โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’

SME Update
02/09/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 11436 คน
โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’
banner

เป็นที่ฮือฮาไปทั้งบางกับปรากฏการณ์ยางโลกขาดตลาด ซึ่งเป็นการทำงานของกลไกการตลาด จากกำลังการผลิตที่ลดจำนวนลงเพราะราคาไม่จูงใจ ในขณะที่ขั้นตอนการผลิตยุ่งยาก ได้เงินช้ากว่าการขายน้ำยางสด จึงทำให้ปริมาณการผลิตยางแผ่นในท้องตลาดลดลงไป ท่ามกลางกระแสของการโค่นต้นยางหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ประกอบกับการหยุดชะงักของตลาดยางล้อและผลิตภัณฑ์จากยางพารา และแรงงานกลับบ้านในช่วงล็อกดาวน์ทำให้สต็อกขาด ยางแผ่นจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เริ่มกลับคืนสู่ปกติ

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 1 ก.ย. 2563 ใสส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลาง ยางพารายางแผ่นดิบอยู่ที่ 55.39 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 60.05 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคา FOB อยู่ที่ 62.90 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคายางมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นอเมริกาบวก เงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ราคาเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

นายสมพร เต็งรัง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด ประเมินว่า ราคายางที่เพิ่มขึ้นมานั้นยังไม่หวือหวามากนัก สาเหตุที่ยางแผ่นขาดตลาด เนื่องจากราคายางแผ่นรมควันต่างจากน้ำยางสดแค่ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนของการนำน้ำยางสดไปผลิตเป็นยางแผ่นรมควันไม่ต่ำกว่า 6 บาท/กิโลกรัม เพราะถ้านำน้ำยางไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบ หรือแผ่นรมควันขาดทุน บวกกับแรงงานขาดแคลนเนื่องจากติดโควิด 19 ทำให้แรงงานยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ หลายองค์ประกอบจึงทำให้ยางแผ่นดิบ และแผ่นรมควันขาดตลาด

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง เกษตรกรส่วนหนึ่งได้โค่นยางไปปลูกชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ประกอบกับยางในพื้นที่ภาคใต้ของไทยต้องเจอกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ปริมาณยางในตลาดลดลง ขณะเดียวกันสต็อกยางในต่างประเทศหลายประเทศเริ่มเอาออกมาใช้ ทำให้ปริมาณสต็อกยางก็ลดลง ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อราคายางพารา

โดยในช่วงที่เกิดโควิด ความต้องการใช้น้ำยางสดจากถุงมือยางในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. มีราคาสูงขึ้นกว่าราคาน้ำยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาปริมาณน้อยอยู่แล้วได้ใช้น้ำยางสดเข้าไปโรงงานน้ำยางข้น ทำให้ปริมาณการผลิตเป็นยางแผ่นดิบลดลงไปด้วย บวกอานิสงส์แล้งยาว ส่งผลทำให้ยางแผ่นรมควันหายไปจากตลาด 2 เดือนเต็ม จากราคาน้ำยางแพง แต่ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบ ราคาเริ่มกลับมาจะทำให้ชาวสวนยางหันกลับมาทำยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น ตลาดจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ยางแผ่นรมควันนับเป็นการแปรรูปยางขั้นพื้นฐานจากน้ำยางดิบ เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขั้นต่อไป เช่น ยางรถยนต์ ที่มีการใช้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ยางรัดของ ยางลบ ท่อยาง และยางพื้นรองเท้า เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก โดยร้อยละ 95 ของผลผลิตจะถูกส่งออก ที่เหลืออีกร้อยละ 5 ใช้ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันถึงร้อยละ 52 ปริมาณการใช้ยางในประเทศในแต่ละปีอยู่ในระดับประมาณ 4-5 หมื่นตัน ในขณะที่มีการส่งออกถึงกว่าล้านตันต่อปี

 

แนวโน้มสถานการณ์ยางพาราไทย

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ จากการผลิตเพื่อส่งออกกว่าร้อยละ 80 และยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) จึงถูกกำหนดราคาจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ไทยจำต้องยอมรับราคาตามกลไกลการตลาด ดังนั้นเมื่อยางแผ่นมีการผลิตน้อยลง ท่ามกลางน้ำยางที่ถูกนำส่งไปแปรรูปเป็นถุงมือยาง ภัยแล้ง โรคระบาดและการลดพื้นที่ปลูก ย่อมทำให้ปริมาณความต้องการใช้สวนทางกับกำลังการผลิต

จากสถานการณ์ด้านราคายางพาราที่ยังคงตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2554 ถึงปัจจุบัน จากอุปทานส่วนเกินของประเทศ และผลผลิตส่วนเกินของโลก 2.2 แสนตัน ในปี 2554 และ 6.4 แสนตัน ในปี 2556 ในขณะที่ผลผลิตยางของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตของประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามที่เพิ่มขึ้นตามมา ทำให้ราคายางต่ำดิ่งลงจากยุคทองที่เคยจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท อาจจะไม่หวนกลับมาแล้วในปัจจุบัน แม้แนวโน้มราคายางพาราจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อยก็ตาม

ปัจจุบันราคายางในไตรมาส 2/2563 ช่วงต้นไตรมาสได้รับปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด รวมทั้งทิศทางราคายางตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง Downtrend และอุปสงค์ยางลดลง จากการปิดโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในอเมริกา ยูโรโซน และบางกิจการในไทย

ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถส่งออกยางได้ช่วงกลางไตรมาส หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และอยู่ในทิศทางเดียวกับสัญญาณตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ รวมทั้งค่าเงินบาท และค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง ทำให้ราคายางในช่วงต้นไตรมาส 2/2563 ปรับตัวลดลงแรงจากปัจจัยกดดันก่อนฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส

สถานการณ์การส่งออกยางพาราเดือน ม.ค.-ก.พ. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตยานยนต์ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนและยางล้อ รวมไปถึงความต้องการถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะราคาน้ำยางข้น ซึ่งการส่งออกน้ำยางข้นขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.69 และถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการนำไปผลิตถุงมือยาง ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลกในขณะนี้

โดยตลาดหลักในการส่งออกยังคงเป็นประเทศจีนร้อยละ 41.09, มาเลเซียร้อยละ 13.82, ญี่ปุ่นร้อยละ 8.56, สหรัฐอเมริการ้อยละ 7.21 รวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.68 สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ลัตเวียร้อยละ 255.33, อินโดนีเซียร้อยละ 144.37, จีนร้อยละ34.37, ไต้หวันร้อยละ 26.71

ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งที่เป็นผู้ส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นอันดับ 1 ของโลกที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง และเป็นที่ยอมรับระดับโลก รวมถึงมีหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร และเกษตรกร ผู้ประกอบการยางพาราไทย มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ก็ยังมีอุปสรรคและจุดอ่อนที่น่าห่วงกังวลอยู่มาก ดังนั้นการที่คิดจะกระโดดลงมาเล่นยางพาราควรคิดวิเคราะห์หาลู่ทางให้ดี อย่าทำกระแสโดยไม่ศึกษาข้อมูลว่าสถานการณ์ที่ทำให้ราคายางพาราไม่สดใสมาเป็น 10 ปี นั้นมีผลมาจาก

1. ไทยยังมีการพึ่งพาการส่งออกยางพาราเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่น ปัญหาสงครามทางการค้า โรคระบาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปตลาดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน

2. ราคายางพาราอ้างอิงจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้มีการเก็งราคาและแทรกแซงราคา จนเกิดความผันผวนของราคาสูง ซึ่งไม่สะท้อนกับความเป็นจริง

3. ราคายางพารายังอ้างอิงจากราคาน้ำมันโลก จึงเกิดความผันผวนของราคาสูงและอยู่เหนือการควบคุมได้

4. กลุ่มประเทศ CLMV หันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะอุปทานยางพาราโลกเกินกว่าอุปสงค์

5. ต้นทุนการผลิตและการส่งออกไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน (ต้นทุนแรงงานและพลังงาน) เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม

6. ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่า ส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

7. ปัญหาการชำระเงิน และการยกเลิกสัญญาของกลุ่มลูกค้าบางราย

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.thansettakij.com/

https://www.rubber.co.th/

https://www.ditp.go.th/ 



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


วิกฤติโควิด คือ โอกาสส่งออก "ถุงมือยาง"

ตลาดเฟอร์นิเจอร์จีนยังไม่ฟื้น ทุบส่งออกไม้ยางพาราไทย


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

Personal Branding สําหรับเจ้าของธุรกิจ SME: ทําอย่างไรให้คุณเป็นที่จดจําในวงการธุรกิจ

กระแสการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้แนวคิดเรื่อง Personal Branding ถูกนำมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะในวันนี้ที่โลกมีคนเก่งเกิดขึ้นมากมาย…
pin
14 | 17/04/2025
สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

สาย SME ต้องรู้ไว้! AI คืออะไร ทำงานอย่างไร พร้อมตัวอย่าง AI สำหรับใช้ปั้นธุรกิจให้โต

แนวโน้มการใช้ AI และประโยชน์ต่อการเติบโตของ SMEในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจ…
pin
14 | 16/04/2025
ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

ทรัมป์ขึ้นภาษี 37% กระทบอะไรบ้าง และ SME ไทยต้องปรับตัวยังไง?

Topic Summary: นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ต่อการค้าโลก มาดูกันว่าเหตุการณ์นี้กระทบ…
pin
16 | 11/04/2025
โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’