THE BIG BLUE | ฟรีแลนซ์…“ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” ของ SMEs ยุคใหม่?

SME Update
17/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1134 คน
THE BIG BLUE | ฟรีแลนซ์…“ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” ของ SMEs ยุคใหม่?
banner
ข่าวที่สร้างความตกใจช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาในวงการอีคอมเมิร์ซ คงหนีไม่พ้นการปลดพนักงานครั้งใหญ่ของบริษัท Shopee ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

แต่อันที่จริง เทรนด์การลดพนักงานในวงการเทคฯ และสตาร์ทอัพ ก็เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 แล้ว อาจเนื่องมาจากช่วงปี 2020 ที่เป็นเสมือนปีทองของวงการเทคฯ และสตาร์ทอัพ ผู้คนหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่ สั่งของออนไลน์กันมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันที่ทุกอย่างเริ่มกลับเป็นปกติ ความต้องการเหล่านั้นค่อยๆ ลดลงไป พนักงานที่บริษัทเคยจ้างไว้เป็นจำนวนมากก็กลับกลายเป็นต้นทุนที่เกินความจำเป็นไปโดยปริยาย 

โดยปกติแล้วค่าจ้างพนักงานมักเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งในบริษัทขนาดเล็ก ข้อมูลจาก Paycor ในปี 2020 ต้นทุนที่ SMEs ต้องแบกรับกว่า 70%  คือ ค่าจ้างพนักงาน และนั่นหมายความว่า ในช่วงเวลาที่ธุรกิจไม่ค่อยมีรายได้เข้ามา หรือยังขยายตัวได้ไม่มากพอ บริษัทก็ยังจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายนี้อยู่ทุกเดือนๆ หรือต่อให้อยากจะจ้างคนเก่งๆ เข้ามาเพิ่มแค่ไหน แต่สถานะทางการเงินก็อาจไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นจึงมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ “การจ้างฟรีแลนซ์”

ถ้าเป็นเมื่อก่อนการจะหาฟรีแลนซ์ที่มีฝีมือมาทำงานอาจเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซอฟแวร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้คนสามารถทำงานระยะไกลร่วมกันได้ง่ายขึ้น จึงทำให้คนยุคใหม่ที่มีความสามารถ นิยมทำงานฟรีแลนซ์กันมากขึ้น และกลายเป็นโอกาสดีๆ สำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ ที่จะมีโอกาสได้ร่วมงานกับฟรีแลนซ์เก่งๆ ที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก 

ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยแน่ใจว่าบริษัทของคุณควรจะลองเปลี่ยนมาจ้างฟรีแลนซ์ดีไหม ในบทความนี้เราจึงอยากจะยกข้อดีของการจ้างฟรีแลนซ์มาเล่าให้ฟัง เมื่ออ่านจบแล้วคุณค่อยตัดสินใจอีกทีก็ได้

1. ทำให้บริษัทได้ร่วมงานกับคนที่เชี่ยวชาญและคนที่เก่งในด้านนั้นจริงๆ



แน่นอนว่าฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักจะรับงานในแนวที่ตนเองถนัด ทำให้พวกเขาได้ลับคมฝีมืออยู่เสมอๆ จนเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งหากจะให้พนักงานที่เรามีอยู่ไปทำงานลักษณะนี้ก็คงยาก หรือจะจ้างพนักงานประจำมาใหม่ที่มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่เราต้องการก็ยากเช่นกัน ดังนั้นการจ้างฟรีแลนซ์เข้ามาทำจึงตอบโจทย์ธุรกิจได้ดีที่สุด เพราะคุณสามารถเลือกฟรีแลนซ์โดยดูจากผลงานเก่าๆ ของฟรีแลนซ์ได้เลย ทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทของคุณจะได้คนมาร่วมงานที่ทำงานได้ตอบโจทย์ และตรงใจที่สุด

2. บริษัทคล่องตัวขึ้นเพราะมีต้นทุนลดลง
 


ข้อมูลจาก Investopedia ชี้ว่า ต้นทุนของการจ้างพนักงานใหม่อาจสูงถึง 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน แล้วก็อาจต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปีกว่าจะคืนทุนได้

เริ่มตั้งแต่กว่าจะประกาศรับสมัครงาน สัมภาษณ์ผู้สมัคร จัดรับพนักงานใหม่ กำหนดเงินเดือน เตรียมอบรมพนักงานใหม่ เตรียมสวัสดิการต่างๆ ขั้นตอนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ (และมีต้นทุน) โดยเฉพาะสำหรับบริษัทเล็กๆ ที่มีพนักงานไม่เยอะแล้วต้องให้พนักงานเหล่านั้นเสียเวลาเข้ามาวุ่นวายกับระบบการรับสมัครงานที่ยุ่งยากนี้อีก 

การจ้างฟรีแลนซ์ จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้เพราะทำให้บริษัทสามารถจ้างคนเก่งๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนด้านอื่นๆ เพิ่ม นอกจากค่าจ้างสำหรับการทำงานนั้นๆ เท่านั้น อีกทั้งยังไม่ต้องเตรียมพื้นที่ หรืออุปกรณ์สำนักงานเพิ่มเติมสำหรับฟรีแลนซ์ เพราะส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้นิยมทำงานนอกออฟฟิศและใช้อุปกรณ์ของตัวเองอยู่แล้ว

3. ลดเวลาและความยุ่งยากในกระบวนการบรรจุพนักงานใหม่



โดยเฉลี่ยแล้วการจ้างพนักงานเข้ามาใหม่จนกว่าจะได้เริ่มงาน กินเวลากว่า 42 วัน ไม่รวมกับที่ว่าเกิดความล่าช้าจนพนักงานใหม่รอไม่ไหวและได้เซ็นสัญญากับบริษัทอื่นไปก่อน คุณก็จะต้องเริ่มขั้นตอนจัดหาพนักงานใหม่ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นพอมีพนักงานใหม่เข้ามาหนึ่งคน ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างทีม และมีเรื่องของเอกสารมากมายที่ต้องจัดการในช่วงที่พนักงานเข้าไปทำงานใหม่ๆ แต่หากจ้างฟรีแลนซ์ คุณไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับเรื่องเหล่านี้เลย เพราะฟรีแลนซ์ถูกจ้างแค่ในระยะสั้นสำหรับโปรเจคเฉพาะ เราสามารถให้เขาโฟกัสที่กระบวนการทำงาน และรายละเอียดเนื้องานได้เต็มที่เพื่อให้สามารถเริ่มงานได้ทันที

4. ลดภาระงานของพนักงานปัจจุบัน ทำให้สามารถมีเวลาไปโฟกัสงานหลักมากขึ้น



ในบริษัทขนาดเล็ก โดยมากพนักงานหนึ่งคนต้องรับหน้าที่หลายอย่างในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตั้งแต่สินค้าในสต็อกไปจนถึงการทำการตลาด หรืออาจจะต้องทำรายงานภาษีด้วย จะดีกว่าไหมถ้าคุณจ้างฟรีแลนซ์เข้าช่วยลดภาระงานเหล่านี้ เช่น สมมติว่าแต่เดิมบริษัทต้องมีการโพสต์คอนเทนท์ เพื่อสร้าง Website Traffic ทุกๆ วันอยู่แล้ว ก็จ้างฟรีแลนซ์เข้ามารับผิดชอบตรงนี้แทน เพื่อให้พนักงานในบริษัทเอาเวลาไปทำโปรเจคอื่นที่ช่วยให้ธุรกิจโดยรวมเติบโตไปได้ 

5. เพิ่มโอกาสเข้าถึงคนเก่งในตลาดแรงงานทั่วโลก เพิ่มมุมมองใหม่ๆ ให้แก่บริษัท


 
ถ้าปกติบริษัทเล็ก ๆ มักจะมีการจ้างงานอยู่แค่ในระดับวงแคบๆ เท่านั้น แต่ต้องขอบคุณเทคโนโลยีสมัยนี้ ที่ทำให้บริษัทเล็กๆ ก็สามารถมีโอกาสร่วมงานกับคนเก่งๆ ได้ทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างมาก เพราะคนเหล่านี้มักจะเต็มไปด้วยประสบการณ์จากหลายๆ แห่ง ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทของคุณได้

ในยุคหลังโควิด หลายคนคงเห็นว่ารูปแบบการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนไปมาก หากบริษัทไหนสามารถปรับตัวได้ไว ก็จะกลายเป็นผู้ชนะในเกมได้ทันที ดังนั้นหนึ่งในหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้ คือ การมีความยืดหยุ่น (Flexibility) และทำให้องค์กรมีความคล่องตัว (Agility) สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันท่วงที

การตัดสินใจจ้างฟรีแลนซ์ จึงเรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยลดต้นทุนและช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics


References
https://www.peopleperhour.com/discover/guides/why-hire-a-freelancer-five-benefits-for-your-small-business/
https://www.entrepreneur.com/article/381777
https://news.crunchbase.com/startups/tech-layoffs-2022/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

5 นวัตกรรมสุดล้ำ! ฝีมือคนไทย พิชิตเชื้อโรคสุดฮิตที่มากับหน้าฝน

5 นวัตกรรมสุดล้ำ! ฝีมือคนไทย พิชิตเชื้อโรคสุดฮิตที่มากับหน้าฝน

ฤดูฝนเป็นช่วงที่คนเราเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากฝนได้ชะล้างมลพิษที่มีอยู่ในอากาศตกลงมาสู่ตัวเรา รวมถึงอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เกิดความอับชื้นและน้ำท่วมขัง…
pin
28 | 30/05/2023
ส่อง ‘6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ’ แนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC

ส่อง ‘6 กลุ่มอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ’ แนวโน้มการเติบโตสูงในตลาด AEC

ความมุ่งมั่นเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Wellness Hub) เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง…
pin
444 | 28/05/2023
โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น ‘Medical Hub’ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ

โมเดล BCG ด้านเครื่องมือการแพทย์ ดันไทยเป็น ‘Medical Hub’ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพ

การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติ พร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน…
pin
443 | 27/05/2023
THE BIG BLUE | ฟรีแลนซ์…“ทางเลือก” หรือ “ทางรอด” ของ SMEs ยุคใหม่?