4 ข้อควรรู้ เพื่อการใช้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ อย่างได้ผลและปลอดภัย
ปัจจุบันได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดของการใช้ฟ้าทะลายโจร
เพื่อบรรเทาอาการของโรคหวัดและการใช้เพื่อรักษาโรคโควิด 19
ในประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564
และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 120 ง วันที่ 4 มิถุนายน 2564 หน้า 46
- 47)
โดย ‘ฟ้าทะลายโจร’ เป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่โบราณ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Andrographis paniculata และมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ Andrographolide ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ฟ้าทะลายโจรเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีความสำคัญว่าควรจะใช้ฟ้าทะลายโจรอย่างไรให้ได้ผลและปลอดภัย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. ข้อบ่งใช้ของฟ้าทะลายโจร
- การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคโควิด 19
ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง ให้แบ่งรับประทานในขนาดที่มีปริมาณสารสำคัญ
คือ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน
โดยแบ่งให้รับประทานวันละ 3 ครั้ง (ครั้งละ 60 มิลลิกรัม) หลังอาหาร เช้า กลางวัน
และเย็น ติดต่อกันนาน 5 วัน
- การใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อโควิด
19 แต่ไม่มีอาการ ให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในขนาดที่มีปริมาณสารสำคัญ คือ Andrographolide
60 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้รับประทานวันละ 3 (ครั้งละ 20
มิลลิกรัม) หลังอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกันนาน 5 วัน
- ในปัจจุบันไม่มีข้อแนะนำให้ใช้ฟ้าทะลายโจรในการป้องกันโรคโควิด
19 เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการยืนยันว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด
19 ได้
- การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน
ให้ใช้สารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ Andrographolicde 10
มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน เว้น 2 วัน และใช้ต่อเนื่องกันไม่เกิน 12
สัปดาห์
- การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการของโรคหวัด
เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูกไหล โดยให้รับประทานในขนาดที่มีปริมาณ Andrographolide
60-120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
(ครั้งละ 20-40 มิลลิกรัม) ทั้งนี้ในบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับปี
พ.ศ. 2554 ได้ระบุข้อห้ามใช้ว่า
ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอจากติดเชื้อ Streptococcus group A และห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยดังต่อไปนี้ เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อ
Streptococcus group A, ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียและมีอาการรุนแรง
เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง และหนาวสั่น และผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูมาติก
นอกจากยังมีข้อแนะนำว่าหากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน
3
วันแล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยาควรหยุดใช้และพบแพทย์
2. ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจร
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
เพราะอาจทำให้ทารกวิกลรูปได้
- ห้ามใช้ผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร
หากใช้แล้วมีอาการแพ้ เช่น เกิดผื่น หน้าบวม ริมฝีปากบวม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์
- ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต
3.
รับประทานฟ้าทะลายโจรแล้วอาจเกิดอาการใดบ้าง?
- อาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงที่พบได้บ่อยจากการใช้ฟ้าทะลายโจร
ได้แก่ อาการทางระบบทางเดินอาหารและระบบผิวหนัง เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้
เบื่อ อาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้
- อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงจากฟ้าทะลายโจร
คิดเป็นประมาณ 103 คนต่อ 1,000 คน กล่าวคือในผู้ที่รับประทานฟ้าทะลายโจร 1,000 คน
จะมี 103 คนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรง
- การรับประทานฟ้าทะลายโจรเป็นเวลานาน
อาจทำให้มีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง หรือรู้สึกหนาวเย็นภายใน
- อาการรุนแรงที่สามารถพบได้จากการใช้ฟ้าทะลายโจร
ได้แก่ Anaphylactic Reaction
ซึ่งเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆ
ภายในร่างกายพร้อมกัน ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
- อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากฟ้าทะลายโจรคิดเป็น
0.02 ต่อ 1,000 คน กล่าวคือ ในผู้ที่รับประทานฟ้าทะลายโจร
100,000 คน จะมี 2 คนเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
4.
ควรระวังการรับประทานฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาใดบ้าง?
- ยากันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulant
Drugs) เช่น Warfarin
- ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelet
Drugs) เช่น Aspirin, Clopidogrel
- ยาลดความดัน (Antihypertensive Drugs) เพราะเสริมฤทธิ์กันอาจทำให้หน้ามืดได้ ยาที่มีกระบวนการเมทาบอลิซึมผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ CYP1A2, CYP2C9 และ CYP3A4 ส่งผลให้ยาเหล่านี้อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ออกฤทธิ์ได้นานขึ้น หรืออาจเกิดผลข้างเคียงที่มากขึ้นได้ ดังตัวอย่างแสดงในตาราง
แหล่งอ้างอิง :
https://pharmacy.mahidol.ac.th/