แนวทางสู่การเป็นแบรนด์ Cruelty-Free ฉบับผู้ประกอบการ SME

SME Series
21/05/2025
รับชมแล้วทั้งหมด 0 คน
แนวทางสู่การเป็นแบรนด์ Cruelty-Free ฉบับผู้ประกอบการ SME
banner

อย่างที่ทราบกันดีว่าเทรนด์เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และฝั่งแบรนด์ก็หันมาตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ทั้งการทำ Packaging ที่ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็น Cruelty-Free หรือไม่มีการทดลองประสิทธิภาพกับสัตว์ต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของสัตว์โลก และไม่ทำลายระบบนิเวศอันมีค่า มาดูกันว่าถ้าธุรกิจ SME ไทยที่ต้องการปรับแบรนด์ให้เป็นแบรนด์ Cruelty-Free จะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และต้องทำอย่างไรถึงจะได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล

Content Summary

  • Cruelty-Free คือ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทดสอบกับสัตว์ในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพหรือความปลอดภัย ซึ่งมักพบในเครื่องสำอางและสกินแคร์ การทดลองกับสัตว์อาจทำให้สัตว์บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

  • ผลิตภัณฑ์ Cruelty-Free มักมี “สัญลักษณ์กระต่าย” เป็นเครื่องหมายรับรองว่าไม่มีการทดลองกับสัตว์ โดยมี 3 สัญลักษณ์หลัก ได้แก่ Leaping Bunny, PETA’s Beauty Without Bunnies และ Not Tested on Animals

  • การเปลี่ยนผ่านสู่แบรนด์ Cruelty-Free ควรเริ่มจากการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดให้ปลอดการทดลองในสัตว์ รวมถึงเลือกซัปพลายเออร์ที่มีจริยธรรมและใบรับรองที่น่าเชื่อถือ


ทำความเข้าใจนิยามของ Cruelty-Free อย่างถูกต้อง

Cruelty-Free คือ แบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ในทุกกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ทดสอบความปลอดภัยหรือความอันตรายต่อผิวหนัง ซึ่งจะทดสอบด้วยสัตว์แทนการทดสอบกับคน โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์ที่มักจะทดลองกับสัตว์จะอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง สกินแคร์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และยารักษาโรคต่าง ๆ  เพราะต้องสัมผัสกับผิวหนังและมีผลกระทบต่อร่างกายของคนโดยตรง ซึ่งมักจะทดสอบกับสัตว์ขนาดเล็กอย่างกระต่าย หนู แมว หรือสุนัข


ถึงจะเป็นการทดสอบเพื่อความปลอดภัยของมนุษย์ แต่การทดสอบเหล่านี้ทำให้สัตว์จำนวนมาก มีอาการป่วย บาดเจ็บ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะสารเคมีบางชนิดเป็นพิษกับสัตว์ โดยสมัยก่อนอาจเป็นวิธีการทดสอบคุณภาพที่คนทั่วไปไม่ได้สนใจอะไร แต่สำหรับยุคสมัยปัจจุบันนั้น เป็นเรื่องที่คนรณรงค์กันมากขึ้น ถ้าแบรนด์ไหนที่มีการทดลองกับสัตว์ ก็จะถูกประนามว่าเป็นแบรนด์ที่ทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ธุรกิจในเชิงลบ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจ SME ไทย จะต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตทั้งหมดให้กลายเป็น Cruelty-Free 

สัญลักษณ์ที่ใช้แสดงถึงผลิตภัณฑ์ Cruelty-Free คืออะไร

ในฝั่งผู้บริโภคสามารถสังเกตหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการทดลองกับสัตว์ได้ด้วย “สัญลักษณ์กระต่าย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 สัญลักษณ์ด้วยกันที่จะออกใบรับรองโดยองค์กรระดับสากล มาดูกันว่าองค์กรระดับสากลที่ให้การรับรองสถานะ Cruelty-Free นั้น มีอะไรบ้าง

Leaping Bunny

สัญลักษณ์ Leaping Bunny หรือกระต่ายโดด เป็นสัญลักษณ์ Cruelty-Free ที่ใช้ในการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ภายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นหลัก โดยหน่วยงาน Coalition for Consumer Information on Cosmetics (CCIC) เป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีการทดสอบในตัวสัตว์ตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะมีมาตรฐานการตรวจสอบที่ละเอียดและเข้มงวด

PETA’s Beauty Without Bunnies

เป็นสัญลักษณ์ที่รับรองโดยองค์กร PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก PETA จะวางขายทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

Not Tested on Animals

สัญลักษณ์ที่รับรองโดยองค์กร Choose Cruelty-Free (CCF) ของประเทศออสเตรเลีย เป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ๆ ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์ รวมถึงการใช้ส่วนผสมที่ได้มาจากสัตว์ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ดังกล่าวเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย

กฎหมายที่เกี่ยวกับการทดลองในสัตว์ของประเทศไทย

พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการใช้สัตว์ในการวิจัยและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ทดลองและส่งเสริมการใช้สัตว์อย่างมีจริยธรรม

ขอบเขตของกฎหมาย

  • สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ หมายถึง สัตว์ที่มีการเลี้ยงหรือมีการนำมาใช้เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามชนิดและประเภทที่กำหนดในกฎกระทรวง

  • งานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึง งานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ งานสอน งานทดลอง การดัดแปลงพันธุกรรม การโคลนนิ่ง และการทำเซลล์ต้นกำเนิดที่มีการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

โครงสร้างการกำกับดูแล

  • คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณและมาตรฐานการเลี้ยงและใช้สัตว์

  • คณะกรรมการจรรยาบรรณ มีหน้าที่ในการพิจารณาและรับรองจริยธรรมของโครงการที่ใช้สัตว์ทดลอง

กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง (พ.ศ. 2566)

มีการออกกฎกระทรวงและประกาศต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและกำหนดแนวทางการปฏิบัติ ได้แก่ 


  • กฎกระทรวงกำหนดประเภทและชนิดของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ระบุประเภทสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลัง และสัตว์อื่นที่มีการกำหนดเพิ่มเติม

  • กฎกระทรวงกำหนดสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นสัตว์ ขยายความหมายของ "สัตว์" ให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตอื่นที่มีความสามารถในการรับรู้ความเจ็บปวด

  • กฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตใช้หรือผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขในการขอและออกใบอนุญาตสำหรับการใช้หรือผลิตสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์

  • กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการใช้และผลิตสัตว์ระบุอัตราค่าธรรมเนียมและกรณียกเว้นสำหรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์

  • กฎกระทรวงกำหนดงานที่ไม่เป็นงานทางวิทยาศาสตร์ ชี้แจงประเภทของงานที่ไม่ถือเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ เช่น การแสดงสัตว์เพื่อความบันเทิง

การดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง

การดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ต้องปฏิบัติตามหลักการ 3Rs ได้แก่ Replacement (การทดแทน) Reduction (การลดจำนวน) และ Refinement (การปรับปรุงวิธีการ) เพื่อให้การใช้สัตว์ทดลองเป็นไปอย่างมีมนุษยธรรมและมีประสิทธิภาพ

เหตุผลที่แบรนด์ SME ควรก้าวสู่ Cruelty-Free

  • ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่ให้ความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมและมีการรณรงค์เรื่องจริยธรรมกันมากขึ้น การปรับแบรนด์ให้เป็น Cruelty-Free จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น


  • สร้างความแตกต่างทางการแข่งขัน เมื่อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มีความออร์แกนิคและไม่ทำร้ายสัตว์ จะช่วยสร้างความสนใจในกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์โลก และแบรนด์สามารถชูจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่ง ผ่านการสื่อสารเรื่อง Cruelty-Free และต่อยอดเป็นการทำ CSR เพื่อสื่อถึงความรับผิดชอบต่อสังคม


  • เพิ่มโอกาสขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากข้อบังคับภายในตลาดต่างประเทศอย่างสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา และอีกมากมาย ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ปราศจากการทดลองจากสัตว์ กลุ่มสินค้า SME ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Cruelty-Free ก็จะสามารถจำหน่ายและขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายดายขึ้น


แนะแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่แบรนด์ Cruelty-Free 

ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน

เริ่มต้นจากการกลับไปตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์แบรนด์ โดยต้องปราศจากการทดลองในสัตว์ในทุกขั้นตอน รวมไปถึงการตรวจสอบวัตถุดิบที่ซื้อจากซัปพลายเออร์เช่นกัน ควรเลือกพันธมิตรด้านการผลิตที่มีมาตรฐานจริยธรรม หรือมีเอกสารรับรองจากองค์กรที่เชื่อถือได้ว่าในกระบวนการผลิตไม่มีการทดสอบกับสัตว์ทุกกรณี

ปรับกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์

เมื่อแบรนด์ได้รับการรับรองมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว ควรมีการระบุสัญลักษณ์ Cruelty-Free บนบรรจุภัณฑ์ เว็บไซต์ และช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อให้กลุ่มผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์โลก พร้อมทั้งสื่อสารแนวคิดและความตั้งใจของแบรนด์ในการยึดถือจริยธรรมด้านความยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สัตว์ เป็นต้น

ใช้แพ็กเกจจิงที่สามารถย่อยสลายได้

การใช้ Eco-Friendly Packaging ที่สามารถย่อยสลายได้ ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นกระบวนการ  Cruelty-Free อย่างหนึ่ง เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์ 

ถอดบทเรียนจาก “The Body Shop” แบรนด์เครื่องสำอาง Cruelty-Free ที่รักลูกค้าและรักษ์สัตว์

The Body Shop เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่สร้างความสำเร็จจากคุณค่าที่มั่นคงทั้งในด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะในเรื่อง “ความงามที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น” หรือ “Cruelty-Free” นี่คือบทเรียนสำคัญจากแคมเปญของ The Body Shop ที่ทำให้แบรนด์แตกต่างและยืนหยัดในตลาดความงามมาได้ยาวนาน

แคมเปญ “Cruelty-Free International” และ “Save Cruelty-Free Cosmetics”

สองแคมเปญหลักที่ The Body Shop ร่วมผลักดันอย่างจริงจัง  ไม่ใช่เพียงกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับโลก เพื่อหยุดการทดลองในสัตว์อย่างถาวรในอุตสาหกรรมความงาม



1. Cruelty-Free International: พันธมิตรเพื่อยุติการทดลองในสัตว์

Cruelty-Free International เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่มุ่งยุติการทดลองในสัตว์ทั่วโลก โดยมี The Body Shop เป็นพันธมิตรหลักตั้งแต่ช่วงต้น ในปี 2017 ทั้งสององค์กรร่วมกันเปิดตัว แคมเปญระดับโลก เพื่อรวบรวมรายชื่อจากประชาชนกว่า 8 ล้านคน จาก 65 ประเทศ เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติออกกฎหมายห้ามการทดลองในสัตว์สำหรับเครื่องสำอาง

2. Save Cruelty-Free Cosmetics: ปกป้องกฎหมายเดิมไม่ให้ถอยหลัง

แม้ EU จะเคยประกาศแบนการทดลองในสัตว์เพื่อเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2013 แต่ช่องโหว่บางประการในกฎหมาย EU REACH ทำให้บริษัทบางแห่งยังสามารถทดลองสารเคมีใหม่ ๆ บนสัตว์ได้ หากเกี่ยวข้องกับ “ความปลอดภัยในการทำงาน”

ปี 2021-2022 The Body Shop และ Cruelty-Free International จึงเปิดตัวแคมเปญ “Save Cruelty-Free Cosmetics” เพื่อคัดค้านการทดลองในสัตว์ที่ยังเกิดขึ้นในนามของ “กฎระเบียบ” และเรียกร้อง ให้ EU ปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับจุดยืนห้ามทดลองในสัตว์โดยสมบูรณ์

บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ

การทำธุรกิจให้เป็นแบรนด์ Cruelty-Free ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ สำหรับผู้ประกอบการ SME แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแบรนด์ แต่ยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาวด้วยการสร้างความไว้วางใจจากลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืน



ข้อมูลอ้างอิง

  1. What Does Cruelty-Free Mean? สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.colorescience.com/blogs/blog/what-does-cruelty-free-mean?srsltid=AfmBOop9PGbXPg3EpiVxUlCZd4il-Mw-WYXdixsBSlrgtB5yvZ5DxStx 

  2. Why Cruelty-Free Matters: The Benefits of Cruelty-Free Production for Your Private Label Brand สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก https://wonnda.com/magazine/cruelty-free-production/

  3. พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2568 จาก

https://www.mhesi.go.th/images/2563/pusit/legal-all/46p2558.pdf

  1. รายการประกาศ ระเบียบ กฏกระทรวงตามที่กําหนดในพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2558 สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2568 จาก https://www.cri.or.th/cri-ebooks/list-declare-2558/?utm_source=chatgpt.com

  2. WE WANT TO BAN THE CRUEL PRACTICE OF ANIMAL TESTING IN COSMETICS. FOREVER. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2568

https://www.thebodyshop.com.hk/page/005

  1. The Body Shop And Cruelty Free International Bring A Record-Breaking 8.3 Million Signatures To The United Nations To End Cosmetic Animal Testing Globally สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2568 จาก

https://www.prnewswire.com/news-releases/the-body-shop-and-cruelty-free-international-bring-a-record-breaking-8-3-million-signatures-to-the-united-nations-to-end-cosmetic-animal-testing-globally-300724770.html?utm_source=chatgpt.com



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่

รวม 5 แนวทางป้องกันไม่ให้ธุรกิจครอบครัวหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่

เจาะลึกปัญหาธุรกิจครอบครัวที่มักหยุดอยู่ที่รุ่นพ่อแม่ พร้อม 5 แนวทางป้องกันและสร้างระบบสืบทอดกิจการอย่างยั่งยืนในโลกธุรกิจยุคใหม่Content…
pin
2 | 20/05/2025
3 หลักไมล์สู่เส้นชัยในธุรกิจครอบครัว  บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง เพจทำที่บ้าน

3 หลักไมล์สู่เส้นชัยในธุรกิจครอบครัว บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ คุณกวาง เสสินัน นิ่มสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง เพจทำที่บ้าน

80% ของธุรกิจ SMEs ไทยคือธุรกิจครอบครัว แม้สัดส่วนของธุรกิจครอบครัวจะสูงมากเทียบกับธุรกิจทั่วไป แต่หากพูดถึงการส่งต่อธุรกิจได้สำเร็จ กลับมีเพียง…
pin
2 | 17/05/2025
How-to ปรับสมดุลธุรกิจครอบครัว ให้ทันคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล

How-to ปรับสมดุลธุรกิจครอบครัว ให้ทันคนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัล

ปัจจุบันธุรกิจส่วนใหญ่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า Digital Transformation เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า…
pin
4 | 16/05/2025
แนวทางสู่การเป็นแบรนด์ Cruelty-Free ฉบับผู้ประกอบการ SME