Age-Related Macular Degeneration (AMD) หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตาพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุ ทำให้มองเห็นมัว เห็นภาพบิดเบี้ยวโดยเฉพาะส่วนกลางของภาพ เนื่องจากจอประสาทตาถูกทำลาย ซึ่งส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิตและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมีการเปรียบเทียบว่าคุณภาพชีวิตที่ลดลงของผู้ป่วยโรค AMD เทียบเท่าได้กับผู้ได้รับรับบาดเจ็บจนกระดูกสันหลังหัก รวมไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV : human immunodeficiency virus) ในระยะที่แสดงอาการ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกเป็น
2 ประเภท
1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD)
มีจุดสีเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของประสาทตาซึ่งเรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) สะสมอยู่ใต้จอประสาทตา โดยจุดสีเหลืองนี้จะทำลายเซลล์รับแสงนำไปสู่การมองเห็นที่บิดเบี้ยว
โรคมักแสดงอาการอย่างช้าๆ ในบางกรณีอาจกลายเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้
2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) พบเพียง 10
เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เกิดจากเส้นเลือดฝอยด้านหลังจอประสาทตาผิดปกติ
ซึ่งมีของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างมากทั้งแบบถาวรและเฉียบพลัน
อาการจอประสาทตาเสื่อม
จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพเบลอและจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ
เมื่อเวลาผ่านไปจุดดำในภาพจะเริ่มขยายใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น
ทำให้อ่านหนังสือลำบากหรือมองเห็นรายละเอียดไม่ชัด
จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพบิดเบี้ยว พร่ามัว
เห็นจุดดำขนาดใหญ่ในภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลือดไหลไปอยู่ในจุดรับภาพ
อาการโดยทั่วไปที่เหมือนกันของ AMD ทั้ง 2 ประเภท
- มองภาพบิดเบี้ยว
- มองในที่สว่างไม่ชัด หรือแพ้แสง
- ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้
- สูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตามัว
มีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ
- เห็นสีผิดเพี้ยน
สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นไปตามวัย
สาเหตุเกิดจากจุดรับภาพซึ่งอยู่ตรงกลางจอประสาทตามีปัญหา
โดยจุดรับภาพนี้เป็นจุดที่มีความไวต่อแสง ช่วยในการมองเห็นสิ่งต่างๆ
ให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดของจอประสาทตา
จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง
เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น
อาจมีของเสียสะสมอยู่ในจอประสาทตา หรือเซลล์รับแสงในจุดรับภาพมีจำนวนน้อยลง
การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้
จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
เส้นเลือดฝอยเกิดใหม่ใต้จุดรับภาพขยายจำนวนมากขึ้น
ถ้าเส้นเลือดฝอยก่อตัวผิดตำแหน่ง ทำให้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะของเหลวในเส้นเลือดจะไหลซึมเข้าตา
ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของบริเวณจุดรับภาพลดลง
เหตุผลที่ PM2.5 อาจก่อให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม
ถึงแม้ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดโรค AMD คือ ‘การสูงวัย’
แต่ก็มีปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ การสูบบุหรี่,
ภาวะ Metabolic Syndromes, การได้รับแสงจ้าเป็นระยะเวลานาน,
ความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานที่พบว่าฝุ่น PM2.5
และมลพิษทางอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค AMD
จากการศึกษาของ Sharon และคณะในปี 2020 ด้วยเทคนิคการเปรียบเทียบภาพถ่ายดวงตาในชั้นเรตินา (retina) จากกลุ่มตัวอย่าง 51,710 คน ในช่วงอายุ 40 - 69 ปี เทียบกับข้อมูลการได้รับมลพิษทางอากาศในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) พบว่า การได้รับ PM2.5 และมลพิษทางอากาศ
เช่น สารในกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen Oxides)
ในปริมาณมากจะพบลักษณะที่แย่หรือไม่แข็งแรงของโครงสร้างชั้นเรตินา โดยมีกลไกคือ PM2.5 ที่ได้รับจากการสูดดมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและสะสมไว้
สามารถแพร่เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ผ่านแนวกั้นเลือดและสมอง (Blood-Brain Barrier) เข้าสู่ระบบประสาทได้
ซึ่งรวมถึงชั้นเรตินาที่จัดเป็นส่วนหนึ่งของระบบประสาท เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ Oxidative Stress และกระบวนการอักเสบในชั้นของเรตินา
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่รายงานว่าฝุ่น PM อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายของเซลล์ในระบบประสาท
ซึ่งก่อให้เกิดโรค AMD แล้ว
ยังอาจรวมไปถึงโรคตาอื่นๆ เช่น โรคต้อหินด้วย
โรคจอประสาทตาเสื่อมยังไม่สามารถป้องกันที่ได้ 100% แต่มีวิธีช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้ โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
เช่น ออกกำลังกายให้เพียงพอ รับประทานอาหารดีต่อร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีฝุ่น
PM2.5 และมลพิษทางอากาศสูง รวมทั้งหมั่นป้องกันดูแลสุขภาพตนเอง
เช่น ใช้เครื่องฟอกอากาศ ใส่หน้ากากป้องกัน หากรู้สึกมีปัญหาด้านการมองเห็น
ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์หรือเภสัชกร เพื่อรับการรักษาทันท่วงที
ซึ่งจะช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็น
แหล่งอ้างอิง :
https://www.bangkokhospital.com/
https://pharmacy.mahidol.ac.th/