คำว่างานยุ่ง หรือไม่ค่อยมีเวลาว่าง อาจเป็นเพียงข้ออ้างของคนที่ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่งอยู่ก็เป็นได้ ที่ทำให้ไม่สามารถรับมือกับการจัดการงานที่วิ่งเข้ามาได้สำเร็จทันท่วงที จนเป็นเหตุให้การการงานสะสมคั่งค้าง เสร็จไม่ทันกำหนด เสียงาน เสียผลประโยชน์ต่างๆ ตามมา ซึ่งอาจประมาณได้ว่า ไม่ใช่คนๆ นั้นทำงานไม่เก่ง แต่เป็นผลมาจากการที่คนๆ นั้นมีหลักคิดและการบริหารจัดการเวลาและการทำงานได้ไม่ดีพอ เช่น ทำงานไม่ถูกเวลา เรียงลำดับความสำคัญไม่ได้ ทำให้จัดการงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นคนชอบผัดวันประกันพรุ่งจนเคยชิน ซึ่งบัญญัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงได้ให้หลักการทำงานที่จะช่วยทำให้การงานสัมฤทธิ์ผล เลิกเป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง และสะสางงานทุกงานได้สำเร็จลุล่วงทันเวลาไว้ด้วยการใส่หัวใจของ อิทธิบาท 4 เข้าไปในการทำงาน ซึ่งได้แก่
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. ฉันทะ คือ
ความรักงานหรือความเต็มใจทำงาน
ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเล็งเห็นผลดีของงาน ถ้าทำงานนี้แล้วจะได้อะไรเป็นการตอบแทน
เช่น ทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามสัญญาและขอบเขตความรับผิดชอบ
จะทำให้ได้รับผลตอบแทนครบจำนวนช่วงปลายเดือน และไม่ถูกบอกเลิกสัญญากลางคัน เป็นต้น
ด้วยการตระหนักรู้ถึงผลลัพธ์ปลายทางของงานที่ทำว่าจะได้อะไร
ก็จะทำให้เกิดความเต็มใจทำและรักในงานนั้นขึ้นได้
2. วิริยะ คือ ความพากเพียรหรือความแข็งใจทำ ด้วยความไม่ย่อท้อ จะทำให้เกิดคุณธรรมขึ้นภายในใจ
กลายเป็นความกล้าที่จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาให้สำเร็จให้จงได้
เพื่อไม่ให้เกิดความเสียงานต่อภาพรวมของส่วนงานที่เราสังกัด
แม้ว่าระหว่างการทำงานนั้นจะพบเจอกับอุปสรรค หรือสถานการณ์ที่ไม่พึงพอใจ
จนทำให้เกิดการหดหู ไม่อยากสู้ หรือออกอาการขี้เกียจก็ตาม
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่หรือความตั้งใจทำ การมีจิตตะจะทำให้ไม่เกิดการละเลยกับงานที่ได้รับมอบหมาย
มีการตรวจทาน อัพเดทความรู้เกี่ยวกับการทำงาน วางแผนงานและส่งงานเป็นประจำสม่ำเสมอ
ด้วยความเอาใจใส่แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สำคัญ
เพื่อความมุ่งหวังให้ผลงานนั้นออกมาแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
4. วิมังสา คือ ความเข้าใจทำ เป็นสุดยอดของเคล็ดลับความสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในสายอาชีพการงาน
หากทำในข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งนั่นคือการพินิจพิเคราะห์ งานด้วยสติปัญญา
ความรู้ความสามารถที่มีอย่างฉลาดและสร้างสรรค์ เพื่อให้การงานนั้นสำเร็จลุล่วงเรียบร้อย
และออกมาดีที่สุดในส่วนของงานที่รับผิดชอบ ภายใต้ปัญญาที่มี
เนื่องจากคนที่ทำงานด้วยปัญญาจะสามารถเข้าถึง เข้าใจขอบเขตหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอยู่บน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ดังนั้นไม่ว่างานที่ได้รับจะยุ่งยากสักเพียงไหน ก็จะสามารถจัดการทุกงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ สำเร็จเรียบร้อย ทันกาลทุกงานไป ดังหัวใจของอิทธิบาท 4 ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ให้เป็นแบบอย่างแนวทาง.