกระเช้าเป็นของขวัญตามเทศกาล
หรือบริการเดลิเวอร์รี่ส่งในจังหวัดภายใน 24 ชั่วโมง ฯลฯ
นอกจากนี้
ก็ต้องหาช่องทางการติดต่อที่ทั้งทางเกษตรกรและผู้บริโภคสะดวก
ซึ่งคงจะหนีไม่พ้นโซเชียลมีเดีย อย่างแอปพลิเคชั่น Facebook IG หรือ LINE@ แน่นอน (อาจจะทิ้งเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อได้สะดวกทันใจด้วยก็ได้) และช่องทางการชำระเงินก็ควรสะดวก อย่างโอนผ่านธนาคาร
หรือชำระเงินสดปลายทาง แต่ไม่แนะนำให้รับชำระเงินสดปลายทาง ถ้าไม่ได้ส่งสินค้าถึงมืออีกฝ่ายภายใน
1-2 วัน เพราะเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธไม่รับสินค้าและเกิดการขาดทุนได้
โดยทั้ง
5 ข้อนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการเริ่มต้นขายสินค้าเกษตรออนไลน์ให้ปังได้ โดยที่คุณเองอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการโปรโมทสินค้ามากมาย
เพราะยุคนี้คนไม่เชื่อโฆษณา แต่เชื่อรีวิว เชื่อคนดัง เชื่อเพื่อน
เชื่อที่เขาเล่าว่า เชื่อตามกระแส และอยากจะพิสูจน์ด้วยตัวเอง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศเช่นที่จีน มีเกษตรกรจ้างคนดังหรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์
มารีวิวหรือไลฟ์สดขายสินค้า ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เรื่องนี้เกษตรกรเองก็สามารถทำได้
อาทิใช้การไลฟ์สดขายสินค้าในเฟซบุ๊กของตนเอง หรือทำคลิปวิดีโอในช่องทาง Youtube เพื่อแนะนำหรือขายสินค้าและทำง่ายมากๆ
แค่มีอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตามอย่าลืมรีบเริ่มต้นศึกษาและลองลงมือทำเกษตรออนไลน์ เพื่อให้ซื้อง่าย ขายคล่อง และรู้จักการต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดความเหมาะสม ไม่มุ่งเน้นในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ที่สำคัญเปิดรับสิ่งใหม่และศึกษาความต้องการของลูกค้าเสมอๆ ก็จะทำให้การขายสินค้าเกษตรออนไลน์ปังมากยิ่งขึ้น
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<