การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่คือหัวใจในการเติบโตอย่างแท้จริงของธุรกิจ SME ซึ่งสามารถเริ่มได้จากจุดเล็ก ๆ ที่จับต้องได้ อย่างการเลือกใช้ Eco-Friendly Packaging หรือการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถรับรู้ได้ทันทีเมื่อเห็นสินค้าที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ และวิสัยทัศน์ของแบรนด์ นี่คือโอกาสในสร้างความแตกต่าง และสร้างคุณค่า อย่างมั่นคงในระยะยาว สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น บทความนี้จะเล่าว่ารูปแบบของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก มีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และธุรกิจ SME ไทย สามารถปรับตัวอย่างไรได้บ้าง
Content Summary
Eco-Friendly Packaging หรือ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือผลิตจากจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาโลกของเราให้น่าอยู่ต่อไป
Gen Z และ Millennial พร้อมที่จะจ่ายมากขึ้นให้กับธุรกิจที่มุ่งมั่น และพร้อมสนับสนุนแบรนด์ที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจรักษ์โลกอาจส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นในช่วงแรก แต่คุ้มค่าในระยะยาว ทั้งการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งเพื่อผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และลดความเสี่ยงจากกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต
Eco-Friendly คืออะไร แล้วเกี่ยวอะไรกับ SME?
ในปี 2566 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 26.95 ล้านตัน (เฉลี่ย 73,840 ตัน/วัน) โดยมีปริมาณขยะพลาสติกติดอันดับ Top 12 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับ ความยั่งยืน (Sustainability) และ Eco-Friendly Packaging กันมากขึ้น
Eco Friendly คือ แนวคิดในการใช้ชีวิต หรือการผลิตสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และลดการสร้างมลพิษซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก หรือ Eco-Friendly Packaging ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย วัสดุที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือผลิตจากจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนช่วยในการรักษาโลกของเราให้น่าอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ Sustainable Business Magazine ระบุว่าส่วนแบ่งการตลาดของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะมีมูลค่ามากกว่า 410,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 จัดเป็นตลาดที่ใหญ่และน่าสนใจมากดังนั้น ธุรกิจ SME ที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าแบรนด์ และตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบธุรกิจทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง สามารถเริ่มได้จากจุดเล็ก ๆ ที่จับต้องได้ อย่างการเลือกใช้ Eco-Friendly Packaging ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถรับรู้ได้ทันทีเมื่อเห็นสินค้าที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบ และวิสัยทัศน์ของแบรนด์
ก่อนที่เราจะปรับเปลี่ยนไปใช้ Eco-Friendly Packaging เราต้องมาทำความรู้จักบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกกันก่อน โดยคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก นอกจากจะมีความสามารถเหมือนบรรจุภัณฑ์ทั่วไปแล้ว จะมีคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ช่วยลดปัญหาขยะได้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางทะเลที่เกิดขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ และสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยบรรจุภัณฑ์ Eco-Friendly มีหลายรูปแบบที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
บรรจุภัณฑ์จากไบโอพลาสติก (Bioplastics Packaging) คือ พลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพ เช่น แป้งข้าวโพด อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งอาจมีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) หรือไม่ก็ได้
บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย (Compostable/Biodegradable Packaging) คือ วัสดุที่สามารถแตกตัว และย่อยสลายกลายเป็นสารอินทรีย์ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ในกองปุ๋ยหมัก (Compostable) หรือในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ (Biodegradable) ซึ่งอาจรวมถึงไบโอพลาสติกบางชนิด หรือวัสดุจากพืชอื่น ๆ
บรรจุภัณฑ์จากกระดาษ คือ บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตมาจากกระดาษในป่าไม้ที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน เช่น กระดาษที่ได้รับการรับรองจากองค์กร FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งสามารถย่อยสลาย และรีไซเคิลได้
บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ขวดแก้วหรือภาชนะที่ออกแบบมาให้สามารถใช้งานซ้ำได้ โดยไม่ต้องทิ้งหลังการใช้งาน
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้หมึกพิมพ์ที่ไม่มีสารเคมีอันตราย และกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล คือ การใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว เช่น กระดาษหรือพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่
ธุรกิจสามารถต่อยอดในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกให้เหมาะสมกับสินค้า และกลุ่มเป้าหมาย ออกแบบEco-Friendly Packagingให้น่าสนใจ และสำรวจนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องต่อไปได้
ผลสำรวจเผยผู้บริโภคยุคใหม่พร้อมจ่าย ถ้าธุรกิจรักษ์โลกจริง!
จากผลสำรวจ Deloitte Global Gen Z and Millennial Survey ปี 2024 พบว่า 64% ของ Gen Z และ 63% ของ Millennials ยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายความว่า ผู้บริโภคยุคใหม่พร้อมที่จะจ่ายมากขึ้น หากธุรกิจนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความจริงใจในการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่ให้ความสนใจ และประยุกต์ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ดังนี้
Who Gives A Crap แบรนด์กระดาษชำระ Eco-Friendly จากออสเตรเลีย ใช้ Eco-Friendly Packaging ที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลพร้อมกับหมึกพิมพ์จากถั่วเหลืองที่มีสีสันสดใส สะดุดตา สามารถนำแพ็กเกจไปห่อของหรือทำชิ้นงาน DIY ได้ ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน โดยกำไร 50% แบรนด์จะบริจาคเพื่อช่วยสร้างห้องน้ำให้กับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่สนุกสนานโดนใจคนรุ่นใหม่ด้วย
Oatly แบรนด์นมข้าวโอ๊ตจากสวีเดน ที่บรรจุภัณฑ์เป็นกล่องกระดาษ Eco-Friendly Packaging ที่ได้รับการรับรอง FSC ซึ่งหมายถึง กระดาษที่มีมาจากป่าที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน และแบรนด์ยังใช้วัสดุรีไซเคิลร่วมกับวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่สูงถึง 90% รวมถึงการลดน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ลงด้วย นอกจากนี้ แบรนด์ยังสื่อสารเรื่องความยั่งยืนอย่างตรงไปตรงมาผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
ทำธุรกิจรักษ์โลก จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นจริงหรือ?
จากข้อมูลของ Sourceful ผู้จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกระบุว่า ธุรกิจมากมายต่างแสวงหาวิธีที่จะเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่ 43% ของธุรกิจเหล่านี้มีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุ Eco-Friendly
จริงอยู่ที่วัสดุ Eco-Friendly บางประเภท เช่น พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) หรือกล่องรีไซเคิลคุณภาพสูง อาจมีราคาสูงกว่าวัสดุทั่วไปในระยะสั้น แต่หากมองในระยะยาว การเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนั้นจะเกิดความคุ้มค่ามาก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกด้วย
ต้นทุนของบรรจุภัณฑ์จะลดลง เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันวัสดุบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกบางชนิดในตลาดนั้นจะมีวิธีการผลิตที่ซับซ้อนกว่าบรรจุภัณฑ์แบบเดิม แต่เมื่อธุรกิจต่าง ๆ หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนลดลงไปได้อีก เมื่อตลาดบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกเติบโตขึ้น ก็จะดึงดูดผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาในตลาดต่อไป
เตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
การอนุรักษ์พลังงาน และทรัพยากรระหว่างการผลิต การลดปริมาณวัสดุบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบที่พัฒนาขึ้น และการเปลี่ยนมาใช้ Eco-Friendly Packaging ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อมหรือ ภาษีคาร์บอน หากธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ก็อาจจะเสียภาษีน้อยลง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะได้ความ Loyalty ของลูกค้า
Forbes รายงานว่าผู้บริโภค 88 % มีแนวโน้มที่จะภักดีต่อบริษัทที่สนับสนุนประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ The Economist Intelligence Unit ยังรายงานว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจากทั่วโลกค้นหาสินค้า Eco-Friendly ทาง Online เพิ่มขึ้น 71% ดังนั้น การให้ความสำคัญและประชาสัมพันธ์ความพยายามด้านความยั่งยืนของแบรนด์ผ่าน Eco-Friendly Packaging จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสมากขึ้นในการรักษาลูกค้าเก่าไว้ และดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ ได้
จะเริ่ม Eco-Friendly อย่างไรแบบไม่ต้องรื้อระบบ?
สำรวจธุรกิจว่าใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทใด
ธุรกิจที่สนใจ Eco-Friendly Packaging สามารถเริ่มต้นได้จากการสำรวจบรรจุภัณฑ์เดิม หรือสำรวจขั้นตอนการผลิตเดิมว่าเราจะสามารถปรับปรุงให้มีความยั่งยืน และรักษ์โลกมากขึ้นได้อย่างไร หรือสามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นได้ไหม เพียงแค่นี้ก็จัดว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้นของ Eco-Friendly แล้ว
เปลี่ยนวัสดุอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ธุรกิจอาจไม่ต้องเร่งรีบเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างทันที แต่การเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนั้นสามารถเริ่มต้นจากการวางแผนการเปลี่ยนวัสดุรายปี และกำหนดลำดับความสำคัญในการเปลี่ยนวัสดุได้ โดยพิจารณาจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุน และความพร้อมของทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาจทดลองใช้วัสดุทางเลือกในช่วงแรกเพื่อประเมินความเหมาะสม และทดสอบผลตอบรับก่อนได้
เลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่มีมาตรฐาน
เนื่องจาก บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกมีราคาที่สูง และมีมาตรฐานในการผลิตเฉพาะตัว จึงจำเป็นต้องพิจารณาซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญ มีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใส นอกจากนั้น บริษัทยังต้องดูถึงเบื้องหลังด้านจริยธรรมของซัพพลายเออร์ด้วย เช่น ซัพพลายเออร์ที่ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ มีกระบวนการจัดการขยะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงกับธุรกิจในระยะยาว
สื่อสารคุณค่าของการเลือกบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
อธิบายให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อดีของการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผ่านข้อความบนบรรจุภัณฑ์ ลองจินตนาการถึงภาพสินค้าที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม เป็นมิตรต่อโลก และบอกเล่าเรื่องราวดี ๆ ที่แบรนด์ใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุธรรมชาติที่สร้างสรรค์ การออกแบบที่ลดปริมาณขยะ หรือนวัตกรรมที่ทำให้บรรจุภัณฑ์กลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างง่ายดาย ทั้งหมดนี้จะดึงดูดลูกค้าใหม่ ๆ และทำให้ลูกค้าเดิมรักแบรนด์ของคุณมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มด้านกฎหมาย อีกหนึ่งเหตุผลที่ธุรกิจต้องรีบหันมาใส่ใจเรื่องแพ็กเกจจิง
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ การที่ธุรกิจไทยหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุง Eco-Friendly Packaging ให้สอดคล้องกับแนวโน้มด้านกฎหมายทั้งในประเทศและระดับสากลจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในระยะยาว
ประเทศไทยมีแผนลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวลง 100% ภายในปี 2570 ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยพลาสติกเป้าหมาย มี 5 ประเภท ได้แก่ ขวดพลาสติก ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก โดยแผนดังกล่าวประกอบด้วย 4 เป้าหมายหลักดังนี้
ลดพลาสติกเป้าหมายที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบลดลง 100% ในปี พ.ศ. 2570
เพิ่มพลาสติกเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% ในปี พ.ศ. 2570
ลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเลลง 50% ในปี พ.ศ. 2570
มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 เครื่องมือ
โดย 1 ใน 10 เครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ธุรกิจเดิมที่ใช้วัสดุพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ในการผลิต และธุรกิจยุคใหม่ต้องเร่งพิจารณาเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการจัดการหลังการใช้งาน
ใน ปี 2569 สหภาพยุโรปจะบังคับใช้การเก็บภาษีคาร์บอน และกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism - CBAM) ซึ่งจะทำการเก็บภาษีนำเข้าจากผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต โดยมาตรการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมสูงกว่าทวีปอื่น ๆ
ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรปทั่วโลกต้องปรับตัวและปฏิบัติตามกฎนี้ กระตุ้นให้กรมสรรพสามิตของไทยเตรียมเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับเพื่อหวังให้ผู้ส่งออกนำอัตราภาษีคาร์บอนนี้ไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียม CBAM โดยคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วที่สุดภายในปลายปี 2568
ทำให้ธุรกิจไทยต้องรีบหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิต เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทั้งไทยและต่างประเทศ และการลดภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ
Eco-Friendly Packaging ไม่ใช่เรื่องไกลตัวธุรกิจไทยอีกต่อไป เนื่องจากผลสำรวจหลายสำนักแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการรักษ์โลก และมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริงและสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ได้อย่างโปร่งใส
โดยความท้าทายของธุรกิจไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องต้นทุนการผลิตที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืน หรือการปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกนอกจากนี้ผู้ประกอบการยังต้องศึกษาและติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับภาระภาษีที่อาจเกิดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยนั้นยังคงมีอยู่ การมีผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายที่สำคัญ และสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจในตลาดโลก พร้อมทั้งสื่อสารคุณค่า และสิ่งที่แบรนด์ตั้งใจปรับเปลี่ยนไปยังลูกค้านั้นจะส่งผลดีทั้งธุรกิจ ลูกค้า และสังคมต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
1. จับตา 6 วิกฤติสิ่งแวดล้อม ภัยใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คิด สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://tatreviewmagazine.com/article/environmental-crisis-in-thailand/
2. ดราม่าถุงพลาสติก สู่ปัญหา ขยะไมโครพลาสติก ไทยติดอันดับโลก! สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2736754
3. "ขยะล้นเมือง" คนไทยสร้างขยะเฉลี่ย 7.3 หมื่นตัน/วัน สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.thaipbs.or.th/news/content/340722
4. Green packaging market worth a staggering $410bn by 2027 สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://sustainablebusinessmagazine.net/packaging/green-packaging-markets-2027-worth/
5. 2024 Gen Z and Millennial Survey: Living and working with purpose in a transforming world สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.deloitte.com/global/en/issues/work/content/genz-millennialsurvey.html
6. ไม่ใช่นม (วัว) …แต่นมมาก! Oatly กับภารกิจยึดโลกด้วยข้าวโอ๊ต สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://marketeeronline.co/archives/398450
7. Who Gives A Crap แบรนด์ที่เชื่อว่ากระดาษชำระก็เปลี่ยนโลกได้ สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://adaymagazine.com/who-gives-a-crap-toilet-paper/
8. What's the cost of more sustainable packaging in 2023? สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.sourceful.com/blog/cost-of-sustainable-packaging
9. จะรักษ์โลกทั้งที ทำไมต้องเสียเงินเยอะ : ชวนหาคำตอบว่าทำไมสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมถึงมีราคาที่สูงกว่าสินค้าทั่วไป สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2023-181/
10. บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกคืออะไร มีประโยชน์ในการใช้งานอย่างไรบ้าง? สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://royalpaper.co.th/blog/eco-friendly-packaging-what-is-it/
11. A Guide to Sustainable Packaging Solutions สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.greenbusinessbenchmark.com/resources/a-guide-to-sustainable-packaging-solutions
12. บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม กับวิธีการออกแบบเพื่อส่งเสริมการขาย สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
13. ภาษีคาร์บอน + Thai CBAM" รับมือโลกการค้ายุคคาร์บอนต่ำ สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2568 จาก
https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9680000019210
14. Why More Consumers Are Picking Environmentally Conscious Businesses สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.astutis.com/astutis-hub/blog/consumers-business-environmental-preferences
15. แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2568 จาก
https://hub.mnre.go.th/th/knowledge/detail/63575